บทที่ ๓๒

นิยายอันเกี่ยวกับการกำเนิดของพระเจ้าอโศก.

และนรกของพระองค์.

เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกราชกำเนิดในชาติก่อน, เป็นเด็กชายเล็กๆ กำลังเล่นอยู่บนถนน, พระองค์ได้พบกับพระกัศยปพุทธะ๓๔๐กำลังเดินมา. (พระกัศยปพุทธะ) ได้ทรงขออาหาร, เด็กชาย (อโศก) ได้เอามือกอบดินเต็มกำ เข้าไปยื่นถวายแด่พระกัศยปพุทธะ พระองค์ทรงรับดินนั้นแล้วก็กลับทิ้งลงยังพื้นธรณี, แล้วออกทรงพระดำเนินต่อไป. ด้วยเหตุฉะนี้ (เด็กชายอโศก) จึงได้รับผลานิสงส์ตอบแทน, โดยกลับมาบังเกิดเป็นพระราชาแห่งล้อเหล็ก๓๔๑องค์หนึ่ง ซึ่งครอบครองชมพูทวีป (ในกาลครั้งหนึ่ง) เมื่อพระเจ้าอโศกเสด็จไปเที่ยวตรวจตราการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตลอดทั่วชมพูทวีป. พระองค์ไปทอดพระเนตรเห็นที่ในระหว่างเนินเขาทั้งสองแห่งหนึ่งล้อมรั้วไว้ด้วยเหล็ก, เป็นนรก๓๔๒สำหรับลงอาชญาทำโทษคนที่กระทำความชั่วร้าย. ในทันใดนั้นพระองค์มีรับสั่งถามอำมาตย์ของพระองค์ว่าสิ่งนี้เป็นอะไร? อมาตย์จึงกราบทูลตอบสนองว่า สถานที่นี้เป็นของพระยายม๓๔๓ราชาแห่งปีศาจ สำหรับลงอาชญาทำโทษประชาชนที่กระทำความชั่วร้าย. พระเจ้าอโศกทรงคิดรำพึงในพระราชหฤทัยว่าราชาแห่งปีศาจทั้งหลาย ยังสามารถสร้างนรกไว้ทำกับพวกก่อการชั่วร้ายได้, เราก็เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของมนุษย์, เหตุไรเราจะสร้างนรกขึ้นไว้สำหรับทำแก่พวกที่ประพฤติชั่วร้ายบ้างมิได้ ? ทันใดนั้นพระองค์จึงรับสั่งถามพวกเสนาอมาตย์ทั้งหลายว่า ใครจะสร้างนรกขึ้นไว้โดยเฉพาะสำหรับลงอาชญาทำโทษประชาชนผู้กระทำความชั่วร้ายได้บ้าง ? อมาตย์กราบทูลตอบว่า บุคคลที่จะกระทำเช่นนั้นได้, ต้องเป็นบุคคลที่กระทำความชั่วแล้วอย่างที่สุด. และในขณะเดียวนั้น, พระองค์ก็ส่งข้าราชการให้ไปเสาะแสวงหาคนชั่วร้ายทุกตำบล. ข้าราชการผู้นั้นได้ไปเห็นชายคนหนึ่งอยู่ข้างบ่อน้ำ, รูปร่างสูงแข็งแรง, หน้าดำ, ผมเหลือง, และดวงตาทั้งคู่เขียว, กำลังใช้เบ็ดตกปลาอยู่ด้วยเท้าของตน. เมื่อเขาได้ร้องเรียกนกหรือสัตว์ทั้งหลาย และเมื่อสัตว์นั้นมา. ก็ฆ่าเสียโดยเร็วโดยไม่มีที่จะรอดพ้นไปได้สักตัวเดียว. ข้าราชการจึงนำเอาตัวชายผู้นั้นไปสู่พระราชา, พระองค์ได้มีรับสั่งแก่ชายผู้นั้นว่า เจ้าต้องสร้างกำแพงสูงขึ้นล้อมรอบพื้นที่ ๔ เหลี่ยมแห่งหนึ่ง, ภายในปลูกต้นไม้ชนิดที่ดอกและผลทุกอย่าง. และขุดสระอย่างดีไว้สำหรับอาบน้ำ, ทำให้กว้างขวางงดงามน่าดูทุก ๆ แห่ง ซึ่งบุคคลผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมมีความปรารถนาอยากได้. กับทำประตูไว้ให้มั่นคงแข็งแรงเป็นที่ไว้ใจได้. และเมื่อบุคคลใดๆเข้าไป, ก็ให้จับตัวผู้กระทำบาปหยาบช้าคนนั้นทำโทษโดยทันที, อย่าได้ยอมให้บุคคลผู้ใดออกไปได้. แม้แต่ตัวเราเองจะเข้าไป, ก็ให้จับทำโทษดุจเดียวกันกับคนบาปหยาบช้าอื่นๆ, และอย่ายอมให้เราไปได้. เราตั้งให้เจ้าเป็นนายยมบาลของนรกแห่งนี้.

ต่อมาอีกเล็กน้อย มีภิกษุองค์หนึ่งไปเที่ยวแสวงหาอาหารบิณฑบาตตามเคย, และได้เลยเข้าไปภายในประตู (ของสถานนรก) เมื่อพวกยมบาลแลเห็นภิกษุ, เกือบที่จะได้บังคับให้พระภิกษุไปสู่การทรมาน, พระภิกษุตกใจกลัว จึงร้องขอต่อพวกยมบาลให้ยอมผัดสักครู่หนึ่ง เพื่อฉันอาหารตอนเที่ยงวันเสียก่อน. ต่อมาบัดเดี๋ยวนั้นก็มีชายอีกคนหนึ่งเข้ามา, พวกยมบาลก็ช่วยกันผลักไปลงในครกและตำจนเลือดเป็นฟองท่วมล้นครก. พระภิกษุได้เห็นดั่งนั้น, ความรู้สึกนึกถึงความไม่เที่ยงไม่ถาวรก็มาบังเกิดขึ้นแก่ใจตน, และปลงใจตกเห็นร่างกายตนเป็นของว่างเปล่า, ไม่มีสิ่งไรเป็นแก่นสาร, แต่เป็นประดุจฟองน้ำที่พองลมอยู่, ในทันใดนั้นพระภิกษุองค์นั้นก็บรรลุพระอรหัต. ต่อมาในบัดเดี๋ยวนั้น, พวกยมบาลก็จับเอาตัวพระภิกษุองค์นั้นไปทิ้งลงในหม้อทองแดงที่น้ำต้มกำลังเดือด. แต่กระนั้นก็ดี, ก็เป็นที่ปรากฏว่าภิกษุรูปนั้นมีน้ำใจเต็มอยู่ด้วยความยินดีและเปรมใจ. ไฟก็ดับลงและน้ำก็กลับเย็น, ในกลาง (หม้อทองแดง) ก็บังเกิดดอกบัวสีกุหลาบ, และพระภิกษุนั่งอยู่บนนั้น. พวกยมบาลคนหนึ่งได้ไปกราบทูลรายงานเหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นในนรก, และแสดงความปรารถนาขอเชิญเสด็จพระเจ้าอโศกไปทอดพระเนตร. แต่พระองค์รับสั่งว่า บัดนี้เราไม่บังอาจที่จะไป (ในนรก) ได้, เพราะเราได้ให้ข้อสัญญาตกลงไว้แต่เดิมเช่นนั้นแล้ว. นายยมบาลกราบทูลสนองว่า เหตุที่เป็นขึ้นเช่นนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งเล็กน้อย, สมควรที่ใต้ฝ่าพระบาทจะรีบเสด็จไปโดยด่วน. ข้อสัญญาของพระองค์ได้ตกลงไว้แต่เดิมนั้น, ทรงเปลี่ยนแปลงเสียเถิด. เพราะเหตุนี้พระเจ้าอโศกจึงทรงยอมกระทำตามและเสด็จเข้าไป (ในนรก) เมื่อพระภิกษุองค์นั้นได้แสดงธรรมเทศนาให้พระองค์ฟังแล้ว, พระองค์บังเกิดความเลื่อมใสเชื่อถือ, และได้โปรดให้ (พระภิกษุ) ไปเป็นอิสสระ.๓๔๔ ในทันทีนั้นพระองค์ก็รื้อทำลายนรกทั้งหมด, และรู้สึกพระองค์ว่าสิ่งทั้งหลายที่ได้ทรงกระทำลงแล้วแต่เดิมมานั้นเป็นความผิดชั่วทั้งหมด. ตั้งแต่เวลานั้นมา พระองค์ทรงเลื่อมใสเคารพเชื่อถือในเกียรติคุณแห่งพระรัตนตรัย. และเสด็จไปยังต้นปัทรเนืองๆ, ทรงแสดงความรู้สึกสำนึกพระองค์ ณ ภายใต้ร่มไม้นั้น, โดยทรงลุแก่โทษในความผิดหลงของพระองค์, และทรงรับปฏิบัติข้อบัญญัติงดเว้น ๘ ประการ.๓๔๕

พระมเหสีได้ทรงรับสั่งถามว่า พระเจ้าอโศกเสด็จไปที่ไหนเนือง ๆ, พวกอมาตย์กราบทูลว่า เห็นพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ภายใต้ต้นปัทรเสมอ. พระมเหษีทรงคอยเฝ้าดูอยู่, จนครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าอโศกมิได้เสด็จไปที่นั่น, พระนางก็ส่งคนไปตัดต้นไม้นั้นลง. เมื่อพระเจ้าอโศกได้เสด็จมาเห็นการกระทำอันบังเกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว, พระองค์เป็นลมแต่ไกลด้วยความเสียพระทัย, และล้มลงยังพื้นแผ่นดิน. พวกเสนาอมาตย์ผู้ใหญ่ต่างช่วยกันเอาน้ำประพรมพระพักตร์, และต่อมาเป็นนานพระองค์จึงได้ฟื้น. พระองค์จึงให้สร้างฐานก่อด้วยอิฐขึ้นโดยรอบ (ตอไม้) และเทรดนมโค ๑๐๐ หม้อลงบนรากไม้นั้น, แล้วพระองค์ก็ทอดกายลงนอนเหยียดพระกรและพระชงฆ์ทั้ง ๔ ให้แผ่ออกบนพื้นธรณี. แล้วทรงกระทำคำปฏิญญาว่า ‘ถ้าต้นไม้นี้ไม่คืนคงชีวิต, ข้าพเจ้าก็จะไม่ลุกขึ้นจากที่นี้เลย.’ พอขาดคำปฏิญญาของพระองค์, ในทันทีนั้น ไม้ก็กลับงอกงามขึ้นจากตอ, และก็เจริญงดงามสืบต่อมาจนบัดนี้, ซึ่งสูงเกือบจะถึง ๑๐๐ ศอกแล้ว.

  1. ๓๔๐. ฉบับเกาหลีว่าพระกัศยปพุทธะ, แต่ฉบับจีนว่าพระศากยพุทธะ. น่าจะเลือกเอาตามฉบับจีนดีกว่า, เพราะสมัยพระกัศยปพุทธะแต่อดีตโพ้นนั้น, ห่างไกลกับสมัยที่พระเจ้าจะเกิดมากมายก่ายกองนัก

  2. ๓๔๑. คือจักรพรรดิราช. ดูบทที่ ๑๗ หน้า ๘๖ โน๊ต ๒.

  3. ๓๔๒. ข้าพเจ้าสมัครที่จะใช้คำว่า ‘นรก’ ตามภาษาฝรั่ง. แต่ในฉบับจีนใช้คำว่า ‘คุกในโลก,’ ซึ่งพวกสอนศาสนาคริสเตียนทั่วไปรับว่าตรงกับคำ Gehenna.

  4. ๓๔๓. ตามตำรา Eitel (หน้า ๑๗๓) กล่าวว่า พระยายมตั้งแต่เดิมมาเป็นตำแหน่งพระเจ้าแห่งความตายของอารยัน. อยู่บนสวรรค์เบื้องบนแห่งโลก และเป็นผู้สำเร็จราชการเบื้องใต้. แต่ในลัทธิฝ่ายพราหมณ์ย้ายพระยายมให้ลงไปมีบ้านเมืองอยู่ในนรก, ฝ่ายพระพุทธศาสนากล่าวตามไปด้วยทั้ง ๒ อย่าง. พระยายมในหนังสือเล่มนี้เป็นผู้สำเร็จราชการในนรก, มีที่พำนักอาศัยอยู่เบื้องใต้แห่งชมพูทวีปภายนอกจักรวาล, เบื้องบนแห่งปริมณฑลของยอดบรรพตทั้งสอง. พระราชวังก่อสร้างขึ้นด้วยทองเหลืองและเหล็ก พระองค์ตั้งให้น้องสาวเป็นผู้บังคับนักโทษนรกฝ่ายเพศหญิง, ซึ่งไม่ยอมให้พวกเพศชายเข้าไปมีส่วนยุ่มย่ามด้วยเลย. ในระหว่างเวลาทุก ๆ ๒๔ ชั่วโมง, ต้องมีศาจตนหนึ่งนำเอาน้ำทองแดงที่กำลังเดือดไปเทลงในปากของพระยายม ๓ ครั้ง. แต่พระองค์เค้นคอของพระองค์เองให้มันไหลกลับออกเสีย. ทั้งนี้ เพราะมูลเหตุที่พระองค์เจ็บป่วยจนไม่สามารถจะพูดได้. เรื่องอันพิลึกพิลั่นเช่นนี้ เป็นพฤติการณ์ที่พระยายมต้องทำการไถ่บาปของตนเอง จนกระทั่งจะกลับชาติไปบังเกิดในนามพระราชาแห่งสากล.

  5. ๓๔๔. ปล่อยตัวออกจากหม้อทองแดงหรือ? น่าจะเป็นกุสโลบายต่างๆ ที่ปรับปรุงขึ้นตลอดเรื่อง.

  6. ๓๔๕. งดเว้นอะไร ๘ ประการ. อัฏฐศีลสิกขาหรือ ?

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ