บทที่ ๓๕

ทักษิณ. และอารามนกพิราบ

จากแห่งนี้ไปทางใต้ ๒๐๐ โยชน์, เป็นประเทศแห่งหนึ่งนามว่าทักษิณ.๓๖๓ ณ ที่นี้มีอารามอยู่แห่งหนึ่ง (อุทิศถวายแด่) พระกัศยปพุทธะที่ล่วงไปแล้ว, ซึ่งได้บังเกิดขึ้นโดยสะกัดเจาะหินเข้าไปในเนินเขาลูกใหญ่, ประกอบขึ้นทั้งหมด ๕ ชั้น. ชั้นต่ำที่สุดรูปเหมือนช้าง, มีคูหาภายในศิลา ๕๐๐ ห้อง ชั้นที่ ๒ มีรูปเหมือนสิงห์, มีห้องคูหา ๔๐๐ ชั้นที่ ๓ มีรูปเหมือนม้า, มีห้องคูหา ๓๐๐. ชั้นที่ ๔ มีรูปเหมือนโค, มีห้องคูหา ๒๐๐. และชั้นที่ ๕ มีรูปเหมือนนกพิราบ มีห้องคูหา ๑๐๐. ที่ยอด (เขา) ทุกยอดมีน้ำพุแห่งหนึ่ง, ซึ่งเป็นท่อธารให้น้ำไหลลงมาทางตอนหน้าของคูหา, ไปโดยรอบระหว่างห้องเหล่านั้น, แล้วเลี้ยวเป็นวงตรงลงไปจนกระทั้งถึงชั้นต่ำที่สุดตามรูปของสถานที่, แล้วและไหลไปออกตรงที่ประตู. สถานที่ภายในทุกๆ ห้องสำหรับภิกษุ, มีหินแผ่นหนึ่งเป็นช่องประดุจดั่งรูปหน้าต่างสำหรับรับแสงสว่าง. ดั่งนั้น จึงมีความสว่างแจ่มใส, ปราศจากความมืดใดๆที่จะคงเป็นอยู่ในนั้น. ทั้ง ๔ มุมของ (ชั้น) คูหา, ศิลาได้ถูกสะกัดเป็นประดุจขั้นบันไดสำหรับขึ้นไปสู่ยอด (ทุกยอด). คนในปัจจุบันนี้มีขนาดเล็ก, จะขึ้นไปได้ทีละขั้น, ในการที่จะขึ้นไปตรวจดูถึงยอด. แต่คนในสมัยโบราณเขาจะก้าวเพียงก้าวเดียว.๓๖๔ อารามแห่งนี้เรียกว่าปาราวตะนั้น, เพราะเหตุนามคำนี้ในภาษาอินเดียแปลว่า นกพิราบ. ณ ที่นี้มีพระอรหันต์มาพักอาศัยอยู่เสมอ.

บริเวณภูมิประเทศโดยรอบ (ตำบลนี้), เป็นที่โคกเนินรกร้าง๓๖๕ว่างเปล่าปราศจากผู้คนพลเมือง. มีหมู่บ้านอยู่แห่งหนึ่งไกลจากภูเขาแห่งนี้ไปมาก, ชาวบ้านนั้นทั้งหมดมีความประพฤติชั่วเพ่งเล็งไปแต่ในทางที่ผิด, ไม่รู้จักพระสมณะและธรรมวินัยของพระพุทธองค์และพราหมณ์, หรือผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ อย่างใดๆ. ชาวบ้านเหล่านั้นคอยจ้องดูผู้คนมีปีกที่จะมายังอารามแห่งนี้อยู่เสมอ, คราวหนึ่งมีผู้ที่เคร่งครัดจากภูมิประเทศต่าง ๆ ไปกระทำการแสดงความเคารพนับถือที่นั่น, พวกชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นถามว่า ทำไมท่านไม่บินมา, เราเห็นพวกที่เคร่งครัดทั้งหลายเขาบินมาทั้งนั้น ? พวกที่เป็นแขกต่างบ้านตอบ (คำที่เป็นประดุจ) ประฏักที่แทงมาโดยทันทีนั้นว่า ปีกของเรายังไม่มีรูปเต็มบริบูรณ์.

อาณาเขตแห่งทักษิณนี้อยู่นอกทางสัญจร, และเต็มไปด้วยอันตรายทั่วไป, เป็นภูมิประเทศที่จะติดต่อถึงกันกับถนนหนทางยากลำบากยิ่งนัก. แต่ผู้ที่อยากจะทราบถึงความลำบากในการที่จะไปท่องเที่ยวดูว่าเป็นประการใด, และมีความปรารถนาที่จะดำเนินการต่อไป. ก็ควรจัดเงินและสิ่งของต่าง ๆ มอบให้ผู้ใดนำเข้าไปถวายแก่พระราชา, พระองค์ก็จะส่งคนให้มาป้องกันรักษาไปด้วยกัน. พวกนั้นจะส่งผ่านไปถึงพวกอื่นอีกต่อหนึ่ง, พวก (รับช่วงต่อ) นี้จะพาตรงไปตามทางที่ใกล้ที่สุด. แต่อย่างไรก็ดี, ในเวลาต่อมาฟาเหียนก็ไม่สามารถที่จะไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยประการทั้งปวง. แต่ได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้จากผู้คนในนครตามที่เขาเล่าให้ตนฟัง

  1. ๓๖๓. ทักษิณเป็นนามที่เรียกแว่นแคว้นของอินเดียตอนใต้แต่โบราณ, ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นเด๊กกัน. ความในบทนี้กระทำให้เกิดหลากใจต่าง ๆ, นี่คงเป็นความตั้งใจของฟาเหียนที่จะใช้คำว่า ทักษิณ, ซึ่งฟาเหียนอาจได้ยินจากชาวบ้านพูดกันอยู่ในขณะนั้น, เลยทำให้เรารู้ไม่ได้ว่าที่ไหนกันแน่. (ดู Buddhist Record of Western World เล่ม ๒ หน้า ๒๑๔-๒๑๕.)

  2. ๓๖๔. ขอให้เทียบดูกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงก้าวได้ยาวถึง ๑๕ โยชน์ในสิงหฬประเทศซึ่งกล่าวบรรยายไว้ในบทที่ ๓๘.

  3. ๓๖๕. ดูเหมือนกันกับข้อความตอนหนึ่งในสมุดจดหมายเหตุ, ว่าด้วยราชวงศ์ฮั่นทรงราชย์. เล่มที่ ๒๔ Book of BIographics หน้า ๙ b.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ