- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๑
จากเชียงกันถึงทะเลทราย
ในขณะที่พระภิกษุฟาเหียนพำนักอาศัยอยู่ที่เชียงกัน๔นั้น, รู้สึกมีความเสร้าใจครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องคัมภีร์วินัยบัญญัติ, ที่ใช้ปฏิบัติฝึกหัดสั่งสอนกันอยู่นั้น, มีอยู่ไม่ถูกต้องและครบถ้วนบริบูรณ์. ครั้นถึงปีที่สองแห่งระยะกาล ฮวงจี ในรอบศักราช เกฮาย,๕ ฟาเหียนจึงได้ตกลงร่วมใจกันกับ ฮุยกิง, ตาวจิง, ฮุยยิง, และฮุยวาย,๖ รวมกันออกเดินทางจากประเทศจีน, ไปเสาะแสวงหาคัมภีร์วินัยบัญญัติ๗ในประเทศอินเดีย.
ฟาเหียนกับพวกได้ออกเดินทางจาก เชียงกัน ผ่าน ลัง๘ ไปถึงราชอาณาเขตของ กีน-กวาย.๙ และได้หยุดพักประจำฤดูร้อน๑๐ ณ ที่นั้น. เมื่อพ้นฤดูร้อนแล้ว ได้ออกเดินทางต่อไปถึงราชอาณาเขต เนาว์ตัน,๑๑ และได้ข้ามภูเขา ยังเลา ไป, บรรลุถึงราชอาณาจักร ชังยิห์.๑๒ ในเขตแขวงย่านนี้, ฟาเหียนกับพวกได้ประสบกับพวกคนพาลที่คอยรบกวนรังแกทำอันตรายแก่คนที่เดินทางท่องเที่ยว, จนแทบว่าจะไม่สามารถเดินทางต่อไปได้. แต่อย่างไรก็ดี, เจ้าผู้ครองนครได้เอาใจใส่ควบคุมให้ความอารักขาเป็นอย่างดี, และทรงเป็นทานบดี๑๓แก่คณะของฟาเหียน.
ณ ที่นี้ฟาเหียนได้พบกับ ชิ-เยน, ฮุย-กีน, เซง-ชาว, ปาว-ยัน๑๔, กับเซง-กิง, อีกรวม ๕ คน, ซึ่งร่วมใจกันสมทบเข้ากับคณะของฟาเหียนเดินทางไปด้วย, โดยความมุ่งหมายที่จะดำเนินไปในทางเดียวกัน. จึงหยุดพักประจำฤดูร้อนอยู่ด้วยกันอีกคราวหนึ่ง.๑๕ ภายหลังเมื่อฤดูร้อนล่วงไปแล้ว, คณะของฟาเหียนก็ได้พร้อมกันเริ่มออกเดินทางต่อไปถึง ตัน-ฮวง๑๖, ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตปราการอันเหยียดยาวจากตะวันออกไปตะวันตกประมาณ ๑๖๐ เส้น, และจากเหนือลงใต้ประมาณ ๘๐ เส้น. คณะของฟาเหียนกับพวกที่สมทบได้พร้อมกันหยุดพักอยู่ ณ ที่นี้เป็นเวลาเดือนเศษ. ต่อมาฟาเหียนกับเพื่อน ๔ คนได้เริ่มออกเดินทางไปก่อน, ซึ่งมีเจ้าพนักงานผู้รับใช้๑๗ เพิ่มเข้าอีกคนหนึ่งสมทบไปด้วย โดยแยกกับ ปาว-ยัน ผู้เป็นเพื่อนเดินทางมาด้วยกันชั่วคราว.
ลี-ฮาว๑๘ เจ้าเมือง ตัน-ฮวง ได้ช่วยจัดหาเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ, ในการที่จะให้เป็นทุนและกำลัง, เพื่อป้องกันภยันตรายและความร้อนสำหรับการที่จะข้ามทะเลทราย, ซึ่งผู้เดินทางทุกคน, เมื่อต้องไปประสบเข้าแล้ว, ก็ยากนักที่จะมีทางรอดพ้นไปได้, จะมองดูนกก็ไม่เห็นในอากาศ, หรือจะมองดูสัตว์จัตุบาทที่ส่งเสียงร้องอยู่ตามพื้นธรณีก็ไม่พบ, หากจะเพียรแลไปโดยรอบ ก็จะประสบแต่สิ่งที่จะบังเกิดความดุเดือด, อันเป็นเครื่องหมายแห่งความไม่พอใจด้วยประการทั้งปวง, มีสิ่งเดียวโดยเฉพาะซึ่งจะปรากฏอยู่ก็คือ, กองกระดูกแห้ง ๆ บนกองทรายอันเป็นเครื่องหมายแห่งความตายเท่านั้น.๑๙
-
๔. เชียงกัน หรือ เชียงอาน เป็นแขวงสำคัญในจังหวัด ซีกัน แห่งมณฑล เชนสี. เคยเป็นราชอาณาจักรแห่งปฐมราชวงศ์ ฮั่น (พ.ศ. ๓๔๑-๕๖๗). ต่อมาจนถึงราชวงศ์ สุย (พ.ศ. ๑๑๓๒-๑๑๖๑). ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอาณาจักร ตุซิน. เชียงกัน ซึ่งเป็นที่เกิดของฟาเหียน, อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัด นานกิง. และในเวลานั้นแว่นแคว้น ตฺซิน แบ่งออกเป็นประเทศราช ๓ ภาค. เชียงกัน เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้น ตฺซิน โดยเอกราชบ้าง, และบางคราวก็รวมกันเข้าอยู่ในอำนาจของจักรพรรดิราชแห่งประเทศจีน. ↩
-
๕. ในระยะกาล ฮวงจี, คือในระหว่าง พ.ศ. ๙๔๒-๙๕๗, ในรัชสมัยเยาวฮิง ขึ้นเป็นเจ้าครองนคร, แคว้น ตฺซิน ได้แยกออกจากประเทศจีนโดยมีอำนาจเด็ดขาด. และได้ให้นามปีที่ขึ้นดำรงราชย์ พ.ศ. ๙๔๒, ว่า ฮวงจี, และไปบรรจบรอบในปี กวังชี. แต่ฟาเหียนเรียกปีที่ออกเดินทางไปอินเดียว่าปีเกฮาย, และว่าเป็นปีที่ ๒ ในรอบระยะกาลที่กล่าวแล้วอย่างไรนั้น, ไม่มีคำอธิบายที่จะให้เข้าใจได้. แต่ดูเหมือนเป็นการสมควรยิ่งที่จะคะเนว่า คณะของฟาเหียนจะได้เริ่มเดินทางไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปี พ.ศ. ๙๔๒ ในรอบปีที่เรียกว่า เกฮาย. ดั่งนั้น แทนที่จะเป็นปีที่ ๒, ควรเป็นปีที่ ๑. จึงจะสอดคล้องต้องกันกับตำราใน Memoirs of Eminent Monks’ ซึ่งผู้แต่งกล่าวไว้ว่าเป็นปีที่ ๓ ในรัชกาล ลุงกัน แห่งแคว้น ตฺซิน ตะวันออกปี พ.ศ. ๙๔๒. ↩
-
๖. นามเหล่านี้ ฟาเหียนเรียกตามตำแหน่งยศของคณะสงฆ์ที่เดินทางไปด้วยกัน. ↩
-
๗. คือ คัมภีร์พระไตรปิฎก ในพระพุทธศาสนา, หรือข้อบัญญัติทั้งหลายที่ได้รวบรวมเข้าไว้เป็น ๓ ภาค. ตามฉบับ Eitel หน้า ๑๕๐, กล่าวว่า เป็นพระพุทธโอวาทและสุภาษิตซึ่งทรงประทานไว้ด้วยพระองค์เอง, คือ แบบฝึกหัดสั่งสอน และรูปธรรม อรูปธรรม ซึ่งเรียกว่า สูตร วินัย อภิธรรม. Dr. Rhys. Davids ว่าความมุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็น รูปธรรม อรูปธรรม ว่าเป็นอย่างไรนั้น, ก็คือ อภิธรรม. ในปาฐกถาของ Hibbert หน้า ๔๙ กล่าวว่า ‘ความรับนับถือว่าเป็นตัวเป็นตนของคนทั้งหลายนั้น. เกี่ยวข้องกับสภาวะแห่งธรรม, ซึ่งตามบทบัญญัติก็คือ รูปธรรม อรูปธรรม นั่นเอง.’ แต่อย่างไรก็ดี, สิ่งที่ฟาเหียนต้องการมากนั้นคือ วินัย. และต้องการบัญญัติที่ดีแท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า ตามความประสงค์ของรัฐบาล, ทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งมีสัมพันธ์กันอยู่. ↩
-
๘. ลังเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑล เชนสี ภาคตะวันตก, ทิศตะวันออกของจังหวัด กันสุ. ปรากฏนามอยู่บัดนี้คือ ลังเจา, ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกปลายเขตมณฑล เชนสี. ↩
-
๙. กีน-กวาย เป็นนามเจ้าผู้ครองนครภาคหนึ่งแห่งอาณาเขตทิศตะวันตกของแคว้น ตฺซิน. เชื้อวงศ์เดิมเป็นชาวป่าทางฝ่ายเหนือ, นามสกุลหรือแซ่ว่า ซินปี, นามเดิมว่า ไกฟุ.. เจ้าผู้ครองนครคนแรกชื่อ โคว-ชิน, รับแต่งตั้งให้ขึ้นครองนครเป็นใหญ่ในแคว้น ตฺซิน ปี พ.ศ. ๙๒๘, ทิวงคตใน พ.ศ. ๙๓๑. กิน-กวาย อนุชาจึงขึ้นครองนครแทนเชษฐา, ทรงราชย์โดยสุขสำราญจน พ.ศ. ๙๔๑, จึงได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งแคว้น ตฺซิน. ฟาเหียนได้เข้าเฝ้าเจ้าองค์นี้ที่เมืองหลวง. ในปัจจุบันนี้ บางแห่ง ณ ที่นั้นยังเรียกว่า ลันเจา, กันสุ. ↩
-
๑๐. จำพรรษา, แต่ไม่ใช่เป็นฤดูฝนอย่างของเรา. ประเทศจีนทางฝ่ายเหนือ, ถือเอาฤดูร้อนเป็นการจำพรรษาแทนฤดูฝน, คือ: นับตั้งแต่วันที่ ๑๖ ของเดือนที่ ๕ ถึงวันที่ ๑๕ ของเดือนที่ ๙ (นับอย่างจีน). แต่คงเรียกตามศัพท์เดิมว่า วรษะ หรือวรษาวสานะ ซึ่งตรงกับคำบาลีว่า วสฺส นั้นเอง. หนังสือของ Eitel หน้า ๑๖๓ กล่าวไว้ว่า, การจำพรรษาเป็นบัญญัติธรรมเนียมในพระพุทธศาสนาข้อ ๑, ที่ให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายกลับจากจาริกเข้ารวมกันอยู่ตามอาวาสในฤดูฝน, เพื่ออาจารย์จะได้ฝึกสอนธรรมวินัยและสวดมนต์ภาวนา. ดูวินัยมุขเล่ม ๒ หน้า ๒๗๘-๒๘๕, กำหนดตามดิถีแห่งจันทรคติ, เริ่มตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ไปจนครบกำหนด ๓ เดือน. ↩
-
๑๑. ในระหว่างเวลาที่แคว้น ตฺซิน วิวาทวุ่นวายกันด้วยการช่วงชิงสืบราชสมบัตินั้น, ในดินแดนทางเบื้องตะวันตก ๕ หัวเมืองได้รวมกันตั้งเป็นราชอาณาจักรขึ้นแห่ง ๑. มีเจ้าครองนคร, เรียกนามว่าอาณาจักร เลียง. นามแห่งนี้คงเรียกอยู่ตลอดมาว่า เลียงเจา, ซึ่งเป็นดินแดนตอนภาคเหนือแห่งแคว้น กันสุ. อาณาจักร เลียงเจา อุบัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๙๔๐, มีเจ้าผู้ครองนครองค์แรกคือ ตุฟะวูกู. ต่อมา ลีลุกู อนุชาขึ้นครองนครแทนใน พ.ศ. ๙๔๒, ตลอดจนถึง พ.ศ. ๙๔๕. เนาว์ตัน ซึ่งเป็นอนุชาคนที่ ๒ จึงขึ้นครองนครแทน. แต่ในเวลาที่ฟาเหียนเดินทางไปถึงแคว้นนี้ เนาว์ตัน ยังมิได้ขึ้นครองนคร. แต่เมื่อเวลาฟาเหียนกลับจากอินเดียถึงเมืองจีน เนาว์ตัน ขึ้นครองนครแล้ว. ดั่งนั้น ฟาเหียนจึงบันทึกลงไว้ว่าเนาว์ตัน.. ↩
-
๑๒. ชังยิห์เป็นนามแขวงหนึ่งในจังหวัด กันเจา ขึ้นอยู่กับมณฑล กันสุ. และมีทางมาจากเบื้องทิศตะวันตกอันยาวเหยียดจาก ลันเจา. กับมีทางไกลขึ้นไปทางทิศเหนือถึงกำแพงใหญ่ ชานไฮกวาน. ↩
-
๑๓. ทาน เป็นเครื่องหมายของความเมตตาปรานี, เป็นข้อแรกใน ๖ ประการแห่งปรมิตา, อันเป็นทุนที่จะนำให้บรรลุถึงนิพพาน. และ ทานบดี ก็คือผู้ที่ประกอบทานเพื่อข้ามห้วงทะเลแห่งความทุกข์ยาก. ข้อนี้แลเป็นเครื่องหมายแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของชนทั้งหลาย, ในอันที่จะบำรุงเกื้อหนุนมูลรากแห่งพระพุทธศาสนาโดยความเมตตากรุณา. โดยเฉพาะก็คือ ผู้เกื้อกูลแก่วัดวาอาราม. ดู Eitel หน้า ๒๙. ↩
-
๑๔. ในคณะพระภิกษุเหล่านี้, ปาว-ยัน เป็นภิกษุที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่ง ในเมื่อกลับจากอินเดียแล้ว. ท่านผู้นี้ได้แปลคัมภีร์สังสกฤตออกเป็นภาษาจีนหลายเล่ม และได้ถึงมรณะใน พ.ศ. ๙๙๓. ดู Nanjio’s of Catalogue of the Tripitaka, col 417. ↩
-
๑๕. นี่เป็นการหยุดพักประจำฤดูร้อนในปีที่ ๒ แห่งการเดินทางของฟาเหียน ซึ่งเป็นในปี พ.ศ. ๙๔๓. ↩
-
๑๖. ตัน-ฮวง เป็นชื่อแขวงหนึ่งในจังหวัด กันซี, ตะวันตกของ กันสุ, ซึ่งไกลออกไปจากตอนปลายแห่งกำแพงใหญ่ ชานไฮกวาน. ↩
-
๑๗. ที่ว่ามีเจ้าพนักงานหรือคนรับใช้พิเศษสมทบไปกับฟาเหียนด้วยนั้น, ไม่เข้าใจในความข้อนี้เลย. ↩
-
๑๘. ลี-ฮาว เป็นชาวเมือง ลังชี, เป็นคนที่รอบรู้วิชชาและมีความสามารถในการปกครองบ้านเมืองด้วยความเมตตากรุณา. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง ตัน-ฮวง จากเจ้าผู้ครองนคร เลียง ฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. ๙๔๓. ต่อมาได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร เลียง ฝ่ายตะวันตก. ถึงมรณกรรมใน พ.ศ. ๙๖๐. ↩
-
๑๙. ทะเลทราย โกบี หรือ โคบี และยังมีนามอื่นๆ ที่เรียกผิดกันไปบ้าง. ผู้ท่องเที่ยวที่จำต้องข้ามทะเลทรายนี้, จักต้องเตรียมการกันใหญ่หลวงเสียก่อน. จีนเรียกนามว่า แม่น้ำทราย ซึ่งมักทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด, บางทีเขาคิดว่าจะข้ามได้ทอดเดียวดังข้ามลำห้วยธารกระมัง. แต่ความจริงนั้นจะต้องหาตำแหน่งแวะพักเร่ร่อนจากทิศตะวันออกไปสู่ตะวันตกจนตลอดทาง. ในหนังสือ Vocabulary of Proper Name หน้า ๒๓ Dr. Porter Smith กล่าวว่า ทะเลทราย โกบี ยาวจากทิศตะวันออกตั้งแต่เขตประเทศมองโกเลีย, ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จดเขตประเทศเตอรกีสตานภายในระยะ ๒๔๐ เส้น ถึง อิลจี, อันเป็นหัวเมืองเอกของ โข-เตน ในระดับแห่งภูมิภาค, ลองติจู๊ต ๒๓ องศา เป็นด้านยาว, และแลตติจู๊ตจาก ๓ ถึง ๑๐ องศา เป็นส่วนกว้าง, ประมาณ ๘,๔๐๐ เส้น, อันเป็นที่กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก. มีที่ดินที่จะทำไร่นาได้บ้างเล็กน้อย. มีความเห็นกันอยู่บ้างว่าความอันน่าพิลึกสะพรึงกลัวของทะเลทราย โกบี, ก็คือคลื่นทรายอันใหญ่มหันต์ซึ่งอาจซัดไปสร้างรูปพื้นภูมิภาคให้เปลี่ยนแปลงต่อไปได้ มีนิยายที่เชื่อถือกันเรื่องหนึ่งเล่าสืบมาว่า, ในกาลครั้งหนึ่งเคยมีพายุคลื่นทรายพัดไปทับถมเขตแคว้น ๓๖๐ หัวเมืองราบลงเตียนเป็นหน้ากลอง, ภายในระยะเวลา ๒๕ ชั่วโมง. ดูหนังสือ Gilmour’s Among the Mongols. บทที่ ๕.
อนึ่ง ทะเลทรายนี้ มีภาพพรางตาให้เห็นเป็นต่าง ๆ เคยมีนักสำรวจไปขุดค้นภายใต้บางแห่ง ได้พบปราสาทว่าง รูปภาพ หนูนอนตายอยู่ในโรงม้า ข้าวเปลือกและอักษรโบราณ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดสามารถอ่านได้จนบัดนี้. ↩