บทที่ ๒๖

พระอานนท์ดับขันธปรินิพพาน

สี่โยชน์จากสถานที่นี้ไปทางตะวันออก, ฟาเหียนกับเพื่อนได้ไปถึงตำบลหนึ่ง, ซึ่งเป็นสถานที่รวมแม่น้ำ ๕ สายไหลมาบันจบกันที่นั่น.๒๘๒ เมื่อพระอานนท์ออกจากมคธ๒๘๓ไปถึงนครไวศาลี, ปรารถนาจะเที่ยวแสวงหาสถานที่ดับขันธปรินิพพาน. เทพดาได้ทูลให้พระเจ้าอชาตสัตรุ๒๘๔ทรงทราบ. ในทันทีนั้นพระองค์ทรงราชรถออกติดตามไป พร้อมด้วยเหล่าทหารรักษาพระองค์จนบรรลุถึงแม่น้ำ (ฝ่าย) มลกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นไวศาลี ก็ได้ทรงทราบว่าพระอานนท์จาริกมาสู่ (เขตนครของพระองค์), ต่างก็เสด็จมาพบกัน, แล้วและทุกองค์เสด็จไปสู่ ณ ที่แม่น้ำนั้นพร้อมกัน. พระอานนท์ได้พิเคราะห์เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น, (จึงไตร่ตรองดูว่า) ถ้าเราจะไปข้างหน้าต่อไป, พระเจ้าอชาตสัตรุก็จะทรงพิโรธ, ถ้าเราจะกลับคืนหลัง, กษัตริย์ลิจฉวีก็จะก่อการอาฆาตมาตรร้ายขึ้น. เพราะฉะนั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงไปสู่ ณ พื้นที่ศูนย์กลางแห่งแม่น้ำสายต่าง ๆ, และกระทำการนั่งสมาธิ๒๘๕เข้าฌานให้บังเกิดเป็นไฟเผาร่างกายของตนเอง. แล้วดับขันธ์บัลลุปรินิพพาน. และท่านได้แบ่งอัฏฐิของท่านออกเป็น ๒ ส่วน, (ส่วนที่เหลือ) อีกครึ่งหนึ่งให้ประ ดิษฐานไว้บนฝั่งลำน้ำทุกฝั่ง. ส่วนกษัตริย์ทั้งสองฝ่ายได้รับอัฏฐิธาตุไปองค์ละ ๑ ส่วน, แล้วและนำกลับคืน (ไปสู่นครแห่งตน). ณ สถานที่นี้ก็เกิดมีสตูปอันเป็นที่ (บัญจุ) อัฏฐิธาตุของพระอานนท์ขึ้น.

  1. ๒๘๒. ตำบลนี้ไม่ทราบว่าอยู่ไหน, ห่างจากปัตนะเท่าไรก็ไม่ได้กล่าว.

  2. ๒๘๓. มคธ, บางสมัยเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนา, เป็นแดนที่ศักดิ์สิทธิ์และปกคลุมไปด้วยวิหาร. ในปัจจุบันนี้ได้นามว่าแคว้นพิหาร, ภาคใต้ของแคว้นพิหารนี้คือราชอาณาจักรมคธแต่โบราณ. (ดูตำนานพระพุทธเจดีย์สยามหน้า ๒๐).

  3. ๒๘๔. ในภาษาสิงหลเรียกอัชสัต. ดูเรื่องราวของกษัตริย์องค์นี้ในหนังสือ M. B. หน้า ๓๒๑-๓๒๖. พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร, ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกที่เข้ารับนับถือพุทธศาสนา. อชาตสัตรุ เป็นผู้ฆ่าพระราชบิดาของตนเอง, หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้ทำให้ตาย. และเป็นคนแรกที่ทำการโต้แย้งขัดขวางองค์พระ ศากยมุนี, เป็นผู้ชอบรักกับเทวทัตต์. แต่เมื่อพระองค์เข้าเป็นพุทธมามกะ กลับเป็นผู้มีชื่อเสียงด้วยการใจบุญโอบอ้อมอารีทำบุญให้ทานกล้าแข็ง. (ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๔๒-๓๔๕).

  4. ๒๘๕. คำว่า สมาธิ นี้, แม้เรา (บางคน) จะมีความเข้าใจในความหมายของคำนี้อยู่แล้วเพียงไรก็ตาม. ข้าพเจ้ายังเห็นว่าควรฟังอรรถาธิบายของพวกนักปราชญ์ทางตะวันตกไว้ประดับปัญญาด้วยบ้าง Eitel อธิบายความหมายของคำว่าสมาธิไว้ในหนังสือของเขา หน้า ๑๑๔-๑๑๕ อย่างยืดยาว, ซึ่งว่าเป็นประการหนึ่งในโพชฌงค์ ๗ ประการ. Hardy แปลว่า ‘สงบสุขอยู่ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์.’ Jurnour ว่า ‘อาจตรึกตรองแบ่งแยกอารมณ์.’ Burnouf ว่า ‘บังคับตนเอง.’ Edkins ว่า ‘เคลิบเคลิ้มมึนชาอยู่ด้วยความปลื้มปีติ.’ สมาธิตาม Eitel อธิบาย คือกระทำการแบ่งแยกกระแสจิตให้ปรากฏถึงขั้นสูงสุด, อยู่ด้วยความตรึกตรองอันแน่วแน่ไปในทางปลื้มปิติ. อีกประการหนึ่ง คือตั้งอารมณ์แน่นิ่งไม่เอาใจใส่ต่อสิ่งที่จะสัมผัสทั้งหมดทั้งภายในและภายนอกโดยเด็ดขาด. อีกประการหนึ่ง คือให้ภารกิจและกำลังน้ำใจที่เคลื่อนไหวอยู่นั้นมึนชาลงหมดทั้ง ๒ ประการ. อีกชนิดหนึ่ง ก็คือความนิรพาณในโลกนี้, โดยตั้งอารมณ์ให้ตรงดิ่งไม่วอกแวกเพ่งไปในความเสื่อมและความพินาศของชีวิต. ตรวจดูคำอธิบายในวินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๔๘. ด้วย. Eitel อธิบายความตามสำนวนที่ฟาเหียนใช้ในสมุดเล่มนี้ว่า พระอานนท์เผาร่างกายของท่านเองด้วยอัคคีแห่งสมาธิ. และกล่าวต่อไปว่าเป็นสำนวนของฟาเหียนที่กล่าวอย่างสามัญ, ด้วยความปลื้มปีติอย่างแรงกล้าต่อสิ่งที่เป็นความลึกลับในการกระทำตนเองให้ทำลายหายศูนย์ไป. แต่ที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ยังมืดมัวปราศจากความเข้าใจอันแจ่มแจ้งได้จากถ้อยคำเหล่านี้. บางทีความจริงเรื่องที่ว่าด้วยพระอานนท์มรณะนี้, จะเป็นความแปลกประหลาดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความมืดมัว, ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะสอบสวนให้เป็นประโยชน์ได้. ฟาเหียนก็ตั้งใจกล่าวไว้ในนิยายของเขาโดยชัดเจนว่า, ในการสมาธินี้พระอานนท์ได้เผาร่างกายตนเองในที่ทุกศูนย์กลางแห่งแม่น้ำ, และเมื่อเผาแล้วยังได้แบ่งอัฏฐิธาตุออกเป็น ๒ ส่วน, และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งไว้บนฝั่งแม่น้ำทุกแห่ง. เรื่องราวพระอานนท์มรณภาพนี้มีในหนังสืออีกแห่งหนึ่ง, (Nien-dh’ang’s ‘History of Buddha and the Patriarchs), พิธีเผายิ่งหนักขึ้นไปอีก. หมู่มนุษย์และเทวดาต่างยัดเยียดกันมาเป็นพยาน, อัฏฐิแห่งร่างกายของพระอานนท์ถูกแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน, ส่วนหนึ่งส่งขึ้นไปไว้บนดุสิตสวรรค์, ส่วนที่ ๒ ส่งลงไปไว้ในราชวังแห่งพระยานาค, ส่วนที่ ๓ ให้แก่พระเจ้าอชาตสัตรุ, ส่วนที่ ๔ ให้แก่กษัตริย์ลิจฉวี. แต่ความแท้จริงทั้งหมดเป็นประการใดนั้น, ข้าพเจ้าก็บอกไม่ได้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ