- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๓๘
ที่ซีลอนหรือสิงหฬ. เมื่อตั้งขึ้นเป็นราชอาณาจักรประเทศราช.
พระสตูปและอาราม. พระพุทธปฏิมา ต้นโพธิพุทธบัลลังก์.
การแห่สมโภชพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์
ที่นครแห่งนี้แต่เดิมมาไม่มีผู้คนพลเมือง,๓๘๑ มีอยู่แต่พวกรากษสกับนาคทั้งนั้น, ซึ่งพวกพ่อค้าเมืองต่าง ๆ นำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนค้าขาย เมื่อจะทำการค้าขายแลกเปลี่ยนที่นี่, พวกรากษสจะไม่สำแดงตัวเอง (ออกมาให้เห็น). แต่จะนำเอาสินค้าสิ่งของอันมีค่าประเสริฐทั้งหลายมาวางไว้โดยเฉพาะ, และติดฉลากบอกกำหนดราคาไว้กับสิ่งของนั้นๆ เมื่อพ่อค้ายอมรับซื้อตามราคานั้น, ก็เอาสิ่งของเหล่านั้นไปได้.
พวกพ่อค้าทั้งหลายทั่วไปได้ไปมา (ในทางนี้), และเมื่อเขาเหล่านั้น (กลับ) ไปแล้ว. ชาวบ้านราษฎรแห่งนครต่าง ๆ (เหล่านั้นได้ทราบว่า), ดินแดนแห่งนี้ความสุขสบายประการใด, ต่างก็รวบรวมชนกันมาอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมากมาย, จนกระทั่งกลายเป็นประชาชาติใหญ่โตขึ้น. ระดับ (อากาศ) เป็นที่พึงใจ, ฤดูร้อนหรือฤดูหนาวใดก็มิได้แตกต่างกัน. อุดมดาษดื่นไปด้วยพืชพรรณธัญญชาติอยู่เสมอ. บุคคลผู้ประกอบการกสิกรรมคิดจะดำเนินการกระทำเมื่อเวลาใดก็ได้, โดยไม่ต้องเป็นกำหนดฤดูกาลสำหรับที่นี่.
เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมาถึงนครนี้,๓๘๒ ทรงปรารถนาจะกระทำการแปลงร่างพระยานาคร้ายตนหนึ่ง, ด้วยอำนาจอภินีหารอันเหนือธรรมดาของพระองค์, พระองค์ได้ทรงเหยียบพระบาทข้างหนึ่งลง ณ ที่เหนือนครหลวง, และอีกข้างหนึ่งทรงเหยียบลงบนยอดภูเขา,๓๘๓ ทั้ง ๒ ข้างห่างจากกันถึง ๑๕ โยชน์. เบื้องบนแห่งพระพุทธบาทที่เหนือนครนั้น, พระราชาได้ทรงสร้างพระสตูปขนาดใหญ่และสูงถึง ๔๐๐ ศอกไว้องค์หนึ่ง, ประดับประดาด้วยทองและเงินเป็นที่สง่างาม, และสำเร็จแล้วล้วนไปด้วยการรวบรวมไว้ซึ่งสิ่งสำคัญอันมีค่าประเสริฐทั้งหลาย. ที่ข้างพระสตูปด้านหนึ่งมีอารามที่ได้สร้างมาแต่เดิมด้วยแห่งหนึ่งเรียกว่าอภัยคิรี.๓๘๔ ที่อารามแห่งนี้มีพระภิกษุอยู่ ๕,๐๐๐ ที่อารามนี้มีวิหารสำหรับพระพุทธองค์หลังหนึ่ง, ประดับประดาไปด้วยลวดลายแกะสลักปิดทองและเงิน, และบริบูรณ์ไปด้วยสิ่งอันมีค่าประเสริฐ ๗ ประการ, ภายในมีพระพุทธปฏิมาหินหยกสีเขียวองค์หนึ่ง, สูงกว่า ๒๐ ศอก. พราวพรายไปด้วยวัตถุอันเป็นสิ่งสำคัญๆ ทั้งสิ้น. จนเหลือที่จะเลือกสรรเอาถ้อยคำมากล่าวเฉลิมเกียรติให้ถูกถ้วนเท่าที่มีปรากฏอยู่นั้นได้. ในฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวามีมุกดาอันหาค่ามิได้เม็ดหนึ่ง.
ตั้งแต่ฟาเหียนได้ละทิ้งดินแดนแห่งประเทศฮั่นล่วงแล้วมาจนบัดนี้ได้หลายปีแล้ว, ผู้คนที่ฟาเหียนได้มาทำการเกี่ยวข้องติดต่ออยู่ล้วนแต่เป็นแขกแปลกหน้าต่างถิ่นกันทั้งสิ้น. ดวงตาทั้งสองของฟาเหียนมิได้ทอดอยู่บนสิ่งที่ตนเคยพบเห็นมาแต่เก่าก่อน เช่นครอบครัว ภูเขา หรือแม่น้ำ ต้นผักหญ้า และต้นไม้เลย. เพื่อนเดินทางนอกนั้นต่างก็พลัดพรากจากกันไป, บางคนก็ตาย, บางคนแยกทางไปต่างหาก, มิได้เห็นหน้าหรือแม้แต่เงากันเลยในเวลานี้นอกจากตนเอง., ความเศร้าโศกก็พลันอุบัติขึ้นตั้งอยู่ในดวงใจของฟาเหียน. วันหนึ่งเมื่อฟาเหียนไปนั่งอยู่ที่ข้างพระพุทธปฏิมาหยก, ขณะที่ฟาเหียนได้เห็นพ่อค้าคนหนึ่งเอาพัดไหมสีขาว๓๘๕เล่มหนึ่งของเขามาถวายเป็นเครื่องสักการบูชา, ความทุกข์โศกของฟาเหียนได้ขึ้นถึงขีดเต็มเปี่ยมจนเหลือที่จะระงับใจไว้ได้, พลันน้ำตาของตนก็ล่วงหล่นลงทันที.
ในกาลก่อนครั้งหนึ่งกษัตริย์แห่งนครนี้ได้ส่งคนให้ขึ้นไปมัชฌิมประเทศแห่งอินเดียตอนเอากิ่งต้นปัทร,๓๘๖ แล้วและนำเอาลงมาปลูกไว้ที่ข้างวิหารแห่งพระพุทธองค์, ต้นปัทรได้เจริญงอกงามขึ้นสูงประมาณ ๒๐๐ ศอก และได้เอนไปทางตะวันออกเฉียงใต้. พระราชาเกรงว่าจะล้ม, จึงได้ให้ค้ำไว้ด้วยเสาตอม่อยาว ๘ หรือ ๙ คืบโดยรอบ. ต้นปัทรก็เริ่มงอกรากหยั่งลงไปตามใจกลางของเสาที่ค้ำทุกๆ ต้น. จนทะลุตลอดต้นเสาลงข้างใต้พบพื้นดิน ณ ที่นั่น, (กลายเป็นลำต้น) โตโดยรอบในราว ๔ คืบและทอดรากสีแดง (ไปตามพื้นดิน). ถึงกระนั้นก็ดี, เสาตอม่อที่แตกกลางออกเป็นซีกๆ ก็ไม่มีผู้ใดเก็บเอาไปให้พ้นที่. ภายในต้นปัทรนี้มีวิหารซึ่งได้สร้างขึ้นไว้หลังหนึ่ง, ภายในมีพระพุทธรูปนั่งองค์หนึ่ง, ซึ่งมีพระภิกษุและผู้ที่เคารพนับถือทั่วไปมาดูอยู่มิได้ขาด. ในนครนี้มีวิหารซึ่งได้สร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานพระทันตธาตุของพระพุทธองค์, ซึ่งได้จ้างนายช่างให้ทำการประดับประดาไว้ด้วยสิ่งอันมีค่าประเสริฐ ๗ ประการดุจเดียวกับที่อื่นๆ พระราชาถือธรรมเนียมการชำระล้างบาปตามแบบพราหมณ์, และอันที่จริงความเชื่อถือและความเคารพนับถือของราษฎรภายในนครส่วนใหญ่เช่นเดียวกัน. ตั้งแต่อดีตกาลมารัฐบาลแห่งประเทศราชนี้ตั้งมาด้วยความเป็นหลักฐานมั่นคง, โดยปราศจากข้าวยากหมากแพงหรือกันดารขัดสน, ไม่มีการจลาจลหรือกำเริบวุ่นวายประการใด. ที่ในคลังของคณะสงฆ์มีพลอยหินอันมีค่าประเสริฐ และมณีอันมีค่ายอดยิ่ง. ครั้งหนึ่งพระราชาได้เสด็จเข้าไปในคลังนั้น, และเมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรไปโดยรอบ, ก็เห็นมุกดามีค่าอันประเสริฐ, โลภเจตนาของพระองค์กำเริบขึ้น, พระองค์ทรงปรารถนาใคร่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นส่วนของพระองค์เองเสียด้วยอำนาจ แต่อย่างไรก็ดี, ใน ๓ วันต่อมาได้เสด็จไปด้วยพระองค์เอง, และในทันทีที่พระองค์ได้ตรงเข้าไปน้อมพระเศียรของพระองค์ลงกับพื้นในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย, พระองค์ได้สำแดงการกลับพระหทัยที่ได้ทรงคิดชั่วร้ายมาแล้ว. ตามเหตุผลที่เป็นมาแล้วนี้, พระองค์ได้ทรงเล่า (ความในพระหทัย) ให้ภิกษุทั้งหลายฟัง. แล้วทรงแสดงความเจตนาให้ทำกฎข้อบังคับขึ้นตั้งแต่วันนั้นเพื่อให้ปรากฏสืบไปว่า ไม่ยอมอนุญาตให้พระราชา (พระองค์ใด) เสด็จเข้าไปในคลังและทอดพระเนตร (สิ่งของในนั้น). แม้พระภิกษุ (ใดๆ) ก็เข้าไปไม่ได้. จนกว่าจะทรงความเป็นอยู่ในธรรมวินัยชั่วกาลเวลาเต็ม ๔๐ พรรษาล่วงแล้ว.๓๘๗
ในนครนี้ยังมีไวศยผู้เฒ่าและพ่อค้าโพ๓๘๘มากหลาย, พวกเหล่านี้มีบ้านเรือนอันงดงามสมเกียรติศักดิ์. ตรอกที่ใช้สัญจรไปมาได้สั่งให้บำรุงรักษาไว้เป็นอันดี. ที่หัวถนนอันเป็นสายสำคัญทั้ง ๔, มีศาลาโรงเทศนาสร้างขึ้นไว้. ณ ที่ศาลานี้ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำของเดือน, พวกเหล่านั้นจัดการปูพรมและตั้งธรรมาสน์สำหรับนั่งไว้ข้างหน้า ฝ่ายพระภิกษุและฆราวาสสามัญทั่วไปจากทุกๆ ส่วน, ต่างพร้อมกันมาฟังธรรมเทศนา. ชาวบ้านกล่าวว่าในราชอาณาจักรนี้พระภิกษุรวมกันทั้งหมดอาจถึง ๕ หรือ ๖ พัน, พระภิกษุทั้งหลายได้รับอาหารจากโรงเรือนตามธรรมดาทั่วไป, นอกจากนี้พระราชายังได้จัดเตรียมอาหารไว้สำหรับแจกจ่ายถวายแก่ภิกษุ ๕ หรือ ๖ พันในนครอีกแห่งหนึ่ง. เมื่อขณะใดที่ภิกษุทั้งหลายนำเอาบาตรใหญ่. ไป (ยังที่แจกจ่ายอาหารนั้นแล้ว). ก็จะได้ถือเอาภาชนะซึ่งเต็ม (ด้วยอาหาร) กลับด้วยกันทั้งสิ้น.
ในกลางเดือน ๓ พระทันตธาตุของพระพุทธองค์จะถูกเชิญออกมาให้ได้เห็นกันเสมอไป. แต่ก่อนที่จะเชิญออกมา ๑๐ วัน, พระราชาได้ (รับสั่ง) ให้ตกแต่งคชาใหญ่ด้วยผ้าปูหลังอันสง่างามเชือกหนึ่ง. กับให้มีบุรุษคนหนึ่งแต่งกายด้วยเครื่องเสื้อผ้าของหลวง, ขึ้นขี่ช้างตีกลองใหญ่และกล่าวประกาศไปตามทางโดยชัดเจนว่า ‘ในระหว่างเวลา ๓ อสงไขยกัลป์๓๘๙ที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงกลับพระหทัยมาตั้งบำเพ็ญกรณียกิจให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว, โดยมิได้ถนอมพระชนม์ชีพของพระองค์. พระองค์ทรงสละทิ้งพระราชอาณาจักรและนคร, พระมเหสี, และพระราชโอรส. พระองค์ปลิดดวงพระเนตรของพระองค์ประทานแก่คนๆหนึ่ง. พระองค์ตัดพระมังษาก้อนหนึ่งให้เป็นค่าถ่ายชีวิตของนกเขาตัวหนึ่ง.๓๙๐ พระองค์ตัดพระเศียรของพระองค์ให้เป็นทาน๓๙๑ พระองค์อุทิศร่างกายให้เป็นอาหารแก่พยัคฆ์อดอยากตัวหนึ่ง๓๙๒ พระองค์มิได้เสียดาย (แม้แต่) กระดูกมันไขแลสมองของพระองค์. ในทางทั้งหลายเหล่านี้พระองค์ได้ทรงกระทำไปด้วยความเพียรอดทนต่อความทุกขเวทนา, โดยมิได้เห็นแก่ชีวิตและความเป็นอยู่ทั้งสิ้นเลย. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, และได้ทรงปฏิบัติกรณียกิจอยู่ในนี้สืบต่อไปอีก ๔๕ ปี, โดยกลับกลายเป็นพระบรมครูทรงแสดงธรรมเทศนาสั่งสอน (ฝูงสัตว์), โดยมิได้ทรงหยุดยั้งพักผ่อน. และไม่เปลี่ยนแปรพระจริยาวัตต์ในทางที่จะโปรดให้บุคคลทั้งหลายพ้นจากอกุศลกรรมเลย. พระองค์ได้ทรงกระทำความติดต่อกับชีวิตของพระองค์โดยครบถ้วนบริบูรณ์,๓๙๓ ตลอดจนเสด็จดับขันธ์บรรลุปรินิพพาน. และเหตุการณ์ตั้งแต่นั้นมา (จนบัดนี้) ได้ ๑๔๙๗ ปีแล้ว. แสงสว่างของโลกได้หมดสิ้นไปแล้ว,๓๙๔ ชีวิตความเป็นอยู่ (ของเรา) ทั้งหลายจะคงมีอยู่แต่ความเศร้าโศกสืบไปชั่วกาลนาน. จงคอยดู. อีก ๑๐ วัน. พระทันตธาตุของพระพุทธองค์จะได้นำออกมาให้เห็นประจักษ์, และจะได้นำไปสู่อภัยคีรีวิหาร. ให้พระภิกษุและคฤหัสถ์ทั้งหลาย, ที่ปรารถนาจะสะสมบุญกุศลสำหรับตนเอง, จงทำถนนหนทางให้เกลี้ยงเกลาตามความเจตนาดี, แล้วและตกแต่งถนนหนทาง, และตระเตรียมตั้งที่ทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้และเครื่องหอมให้ตลอดทั่วไป.’
เมื่อประกาศนี้ล่วงไปแล้ว, พระราชาได้ให้ทำรูปร่างกายแบบต่าง ๆ แสดงไว้ตามริมถนนทั้งสองข้าง ๕๐๐ รูป, ซึ่งเป็นภาพที่มีปรากฏมาในตำนานของพระโพธิสัตว์ เช่นครั้งเป็นสุทาน,๓๙๕ ครั้งเป็นสามะ,๓๙๖ ครั้งเป็นพระยาคชสาร,๓๙๗ และเมื่อครั้งเป็นกวางหรือม้า.๓๙๘ รูปภาพทั้งหมดเหล่านี้ระบายด้วยสีอย่างสดใสและสำเร็จพร้อมไปด้วยความงดงาม. ซึ่งแลดูเป็นประดุจสิ่งมีชีวิตอยู่. ต่อจากนี้พระทันตธาตุของพระองค์ก็ถูกเชิญออกมา, และพาไปในกลางถนน, ทุกๆ แห่งก็ถวายเครื่องสักการบูชาต่อพระทันตธาตุ (กันไป) ตลอดทาง, จนกระทั่งถึงวิหารของพระพุทธองค์ ณ อภัยคิรีอาราม ณ ที่นั้นพระภิกษุและคฤหัสถ์รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ, ต่างเผาเครื่องหอมและจุดประทีปโคมไฟ. ปฏิบัติกันอยู่เช่นนี้ตลอดกำหนดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนโดยมิได้หยุด, จนกระทั่งครบเวลาที่มีงาน ๙๐ วันบริบูรณ์เมื่อ (พระทันตธาตุถูกอัญเชิญ) กลับไปสู่วิหารภายในนคร (ตามเดิม) แล้ว, ในวันถือศีลประตูวิหารจะเปิด, ผู้ที่เคารพนับถือก็เข้าไปกระทำกิจพิธีและบำเพ็ญศีลตามวินัย
เบื้องทิศตะวันออกของอภัยคีรีวิหารไป ๑,๐๐๐ เส้นเป็นเนินภูเขาแห่งหนึ่ง, มีวิหารหลังหนึ่งอยู่บนนั้นเรียกว่าเจตย.๓๙๙ ณที่นี้อาจมีภิกษุได้ถึง ๒,๐๐๐ ในระหว่างพระสมณะเหล่านั้นมีพระสมณะองค์หนึ่งดำรงกุศลบารมีอันยิ่งใหญ่, มีนามว่าธรรมคุปต,๔๐๐ มีเกียรติคุณประจักษ์แจ้งตลอดทั่วไปในราชอาณาจักรนี้. พระสมณะองค์ดำรงชีวิตอยู่ ๕๐ ปีกว่าภายในคูหาศิลา, ท่านผู้ได้สำแดงความอ่อนหวานแห่งน้ำใจอยู่เนือง ๆ, และได้นำเอางูและหนูให้มารวมในห้องเดียวกัน, แต่ก็ปราศจากการที่จะคิดปองร้ายซึ่งกันและกัน.
-
๓๘๑. ณ ที่คำ 人民 (นั้งหมิน) ข้าพเจ้าสมัครที่จะแปลว่า พลเมือง หรือ ราษฎร และที่ควรจะใช้ให้เหมาะกับความตรงนี้ว่า ผู้คนพลเมือง. ตามเรื่องเดิมของสิงหฬมักใช้คำว่า รากษส, คือพวกยักษ์หรือมนุษย์ตัวใหญ่ ๆ ที่กินคน, ซึ่งพวกกะลาสีเรือแตกกลัวกันนัก. ฟาเหียนใช้ตัวอักษรสำหรับยักษ์สุภาพอย่างหนึ่ง และที่ดุร้ายอีกอย่างหนึ่ง. ↩
-
๓๘๒. ที่ว่าพระศากยมุนีเสด็จเกาะสิงหฬนั้นไม่น่าจะเป็นความจริง, ไม่มีเรื่องราวปรากฏในพุทธศาสนาฝ่ายสยาม. หนังสือของ Hardy ใน M. B. หน้า ๒๐๗-๒๑๓, ชักเอานิยายมาเล่าว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วในพรรษาแรกและพรรษาที่ ๕ กับที่ ๘, ได้เสด็จไปเยี่ยมสิงหฬรวม ๘ ครั้ง. หนังสือ Buddhist ของ David’s บทสุดท้ายว่าไม่ใช่พระพุทธองค์, แต่เป็นพระมหินทเถระราชโอรสพระเจ้าอโศก, ซึ่งพระราชบิดาได้ส่งให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสิงหฬ, ภายหลังเวลาที่ได้กระทำตติยสังคีติที่ปัตนะเสร็จแล้ว, (พ.ศ. ๒๙๓-๓๑๓). เรื่องพระเจ้าอโศกส่งพระมหินท์บนางภิกษุณีสังฆมิตตาราชบุตรราชบุตรีไปเผยแผ่พุทธศาสนาในสิงหฬ, (ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๕๒๗-๕๒๘, กับพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๒๘-๒๙). ↩
-
๓๘๓. ในหนังสือของ Hardy โน๊ตหน้า ๒๑๑-๒๑๒ ว่าเขาพระพุทธบาทแห่งนี้ มีนามที่เรียกกัน ๓ อย่าง คือ สิลิสุมโน สมัสทคูหา, และสมนิล. รอยพระพุทธบาทที่มีอยู่บนยอดเขาเป็นรอยตื้นๆ, ยาว ๕ ฟิต ๓ ๓/๔ นิ้ว กว้าง ๒ ฟิตครึ่ง. พวกฮินดูนับถือว่าเป็นรอยพระบาทของพระศิวะ พวกโมหหมัดว่าเป็นของอดัม. ↩
-
๓๘๔. พระสตูปอภัยคิรีแห่งนี้เป็นสูงที่สุดในสิงหฬ, หนังสือ Buddhism ของ David’s หน้า ๒๓๔ ว่าสูง ๒๕๐ ฟิต, สร้างขึ้นในราว พ.ศ. ๔๕๓ , โดยพระเจ้าวัฏฏคามินี, ซึ่งทรงราชย์เมื่อราว ๑๖๐ ปีภายหลังจากเวลาที่ได้กระทำสังคีติที่ปัตนะ เมื่อ พ.ศ. ๓๓๐ เสร็จแล้วต่อมา. การสร้างเป็นคราวเดียวกันกับที่ได้กระทำการชำระตัดทอนและคัดเขียนพระไตรปิฎกขึ้นไว้ในสิงหฬเป็นครั้งแรก. ↩
-
๓๘๕. พ่อค้าที่ถวายพัดคนนี้คงจะเป็นคนจีน, เพราะการถวายเครื่องสักการบูชาด้วยพัดเช่นนี้เป็นทำเนียมที่เคยทำในเมืองจีน. ↩
-
๓๘๖. ณที่นี้ควรจะเป็นต้นปิปปล, หรือที่จะเรียกกันทั่วไปว่าโพธิ์, ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณภายใต้. ไม่ต้องสงสัยตามเรื่องราวที่ฟาเหียนกล่าวบอกชัดว่าเป็นต้นโพธิ์อันมีชื่อเสียง, ซึ่งในซีลอนยังคงถนอมบำรุงรักษากันอยู่จนเดี๋ยวนี้. เรื่องราวของโพธิ์ต้นนี้เกี่ยวกับความที่เล่าไว้ในโน๊ตก่อนซึ่งว่า พระเจ้าอโศกได้ส่งพระมหินทเถระราชโอรสมาเผยแผ่พุทธศาสนาในสิงหฬนั้น, ในคราวเดียวกันพระองค์ได้มีพระประสงค์ให้พระราชธิดานามว่าสังฆมิตตา อันเป็นกนิษฐาของพร ะมหินท์อุปสมบทเป็นภิกษุณี, แล้วส่งให้มาเผยแผ่ศาสนาพร้อมด้วยพระเชษฐา นางได้ตัดตอนเอากิ่งโพธิ์ต้นที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ณ ภายใต้ที่พุทธคยานำไปปลูกไว้ในซีลอนด้วยกิ่งหนึ่ง. ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๕๒๘. David’s กล่าวไว้ในหนังสือ Buddhism ตามคำของ Sir Emerson Tennent ว่า โพธิ์ต้นนี้เป็นต้นไม้เก่าแก่ที่สุดในพงศาวดารของโลก. Eitel กล่าวว่าโพธิ์ต้นที่ตัดตอนมาจากพุทธคยานั้นมีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี. สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กล่าวในหนังสือพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๑๙ ว่า พระเจ้าอโศกได้ประทานต้นโพธิ์พันธุ์ศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาไปยังพระเจ้าเทวานัมปิยดิศในลังกา (สิงหล). ยังปรากฏอยู่ที่อนุราธบุรีเดี๋ยวนี้. ↩
-
๓๘๗. เทียบเคียงดูกับเรื่องราวในบทที่ ๑๖, ซึ่งพรรณนาถึงเรื่องพระเจ้าแผ่นดินและเสนาอมาตย์ไปทำบุญที่อาราม, ต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ที่เคารพ. ↩
-
๓๘๘. คำทั้งสองนี้ในภาษาจีนเขียนตัวอักษรออกเสียงตามภาษาสํสกฤตซึ่งว่า สา และ วา โพ หรือ ภา. อาจเป็นพวกพ่อค้าชาวอาหรับ, พวกนี้อยู่ในที่ชุมนุมการค้าอันสำคัญของชาวสิงหฬภาคหนึ่ง. ↩
-
๓๘๙. หนึ่งกัลป์, เป็นกำหนดเวลาอันยืดยาวนานระยะหนึ่ง, ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ยุค คือ, กฤตยุค, เตรตายุค, .ทวาปรยุค, กลิยุค, แล้วสากลโลกจะแตกทำลายไปคราวหนึ่ง. อสงไขยกัลป์เป็นระยะเวลาที่รวมจำนวนกัลป์ขึ้นเป็นยุคอันยืดยาวที่สุดอีกตอนหนึ่ง. ตามแบบจีนคำนวณตัวเลขได้เท่ากับ เลข ๑ กับ ๐ อีก ๑๗ ตัว. ตามแบบธิเบตกับสิงหล, เลข ๑ กับ ๐ อีก ๙๗ ตัว. ๔ อสงไขยกัลป์เป็น ๑ มหากัลป์. (Eitel หน้า ๑๕) ↩
-
๓๙๐. บทที่ ๙ เป็นนกพิราบ, แต่ในบทนี้เป็นนกเขา. ↩
-
๓๙๑. ดูบทที่ ๑๑. ↩
-
๓๙๒. ดูบทที่ ๑๑. ↩
-
๓๙๓. ตามความในวรรคนี้คงหมายถึงชาติแต่อดีตทั้งหมด, ตลอดจนชาติในปัจจุบันของพระองค์. ↩
-
๓๙๔. ‘จะไม่ได้เห็นองค์พระบรมโลกนาถอีกแล้ว.’ เทียบเคียงดูกับเรื่องราวใน Sacred Books of the Eastเล่ม ๑๑, Buddhist Suttras หน้า ๘๖, ๑๒๑, กับโน๊ตบนหน้า ๘๙. ↩
-
๓๙๕. สุทาน หรือสุทาตต, เป็นพระนามของพระบรมโพธิสัตว์ในชาติที่สุด, ซึ่งในนิบาตชาดก (เล่ม ๒๒ หน้า ๑๕) เรียกว่าเวสสันดร, ก่อนที่จะมาปรากฏพระนามว่าศากยมุนีหรือโคตม, และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า. มีเรื่องราวอันยืดยาวในเวสสันดรชาดก. ดูหนังสือนิบาตชาดก เล่ม ๒๒, กับพระราชวิจารณ์ทานชาดก เล่ม ๒๓ หน้า ๑๑ และต่อไป, กับ Hardy M. B. หน้า ๑๑๖-๑๒๔, และ Buddhism Birth Stories the Nidāna Kathā หน้า ๑๕๘. ↩
-
๓๙๖. นามสามะคำนี้, Beal อธิบายไว้ในโน๊ตว่าเป็นนิยายชาดกเรื่องหนึ่งเช่นเดียวกับเวสสันดร. ซึ่งสำแดงตนเป็นนายช่างแกะสลักในสาญจิ. (อาจเป็นสุวรรณสามในนิบาตชาดก เล่ม ๑๙ หน้า ๑๓๗ กระมัง?) ถึงแม้เรายังไม่ทราบแน่ว่าสามชาดกเป็นประการใดก็ดี, แต่เราก็ต้องยอมรับเอานามคำนี้มาจากตัวอักษรจีนทั้งสอง ในสมุดเล่มนี้ซึ่งแปลเป็นคำว่าสามะนั้นควรแล้ว. ซึ่งครั้งแรก Beal แปลว่า แสงสว่างอันสดใสที่แลบไป. Rémusat ว่า แสงสว่างอันสุกใสที่เปลี่ยนแปรไป. Giles ว่า ดุจแสงสว่างแห่งฟ้าแลบ. Legge ว่าดุจแสงสว่างของฟ้าแลบที่เปลี่ยนแปรไป ↩
-
๓๙๗. จำพวกสัตว์ต่างๆ ตามเรื่องและสมัยที่พระโพธิสัตว์ไปบังเกิดเสวยชาติมาแล้ว, ดั่งที่ปรากฏในนิยายชาดกต่าง ๆ. Hardy กล่าวไว้ในหนังสือ M. B. หน้า ๑๐๐ ว่า เสวยชาติเป็นช้าง ๒ ครั้ง, เสวยชาติเป็นกวาง ๑๐ ครั้ง, เสวยชาติเป็นม้า ๔ ครั้ง. หนังสือนิบาตชาดกเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าให้หอพระสมุดรวบรวมพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ รวมเป็นหนังสือ ๒๓ เล่ม เป็นนิทาน ๕๔๖ เรื่อง. ↩
-
๓๙๘. จำพวกสัตว์ต่างๆ ตามเรื่องและสมัยที่พระโพธิสัตว์ไปบังเกิดเสวยชาติมาแล้ว, ดั่งที่ปรากฏในนิยายชาดกต่าง ๆ. Hardy กล่าวไว้ในหนังสือ M. B. หน้า ๑๐๐ ว่า เสวยชาติเป็นช้าง ๒ ครั้ง, เสวยชาติเป็นกวาง ๑๐ ครั้ง, เสวยชาติเป็นม้า ๔ ครั้ง. หนังสือนิบาตชาดกเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าให้หอพระสมุดรวบรวมพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ รวมเป็นหนังสือ ๒๓ เล่ม เป็นนิทาน ๕๔๖ เรื่อง. ↩
-
๓๙๙. เจตยหรือเจดิย (เจดีย์), เป็นคำนามที่ใช้ทั่วไปสำหรับหมายถึงสถานหรือวัตถุทั้งหลายอันเป็นที่เคารพในศาสนา, เช่นพระพุทธรูป, พระสตูป, พระปรางค์, อาราม, โบสถ์, วิหาร, เป็นต้น. ดูหนังสือพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๑-๙ Eitel หน้า ๑๔๑. ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อมิหินทเล, อันอยู่ทางตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิบัลลังก์ห่างกันในราว ๓๐๐ เส้นนั้น, David’s ที่เรียกว่าเจดีย์เหมือนกัน, Buddhism หน้า ๒๓๐-๒๑๓. ↩
-
๔๐๐. ธรรมคุปต, Eitel (หน้า ๓๑) กล่าวว่า เป็นสมณะผู้มีชื่อเสียงลือชาปรากฏว่าเคร่งครัดต่อธรรมวินัยที่สุดองค์หนึ่ง และธรรมคุปตองค์นี้ได้ตั้งโรงเรียนธรรมวินัยอันนำความเจริญวัฒนาสู่สิงหลขึ้นอีกแห่งหนึ่ง, ในราว พ.ศ. ๙๔๐ เศษ แต่ฟาเหียนหาได้กล่าวถึงโรงเรียนนี้ด้วยไม่. ↩