- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
คำนำ
ข้าพเจ้าได้รับคำขอร้องจากนายนาวาโท พระพิมลเสนี ร.น.บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธรรมจักษุ กับท่านพระกรรมการบางองค์ของมหามกุฎราชวิทยาลัย ให้แปลหนังสือเรื่องการท่องเที่ยวของพระภิกษุฟาเหียนเล่มนี้ เพื่อลงในหนังสือธรรมจักษุ เมื่อข้าพเจ้าได้รับหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมด้วยฉบับเทียบในภาษาจีนไปอ่าน รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยประโยชน์แห่งการพระศาสนาและวิทยาหลายประการเช่นนี้ ออกจะเหนือวุฒิและความสามารถของข้าพเจ้าอยู่มาก. แต่เมื่อได้อ่านตรวจดูตลอดเล่มแล้ว รู้สึกว่าหนังสือที่มีคุณค่าในทางปรัชญาและวิทยาการไม่ใช่น้อยเช่นนี้ สมควรจะให้มีขึ้นในภาคภาษาไทยของเราจริง. และควรจะมีนานมาแล้ว ด้วยความรู้สึกข้อเดียวนี้ ทำให้ข้าพเจ้าบังเกิดความอุตสาหะและตกลงใจที่จะพยายามทำการแปลออกเป็นภาษาไทยให้สำเร็จลงเท่าที่วุฒิและความสามารถของตนจะพึงทำได้
หนังสือเรื่องการท่องเที่ยวของฟาเหียนเล่มนี้ ต้นฉบับเดิมในประเทศจีนมีอยู่ ๒ ฉบับ คือภาษาจีนฉบับหนึ่ง กับภาษาเกาหลีฉบับหนึ่ง และยังมีในประเทศญี่ปุ่นอีกฉบับหนึ่ง. ฟาเหียนเป็นสมณฑทูตของประเทศจีนแต่โบราณคนแรกที่ได้เดินทางจากประเทศจีนไปเสาะแสวงหาคัมภีร์พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาถึงอินเดีย ตั้งแต่ พ.ศ. ๙๔๒ ถึง ๙๕๗ รวมเวลาถึง ๑๕ ปี ต้องเผชิญภัยตั้งแต่ออกจากประเทศจีนไปทางตะวันตกในตอนกลางของทวีปเอเซีย ผ่านทะเลทรายโกบีและข้ามสันของพืดภูเขาหิมาลัย ไปเข้าเขตต์อินเดียทางตอนเหนือ ผ่านลงตอนกลางและตอนใต้ของอินเดีย จนบันลุถึงชายทะเลและข้ามไปเกาะสิงหฬ แล้วกลับทางเรือมาในมหาสมุทรอินเดียจนถึงเกาะชะวา และกลับไปขึ้นเมืองจีนที่แหลมชานตุง ในจำพวกเพื่อนสิบคนที่เดินทางไปด้วยกัน ฟาเหียนคนเดียวที่ได้ใช้ความเพียรอดทนต่อสู้กับภยันตราย จนจวบเจียนจะถึงอวสานแห่งชีวิต แต่ก็ได้พาเอาความสำเร็จสมปรารถนากลับคืนประเทศของตนจนได้ ซึ่งสมควรแล้วที่นามของฟาเหียนจะยังคงขจรอยู่ในโลกทุกส่วนที่เจริญแล้วด้วยวิทยาการในเวลานี้. และเมื่อฟาเหียนกลับถึงประเทศอันเป็นปิตุภูมิแล้ว นอกจากได้คัมภีร์พระไตรปิฎกอันนำความสงบสุขของหมู่มนุษยชาติและอารยธรรมกลับไปเผยแผ่ให้แก่เพื่อนร่วมชาติของตนแล้ว ฟาเหียนยังได้เขียนจดหมายเหตุการเดินทางท่องเที่ยวของตนเอง (คือหนังสือเล่มนี้) ไว้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ในโลกอีกด้วย.
สมุดจดหมายเหตุการเดินทางของฟาเหียนเล่มนี้ พวกนักปราชญ์ทางตะวันตกที่เชี่ยวชาญในภาษาจีนได้ไปพบเห็นความสำคัญอันเป็นคุณประโยชน์ของหนังสือเล่มนี้ จึงต่างนำเอาไปแปลออกเป็นภาษาของตน เพื่อใช้เป็นตำราสำหรับการศึกษาทางศาสนาและปรัชญา พร้อมทั้งโบราณคดีภูมิศาสตร์และอักษรศาสตร์ตะวันออก. หนังสือเล่มนี้จึงถูกแปลออกเป็นภาษาของประเทศที่สำคัญ ๆ ในยุโรปแล้วเกือบทุกชาติ. ฉบับแรกศาสตราจารย์ แซมวลบิล (Samuel Beal) อาจารย์ในมหาวิทยาลัยอังกฤษ ได้แปลออกเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ และต่อมา เรมูซาต์ (Rémusat) ได้แปลออกเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ได้แยกข้อความที่ฟาเหียนเขียนไว้เป็นร้อยแก้ว ซึ่งติดต่อกันเรื่อยไปนั้น ออกเป็นบท ๆ ทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น. มาบัดนี้ หนังสือฉบับนี้จะถูกแปลออกเป็นภาษาไทยในครั้งแรก. ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเอาหนังสือฉบับอังกฤษ ของศาสตราจารย์ เจมส์ เล็กจ์ (James Legge) ที่ได้แปลจากภาษาจีนต่อมาเป็นหลักในการแปล เพราะสมุดเล่มนี้ ผู้แปลได้ถือเอาต้นฉบับภาษาเกาหลีเป็นหลัก และเทียบเคียงกับต้นฉบับอื่น ๆ ที่ได้เขียนไว้เป็นตัวอักษรจีนทุก ๆ ฉบับ. และยิ่งกว่านั้น ผู้แปลได้รักษาความสำคัญในการแปลถอดเอาถ้อยคำสำนวนเดิมของฟาเหียนไว้โดยเคร่งครัดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ผู้แปลได้ทำโน๊ตแสดงอรรถาธิบาย โดยอ้างเอาข้อวิจารณ์ของนักปราชญ์ในทางตะวันตก ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแทบทุกท่านมาสำแดงให้เราได้บังเกิดความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกด้วยเป็นอเนกประการ เพราะฉะนั้น การแปลของข้าพเจ้าจึงถือเอาหลักการกระทำตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ คือแปลอย่างที่เรียกว่า ถอดเอาถ้อยคำสำนวนเดิมมาเขียนไว้ เว้นไว้แต่เมื่อสำนวนบางตอน ถ้าจะเขียนตามรูปถ้อยคำเดิมอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือถึงไม่เข้าใจในภาษาไทยจริง ๆ จึงต้องแปลงสำนวนไปบ้าง แต่ก็ได้รักษาความหมายให้คงที่อยู่ และพยายามใช้ถ้อยคำตามคำเดิมไว้เท่าที่จะพึงทำได้ และอีกประการหนึ่ง หนังสือเรื่องนี้ เราไม่ควรลืมว่า ฟาเหียนได้เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อพันห้าร้อยปีมาแล้ว ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าหนังสือในหลักศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงกรุงสุโขทัยมากนัก. เพราะฉะนั้น ถ้อยคำสำนวนของฟาเหียนตามที่ข้าพเจ้าแปลไว้ในบทต่าง ๆ จึงต้องเป็นไปตามสมัยนิยมในครั้งกระโน้น. นอกจากนี้ ยังมีข้อความที่ขาดตกบกพร่องถ้อยคำเป็นอันมากได้หายไป ซึ่งข้าพเจ้าจำต้องเติมถ้อยคำแทรกลงเพื่อให้ข้อความสมบูรณ์ขึ้นตามเนื้อเรื่อง แต่ถ้อยคำของข้าพเจ้าเหล่านั้นได้ทำวงเล็บไว้ให้เห็นปรากฏอยู่ทุก ๆ แห่ง
อนึ่ง ในโน๊ตหรือภาคผนวกที่ข้าพเจ้าได้วิจารณ์ถ้อยคำและเรื่องราวไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ในการอ่านหนังสือเล่มนี้โดยบริบูรณ์นั้น นอกจากที่ผู้แปลเดิมได้ให้อรรถาธิบายไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้พยายามขวนขวายสอบสวนหาหลักฐานจากหนังสืออื่น ๆ ที่ผู้แปลเดิมมิได้อ้างไว้ โดยเป็นหนังสือที่ได้เกิดขึ้นในภายหลัง กับทั้งสมุดที่มีอยู่ในภาคไทยและบาลี เท่าที่ข้าพเจ้านึกได้ หรือที่ขอร้องได้จากกัลยาณมิตรที่เคารพของข้าพเจ้า มาเขียนสำแดงไว้จนเต็มตามวุฒิและความสามารถของข้าพเจ้า เท่าที่จะทำได้.
ความสำเร็จไปของหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องกล่าวถึงกัลยาณมิตรผู้ให้อุปการะอันสำคัญในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ คือ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ทองสืบ จารุวณฺโณ ป. ๙) วัดมกุฎกษัตริยาราม ข้าพเจ้าได้มอบหน้าที่ให้ท่านเป็นผู้ค้นนิยายและเรื่องราวพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกสยามมาให้ข้าพเจ้าเขียนอรรถาธิบายไว้จนตลอดเล่ม ซึ่งต้องนับว่า เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมมือกับข้าพเจ้า ที่ได้ยังความสำเร็จให้บังเกิดแก่หนังสือเล่มนี้. ยังเหลืออีกผู้หนึ่ง ก็คือ พระราชเวที (จวน อุฏฺายี ป. ๙) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งข้าพเจ้าได้ขอศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ ท่านได้ให้ความอุปการะแก่ข้าพเจ้าด้วยความเต็มใจโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงขอแสดงคำขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย.
พระยาสุรินทรฦๅชัย
ถนนเพลินจิต พระนคร
๓๑/๑๑/๗๙