บทที่ ๑๓

นคาระ งานถวายบังคมพระบรมอัฏฐิกระโหลกพระเศียร.

พระธาตุอื่น ๆ และพระฉาย.

ฟาเหียนได้เดินทางต่อไปในทิศตะวันตก ๑๖ โยชน์,๑๑๕ ก็ถึงเมืองเฮ-โล,๑๑๖ ซึ่งรวมอยู่ในอาณาเขตของแคว้นนคาระ. ณ ที่นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฏฐิกระโหลกพระเศียรองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าไว้ภายในวิหาร,๑๑๗ ซึ่งประดับประดาเต็มไปด้วยใบไม้ทองคำ, กับวัตถุอันบริสุทธิ์สำคัญ ๗ อย่าง. กษัตริย์แห่งนครนี้ทรงเคารพนับถือพระบรมอัฏฐิมาก, และด้วยความกังวลพระหฤทัยเกรงไปว่า จะมีโจรกรรมลอบลักเอาพระอัฏฐิไป, จึงทรงเลือกสรรชาย ๘ คน ซึ่งปรากฏว่าเป็นผู้มีตระกูลวงศาคณาญาติใหญ่โตในประเทศนี้, และเป็นที่ไว้วางใจได้ทุกคน, ให้เป็นพนักงานถือตรา. และตีตราประจำ (วิหาร) ระวังรักษา (พระบรมธาตุ) เมื่อถึงเวลาเช้าตรู่เจ้าพนักงานทั้ง ๘ คนมาพร้อมกัน, เมื่อทุก ๆ คนได้ตรวจดูตราที่ตีประจำไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว, จึงเปิดประตูวิหาร. เมื่อได้กระทำการดังนั้นแล้ว, เจ้าพนักงานเหล่านั้นก็ชำระล้างมือด้วยน้ำหอม, แล้วจึงเข้าไปอัญเชิญพระบรมอัฏฐิออกมานอกวิหาร, ขึ้นไปประดิษฐานไว้บนพระแท่นเบื้องสูง, (ผะอบซึ่งบรรจุพระบรมอัฏฐินั้น) ตามเชิงฐานโดยรอบประดับประดาไปด้วยสิ่งอันประเสริฐสำคัญ ๗ อย่าง, และมีฝาปิดเป็นรูประฆังซึ่งดุจประกอบขึ้นด้วยโลหธาตุสีเขียวครามอันวิเศษชนิดหนึ่ง. ทั้งตัวและฝาประดับด้วยมุกดาเรียงกันเป็นแถว ๆ, มีสีเหลืองอ่อนปนขาว, รูปร่างไม่สู้กลมนัก, วัดโดยรอบได้ ๑๒ นิ้ว๑๑๘, ในส่วนตรงโค้งใหญ่กว่าตอนกึ่งกลาง. ทุกๆ วันภายหลังเมื่อผู้เก็บรักษาได้อัญเชิญพระบรมธาตุออกจากวิหารแล้ว, เจ้าพนักงานเหล่านั้นก็ขึ้นไปบนหอสูงตีกลองใหญ่, เป่าสังข์, และตีฉาบทองแดง. เมื่อพระราชาได้ยินเสียงก็เสด็จมายังวิหาร, กระทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้เครื่องหอม. เมื่อได้กระทำสักการะบูชาแล้ว, พระองค์ได้มีพระราชดำรัสสั่ง (แก่ราชบริพาร) ให้กระทำการตามอย่างพระองค์. โดยยกผะอบพระบรมอัฏฐิขึ้นวางเทอดบนเศียรเกล้า๑๑๙ (ประเดี๋ยวหนึ่ง), ด้วยการเดินเข้าทางประตูด้านตะวันออก, แล้วออกทางประตูด้านตะวันตกตามกันไปโดยลำดับ. ทุกเวลาเช้าพระราชาได้เสด็จมาทำการสักการบูชาด้วยความเคารพนับถือเป็นกิจวัตรอยู่เสมอ, ภายหลังเวลานั้นแล้ว, จึงเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าและทรงกิจราชการบ้านเมือง. พวกหัวหน้าตระกูลไวศยะ๑๒๐ก็ (มีวัตร) ดุจเดียวกัน, โดยไปกระทำการสักการบูชาเสียก่อนแล้ว, จึงจะกลับไปกระทำธุระกับสานุศิษย์และครอบครัวของตน. เป็นอยู่ดั่งนี้ทุก ๆ วัน, ไม่มีใครที่จะขาดความเอาใจใส่ในการบำเพ็ญกรณีย์นี้ตามขนบทำเนียมอย่างเคยมาเลย. เมื่อเสร็จจากการสักการบูชากันแล้ว, เจ้าพนักงานก็อัญเชิญพระบรมอัฏฐิคืนกลับเข้าไปประดิษฐานภายในวิหาร. ณ ที่ (ประดิษฐานพระบรมอัฏฐิ) นั้น เป็นวิโมกษ์สตูป,๑๒๑ ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งอันประเสริฐ ๗ ประการ, สูงกว่า ๕ ศอกเล็กน้อย. (เมื่อพ้นเวลานมัสการแล้ว) บางคราวก็เปิด (ให้เห็นสตูป), และบางคราวก็ปิด ในตอนหน้าประตูวิหาร, มีหมู่พวกขายดอกไม้และเครื่องหอมสำหรับจุดเผา๑๒๒ประจำอยู่ทุกเวลาเช้า, และเมื่อผู้ใดประสงค์จะกระทำการสักการบูชา, ก็จะเลือกซื้อหาเอาได้ตามความพอใจ. บรรดากษัตริย์ในนครอื่น ๆ ต่างก็ส่งทูตให้มาทำการสักการบูชาอยู่เป็นเนืองนิตย์ดุจเดียวกัน. วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๔ เหลี่ยมจตุรัสประมาณ ๓๐ ก้าว, ถึงแม้ว่าสวรรค์จะสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินจะถล่ม, สถานที่นี้ ก็จะไม่เขยื้อนเลย.

ต่อจากสถานที่นี้ ฟาเหียนได้ออกเดินทางต่อไปทางทิศเหนืออีก ๑ โยชน์, ก็ถึงนครหลวงแห่งแว่นแคว้นนคาระ. ณสถานที่นี้ในกาลก่อนครั้งหนึ่ง เมื่อ (พระศากยมุนี) เสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์. ได้ทรงจัดหาซื้อดอกไม้ ๕ ช่อ, ถวายเป็นเครื่องสักการบูชาแด่พระพุทธทีปังกร.๑๒๓ ด้วยเหตุนั้น ที่กลางพระนครนี้จึงมีพระสตูปองค์หนึ่ง, ซึ่งบรรจุพระทันตธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้. และ ณ ที่นี้ก็ทำการสักการบูชากันดุจเดียวกับสถานที่ ๆ ประดิษฐานพระบรมอัฏฐิกระโหลกพระเศียรนั้น.

จากนครไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ๑ โยชน์, ฟาเหียนไปถึงเนินที่ลาดระหว่างภูเขาแห่งหนึ่ง, ณสถานที่นี้เป็นที่ประดิษฐานไม้ธารพระกร๑๒๔ของพระองค์พระพุทธเจ้า. ดั่งนั้น จึงมีผู้ก่อสร้างวิหารขึ้นไว้เพื่อทำการสักการบูชา. ไม้ธารพระกรทำด้วยไม้โคศีรษะจันทนะ, ยาวตลอดอัน ๑๖ หรือ ๑๗ ศอก, บรรจุไว้ในฝักที่ทำด้วยไม้, และแม้ว่าชายสักร้อยหรือพันคนจะ (พยายาม) ยก, ก็จะไม่สามารถกระทำให้เคลื่อนที่ขึ้นได้เลย.

เมื่อได้ผ่านเข้าไปในเนินลาดช่องเขานี้ต่อไปทางตะวันตกแล้ว, ก็ได้ไปพบสถานที่ ๆ ประดิษฐานสังฆาฏิ.๑๒๕ ณที่นี้ก็มีวิหารเป็นที่เก็บรักษา, และทำการสักการบูชาเช่นเดียวกัน, เป็นขนบธรรมเนียมของชาวเมืองนี้, เมื่อเกิดฝนแล้งใหญ่โต, ฝูงชนต่างก็ระดมกันมา, และอัญเชิญเอาผ้าสังฆาฏินั้นออก, ผู้เคารพนับถือต่างก็เข้ากระทำการสักการบูชา, ห่าฝนก็จะตกจากท้องฟ้าอากาศลงมา ณ บัดเดี๋ยวนั้น.

ทางทิศใต้ของเมืองนี้ต่อไปครึ่งโยชน์, มีถ้ำหินแห่งหนึ่งอยู่ภายในเนินใหญ่ของลูกเขา, หันหน้าลงทางตะวันตกเฉียงใต้. ในถ้ำแห่งนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงฉายพระฉายาไว้. หากยืนแลดูอยู่ในระยะห่างกว่า ๑๐ ก้าว, จะได้เห็นเหมือนพระพุทธรูปอันแท้จริง, ซึ่งมีพระฉวีเป็นสีทอง, กับเครื่องหมายแห่งพุทธลักษณะทั้งหลาย,๑๒๖ ด้วยความประณีตแจ่มแจ้งสุกใสซึ่งสำแดงออกให้เห็น. ผู้อยู่ใกล้และยิ่งเข้าใกล้เข้าไปสักเท่าใดก็ดี, ความมืดมัวก็จะปรากฏขึ้นทุกขณะ, ซึ่งในที่สุดก็จะคงอยู่แต่ความนึกคิดโดยเฉพาะเท่านั้น. บรรดากษัตริย์ตามเขตแคว้นที่อยู่โดยรอบ, ได้ส่งนายช่างเขียนและช่างแกะสลักที่มีฝีมือและความชำนาญมาเพื่อกระทำการลอกแบบพระพุทธฉายาแห่งนี้, แต่ก็ไม่มีใครเลยที่สามารถจะทำสำเร็จได้ตามประสงค์. ในระหว่างประชาชนพลเมืองที่เมืองนี้กล่าวกันทั่วไปว่า พระพุทธเจ้า๑๒๗ทั้งพันองค์ต้องมาฉายพระฉายาไว้ที่นี่.

ประมาณ ๔๐๐ ก้าวเศษจากพระพุทธฉายาไปทางตะวันตก, ถึงตำบลที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปลงพระเกศา, และทรงขลิบพระนขา. แล้วเสด็จออกทรงพระดำเนินไปพร้อมด้วยสานุศิษย์ ไปทรงสร้างพระสตูปขึ้นองค์หนึ่ง สูงประมาณ ๗๐ หรือ ๘๐ ศอก, เป็นแบบอย่างของพระสตูปทั้งหลาย, ซึ่งคงปรากฏอยู่จนบัดนี้ (ขณะที่ฟาเหียนไปถึง). ทางข้างด้านหนึ่ง (แห่งพระสตูป) เป็นอารามแห่งหนึ่ง, มีพระภิกษุในอารามถึง ๗๐๐ เศษ. ณ สถานที่นั้นยังมีสตูป๑๒๘ของพระอรหันต์และของพระปัจเจกพุทธะ๑๒๙อีกมากหลายนับเป็นจำนวนพัน.

  1. ๑๑๕. ฟาเหียนใช้เรียกการวัดระยะยาวตามอย่างชาวอินเดียในสมัยนั้น. แต่ทั้งนี้ไม่ได้จงใจจะกล่าวว่าฟาเหียนกล่าวไว้ไม่ถูกต้อง, ๑ โยชน์เท่ากับ ๔๐๐ เส้น. (ดูหนังสือ Davids’, Ceylon Coins and Measures’ หน้า ๑๕-๑๗, (ว่าด้วยเงินตราและเครื่องวัดเครื่องตวงของเกาะลังกา.) กับวินัยมุข เล่ม ๒ หน้า ๒๑๗).

  2. ๑๑๖. ปัตยุบันนี้เรียกหิททะ, ตะวันตกของเปษาวูร, ห่างจากเจลลาลาบัดไปทางใต้ ๒๐๐ เส้น.

  3. ๑๑๗. ‘วิหาร’ ตามคำของ Hardy ว่า ‘นิวาสสถานที่อยู่เดี่ยวของฦษีหรือภิกษุสงฆ์.’ ดุจเดียวกัน Davids ว่า ‘กระท่อมน้อยอันเป็นที่อยู่ของผู้ภิกขาจาร, ซึ่งสะอาดปราศจากมลทินโทษ.’ ในส่วนฝ่ายจีนใช้ตัวอักษรซึ่งเขียนเป็นพิเศษสำหรับความหมายว่า ‘สถานที่อยู่อันบริสุทธิ์.’ การที่มีถ้อยคำแปลกันไปต่างๆ นานาเช่นนี้, ก็เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจให้แจ้งชัดตามกำลังสติปัญญาเท่านั้น. (ดู E. H. หน้า ๑๖๖). มีนามมณฑลแห่งหนึ่งในอินเดียปัจจุบันนี้เรียกว่าวิหาร, เป็นนามที่เรียกตามเหตุผลแห่งภูมิฐานของมณฑลซึ่งมีวิหารมากมาย.

  4. ๑๑๘. ตามตัวอักษรฉบับจีนว่า ‘สี่เหลี่ยม, โดยรอบสี่นิ้ว.’ ฉบับ Hsuan Chwang กล่าวว่า ‘สิบเอ็ดนิ้วโดยรอบ.’

  5. ๑๑๙. ในปทานุกรมของ William ในคำ 頂 อธิบายตัวอักษรที่ใช้สำหรับความหมายของคำนี้ว่า ‘เจ้าพนักงานที่ถูกถอดยศคนหนึ่ง.’ ดั่งนั้นความตรงนี้ก็ต้องเป็นว่า ‘ผู้ถอดมงกุฎอันเป็นเกียรติยศอย่างสำคัญออกจากศีรษะของเขา,’ แต่ได้เทอดสิ่งหนึ่งอันเป็นเครื่องหมายแห่งพุทธศาสนาแทนด้วยความเคารพนอบน้อม.

  6. ๑๒๐. ไวศยะ, เดิมเป็นตระกูลผู้ดีในลำดับที่ ๓ แห่ง ๔ ตระกูลของชาวอินดู, ที่จัดลำดับชั้นบุคคลไว้, ตามลักษณะว่าเป็นผู้การศึกษา เดี๋ยวนี้เสื่อมศูนย์ไป, นับว่าไปรวมเข้ากับชาวฮินดูพวกค้าขายที่เรียกกันว่า บานยา.

  7. ๑๒๑. วิโมกข์หรือวิโมกษ์ แปลว่าพ้น หมายความว่าพ้นจากกิเลสได้แก่พระอรหัต, ดูปทานุกรมธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ หน้า ๖๘๒. ในสมุดคู่มือของ Eitel ตรงคำว่า ‘วิโมกษ์’ อธิบายว่า ‘บัญญัติแห่งการปลดเปลื้องด้วยตนเอง, หรือสำนักหรือที่ตั้งแห่งความอิสสระของใจ. James Legge ให้อรรถาธิบายว่า ‘มรรค ๘ ประการแห่งการปลดเปลื้องตนเองจากเครื่องผูกมัด, ให้หลุดพ้นจากข่ายเครื่องดักด้วยประการทั้งปวง, แล้วและบังเกิดเป็นอิสสระใจ (วิมุกติ) ขึ้นจากเหตุและผลนั้น ๆ มรรค ๘ ประการนั้นไม่มีตัวตน, แต่เป็นเครื่องส่องให้เห็นกระจ่างแจ้งในทางที่จะดำเนินไปโดยลำดับทั้ง ๘ ชั้นจนบรรลุถึงพระนิพพาน. นามสตูปในสมุดเล่มนี้เปรียบเทียบว่าเป็นของบริสุทธิ์, เพื่อให้เป็นไปในทางปลุกความเห็นให้บังเกิดจากดวงความคิดของคนทั่วไป, ซึ่งจะยังความวัฒนาให้มีอยู่แก่หลักฐานอันเกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนา, ให้ดำรงคงอยู่ชั่วกัลปาวสานสำเร็จตามความปรารถนา.’

  8. ๑๒๒. เครื่องหอมที่สำหรับเผานี้, เป็นธรรมเนียมที่ติดต่อยืดยาวจนบัดนี้, โดยเฉพาะอย่างยิ่งนั้น, ตลอดประเทศจีนในทุกวันนี้ ถ้าเข้าไปในวัดจะเห็นมีขายอยู่เสมอ. วิธีเผาเครื่องหอมบูชานี้มีสืบมาแต่โบราณกาลแทบทุกศาสนา, ส่วนเทียนนั้นในอินเดียใช้ตามประทีปด้วยน้ำมันเนย.

  9. ๑๒๓. พระพุทธเจ้าแห่งดวงประทีป. ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ ๒๕, ก่อนองค์พระศากยมุนีมานานแล้ว, และได้เคยให้คำมั่นสัญญาซึ่งกันและกัน (ดูชาดก Tales หน้า ๒๓.)

  10. ๑๒๔. ไม้เท้าอันนี้เห็นชัดโดยทันทีว่าเป็นไม้ศีรษะโคจันทน์, หรือนัยหนึ่งไม้จันทน์หอม, ซึ่งมาจากเขาศีรษะโค, เป็นไม้จันทน์หอมชนิดสีแดงหม่น, มีเรื่อง (ไม่น่าเชื่อว่าจะจริง), กล่าวกันว่า บังเกิดมีอยู่มากบนภูเขาอุลลาระกุรู ซึ่งมีรูปคล้ายคลึงกับศีรษะโค, ตั้งอยู่ด้านเหนือแห่งภูเขาพระสุเมรุ (E. H. หน้า ๔๒-๔๓) ไม้เท้าอันนี้หัวเลี่ยมด้วยโลหะธาตุชนิดหนึ่ง, ซึ่งมีดีบุกผสมตะกั่วเป็นตัวสำคัญ, (ดูหนังสือของ Watters China Review ตอนที่ ๘ หน้า ๒๒๗-๒๒๘ กับปทานุกรมจีนของ William ตรงคำ 杖)

  11. ๑๒๕. สังฆาฏิ. เป็นผ้าห่มที่ประกอบติดต่อกันหลายส่วน, และเป็นส่วนหนึ่งแห่งเครื่องแต่งกายของพระภิกษุทั้งหลาย, ใช้พาดจากบ่ายาวลงจนถึงเข่า, แล้วมีผ้ารัดทับที่ตรงสะเอวโดยรอบ. (E. H. หน้า ๑๑๘. และวินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๘๔)

  12. ๑๒๖. พุทธลักษณะ คือ ลักษณะซึ่งงามพิเศษ, เป็นบุคคลอันยอดยิ่งที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า. ฤๅษีกาลาเทวละ (หรืออสิตะ) กล่าวชมพระสรีระของเจ้าชายศากยะตั้งแต่ยังเป็นเด็กอ่อนว่า มีลักษณะพิเศษถึง ๓๒ ประการ, ทั้ง ๆ ที่แม้ว่าพระทนต์ยังไม่ทันขึ้น, เพียงแต่เท่าที่เห็นได้จากสายตาของพระฤๅษีที่จะกลั่นเอามากล่าวด้วยความพอใจเท่านั้น, (M. B. หน้า ๑๔๘-๑๔๙ ปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๖๗-๘๒, มหาปุริสลักขณะ ๓๒, มงคล ๑๐๘ อสีตยานุพยัญชนะ ๘๐).

  13. ๑๒๗. เห็นทีจะหมายว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

  14. ๑๒๘. ตามจำนวนนี้ดูเหมือนจะมากเกินไป, ดูคำอธิบายว่าด้วยสตูปในหน้า ๒๓ โน๊ต ๑.

  15. ๑๒๙. ในภาษาสิงหฬว่าปาลีพุทธะ, เป็นนามที่เรียกดุจดังนิทานพุทธะ, และปัจเจกชิน. มีอรรถาธิบายว่า เป็นผู้อยู่เดี่ยวที่ทรงไว้ซึ่งปัญญาความคิดสูง, เพียบพร้อมด้วยองค์ปัญญาความคิดสูง, ผู้ทรงปัญญาสูงเป็นที่เคารพของนิทานะ, คำนี้ Eitel (หน้า ๙๖-๙๗) กล่าวว่า, เป็นคุณวุฒิชั้นหนึ่งของนักบวชผู้ระงับบาป, ซึ่งไม่มีปรากฏในทางพระพุทธศาสนามาแต่อดีตกาล, ปัจเจกพุทธะสำแดงว่าเป็นผู้ฝึกหัดตนเองในชีวิตอย่างเคร่งครัด, เป็นผู้อยู่เดี่ยวซึ่งจะบรรลุถึงพุทธะ, โดยปราศจากครูอาจารย์และปราศจากความสามารถของผู้อื่นๆ จะช่วยเหลือ. ปัจเจกพุทธะเป็นยอดความคิดเห็นของโยคี, เปรียบประดุจแรต (ขทฺค-ขคฺค) ซึ่งประสงค์แต่จะดำเนินชีวิตอยู่ในป่าดงอันเป็นที่วิเวกวังเวง, ดั่งนั้น จึงเรียกว่านิทานพุทธะ, ซึ่งเป็นผู้ชนะแล้วแก่นิทานะ ๑๒ ประการ, (คือห่วงลูกโซ่ ๑๒) (น่าจะได้แก่ปฏิจจสมุปบาท ดูธรรมวิภาคปริจเฉท ๒ หมวด ๑๑) ซึ่งพันธนาการอยู่อย่างไม่มีเวลาสิ้นสุดจากเหตุและผลทั้งหลาย, อันบังเกิดขึ้นตามลำดับกาลที่ยังคงความเป็นอยู่, กล่าวคือตีปัญหาแห่งชีวิตออกแล้ว, และเห็นแจ้งด้วยปัญญาว่ารูปร่างกายที่ทรงความเป็นอยู่นั้น ว่างเปล่าไม่มีตัวตนทั้งนั้น, ตระเตรียมน้ำใจไว้เพื่อบรรลุนิพพาน, อีกประการหนึ่งก็เปรียบประดุจหนึ่งม้าที่กำลังข้ามแม่น้ำ, ซึ่งร่างกายอันล่ำสันเกือบจะจมอยู่ภายใต้น้ำ, นอกจากเท้าที่จะสัมผัสอยู่กับพื้นท้องแม่น้ำเท่านั้น, โดยนัยเดียวกันนี้ก็คือ การข้ามห้วงสงสาร, ซึ่งจำต้องข่มขี่ความสำคัญผิดทั้งหลายในชีวิต, แม้ที่สุดจนพัศดุเครื่องนุ่มห่ม, อันเป็นชะนวนของกิเลสเครื่องเร่าร้อนใจให้หมดไป, นอกจากความมุ่งโดยเด็ดเดี่ยวเพื่อที่จะบรรลุถึงความบริสุทธิ์หมดจดอย่างเดียว, ที่ Eitel กล่าวว่าพุทธะเช่นนี้ไม่มีปรากฏในพระพุทธศาสนามาแต่โบราณกาลนั้น, เป็นที่น่าฉงน. (ดู Davids’ Hibbert Lectures หน้า ๑๔๖).

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ