- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทนำ
การที่จะวิจารณ์ว่าหนังสือจดหมายเหตุพุทธอาณาจักรของฟาเหียนเล่มนี้มีความสำคัญเป็นคุณประโยชน์ประการใดนั้น ข้าพเจ้าอาจบอกได้ว่าบรรดาหนังสือตำรับตำราในทางปรัชญาอันเกี่ยวด้วยเรื่องศาสนาและประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ทางฝ่ายตะวันออก ที่นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในทางตะวันตกและตะวันออกเขียนขึ้นไว้แทบทุกภาษา และเกือบจะทุกๆ เล่ม, ได้อ้างถึงความตามที่ฟาเหียนเขียนไว้ในเรื่องนี้เป็นหลัก ในการที่จะวิจารณ์ถึงข้ออื่นๆ ต่อไปอยู่เป็นอันมาก. โดยเฉพาะก็คือในหนังสือพระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับมหายาน. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงหยิบเอาข้อความขึ้นทรงวิจารณ์อยู่มิใช่น้อย. พระภิกษุฟาเหียนได้เริ่มเดินทางจากประเทศจีนไปตั้งแต่ พ.ศ. ๙๔๒ และท่องเที่ยวไปตลอดประเทศอินเดีย ทำการเสาะแสวงหาพระไตรปิฎกได้สมปรารถนาแล้วและกลับถึงประเทศจีน พ.ศ. ๙๕๗ รวมเวลาถึง ๑๕ ปี, แล้วจึงเรียบเรียงหนังสือจดหมายเหตุการเดินทางนี้ขึ้น. นับแต่ปีที่พระภิกษุฟาเหียนกลับถึงประเทศจีนมาจนถึงปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) เป็นเวลาถึงพันหกร้อยปีเศษแล้ว ย่อมนับว่าหนังสือเรื่องนี้ เป็นหนังสือโบราณเก่าแก่มากเล่มหนึ่ง, หนังสือเรื่องนี้มีปรากฏชื่ออยู่ในสมุดบัญชีของหอสมุดหลวง ตั้งแต่ครั้งสมัยราชวงศ์สุย (พ.ศ. ๑๑๓๒-๑๑๖๑) มีหนังสือจดหมายเหตุของฟาเหียนอยู่ ๔ เล่ม, เล่มที่หนึ่งเรียกชื่อว่า ‘จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักร’ มีโน๊ตแสดงความปรากฏว่า พระสมณะฟาเหียนได้จดลงไว้ด้วยตนเอง. เล่มที่สองชื่อ ‘เรื่องราวของฟาเหียน.’ เล่มที่สามชื่อ ‘เรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวของฟาเหียน.’ หนังสือทั้งสามเล่มนี้ หากนามจะแตกต่างกัน แต่เนื้อเรื่องก็เป็นไปอย่างเดียวกันตลอดเรื่อง. ยังเหลืออีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงพฤติการณ์ของฟาเหียนภายหลังการเดินทางกลับจากอินเดียแล้ว, ในการงานที่ฟาเหียนได้ร่วมมือกับพระสมณะชาวอินเดียรูปหนึ่งมีนามว่า พุทธภัทร, ช่วยกันทำการแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ฟาเหียนได้มาจากอินเดีย ออกจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนอยู่ที่นครนานกิง.
สมุดจดหมายเหตุ (ฉบับจีน) เล่มที่ชื่อว่า ‘จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักร’ นั้น ในฉบับของญี่ปุ่นและเกาหลีไปแก้ไขเพิ่มเติมนามขึ้นใหม่ว่า ‘เรื่องราวของพระภิกษุฟาเหียนผู้มีเกียรติศักดิ์ชื่อเสียง’ และที่มีนามอันยืดยาวกว่าอีกเล่มหนึ่งว่า ‘เหตุการณ์เป็นไปในการเดินทางไปอินเดีย, โดยพระสมณะฟาเหียนแห่งตซินตะวันออก ซึ่งได้จดหมายเหตุไว้ด้วยตนเอง’ หนังสือฉบับ (เกาหลี) นี้นักปราชญ์จีนต่างรับรองกันว่าถูกต้องดี, และในทางราชการจีนก็ได้ยอมรับประกาศรับรองตามด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๖๙. เพราฉะนั้นศาสตราจารย์ เจมส์ เล็กจ์ จึงถือเอาฉบับเกาหลีนี้เป็นหลักในการแปลถอดจากภาษาจีนเป็นอังกฤษ, และข้าพเจ้าได้แปลถอดออกเป็นภาษาไทยในเล่มนี้อีกต่อหนึ่ง.
ยังมีข้อสำคัญอีกประการหนึ่งในเรื่องภาคผนวกหรือโน๊ตของหนังสือฟาเหียนในฉบับเหล่านี้, ที่พวกนักปราชญ์ทั้งหลายต่างทำอรรถาธิบายเรื่องราวในตัวบทของฟาเหียนไว้ด้วยความคิดเห็นตามลำพังของตน, ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะค้นคว้าหาความรู้จากเรื่องราวเหล่านี้, อันนับว่าเป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง, แต่เสียใจที่าพเจ้าไม่สามารถที่จะนำข้อความในภาคผนวกหรือโน๊ตเก่าซึ่งมีอยู่รวมกันในราว ๓๐๐ แห่งกว่านั้น, มาสำแดงข้อวิจารณ์เทียบเคียงไว้ในสมุดเล่มนี้ให้ถ้วนทั่วทุกข้อไปได้. ยิ่งกว่านี้ในภาคผนวกหรือโน๊ตเก่าบางแห่งได้เขียนข้อความแปลกประหลาดต่าง ๆ ไว้ จนบุคคลที่อ่านหนังสือออกในปัจจุบันนี้ทราบไม่ได้ว่ามีความหมายอย่างไรก็มี. มีแห่งหนึ่งในหนังสือเรื่องนี้ซึ่งเป็นในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิเกียน-ลุง (พ.ศ. ๒๒๖๕) คณะนักเรียนซึ่งอยู่ตามกรมกองในทางราชการ ได้เขียนข้อวิจารณ์เรื่องของฟาเหียนตอนหนึ่งไว้ว่า ‘มีเรื่องที่ไม่น่าไว้ใจอยู่ข้อหนึ่งที่ฟาเหียนอ้างถึงลัทธิพุทธศาสนาในโข-เตน. เพราะเหตุว่าข้อนี้รู้กันอยู่ดีและกล่าวกันอยู่ว่า ชาวโข-เตน นั้นแต่โบราณกาลมาจนเดี๋ยวนี้เป็นโมหมัดดันส์.’ นี่ถ้าไม่ใช่เพราะความโง่เขลาของผู้รอบรู้ในเมืองจีนที่มีอยู่ในหนังสือในบ้านเมืองของเขาเองแล้ว ก็เห็นจะไม่มีอย่างอื่น. ทั้งนี้ก็เพราะพระโมหมัดเพิ่งอุบัติมาในโลกเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๓ ซึ่งภายหลังกาลที่ฟาเหียนได้เดินทางไปถึง โข-เตน ล่วงมาแล้วถึง ๑๕๐ ปีเศษ.
จริงอยู่ ฟาเหียนได้เล่าให้ผู้อ่านฟังถึงเรื่องราวและนิยายในพุทธศาสนาอันเจือไปด้วยความมหัศจรรย์ต่าง ๆ, อันเป็นทางที่ชวนไปในทางขบขันและจะยอมรับเชื่อถือตามไปด้วยไม่ได้ง่าย ๆ นัก. แต่เราก็ไม่ควรลืมว่าในสมัยของฟาเหียนนั้น, ฝ่ายทางเมืองจีนก็เต็มไปด้วยลัทธิขงจื๊อและเต๋ากะเย๋าจือปนไปกับพุทธศาสนา. ส่วนทางฝ่ายประเทศตอนกลางทวีปเอเซียและอินเดีย, ก็เกลื่อนกลาดไปด้วยลัทธิโยคะหรือพราหมณ์และเชน อันคลุกเคล้าไปกับนิกายมหายานของพุทธศาสนา. ซึ่งลัทธิเหล่านี้ ย่อมบริบูรณ์ไปด้วยความมหัศจรรย์นานาประการ. ไฉนเลยฟาเหียนผู้มีชีวิตอันชุบย้อมอยู่ด้วยลัทธิและศาสนาอันเคร่งครัดเช่นนี้, จะไม่เอนเอียงไปในทางเชื่อถือต่อลัทธิและอำนาจแห่งความมหัศจรรย์ต่าง ๆ นั้นด้วยบ้าง. แต่ถึงกระนั้นก็ดี เราก็ยังค้นคว้าหาความจริงอันเป็นสาระประโยชน์จากเรื่องราวอันเป็นถ้อยคำของฟาเหียนในบทต่อไปนี้ได้อยู่มิใช่น้อย.