- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๑๔
การมรณะของฮุย-กิงในระหว่างเขาหิมพานต์น้อย.
อาณาจักรโล-อีและโปะ-นา.
ข้ามแม่น้ำสินธูไปทางตะวันออก.
เมื่อได้พักอยู่จนถึงเดือนที่ ๓ แห่งฤดูหนาว, ฟาเหียนกับเพื่อนภิกษุอีก ๒ องค์,๑๓๐ ได้ออกเดินทางต่อไปทางทิศใต้, ข้ามภูเขาหิมพานต์น้อย,๑๓๑ ซึ่งมีหิมะเป็นพื้นราบสะสมอยู่ทั้งฤดูร้อนและหนาว. ทางด้านเหนือแห่งภูเขาในตอนที่ร่ม, ฟาเหียนกับพวกต้องปะทะเข้ากับลมหนาวโดยไม่ทันรู้ตัว, ซึ่งกระทำให้สั่นสะท้านจนพูดไม่ออก. ฮุย-กิงไม่สามารถที่จะเดินทางได้อีกต่อไป, มีฟองขาวๆ ไหลออกจากปาก, และกล่าวกับฟาเหียนว่า ‘ผมจะไม่มีชีวิตยืนยาวไปได้อีกแล้ว, คุณจงรีบเดินทางต่อไปแต่เดี๋ยวนี้เถิด, เผื่อพวกเราจะไม่ตายเสียหมดทุกคน.’ พอพูดขาดคำก็ถึงแก่ความตาย.๑๓๒ ฟาเหียนเอามือลูบศพและเปล่งอุทานออกด้วยความสมเพชว่า ‘แผนการเดินทางของเราได้บกพร่องลงเสียแล้ว, สิ่งนี้เป็นเคราะห์กรรม.๑๓๓ นี่เราจะทำฉันใด?’ ฟาเหียนได้ตั้งความอุตสาหะใช้กำลังแรงของตนเองอีกครั้งหนึ่ง, และก็สำเร็จสมประสงค์ในการข้ามหุบเขาลงไปทางทิศใต้ บรรลุถึงราชอาณาจักรโล-อี.๑๓๔ ณที่นี้มีพระภิกษุเกือบสามพัน, เป็นนิกายมหายานและหินยานทั้งคู่. ฟาเหียนกับพวกได้หยุดพักประจำ๑๓๕ฤดูร้อนที่นี่. เมื่อล่วงพ้นฤดูแล้วก็ออกเดินทางลงใต้ต่อไปอีก ๑๐ วัน, ก็บรรลุถึงราชอาณาจักรโปะ-นา.๑๓๖ ณ ที่นี้มีพระภิกษุกว่าสามพัน, ทั้งหมดเป็นนิกายหินยาน. จากสถานที่นี้เดินทางต่อไปอีก ๓ วัน ก็ข้ามแม่น้ำสินธูอีกครั้งหนึ่ง, ภูมิประเทศบนฝั่งแม่น้ำในย่านแถวนี้เป็นที่ราบต่ำ.๑๓๗
-
๑๓๐. สองคนนี้คือ ตาว-จิง ฮุย-กิง. ↩
-
๑๓๑. เห็นจะเป็นซาไฟด์โกะตามทางที่ผ่านไปโกหัต ↩
-
๑๓๒. ทุกฉบับว่า ฮุย-กิง. (ดูบทที่ ๑๒ หน้า ๖๐ โน๊ต ๓). ↩
-
๑๓๓. การกล่าวอุทานวาจาในเมื่อประสบเหตุเช่นนี้, ย่อมเป็นธรรมดาของปุถุชนทุก ๆ คน. แต่ก็แตกต่างกับคำที่หลุดออกจากริมฝีปากของฟาเหียน. ตัวอักษรจีน 命 ที่ฟาเหียนใช้เหมือนอย่างเป็นคำให้การนั้น, ที่จริงจะแปลว่าเป็นเพียง เคราะห์ หรือ กรรม เท่านั้นก็จะได้. แต่คำนี้หมายเล็งถึงเพื่อนซึ่งคาดคะเนว่าจะไปสู่สวรรค์หรือถึงพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นความคิดอย่างหนึ่งในลัทธิขงจื้อ ซึ่งมีมาก่อนพุทธศาสนาเล็กน้อย. ↩
-
๑๓๔. โล-อี หรือ โล-ฮี เป็นนามหนึ่งสำหรับแว่นแคว้นอาฟกานิสตาน. แต่เป็นเฉพาะส่วนหนึ่งที่ฟาเหียนได้ไปถึงตามความประสงค์. ↩
-
๑๓๕. นับมาถึงบัดนี้เป็นในปี พ.ศ. ๙๔๗. ↩
-
๑๓๖. ไม่ต้องสงสัยในปัจจุบันนี้เป็นจังหวัดพันนุ, รวมขึ้นอยู่ในมณฑลปัญจาป. ระหว่างแลตติจู๊ต ๓๒° ๑๐′ กับ ๓๓° ๑๕′ เหนือ, ลองติจู๊ต ๗๐° ๒๖′ กับ ๗๒° ตะวันออก ดู Hunters Gazetteer of India หน้า ๓๙๓. ↩
-
๑๓๗. ความจริงฟาเหียนกับพวกข้ามแม่น้ำสินธูมาก่อน ๒ ครั้งแล้ว. ครั้งแรกจากทิศเหนือลงใต้ที่สกาโดหรือตะวันออกของที่นั้น. ครั้งที่ ๒ ได้แสดงไว้ในบทที่ ๗. ↩