- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๖
เข้าสู่อินเดียภาคเหนือ แคว้นทรทะ
รูปจำลองพระไมเตรยโพธิสัตว์
จากนี้ฟาเหียนกับพวกได้ออกเดินทางต่อไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ภาคเหนือแห่งอินเดีย. ภายหลังที่ได้ใช้เวลาเดินทางมาแล้วหนึ่งเดือน, และเป็นการสำเร็จสมประสงค์ได้ข้ามทิวภูเขาโอเนียนตลอดไป ซึ่งเป็นที่มีหิมะตกปกคลุมอยู่ตลอดเวลาทั้งฤดูหนาวและฤดูร้อน. ตามทางในระหว่างทิวเขานี้มีพระยานาคอันมีพิษร้ายแรง ซึ่งถ้าใครไปทำให้บังเกิดความโกรธขึ้นเมื่อใด, ก็จะพ่นน้ำลายซึ่งเป็นพิษออกกระจายไปตามลม, จะเป็นเหตุบรรดานให้บังเกิดหิมะตกห่าใหญ่, และบังเกิดพายุพัดกรวดทรายฟุ้งตลบ เมื่อใครไปต้องประสบภยันตรายอันร้ายแรงเช่นนี้เข้าแล้ว, แม้หนึ่งในหมื่นคนก็จะไม่มีใครสามารถครองชีวิตให้รอดพ้นไปได้. ประชาชนในแว่นแคว้นแถวนั้นเรียกนามทิวภูเขาพืดนี้ว่าภูเขาหิมะ (หิมาลัย) เมื่อฟาเหียนกับพวกได้เดินทางเข้าไปในอินเดียภาคเหนือแล้ว, ณ บัดเดียวนั้นก็ได้ไปประสบเข้ากับราชอาณาจักรเล็กๆ แคว้นหนึ่ง เรียกนามว่าตโอลายห์,๖๔ ณ ที่นี้มีจำนวนพระภิกษุมากหลาย และทั้งหมดเป็นฝ่ายนิกายหินยาน.
ในราชอาณาจักรนี้แต่โบราณกาลว่ามีพระอรหันต์๖๕องค์หนึ่ง โดยฤทธิ์อำนาจอันมีอยู่เหนือสภาพธรรมดา,๖๖ พระอรหันต์องค์นั้นได้นำพานายช่างผู้เฉลียวฉลาดมีฝีมือดีคนหนึ่งขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดุสิต๖๗, ให้พิจารณาดูส่วนสูงและผิวพรรณแห่งพระไมตฺรยโพธิสัตว์ให้ประจักษ์ชัดเจน. และเมื่อกลับลงมาแล้วก็ให้จัดการสร้างรูปจำลองขึ้นด้วยไม้แก่น, ได้ทำกันอยู่ถึงสามครั้ง, นับแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่สุด, รูปพระโพธิสัตว์ไมเตฺรย๖๘จึงได้สำเร็จแล้วบริบูรณ์ มีส่วนสูงถึง ๘๐ ศอก และวัดฐานจากเข่าข้างหนึ่งถึงอีกข้างหนึ่งได้ ๘ ศอก โดยตัดขวางของขาทั้งสอง. ในวันอุโบสถรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้ได้เปล่งรัศมีพลุ่งรุ่งโรจน์งดงามยิ่งนัก. พระราชาแห่งประเทศนี้และแว่นแคว้นที่ใกล้เคียงต่างก็ประกวดประขันซึ่งกันและกันน้อมนำเอาสิ่งของมาถวายเป็นเครื่องสักการบูชา. สิ่งที่เป็นอยู่นี้ และที่เห็นปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่มีมาแล้วแต่โบราณกาล.
-
๖๔. ฉบับ Eitel และอื่นๆ แสดงชัดว่าเป็นแห่งเดียวกันกับทรทะ. นครนี้แต่โบราณคือทารเท่ซึ่งติดต่อใกล้เคียงกับทารทุส. อยู่ในระดับภูมิภาคแลตติจุด ๓๐-๑๑ องศาเหนือ, ลองจิจุต ๗๓-๕๔ องศา ตะวันออก. (ดู E. H. หน้า ๓๐). แต่ข้าพเจ้ายังแคลงใจในข้อความที่กล่าวมาแล้วนี้. (Cunningham ได้กล่าวไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์โบราณของอินเดีย (Ancien Geografic of India หน้า ๘๒) ว่า, ทาริล, เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสินธู, เดี๋ยวนี้รวมกันกับทารทุสหรือทาร์ตส์. แต่ในนามแห่งอาณาเขตที่รับรองกันมาข้างต้นนี้ เมื่อเราได้อ่านเรื่องราวของฟาเหียนแล้ว จะกลายเป็นตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่สินธู ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามกับฝั่งตะวันตก ดั่งที่แสดงไว้ในบทข้างหน้าต่อไปนี้. ↩
-
๖๕. ตามสำเนียงจีนว่าโล-หัน. อรฺหตฺ, Legge อธิบายว่า อารยะผู้บริสุทธิ์แล้ว เป็นศิษย์ล่วงพ้นแล้วจากมรรคาแห่งชั้นสกุล หรือมรรค ๘ (อัฎฐังคิกมรรค), เป็นผู้ชนะต่อกิเลสทั้งหลายแล้ว และปราศจากชาติที่จะกลับมาเกิดอีก. พระอรหันต์เล็งถึงว่าเป็นเจ้าของอันเที่ยงแท้แห่งฤทธิ์อำนาจซึ่งอยู่เหนือสภาพธรรมดา, แต่ยังไม่ถึงความสำเร็จตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า, หมายถึงเพียงว่า เป็นผู้สำเร็จพ้นแล้วจากบาปกรรมทั้งหลาย บัลลุถึงพระนิพพานแล้ว ความหมายของฝ่ายจีนทั่วไป สำหรับนามโล-หันว่า เป็นผู้ที่รวมอยู่ในขอบเขตปริมณฑลสานุศิษย์ของพระพุทธเจ้าอันมีจำนวน ๘๑๘. ดูวินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๕๐-๕๑ พระ อรหันต์ คือผู้ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ได้โดยสิ้นเชิง. ↩
-
๖๖. ฤทฺธิ- สากฺษาตฺกฺริยา อำนาจแห่งความมหัศจรรย์เหนือสภาพธรรมดาของรอยพระพุทธบาท. กระทำร่างกาย. ให้อ่อนจนสามารถพับงอได้ตามชอบใจ หรืออำนาจอันไม่มีเขตจำกัดเหนือสภาพร่างกาย. ดู E. H. หน้า ๑๐๔. แต่มีพุทธบัญญัติห้ามมิให้สมณะทั้งหลายทำอิทธิปาฏิหารย์, ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๘๗-๓๘๘. ↩
-
๖๗. ดุสิต, เป็นชั้นที่ ๔ แห่งเทวโลก เป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ทั้งมวล ก่อนตรัสรู้ในชาติที่สุด จะกลับลงมาอุบัติในมนุษยโลกเป็นองค์พระพุทธเจ้า. ความดำรงของสวรรค์ชั้นดุสิตมี ๔,๐๐๐ ปี เวลา ๒๔ ชั่วโมงของชั้นดุสิตนั้น ก็เท่ากับ ๔๐๐ ปีของมนุษยโลก. ดู E. H. หน้า ๑๕๒. ↩
-
๖๘. ไมเตฺรย. (Spenec Hardy ว่าไมตรี ไทยเราเรียกว่าเมตไตรย ความเดียวกัน). แต่พบบ่อยๆ มีนามว่าอชิต ผู้ไม่แพ้. เป็นพระโพธิสัตว์อันสำคัญแท้จริงองค์หนึ่งที่คอยติดตามองค์พระศากยมุนีอยู่เสมอ, แต่มิได้นับเข้าในระหว่างพวกศิษย์สามัญ. ไม่มีเรื่องราวบอกว่าพระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่ที่ไหนมาก่อน. ในครั้งเมื่อองค์พระศากยมุนีเสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดุสิต ได้ทรงพบพระโพธิสัตว์องค์นี้ และได้ทรงมีพุทธดำรัสพยากรณ์แต่งตั้งไว้ว่า จะได้เป็นผู้ตรัสรู้เป็นองค์พระพุทธเจ้าสืบจากพระองค์ต่อไป ในเมื่อเวลาได้ล่วงแล้วไป ๕,๐๐๐ ปี. เพราะฉะนั้น พระไมเตฺรยก็จะเป็นผู้ที่คอยเวลาที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า. อาศัยสงบเงียบอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตต่อไป. ความปลงใจในเรื่องราวที่ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์องค์นี้. ในสมุดของ Eitel (E. H. หน้า ๗๐) กล่าวไว้ว่า แต่เดิมมาคงเป็นเรื่องที่ประสงค์จะเผยแพร่พุทธศาสนาให้บังเกิดความเชื่อถือเท่านั้น. นามศัพท์ไมเตฺรยคำนี้แปลตามพยัญชนะว่า ความอ่อนหวาน หรือความเมตตากรุณา. ปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๕๒-๓๕๓ และ ๓๖๖ ว่า อชิตกุมารเกิดแต่พระเจ้าอชาตศัตรูราชกับนางกาญจนาเทวี. ทรงพุทธพยากรณ์นิโครธารามชนบทแห่งกรุงกบิลพัสดุ ไม่ใช่บนสวรรค์. ↩