จบ

ปีเกียะ-ยิน๔๒๗ที่ ๑๒ ในรอบแห่งระยะกาลอี-ฮีของราชวงศ์ตฺซิน (ตะวันออก). ดาวประจำปีสู่ราศีกันยา-ตุลา. ในฤดูร้อน, เมื่อใกล้กับระยะพรรษากาลที่จะหมดไปนั้น. ข้าพเจ้าได้พบกับฟาเหียนผู้เคร่งครัด, ในเมื่อท่านมาถึง ข้าพเจ้าได้อาราธนาให้ท่านพักอยู่กับข้าพเจ้าในฤดูหนาวเพื่อการศึกษาเล่าเรียน๔๒๘ ในการประชุมสนทนา ณ ที่นี่, ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องการเดินทางไปโดยรอบคอบของท่านหลายหน. ท่านเป็นคนสุภาพและมีมรรยาทเรียบร้อยเป็นที่น่านับถือ, และตอบคำถามว่องไวตามความจริง. เมื่อเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงแนะนำขอให้ท่านเล่าเรื่องที่ท่านท่องเที่ยวไปโดยพิสดารตั้งแต่เริ่มต้นแห่งฤดูร้อน. และท่านก็ได้เล่าบรรยายข้อความตามที่ท่านเดินทางให้ฟังตามที่เราต้องประสงค์งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด. ท่านได้กล่าวปรารภแก่ตนเองว่า เมื่ออาตมาได้หวนกลับไปพิจารณาดูสิ่งใด ๆ ที่อาตมาได้ผ่านไปจนตลอดมาแล้ว, หัวใจของอาตมาสั่นสะเทือนจนเหลือที่จะบังคับ, และเหงื่อก็ไหลออกมาปรากฏ. ภัยอันตรายที่อาตมาได้เผชิญมาแล้วนั้น, เป็นการที่เหยียบย่างเข้าไปในสถานที่อันน่าจะพึงกลัวอย่างยิ่ง, โดยมิได้คิดที่จะระวังถนอมตัวของอาตมาเองเลย. ทั้งนี้เพราะด้วยอาตมามีความตั้งใจเด็ดขาดโดยมิได้คิดถึงสิ่งใด ๆ นอกจากที่จะให้การกระทำของเราเป็นไปอย่างดีที่สุด, และด้วยความเที่ยงตรงของอาตมาอันเป็นไปในทางที่ซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้น. ดั่งนั้นการที่อาตมาได้ไปสำแดงชีวิตอยู่ ณ ที่ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงจากความมรณะได้นั้น. ถ้าอาตมามีกำลังและความสามารถที่จะกระทำให้สำเร็จไปได้เพียงส่วนหนึ่งในหมื่นแห่งกรณียกิจทั้งหลาย, ก็จะเป็นการพอควรกับการที่อาตมามีความหวังอยู่นั้นแล้ว. ถ้อยคำเหล่านี้หวนกลับมากระทบใจข้าพเจ้าและคิดว่า ชายคนนี้เป็นคนหนึ่งในหมู่ชนทั้งหลายที่ไม่ใคร่จะได้พบเห็น, ตั้งแต่โบราณกาลถึงปัจจุบันนี้. โอวาทอันยิ่งใหญ่ที่ได้ไหลมาสู่ตะวันออกตั้งแต่เดิมมาแล้วนั้น, ณ ที่นี้ไม่มีสักอย่างเดียวที่จะเทียบเคียงได้กับของฟาเหียน, และจะลืมการที่ท่านไปเสาะแสวงหาพระธรรมวินัยมาแล้วด้วยตนเองในครั้งนี้เสียมิได้. ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า อานุภาพแห่งความจริงนั้น, ย่อมจะประสบผลซึ่งไม่มีสิ่งใดที่จะขัดขวางได้. และถึงจะอย่างไรก็ตาม, กำลังแห่งความตั้งใจจริงนั้น, ย่อมจะไม่กระทำให้ผลแห่งความสำเร็จในการที่จะพึงกระทำลดน้อยถอยลงเลย. พฤติการณ์ได้กระทำลงแล้วโดยไม่ถึงความสำเร็จนั้น, ย่อมบังเกิดขึ้นจากความหลงลืม (และประมาท) ในการที่จะพิจารณาดูว่าสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญ, แล้วเลยลืมยึดถือความสำคัญสิ่งนั้นเสียมิใช่หรือ ?

  1. ๔๒๗. ณ ที่นี้เกิดการหลงผิดด้วยกาลเวลา อันเป็นความยุ่งยากขึ้นในเรื่องราวอีแห่งหนึ่ง. ปีเกียะ-ยินเป็น พ.ศ. ๙๕๗, และไมใช่ปีที่ ๑๒, แต่เป็นปีที่ ๑๐ แห่งระยะกาลอี-ฮี, อันเป็นนามตำแหน่งของปีในวงรอบระยะกาลของปิง-ชิน. ตามเรื่องราวแห่งการเดินทางของฟาเหียนที่ล่วงมาแล้วรวม ๑๕ ปี, ซึ่งเริ่มต้นนับจากปีกี-ฮาอี พ.ศ. ๙๔๒, ต่อมาจนตลอดถึงปีที่กลับถึงตซิง-เจา, ควรจะต้องเป็นปีกวาย-เจา, อันเป็นปี ๙ ของระยะกาลอี-ฮี. แต่ถ้าหากจะปริมาณเอาว่าปีเกียะ-ยินเป็นปีที่เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้เริมต้นให้เสมียนเขียน (ลงแผ่นแพรบนโต๊ะไม้ไผ่ขนาดย่อมๆ). คือในปีที่ ๑๒ ของระยะกาลอี-ฮี. ก็จะสิ้นความฉงนของเราในปัจจุบันนี้.

  2. ๔๒๘. เราทราบกันไม่ได้ว่า ผู้ที่เขียนข้อความทั้งหมดในตอนนี้คือใคร. สถานที่ที่เขาสนทนากับฟาเหียนที่ว่า ที่ศึกษาในฤดูหนาวหรือห้องสมุดนั้น, จะเป็นห้องที่ทำงานของกุฏิในวัดหรือของเคหสถาน. ก็ทราบไม่ได้อีก. อาจเป็นลี-อีเทศาภิบาลที่กล่าวในตอนท้ายของเรื่องนี้ก็ได้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ