- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๒๙
ภูเขาคิชฌกูฏ. และนิยาย.
ฟาเหียนค้างอยู่บนนั้นคืนหนึ่ง. ความระลึกของฟาเหียน.
ออกจากหมู่บ้านนาละเดินเลียบไปตามยาวของพืดเขา ทางตะวันออกเฉียงใต้, ภายหลังเมื่อได้เดินสูงขึ้นไปเป็นระยะทางราว ๓๐๐ เส้นแล้ว, ก็ถึงยอดเนินเขาคิชฌกูฏ.๓๐๙ ระยะทางอีก ๖๐ เส้นก่อนที่จะถึงยอดเขา, ณ ที่นั้นเป็นถ้ำลึกเข้าไปในศิลาแห่งหนึ่ง, หันหน้าลงทางทิศใต้, ในนี้เป็นสถานที่พระพุทธองค์นั่งประทับเจริญภาวนาตรึกตรอง. ต่อไปอีก ๓๐ ก้าวทางตะวันตกเฉียงเหนือ. ณ ที่นั้นเป็นถ้ำอีกแห่งหนึ่ง, ซึ่งพระอานนท์นั่งเจริญศีลภาวนาตรึกตรอง. ขณะนั้นเทวมารปิศุน๓๑๐จำแลงตนเป็นแร้งใหญ่ไปจับอยู่ที่หน้าถ้ำ, เป็นเหตุให้ศิษย์ (ของพระพุทธองค์ = พระอานนท์) ตกใจกลัว. โดยบุญฤทธิ์และอำนาจอันเหนือความเป็นธรรมดาของพระพุทธองค์, กระทำให้หินบังเกิดเป็นช่อง ซึ่งพระพุทธองค์ได้ยื่นพระหัตถ์ของพระองค์ไปตามนั้น, แล้วลูบบ่าพระอานนท์, ในทันใดนั้นความกลัวของพระอานนท์ปลาศนาการพ้นไป. รอยเท้าของนกแร้งและช่องที่ (พระพุทธองค์) ยื่นพระหัตถ์ไปยังคงมีปรากฏอยู่. และจากสาเหตุเรื่องนี้เขาลูกนี้จึงได้นามว่า ภูเขาถ้ำนกแร้ง :- คิชฌกูฏ.
ในบริเวณด้านหน้าของถ้ำมีสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ นั่งประทับ. และมีถ้ำสำหรับพระอรหันต์ทุก ๆ พระองค์นั่งเจริญภาวนาดุจเดียวกัน, ทั้งหมดมีจำนวนอีกหลายร้อย. ณ สถานที่ตอนหน้าคูหา, เป็นทางที่พระพุทธองค์ทรงพระดำเนิน (จงกรม) จากตะวันออกไปสู่ตะวันตก. และจากในระหว่างหน้าผาทางเหนือของภูเขานี้, เทวทัตต์ได้ทิ้งก้อนหินหนึ่งลงมาต้องนิ้วพระพุทธบาทชอกช้ำ,๓๑๑ หินก้อนนั้นยังมีอยู่ ณ ที่นี้.๓๑๒
ศาลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาถูกทำลายลงหมดแล้ว, ยังเหลือเฉพาะแต่ฐานกำแพงอิฐตอนล่าง. ภูเขาลูกนี้มียอดอันเขียวชะอุ่มงดงาม, และในที่สูงตอนบนใหญ่โตกว้างขวาง, เป็นยอดซึ่งสูงที่สุดกว่าภูเขาทั้ง ๕ ลูก. ฟาเหียนได้ซื้อเครื่องหอม, ดอกไม้, น้ำมันและโคม, จากในเมือง (ราชคฤห์) ใหม่, โดยจ้างภิกษุ ๒ องค์ซึ่งพักอาศัย (อยู่ที่นี่) มาก่อนให้เป็นผู้นำเอาขึ้นมาให้. เมื่อตนเองได้รับสิ่งเหล่านี้แล้ว, ก็กระทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้, และเผาเครื่องหอมตามประทีปโคมไฟ, ให้บังเกิดแสงสว่างในเพลาเมื่อเริ่มค่ำคืนมาครอบงำ. (ขณะเดียวนั้น) ฟาเหียนบังเกิดความรู้สึกเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเหลือที่จะทนทาน, แต่ได้อุตส่าห์สะกดกลั้นน้ำตาของตนไว้และกล่าวว่า ‘ณ ที่นี้พระพุทธองค์ได้มอบศูรางคม๓๑๓ (สูตร) ให้ไว้. ข้าพระพุทธเจ้าฟาเหียนเกิดไม่ทันที่จะได้พบกับพระองค์. และในขณะนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นอยู่แต่รอยพระพุทธบาทซึ่งพระองค์ได้ละทิ้งไปเสียแล้ว, และที่เป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงพำนักอาศัยอยู่, แต่ก็ไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว.’ ณ สถานที่หน้าถ้ำคูหาหินนี้, ฟาเหียนได้สวดศูรางคม-สูตรในเวลาที่เหลืออยู่ตลอดคืน, แล้วจึงกลับไปยังเมืองใหม่.
-
๓๐๙. ดูหน้า ๑๔๑ บทที่ ๒๕ โน๊ต ๓ ↩
-
๓๑๐. ดูหน้า ๑๓๔ บทที่ ๒๕ โน๊ต ๓. ปิศุนเป็นนามที่ตั้งให้สำหรับมารตนหนึ่ง, เพื่อให้เป็นที่รู้ว่า เป็นผู้มีบาปและหนาแน่นไปด้วยกิเลสทุกประการ. ↩
-
๓๑๑. ดูหนังสือ M. B. หน้า ๓๒๐ Hardy กล่าวว่า เทวทัตต์พยายามทำเป็นเครื่องกลไกดักไว้. แต่เรื่องราวซึ่งเก่าที่สุดใน Sacred Books of the East เล่ม ๒๐ วินัยคัมภีร์หน้า ๒๔๕, ตรงกันกับที่ฟาเหียนกล่าวว่า เทวทัตต์ทิ้งก้อนหินลงไปด้วยมือตนเอง, ต้องนิ้วพระพุทธบาทชอกช้ำ. ปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๔๔ ว่า ต้องพระพุทธบาทช้ำพระโลหิต. ↩
-
๓๑๒. Hsüan-Chwang บอกรูปพรรณหินก้อนนี้ว่าสูง ๑๔ หรือ ๑๕ ศอก, โดยรอบ ๓๐ ก้าว. ↩
-
๓๑๓. ดูตำราของ Mr. Bunyiu Nunjio’s Catalogue of the Chinese Translation of the Buddhist Tripitaka สูตรปิฎกที่ ๓๙๙-๔๔๖ สูตรเหล่านี้มีมาแต่ก่อนอันอยู่ในความทรงจำของฟาเหียน. ↩