- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๒
ถึงเชน-เชน และจากเชน-เชนถึงโข-เตน.
ภายหลังกาลที่ฟาเหียนกับพวกได้เดินทางมาแล้ว ๑๗ วัน โดยระยะทางประมาณ ๓,๐๐๐ เส้น, ในที่สุดก็ไปถึงอาณาจักร เชน-เชน๒๐ ภูมิฐานบ้านเมืองนี้เต็มไปด้วยเนินเขา, ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ค่อยจะมีพื้นที่ราบซึ่งจะประกอบให้เกิดผลประโยชน์ได้. เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของประชาชนสามัญ ใช้เนื้อผ้าหยาบ ๆ, อย่างเดียวกันกับที่ประชาชนในประเทศฮั่น๒๑ใช้, มีผ้าชนิดที่ทอด้วยขนแกะและผมอย่างหยาบ ๆ ใช้กันบ้าง, ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกอย่างเดียวอันมีอยู่ในหมู่ชาวชนประเทศนี้. ราชาแห่งประเทศนี้นับถือพระพุทธศาสนา, มีพระภิกษุสงฆ์ในประเทศทั้งหมดกว่า ๔,๐๐๐ รูป๒๒ เป็นนิกายหินยาน๒๓ทั้งนั้น. ประชาชนในแว่นแคว้นนี้และในเขตแคว้นที่ติดต่อใกล้เคียง, ตลอดจนพระสมณะ,๒๔ ได้ทำวัตรปฏิบัติตามระบอบบัญญัติของอินเดีย, ซึ่งแต่เดิมมาทำกันอย่างหละหลวม, และต่อมาภายหลังจนบัดนี้ได้ปฏิบัติกันโดยถี่ถ้วนเคร่งครัดยิ่งขึ้น. ตามระยะทางที่ฟาเหียนกับพวกได้เดินผ่านเขตแคว้นทางทิศตะวันตกมาแล้วทุก ๆ แห่ง, ประชาชนเหล่านั้น ล้วนใช้ภาษาคำพูด๒๕ของตนอย่างป่าเถื่อนทั้งนั้น. แต่ถึงกระนั้นก็ดี ฝ่ายพระภิกษุที่สละจากครอบครัวไปเพื่อดำเนินชีวิตให้ห่างพ้นจากโลกิยวิสัย, ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาและวิทยาการศาสนาตามตำหรับตำราของอินเดีย. ฟาเหียนกับพวกพักอยู่ในประเทศนั้นประมาณ ๑ เดือน, แล้วได้เริ่มออกเดินทางต่อไปทางเบื้องทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นเวลา ๑๕ วัน, ก็ถึงภูมิประเทศแห่งหนึ่งมีชื่อว่า วู-อี.๒๖ ในประเทศนี้มีพระภิกษุกว่า ๔,๐๐๐ รูป เป็นนิกายหินยานทั้งหมด. พระภิกษุที่นี่เคร่งครัดต่อข้อบังคับขนบธรรมเนียมยิ่งนัก, ดุจดั่งสมณะในแว่นแคว้น ตฺซิน๒๗, เหตุนี้ จึงเกิดมีการบกพร่องของภิกษุในคณะฟาเหียนที่มิได้เตรียมตัวมาเพื่อดำเนินการให้ต้องตามข้อบังคับแบบธรรมเนียม ของภิกษุที่นี่ด้วยหลายประการ. แต่ฟาเหียนได้รับอุปการะจาก ฟู กุง-ซุน๒๘ ผู้ปกครอง, ฟาเหียนกับพรรคพวกจึงสามารถพักอยู่ในอาวาสแห่งนี้ได้ ต่อมาเป็นเวลา ๒ เดือนเศษ. และ ณ ที่นี้เอง, ปาว-ยัน กับเพื่อน๒๙ได้มาบรรจบพบกับฟาเหียนและพรรคพวกพร้อมกัน. ครั้นถึงกำหนดเวลาอันควรที่จะออกเดินทางต่อไป, พวกชาวชนใน วู-อี ทำการเพิกเฉยต่อภาระอันควรแก่หน้าที่, และความซื่อตรงต่อพวกแขกชาวต่างประเทศ. ดั่งนั้น, ด้วยอัธยาศัยอันฉลาดของพระภิกษุ ชิ-เยน, ฮุย-กีน, กับ ฮุย-วาย, รวม ๓ รูปจึงแยกจากคณะออกเดินไปทาง กาว-เชียง๓๐, เพื่อความประสงค์ที่จะแสวงหาทุนและกำลัง, สำหรับการที่คณะพรรคพวกของตนจะเดินทางต่อไปให้บรรลุสมความปรารถนา. ส่วนฟาเหียนกับพวกที่เหลืออยู่, ได้รับความอุปการะจาก ฟู กุง-ซัน ช่วยจัดการปลดเปลื้องความขัดข้องทั้งมวล, ให้ได้ออกเดินทางตรงต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้. และได้ไปพบเมืองร้างอันเปลี่ยวเปล่าแห่งหนึ่งในระหว่างทางที่ผ่านไป. ต้องประสบความยากลำบากในการที่ต้องข้ามลำห้วยลำธารในระหว่างทาง, ซึ่งจำต้องมีมานะอดทนต่อสู้กับความป่วยไข้และความยากลำบากด้วยประการทั้งปวง. และสิ่งที่พบเห็นเหล่านั้นก็ไม่ทำให้บังเกิดความรอบรู้อันจะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์อย่างไรเลย. แต่อย่างไรก็ดี ในระยะมรรคาที่ฟาเหียนกับคณะเพื่อนสงฆ์, ได้อุตส่าห์เดินฝ่ามาถึง ๑ เดือนกับ ๕ วัน, ในที่สุดก็สมปรารถนาบรรลุถึง ยุติน.๓๑
-
๒๐. ราชอาณาจักร เชน-เชน แห่งนี้, คาดคะเนว่าจะเป็นอาณาจักรที่กล่าวถึงในหนังสือปฐมแห่งราชวงศ์ ฮั่น, ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้. เป็นเมืองขึ้นแก่ประเทศจีนประมาณใน พ.ศ. ๔๖๓. ในหนังสือ Journal of antropological Institute August 1880 Wylie ผู้แปลกล่าวว่า “ถึงแม้จะไม่สามารถรู้จัก เชน-เชน ได้ชัดเจนก็ดี, แต่เราก็ยังพอจะชี้ตำแหน่งที่คาดประมาณให้ใกล้ที่สุดได้ว่า, เชน-เชน อยู่ทางตอนใต้, ไม่ห่างไกลจากทะเลสาบ ล๊อบ นัก.” เรายังไม่มีทางสอบสวนให้ดีกว่าที่ Wylie กล่าวไว้. ตามที่คาดคะเนและเท่าที่รู้แล้วนั้น, ที่ว่านครหลวงอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบ ล็อบ หรือ ล๊อฟเนอร์, ในระดับเส้นศูนย์สูตรลองติจู๊ต ๓๘๐ องศาตะวันออก, ก็คือ เมืองตาริมโฟลส์. ฟาเหียนคะเนไว้า ห่างไกลจาก ตัน-ฮวง ๓,๐๐๐ เส้นนั้น, ฟาเหียนกับพวกจะต้องเดินทางได้วันหนึ่งเกินกว่า ๑,๐๐๐ เส้น, จึงจะรวมยอดเข้ากันได้กับตามจดหมายเหตุเดินทางที่ว่าไว้ว่า ๑๗ วัน. ↩
-
๒๑. คำว่า ฮั่น เป็นคำที่ฟาเหียนใช้เรียกแทนคำหมายว่า ประเทศจีน เสมอๆ เพราะราชวงศ์ ฮั่น ได้เป็นราชาธิราชปกครองประเทศจีนมานาน, นับแต่ราชวงศ์องค์แรกถึงองค์สุดท้ายทรงราชย์ตลอดเวลาในรอบศตวรรษที่ ๙ ถึง ๑๐ แห่งพุทธกาล. บางคราวเราจะเห็นว่าฟาเหียนเรียกแว่นแคว้นแห่งหนึ่งว่า ตฺซิน หรือ จิ้น, แต่นั่นเป็นความประสงค์โดยเฉพาะของฟาเหียน, ที่จะกล่าวถึงนครแห่งประเทศราชแคว้น ตฺซิน, ซึ่งปรากฏในโน๊ตแรกของบทที่ ๑ ที่ว่าด้วย เชียงกัน. ↩
-
๒๒. Legge ผู้แปล, ให้ความเห็นอันน่าฟังสำหรับคำว่าสงฆ์ไว้ว่า, ในฝ่ายศาสนาคริสเตียนที่พวกนักบวชใช้เรียกนามตนเองว่าสงฆ์, Legge ค้านว่าไม่สมควรจะเอามาเปรียบได้กับคำว่า สมณะ หรือ ภิกษุ ในพุทธศาสนา. ซึ่งยอมรับกันแล้วว่า, เป็นศาสนาที่ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอันยิ่งใหญ่ในสากลโลก, ไม่มีจิตวิญาณ (ของพระผู้เป็นเจ้าทรงฝักใฝ่อยู่) ในมวลมนุษย์, และไม่มี (ความประสงค์ต่อ) การปรนนิบัติรับพลีด้วยเครื่องสักการบูชา, หรือด้วยคำอ้อนวอนต่อสิ่งที่เคารพนับถือ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บังเกิดความลำบากขึ้นในหมู่พระสงฆ์ญี่ปุ่น, เมื่อกึ่งกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้ถูกให้เลิกล้มธรรมเนียมเก่า, โดยห้ามมิให้แต่งงานมีภรรยาไว้รับใช้ช่วยเหลือกิจการ กับทั้งถูกห้ามจำกัดอาหารการบริโภคและเครื่องแต่งกายอื่น ๆ เป็นบางอย่างบางประการด้วย. คำว่า สมณสงฆ์ นี้จะใช้ได้แต่แก่ผู้ที่อุปสมบทแล้ว, โดยที่ประชุมน้อยซึ่งประกอบขึ้นด้วยพระภิกษุสงฆ์ (ไม่น้อยกว่า) ๕ รูป, อันรับอำนาจโดยเด็ดขาดในกรณีจะพิจารณาซักไซ้ไล่เลียงถึงความบริสุทธิ์อันปราศจากมลทินโทษ, จากปากคำของบุคคลผู้ซึ่งขออุปสมบทได้ให้การรับรองชี้แจงตอบคำถาม, ถึงคำรบ ๓ ครั้งเป็นการเรียบร้อยแล้ว, จึงจะยอมรับบุคคลผู้นั้นเข้าในหมู่แห่งคณะสงฆ์, และได้นามว่าเป็น สมณะ ต่อไป. แต่ในวินัยมุขเล่ม ๑ หน้า ๔ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๔ กำหนดสงฆ์หมู่น้อยที่จะให้อุปสมบทได้ในปัจจันตชนบทตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป. ↩
-
๒๓. หินยาน, มีความหมายว่า เกวียนเล็ก หรือ พาหนะที่ช่วยส่ง. ในพระพุทธศาสนามีไตรยาน หรือนัยหนึ่งว่า, ทุนและกำลัง ๓ ประการ, เป็นเครื่องช่วยส่งให้รอดพ้น, กล่าวคือ, ข้ามสงสาร, หรือห้วงมหรรณพแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไปถึงฝั่งนิพพาน. ภายหลังสืบมากลายเป็นความหมายที่ชี้ถึงความแตกต่างกันในหมู่คณะสงฆ์ซึ่งแบ่งออกเป็นนิกายต่าง ๆ, เท่าที่ทราบโดยแจ้งชัดอยู่ทั่วไปณบัดนี้ คือ มหายาน, หินยาน, มัธยมยาน. หินยาน, เป็นเกวียนสำหรับช่วยส่งให้หลุดพ้นชนิดที่กำลังรับรองกันอยู่แล้วในเวลานี้ว่า, เป็นบันไดขั้นต้นแห่งทุนและกำลัง ๓ ประการ, ซึ่งจะนำตนไปสู่ฐานะของผู้ที่จะระงับความเป็นบาปได้. โดยมีวัตรปฏิบัติทำอัธยาศัยให้เป็นไปในอำนาจแห่งความชอบธรรม, ใฝ่ใจในศาสนา, ไม่อยู่ในฐานะที่จะแสวงหาประโยชน์ในการค้าหรืออย่างใด ๆ ไม่มีความลึกลับอันเหนือความสามารถที่จะพึงทำ, และเป็นผู้สงบสุขอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องวุ่นวายในกิจการทางโลกีย์. ดู E. H. ๑๕๑-๒,๔๕, กับ ๑๑๗. กับหนังสือพุทธเจดีย์สยาม ของสมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ หน้า ๔๑ และ ๕๐-๕๑, กับหนังสือพระราชวิจารณ์ลัทธิพุทธศาสนานิกายหินยานกับมหายาน กับหนังสือลัทธิของเพื่อน หน้า ๖๕-๖๘. ↩
-
๒๔. สมณะ. เป็นนามที่ชาวอินเดียเรียก, ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าทั่วทุกฉบับ. สมณะ อังกฤษเขียน ศรมณะ, สํสกฤตเขียน ศฺรมณะ, บาลี สมณะ. จีน ซามัน, เป็นนามที่เรียกนักบวชในพุทธศาสนา, ผู้ที่ได้สละจากครอบครัวแล้ว, และไปทำใจให้สงบเพื่อให้หลุดพ้นจากกองกิเลส, มี ตัณหา ราคะ โทสะ เป็นต้น ↩
-
๒๕. ตาร์ต้าร์ คือ ตาต หรือ มองโกเลียน. ↩
-
๒๖. วู-อี, ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน. ในหนังสือ China Review บทที่ ๘ หน้า ๑๑๕, Watters กล่าวไว้ว่า “จะไม่ผิดไกลนัก, ถ้าจะกล่าวว่าชนบทนี้คือใน กรัสการ์, หรืออยู่ระหว่าง กรัสการ์ กับ กุตสกะ” จะต้องเป็นเมืองหนึ่งในแถนนั้นที่มีภิกษุสงฆ์อยู่เป็นอันมาก. ↩
-
๒๗. ข้อความในตอนนี้เป็นความคิดของภิกษุจีนองค์ ๑. แต่ฟาเหียนออกนาม ตฺซิน. คงคิดโดยเฉพาะที่จะเล็งถึงประเทศราช ตฺซิน ๓ รัฐ, ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในโน๊ตบทก่อนเท่านั้น. ความคิดทั้งนี้อาจเป็นของภิกษุชุด ๑ ที่ออกจากเมืองแยกทางไปจากฟาเหียนนั้นกระมัง. ↩
-
๒๘. การที่จะสันนิษฐานว่า, ทำไมไม่ไปพร้อมกันนั้น, เป็นการที่จะอธิบายไม่ได้ง่าย ๆ. Watters กล่าวไว้ในหนังสือ China Review ว่าเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งกว่าที่จะแก้ปมเชือก. ฟู กุง-ซุน, ฟู เป็นตำแหน่งยศ, ซึ่งในฝ่ายพุทธศาสนาเรียกว่า อุทเทสกะผู้บังคับการ. กุงซุน เป็นนามที่สืบต่อมาตามราชตระกูลอันมีเกียรติศักดิ์, ซึ่งรัชทายาทแห่งตระกูลจะได้นามว่า กุงซุน สืบต่อ ๆ ไป. ↩
-
๒๙. สงฆ์คณะนี้ออกเดินทางตามมาภายหลังจาก ตัน-ฮวง. ↩
-
๓๐. เป็นเขตแขวงแห่งหนึ่งอันอยู่โดยรอบจังหวัดซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่า เตอรฟัน หรือ ตังคัต. ↩
-
๓๑. ยู-ติน นั้นเป็นนามซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ โข-เตน. Dr. P. Smith ได้ให้คำอธิบาย (ในหนังสือที่เขาแต่งหน้า ๒ ไว้ว่า, เป็นตำบลใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้แห่งทะเลทราย โกบี, ซึ่งโอบรอบจังหวัดทางตอนใต้คือ โอกสุ และ ยารกันต์, ยื่นยาวไปทางทิศเหนือจนจดเชิงภูเขา กวุนลุบ เป็นระยะยาวกว่า ๑,๒๐๐ เส้น, จากทิศตะวันออกไปตะวันตก. มีนามเมืองที่เหมือนกันอยู่อีกแห่งหนึ่งซึ่งบัดนี้เรียกว่า อิลจิ, เป็นที่ทุ่งราบอันกว้างใหญ่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ โข-เตน. ต่อมาตุงกานีได้ทำการเป็นกบฎต่อจีนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ มัฟติ หะบีบูลลา ได้เป็นเจ้าเมือง โข-เตน อยู่สืบต่อมาจนกระทั่งถูกฆ่าตาย, โดย ยากูบเบ็ก ยกกองทัพมารบชนะรวบเอาดินแดนเตอรกีสตานของจีนไว้ทั้งหมด. โข-เตน เป็นที่เกิดต้นลินินและฝ้ายที่ใช้ทอผ้า, หินหยกที่ใช้ทำเครื่องประดับกาย, ทองแดง ข้าว และผลไม้. นาม โข-เตน ในภาษาสํสกฤตเรียกว่า กุสตนะ (ดูหนังสือ E. H. หน้า ๖๐). ↩