- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๓๙
การฌาปนกิจศพพระอรหันต้องค์หนึ่ง.
คำสาธยายของอุบาสกผู้หนึ่ง.
ทิศใต้ของนครไป ๑๒๐ เส้น, ณ ที่นั้นเป็นวิหารแห่งหนึ่งเรียกว่ามหาวิหาร, มีพระภิกษุอาศัยอยู่ ๓,๐๐๐ องค์ ในจำนวนภิกษุทั้งหลายซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ มีพระสมณะองค์หนึ่ง, ซึ่งทรงคุณธรรมกุศลบารมีอย่างสูง, ประกอบไปด้วยความบริสุทธิ์อันปราศจากมลทินโทษ, อันเนื่องจากความใส่ใจพินิจพิจารณาพระธรรมวินัยของพระสมณะองค์นี้, จนประชาชนทั้งหลายนึกคนึงใจอยู่ว่าพระสมณะองค์เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง. เมื่อใกล้กับเวลาที่พระสมณะองค์นี้จ ถึงที่สุด (มรณะ) นั้น, พระราชาได้เสด็จไปเพื่อจะสอบสวนด้วยความอันเป็นข้อสำคัญประการหนึ่ง, จึงให้มีการประชุมภิกษุสงฆ์ทั้งหลายตามระเบียบ. และรับสั่งถามว่า พระภิกษุรูปนี้ได้บรรลุถึงความรู้แจ้งด้วยองค์ปัญญาทุกลำดับชั้นโดยบริบูรณ์แล้วหรือประการใด? พระภิกษุทั้งหลายตอบยืนยันว่า พระสมณะองค์นี้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง, พระราชาก็พระราชทานอนุมัติตาม. เมื่อพระสมณะองค์นี้ถึงมรณภาพ ได้ทรงกระทำการใหญ่โตตามแบบอย่างพระอรหันต์ในสมัยต่อมาองค์หนึ่ง, โดยถูกต้องตามแบบธรรมเนียมในวินัยที่ระบุไว้. จากวิหารไปทางตะวันออก ๘๐ หรือ ๑๐๐ เส้น, ให้สร้างกองฟืนขนาดใหญ่ขึ้นกองหนึ่ง, ซึ่งมีส่วนโดยกว้างเป็น ๔ เหลี่ยมกว่า ๓๐ ศอก, และมีส่วนสูงดุจเดียวกัน. ตอนใกล้ยอดวางลำดับด้วยไม้จันทน์หอม, ไม้กฤษณา, กับไม้ชนิดที่มีกลิ่นหอมอย่างอื่น ๆ.
ทั้ง ๔ ด้าน (ของกอง) เขาทำบันไดไว้สำหรับขึ้นไปบนกองฟืน. และใช้ผ้าขาวที่ทำด้วยขนสัตว์อย่างสะอาดประดุจหนึ่งไหม, ห่อ (ศพ) เป็นรอบ ๆ๔๐๑ และสร้างรถขนาดใหญ่ซึ่งมีกรอบเบื้องบนขึ้นคันหนึ่ง, ตามแบบอย่างแห่งความพอใจ เช่นรถบรรทุกศพของเรา, แต่ไม่มีรูปมังกรและปลา.๔๐๒
ในขณะที่จะทำการฌาปนกิจ, พระราชาและประชาชนเป็นอันมากต่างมาจากทุก ๆ ส่วนรวบรวมมาพร้อมกัน, ต่างถวายเครื่องสักการะด้วยดอกไม้และเครื่องหอม. แล้วต่างก็ตามรถศพมาจนถึงที่ที่ตั้งการเผาศพ,๔๐๓ พระราชาก็ทรงถวายดอกไม้และเครื่องหอมด้วยพระองค์เอง. เมื่อเสร็จกิจแล้วก็ยกศพขึ้นวางบนกองฟืน, และเทลาดลงด้วยน้ำมันหอมจากกระออมหนังแกะจนทั่วเบื้องบน, แล้วจึงจุดให้บังเกิดแสงสว่างขึ้น. ในขณะที่ไฟกำลังลุกเป็นเปลวขึ้นนั้น ทุกคนที่มีความเคารพเชื่อถือด้วยน้ำใจจริง, ต่างก็ปลดเปลื้องเครื่องแต่งกายออกจากตนโยนทิ้งเข้าไปบนกองไฟด้วย. พัดขนนกและร่มที่ใช้เดินทางมา, ต่างก็ทิ้งเข้าไปในกลางกองไฟเพื่อช่วยเผาไปด้วยกัน เมื่อการฌาปนกิจเสร็จลงแล้ว, เขาทั้งหลายได้ช่วยกันรวบรวมอัฏฐิ และก่อสร้างเป็นสตูปขึ้นองค์หนึ่งบรรจุไว้. ฟาเหียนยังมาไม่ถึงขณะที่ (พระสมณะรูปนี้) ยังดำรงชีพอยู่, แต่ได้มาเห็นในขณะที่ทำการฌาปนกิจ.
ณ สมัยหนึ่ง พระราชา๔๐๔ผู้ทรงเคารพเชื่อถือต่อพระธรรมของพระพุทธองค์อันแท้จริงองค์หนึ่ง, มีพระราชประสงค์จะสร้างวิหารขึ้นใหม่สำหรับภิกษุสงฆ์อีกแห่งหนึ่ง เริ่มต้นทรงให้มีการเรียกประชุมใหญ่, ภายหลังเมื่อพระองค์ได้ถวายธัญญาหารกับทั้งเครื่องสักการะแด่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแล้ว, พระองค์ได้ทรงเลือกสรรโคอันมีค่าสูงคู่หนึ่ง. มีเขาอันงดงามและตกแต่งไปด้วยทองเงินกับสิ่งอันประเสริฐต่าง ๆ ได้จัดการตระเตรียมผาลไถนา (ที่ทำด้วย) แผ่นทองไว้อันหนึ่ง, พระราชาได้ทรงไถด้วยพระองค์เองรอยหนึ่งลงบนพื้นแผ่นดินทั้ง ๔ ด้าน, ซึ่งภายหลังในเขตนี้จะได้สร้าง (วิหาร) ขึ้น. และพระองค์ได้อุทิศถวาย สิ่งอันเป็นกัลปนาแด่ชุมนุมสงฆ์ด้วยผู้คนพลเมือง (ให้เป็นเลขวัด), ทุ่งนา, บ้านเรือน, ซึ่งได้จารึกคำอุทิศลงบนแผ่นเหล็กเคลือบว่า ‘แต่สืบไปเบื้องหน้า ชั่วชาตินี้และชาติหน้ามิให้ผู้ใดผู้หนึ่งบังอาจมาทำการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้’
ในนครนี้ ฟาเหียนได้ฟังอุบาสกชาวอินเดียผู้หนึ่งสวดพระสูตรจากธรรมาสน์ว่า ‘บาตรของพระพุทธองค์ครั้งแรกอยู่ในนครไวศาลี, และเดี๋ยวนี้อยู่ในคันธาร,๔๐๕ สืบต่อไปอีกหลายร้อยปี (เมื่อขณะที่ฟาเหียนฟังคำสวดเขาบอกจำนวนปี, แต่มาลืมเสียภายหลัง) จะไปสู่ทุขารตะวันตก,๔๐๖ ภายหลังอีกหลายร้อยปีอยู่โขเตน, ภายหลังอีกหลายร้อยปีอยู่ขรจาร,๔๐๗ ภายหลังอีกหลายร้อยปีอยู่ในแดนฮั่น, ภายหลังอีกหลายร้อยปีจะกลับมาอยู่สิงหฬ, และภายหลังอีกหลายร้อยปีจะกลับไปอยู่มัชฌิมประเทศอินเดีย. ต่อจากนี้จะขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต และเมื่อพระโพธิสัตว์ไมเตฺรยเห็นบาตรใบนี้แล้ว, พระองค์จะกล่าวพร้อมกับถอนพระทัยว่า ‘บาตรของพระศากยมุนีพุทธเจ้ามาแล้ว.’ และมวลเทวาทั้งหลายจะถวายดอกไม้และเครื่องหอมอยู่ตลอด ๗ วัน. เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้วบาตรจะกลับลงมายังชมพูทวีป, ณ ที่นั้น พระยาสมุทรนาคราชจะรับเอาลงไปไว้ยังพระราชวังแห่งพระยานาคของพระองค์ เมื่อพระไมเตฺรยจะบรรลุถึงญาณปัญญาอันบริสุทธิ์ (เป็นพระพุทธเจ้า), บาตรใบนี้จะแยกออกจากกันเป็น ๔ ใบ,๔๐๘ และจะกลับขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนยอดแห่งบรรพตอันนะ๔๐๙สืบต่อไป. ภายหลังเมื่อพระไมเตฺรยตรัสรู้แล้ว, ท้าวจตุเทวราชจะรำลึกถึงพระพุทธองค์อีก (จะนำบาตรไปถวายพระพุทธองค์ดั่งที่เคยกระทำมาแล้ว). โดยที่จริง, พระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์ทั้งพันองค์ก็ได้ใช้บาตรใบเดียวกัน. และเมื่อบาตรใบนี้อันตรธานไปแล้ว, พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็จะค่อยดับศูนย์ทำลาย (ตามไปด้วย). ภายหลังแห่งความดับศูนย์นี้ ความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์จะหดสั้นลง, ดำรงอยู่ในโดยเฉพาะชั่วเวลาเพียง ๕ ปี. ในชั่วชีวิตแห่งเวลา ๕ ปีนี้, ข้าว เนย และน้ำมันจะเสื่อมศูนย์หมดไป, และมนุษย์ก็จะกลายไปเป็นคนชั่วร้ายอย่างยิ่ง. ต้นหญ้าต้นไม้มวลหมู่มนุษย์ก็จะล้มราบลง. เปลี่ยนแปรไปเป็นดาบเป็นกระบองสำหรับจับถือ, แล้วต่างก็จะเข้าทำร้ายตีรันเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน. ในระหว่างคนเหล่านี้บางพวกก็จะถอยหลังออกจากฝูงชนไปหาความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ในระหว่างภูเขา. และเมื่อพวกเหล่าร้ายได้ประหารซึ่งกันและกันหมดสิ้นไปแล้ว พวก (ที่หลบหลีก) ก็จะออกมาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง, และปราศรัยในระหว่างกันเองว่า ‘คนแต่สมัยโบราณมีความรื่นเริงและมีอายุยืนนานอย่างยิ่งทุกๆ คน, แต่ตลอดทั่วไปในเวลานี้กำลังเป็นอยู่แต่ความชั่วร้ายเป็นอย่างยิ่ง, และการกระทำทุกสิ่งล้วนแต่อธรรม, ความยืนยาวแห่งชีวิตของพวกเราจึงหดสั้นลงคงเหลืออยู่ได้เพียง ๕ ปี. บัดนี้ ให้พวกเรารวมเข้าพร้อมกันกระทำคุณความดีให้เนืองนิตย์, และจงบำเพ็ญรักษาคุณงามความดีและความสุภาพประกอบไปด้วยเมตตากรุณาในใจ, และประกอบการเรือกสวนไร่นาโดยละเอียดถี่ถ้วนด้วยความสุจริต และความบริสุทธิ์เป็นอันดี. เมื่อทุก ๆ คนได้ปฏิบัติอยู่ในทางที่สุจริต และบริสุทธิ์ดั่งนี้เสมอ, ก็จะไม่ต้องสงสัยว่าชีวิตของเราอาจยืนนานจนลุถึง ๘๐,๐๐๐ ปี. เมื่อพระไมเตฺรยมาปรากฏในโลก, และแสดงเทศนาธรรมจักรของพระองค์, เป็นครั้งแรกที่พระองค์จะช่วยในระหว่างเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ให้รอดพ้นด้วยธรรมของพระศากยมุนี, ซึ่งพระองค์ได้ละทิ้งไปแล้วนั้น, ต่อครอบครัวทั้งหลายโดยครบถ้วน. และเขาเหล่านั้นจะได้รับ (พระรัตน) ตรัยเป็นที่พึ่ง, โดยยอมรับเอาศีลสิกขาบท ๕ และศีลสิกขาบท ๘, ประกอบไปด้วยความเคารพสักการบูชาต่อสิ่งอันประเสริฐ ๓ ประการ. ครั้งที่ ๒ และที่ ๓, พระองค์จะช่วยในระหว่างบุคคลเหล่านั้นให้รอดพ้น, และเปลี่ยนความประพฤติเพื่อส่งให้พ้นจากการต่อเนื่องกับ (ความเป็นอยู่) ในอดีต๔๑๐ที่ล่วงแล้วมา.
ฟาเหียนปรารถนาจะเขียน (เรื่องนี้) ลงไว้เป็นประดุจโอวาทส่วนหนึ่ง, แต่ชายผู้นั้นกล่าวว่า เรื่องนี้มิได้มาจากพระสูตร, เป็นเรื่องที่กล่าวจากความคิดในใจของตนเองโดยเฉพาะ.
-
๔๐๑. สิ่งที่น่าประหลาดนั้น, ในต้นฉบับ (จีน) ดูเหมือนจะให้เข้าใจว่า ใช้ผ้าขาวห่อเชิงตะกอนอันใหญ่โตมโหฬารนั้น. ในที่นี้จึงจำใจต้องแปลให้ความเป็นไปโดยควรแก่เหตุผล, ซึ่งได้เติมคำว่า ศพ เข้าไว้ในวรรคนี้. เทียบดูกับเรื่องใน Buddhism Suttras หน้า ๙๒-๙๓. ↩
-
๔๐๒. ดูเรื่องการตกแต่งและรูปลักษณะของรถศพในหนังสือ Sacred Books of the East เล่ม ๒๘, คัมภีร์ ลี-กี ที่ ๑๙. การที่ฟาเหียนได้มาเห็นที่นี่แล้ว จะได้จดไว้หรือไม่ก็ไม่ทราบ, แต่เรื่องราวเหล่านี้ฟาเหียนได้เขียนเมื่อกลับถึงเมืองจีนแล้ว, ซึ่งบางทีอาจจดลงตามแบบธรรมดาของรถศพเท่าที่คิดเห็นในใจก็ได้. ↩
-
๔๐๓. ตรงนี้ฟาเหียนเขียนไว้ว่า พื้นที่ฝังศพ, ซึ่งตามเนื้อเรื่องควรจะเป็นเชิงตะกอน จะเป็นโดยความตั้งใจจะเขียนไว้ดั่งนั้นหรือประการใด, ก็เหลือที่จะเล็งเห็นเหตุผล. ↩
-
๔๐๔. พระราชาองค์นี้ต้องเป็นมหานาม (พ.ศ. ๙๕๓-๙๗๕). ในสมัยนี้ต่อมาจากสมัยของพระอุปติสส (พ.ศ. ๙๑๑-๙๕๓), ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำการแปลพระไตรปิฎกออกเป็นภาษาสิงหฬ. ในรัชสมัยของมหานามนี้, พระพุทธโฆษาได้เขียนคัมภีร์อรรถาธิบายพระธรรมวินัยไว้มาก. ท่านทั้ง ๒ นี้ได้ช่วยกันสร้างมหาวิหารขึ้นหลังหนึ่ง. ดูคัมภีร์ Mahâvansa หน้า ๒๔๗ และต่อไป. ↩
-
๔๐๕. ดูบทที่ ๑๒. ฟาเหียนเห็นจะหมายถึงว่าอยู่ที่นครบุรุษปุระ, เพราะคันธารเป็นแว่นแคว้นอินเดียตอนเหนือ, ซึ่ง (Eitel กล่าวว่า) มีนครปุรุษปุระเป็นนครหลวงมาแต่โบราณ เดี๋ยวนี้เป็นประเทศแคชเมียร์เละอาฟฆานิสตาน. (พุทธเจดีย์สยาม หน้า ๒๘). ↩
-
๔๐๖. ทุขาร-ตะวันตกนี้เห็นจะเป็นเห่งเดียวกับทุขารซึ่งปรากฏใน (หน้า ๑๐๑๖) บทที่ ๑๒ กษัตริย์แห่งทุขารนี้ที่คิดจะมาอัญเชิญบาตรไปจากปุรุษปุระ. ↩
-
๔๐๗. ทิศเหนือของทะเลสาบโพสเตง. บริเวณแห่งพืชภูเขาเธียน-ชาน, (E. H. หน้า ๕๖). ↩
-
๔๐๘. ดูบทที่ ๑๒ หน้า ๕๙ โน๊ต ๓. แทนที่จะเป็น อันนะ, ในภาษาจีนเป็น วีนะ. แต่ วีนะ หรือ วีนะตกะ และ อนะของสุทรรศนะเป็นนามอีกอย่างหนึ่งของยอดเขาพระสุเมรุโดยรอบวงปริมณฑล, ที่กล่าวในนิยายว่าเป็นสถานที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาล, ผู้พิทักษ์บาตรพระพุทธเจ้า. ↩
-
๔๐๙. ดูบทที่ ๑๒ หน้า ๕๙ โน๊ต ๓. แทนที่จะเป็น อันนะ, ในภาษาจีนเป็น วีนะ. แต่ วีนะ หรือ วีนะตกะ และ อนะของสุทรรศนะเป็นนามอีกอย่างหนึ่งของยอดเขาพระสุเมรุโดยรอบวงปริมณฑล, ที่กล่าวในนิยายว่าเป็นสถานที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาล, ผู้พิทักษ์บาตรพระพุทธเจ้า. ↩
-
๔๑๐. กามในอดีตซึ่งได้กระทำลงแล้วนั้น, ผลดีจะได้รับตอบแทนก็คือ จะต้องกลับความประพฤติเสียแต่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้. ↩