- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๕
การประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ ๕ ปีต่อครั้ง
พระบรมสารีริกธาตุพืชพันธุ์ในภูมิประเทศ
พระราชาแห่งประเทศนี้ได้โปรดให้มีการเปิดสภาประชุมสงฆ์ ซึ่งเรียกว่าปัญจบริษัทขึ้น. การเช่นนี้ในประเทศจีนก็มีการประชุมใหญ่กำหนด ๕ ปีต่อครั้งในทำนองเดียวกัน๕๘ เมื่อเริ่มจะเปิดการประชุม, พระราชาได้อาราธนาพระสมณะทั้งหลายในแว่นแคว้นทั่วทุกแห่งมาประชุม. พระภิกษุต่างเกลื่อนกล่นเข้ามาประดุจดั่งก้อนเมฆ. และเมื่อพระภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมพร้อมกันครบถ้วนแล้ว, สถานที่ประชุมอันตกแต่งประดับประดาไว้อย่างวิจิตรงดงามยิ่งก็ได้เปิดขึ้น. ธงอันทำด้วยผ้าไหมก็ถูกชักขึ้นไปปลิวอยู่ตามลม, บนเพดานของสถานที่ตกแต่งด้วยเครื่องห้อยแขวน, ดอกบัวทองและเงินซึ่งประดิษฐ์ทำขึ้น ได้ติดอยู่ด้านหลังเบื้องบนพระที่นั่งของผู้เป็นประธานการประชุม. เสื่ออาสนะอันสะอาดได้ปูลาดไว้โดยเรียบร้อย. เมื่อพระภิกษุทั้งหลายเข้านั่งพร้อมกันแล้ว, พระราชากับเสนาอมาตย์ราชบริพารทั้งหลาย ต่างก็ประเคนของถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะโดยสมควรแก่พระธรรมวินัย. การประชุมนี้ได้เริ่มเปิดขึ้นในต้นเดือนแรก, และเดือนที่ ๒ จนถึงเดือนที่ ๓, ตลอดเวลาในภาคฤดูใบไม้ผลิ.
เมื่อการประชุมได้สำเร็จลงแล้ว พระราชาได้ทรงตักเตือนให้เสนาอมาตย์ราชบริพาร ทำการสักการะบูชาเป็นพิเศษอีก. และให้ทำการติดต่อกันไปตั้งแต่วันต้น, และ ๒-๓-๔ ๕ ต่อไปจนครบ ๗ วัน และเมื่อกิจการทั้งหลายได้สำเร็จลงแล้ว, พระองค์ได้ทรงผูกม้าสำหรับขับขี่ตัวหนึ่ง ด้วยอานและบังเหียนพร้อมเสร็จด้วยพระองค์เอง๕๙ให้รออยู่, และในขณะเดียวนั้นได้ทรงเลือกเสนาอมาตย์มีสกุลเกียรติศักดิ์สูงสำคัญยิ่งคนหนึ่งให้ขึ้นขี่ม้านั้น. แล้วและทรงจัดเอาผ้าขาวที่ทอด้วยขนสัตว์อันละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นวัตถุสำคัญยิ่งที่พระสมณะทั้งหลายจำต้องประสงค์, ทรงน้อมนำเข้าถวายแจกจ่ายแก่พระภิกษุทั้งหลาย, และในขณะเดียวนั้นได้ทรงกล่าวคำอธิษฐานถวายอมาตย์ที่ขี่ม้าไปด้วยพร้อมกัน. และเมื่อได้ทรงแจกจ่ายถวายสิ่งของเสร็จแล้ว, พระองค์ทรงขอถ่าย (ฉะเพาะอมาตย์กับม้ากระมัง?) คืนจากภิกษุสงฆ์๖๐อีกทีหนึ่ง
ในแว่นแคว้นนี้เป็นภูมิประเทศซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างภูเขา, มีอากาศหนาวเย็น จึงทำการเพาะปลูกข้าวและพืชพันธ์ต่าง ๆ ไม่ได้ นอกจากข้าวสาลีอย่างเดียวเท่านั้นที่จะเพาะปลูกให้แก่จัดได้. ภายหลังเวลาเมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้รับส่วนแบ่งข้าวสาลีประจำปีไปแล้ว, ก็ถึงคราวเป็นฤดูที่สำแดงปรากฏว่า ในเวลาเช้ามีหิมะตกปกคลุมทันที, ตามกาลที่เป็นอยู่เช่นนี้, พระราชาจึงทรงขอต่อพระภิกษุทั้งหลายว่า ต่อไปพระภิกษุจะมาขอรับข้าวสาลีอันเป็นส่วนของพระภิกษุทั้งหลาย ขอให้เป็นไปในเวลาที่ข้าวสาลีสุก๖๑และเก็บได้แล้วเสมอไป ในนครนี้กระโถนอันเป็นของพระพุทธองค์ใบหนึ่งทำด้วยหินมีสีคล้ายกับบาตร. กับยังมีพระทันตธาตุบรรจุไว้ในพระสตูปองค์หนึ่ง, ประชาชนทั้งหลายคอยพิทักษ์รักษา และมีพระภิกษุกับสานุศิษย์อีกกว่าพัน ซึ่งมีภาระคอยดูแลพิทักษ์รักษาอยู่ ณ ที่นั้นด้วย. พระภิกษุในนครนี้ทั้งหมดล้วนเป็นนิกายหินยาน. ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกแห่งภูเขาตอนนี้, ประชาชนแต่งกายอย่างสามัญด้วยเครื่องใช้อย่างหยาบ ๆ ประ ดุจดั่งในแคว้นตฺซิน, แต่มีต่างกันอยู่อย่างหนึ่ง๖๒ ซึ่ง ณ ที่นี่มีทั้งผ้าที่ทอด้วยขนแกะอย่างละเอียดอ่อน กับทั้งผ้าที่ทอด้วยขนสัตว์อีกชนิดหนึ่งหรือทอด้วยผม. ได้สังเกตเห็นข้อวินัยปฏิบัติของพระสมณะทั้งหลายในที่นี้, เป็นที่น่าประหลาดใจ, ด้วยได้มีพรรณนาไว้โดยพิสดารมากมายเหลือเกิน. นครนี้ตั้งอยู่ในท่ามกลางทิวภูเขาตฺซุงหรือโอเนียน, เมื่อได้เดินทางต่อไปข้างหน้าเพียงไร ก็จะเห็นต้นไม้ต้นหญ้าและต้นผลไม้ผิดแผกแตกต่างกันกับต้นไม้ใบหญ้าในประเทศฮั่นเรื่อยไป, เว้นแต่ไม้ไผ่, ทับทิม,๖๓ และอ้อยเท่านั้น.
-
๕๘. ดูหนังสือ Eitel หน้า ๘๙. ให้มีการประชุมขึ้นในทำนองเมื่อครั้งพระอโศกราช ซึ่งทรงให้มีการประชุมคณาจารย์ผู้สั่งสอนศาสนา เพื่อปรึกษาหารือและทำการพิจารณาชำระสะสางรวบรวมข้อวัตตปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และจัดการเผยแพร่พระพุทธศาสนา. ↩
-
๕๙. ความในประโยคนี้เข้าใจยาก ในบรรดาผู้แปลทุกคนรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ก็ยังเป็นที่ฉงนใจอยู่. ↩
-
๖๐. ดูเรื่องที่กล่าวถึงพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิแห่งชมพูทวีป กับพระภิกษุสงฆ์ในบทที่ ๒๗. มีสิ่งที่คล้ายคลึงและของอย่างอื่น ๆ อีกมาก ที่ทรงประทานถวายสำหรับฤดูมหาวรรษา. ↩
-
๖๑. Watters กล่าวว่า ความตั้งใจที่ได้กล่าวแสดงต่อพระภิกษุแห่งกีห-จาเช่นนี้เพราะภิกษุเป็นเจ้าของเงินที่ฝากไว้, หรือมิฉะนั้นก็เข้าใจว่าภิกษุมีอำนาจที่จะบังคับดินฟ้าอากาศได้ด้วย. ↩
-
๖๒. เทียบเคียงดูกับความที่กล่าวไว้ในบทที่ ๒ เรื่องเครื่องแต่งกายของประชาชนชาวเชน-เชน ↩
-
๖๓. Giles คิดว่าเป็นต้นผลไม้เรียกว่ากอวา, เพราะเหตุว่านามตามธรรมดาของ Pomegranate นั้นขึ้นต้นด้วยคำว่า Gan. แต่ Pomegranate ที่เรียกกันแต่เดิมนั้นว่ากันชิลาอู, และจัง-กีนเป็นผู้นำไปให้จักทั่วกันในเมืองจีน ซึ่งได้กล่าวถึงในบทที่ ๗. ↩