- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๔ ท้าวบรมจักรกฤษณ์เสด็จประพาสป่า แล้วปราบกุมภาสูร
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวจักรกฤษณ์เรืองศรี |
เสวยสุขอยู่ทุกราตรี | ด้วยองค์เทวีวิไลวรรณ |
แสนสำราญดั่งผ่านสมบัติทิพย์ | ทั้งสิบหกห้องฟ้าสรวงสวรรค์ |
ทุกทิศย่อมมาบังคมคัล | เอาพระเดชป้องกันภัยพาล |
ตั้งอยู่ในธรรมทศมิตร | โดยกิจกษัตรามหาศาล |
ดำรงปถพีด้วยปรีชาญ | ปลูกเลี้ยงทหารโยธา |
สมตระกูลคุณาวิชาศาสตร์ | เกลื่อนกลาดตามตำแหน่งยศถา |
รางวัลบำเหน็จนานา | เสื้อผ้าแก้วแหวนพรรณราย |
อันส่วยสัดพัทยาบรรณาการ | ดั่งชลธารไหลมาไม่ขาดสาย |
แสนเกษมแสนสุขสนุกสบาย | ทั้งหญิงชายไพร่ฟ้าประชากร |
คิดจะใคร่พาฝูงอนงค์นาฏ | ไปประพาสมิ่งไม้สิงขร |
ในห้องหิมวาพนาดร | ให้ถาวรเป็นสุขสำราญใจ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
จับพระขรรค์แก้วแววไว | เสด็จไปพระโรงรูจี |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรมณีศรี |
จึ่งมีพระราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ปรีชาญ |
เราจะไปเที่ยวประพาสป่า | จงจัดโยธาทวยหาญ |
รถประเทียบรถทรงอลงการ | ทั่วทุกพนักงานให้พร้อมไว้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | บังคมไหว้ออกจากพระโรงคัล |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ จัดเป็นจตุรงค์พยุหบาตร | โดยกระบวนประพาสพนาสัณฑ์ |
พลช้างล้วนช้างชาญฉกรรจ์ | ใหญ่สูงซับมันร้ายราญ |
ควาญหมอเสื้อแดงหมวกแดง | ถือขอกวัดแกว่งสำแดงหาญ |
พลม้าล้วนม้าอาชาชาญ | ควบขับเผ่นทะยานเพียงลมพัด |
ผู้ขี่เสื้อตองหมวกตอง | มือถือทวนทองแกว่งกวัด |
ขุนรถเทียมรถเนาวรัตน์ | แอกอ่อนงอนสะบัดธงชาย |
ผู้ขี่เสื้อหมวกชมพู | มือถือธนูประลองสาย |
พลเท้าล้วนมีกำลังกาย | เสื้อหมวกพรรณรายลายทอง |
ถือสรรพศัสตราอาวุธ | นับสมุทรแน่นนันต์เป็นแถวถ้อง |
รถประเทียบรถทรงรถรอง | ทุกกองคอยเสด็จจรจรัล |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์รังสรรค์ |
ครั้นคํ่าย่ำศรีรวีวรรณ | แสงจันทร์ส่องแจ่มแอร่มฟ้า |
ทรงกลดหมดเมฆโอภาส | ดาวดาษกลาดเกลื่อนเวหา |
สถิตเหนือแท่นที่ไสยา | ด้วยองค์วนิดายุพาพาล |
เสนาะเสียงพระสนมขับครวญ | สำเนียงนวลเฉื่อยฉ่ำคำหวาน |
โหยหวนโอดพันบรรเลงลาน | ผ่านฟ้าก็เคลิ้มหลับไป |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ จนล่วงปัจฉิมเวลา | สุริยาเยี่ยมยอดเนินไศล |
แสงทองรองเรืองอำไพ | ไก่แก้วขันขานประสานกัน |
อึ้ออึงด้วยเสียงทวยหาญ | เสียงรถคชสารนี่สนั่น |
ปทุมมาลย์บานรับพระสุริยัน | เสาวคันธ์เฟื่องฟุ้งขจายจร |
เสนาะเสียงแมลงผึ้งภุมริน | โบยบินเชยรสเกสร |
เสียงประโคมดนตรีแตรงอน | ภูธรตื่นจากไสยา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ชำระพระโอษฐ์สรงพระพักตร์ | ชวนองค์อัคเรศเสน่หา |
เสด็จออกจากห้องแก้วอลงการ์ | มาเข้าที่โสรจสรงชล |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ไขสุหร่ายสายสินธุวาเรศ | จากฝักปทุเมศเป็นฝอยฝน |
ต่างชำระสระสรงทรงสุคนธ์ | ปรุงปนนพมาศชมพูนุท |
พระทรงสนับเพลากระหนกงอน | ภูษาเชิงมังกรเล่นสมุทร |
นางทรงภูษิตเครือครุฑ | แย่งยุดรูปวาสุกรีกราย |
พระทรงชายไหวชายแครง | ฉลององค์ทองแล่งฉานฉาย[๑] |
นางทรงสไบตาดทองพราย | ประดับถันพรรณรายมุกดาดวง |
ต่างทรงสร้อยสนสังวาลวรรณ | สะอิ้งแก้วกุดั่นโชติช่วง |
ตาบทิศพลอยประดับทับทรวง | พาหุรัดรุ้งร่วงทองกร |
ธำมรงค์รายพลอยปัทมราช | มงกุฎเพชรโอภาสประภัสสร |
ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจอน | ดอกไม้ทัดอรชรประดับกรรณ |
ทรงพระแสงขรรค์อันฤทธี | งามคล้ายพระศุลีรังสรรค์ |
กับองค์พระอุมาวิลาวัณย์ | ตามกันมาขึ้นรถทรง |
ฯ ๑๒ คำ ฯ กราวนอก
๏ รถเอยรถประพาส | แลผาดเลื่อมพื้นไพรระหง |
ดุมกำดวงแก้วประดับกง | งอนทองงามธงปลิวปลาย |
ชั้นลดช่อลายรายภาพ | ซุ้มเก็จเสากาบวิเชียรฉาย |
ห้ายอดเหมเยี่ยมโพยมพราย | ใบระกาแก้วระบายระบุบัน |
เทียมสินธพสี่มีพยศ | ขุนรถขับรีบดั่งจักรผัน |
บังสูรย์บดสีรวีวรรณ | แถวฉัตรถัดชั้นขนัดพล |
รถประเทียบเรียบทางเป็นอันดับ | เดินพยู่ห์ดูพยับโพยมหน |
ฆ้องกลองขานกลบอึงอล | เสียงพลโห่เพียงสุธาทรุด |
กงเลื่อนกำลั่นสนั่นก้อง | สะเทือนท้องพสุธามหาสมุทร |
แพรวแสงพรายสาตราวุธ | พระทรงภุชเร่งพลดำเนินจร |
ฯ ๑๐ คำ ฯ สมิงทองไทย
๏ เดินหว่างหิมวาพนาเวศ | ทอดพระเนตรตามเนินสิงขร |
ชมหมู่รุกขชาติอรชร | เรียงสล้างงามสลอนที่ริมทาง |
ชมแสงกระสังรังรัก | สนสักโศกไทรไตรตร่าง |
เกดแก้วกรรณิการ์ขานาง | ปรูปรางแจงจันทน์คันทรง |
นกแก้วจับแก้วพลางพลอด | หงส์เยื้องจับยอดมหาหงส์ |
คณายูงพาฝูงจับประยงค์ | กระลิงจับกาหลงภิรมย์เรียง |
ฝ่ายข้างพ่างพื้นปัฐพี | เสือสิงห์ราชสีห์คำรนเสียง |
เม่นหมีละมั่งระมาดเมียง | ทักกระทอคลอเคียงมฤคา[๒] |
พระชี้ชวนโฉมยงอนงค์นาฏ | ให้เชยชมมิคชาติปักษา |
นั่นตระไนไก่แก้วสาลิกา | จำนรรจาพลางจิกผกากาญจน์ |
หมู่กระเหว่าเหล่าการเวกแว่ว | ร้องแจ้วส่งเสียงสำเนียงหวาน |
ชะนีโหยโรยหวนเป็นกังวาน | ฟังสะท้านวังเวงวิเวกไพร |
พระเคียงรถเด็ดดวงสาโรชรื่น | ทรงยื่นให้ยอดพิสมัย |
ประพาสพลางชมเพลินจำเริญใจ | ที่ในหิมวาพนาลี |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงกุมภาสูรยักษี |
อยู่เชิงกาลกูฏคีรี | ยังที่แนวเนินหิมวันต์ |
มีกำลังฤทธาสามารถ | ร้ายกาจเรี่ยวแรงแข็งขัน |
นักสิทธ์วิทยาคนธรรม์ | ก็ครั่นคร้ามขามเข็ดขุนมาร |
เคยท่องเที่ยวไปในป่าชัฏ | จับสัตว์ฟัดกินเป็นอาหาร |
ทำแต่ทุจริตด้วยจิตพาล | อหังการกำเริบไม่เกรงใคร |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา | กรขวาฉวยชักหอกใหญ่ |
กวัดแกว่งสำแดงฤทธิไกร | เที่ยวไปตามเนินพนาลี |
ฯ ๘ คำ ฯ
กราวใน
๏ เหลือบเห็นฝูงสัตว์จัตุบาท | สีหราชกาสรคชสีห์ |
แรดช้างกวางทรายจามรี | เม่นหมีโคถึกมฤคา |
ขุนมารชื่นชมโสมนัส | แกว่งกวัดหอกใหญ่เงื้อง่า |
ผาดโผนโจนไล่ด้วยฤทธา | แทงซ้ายแทงขวาวุ่นไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ล้มตายดาดาษลงกับที่ | เลือกเอาตัวพีตัวใหญ่ |
กินเล่นเป็นสุขสำราญใจ | แล้วเที่ยวไปตามเนินหิมวา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ได้ยินสำเนียงฆ้องกลอง | กึกก้องครื้นครั่นสนั่นป่า |
แลไปตามช่องมรคา | เห็นพลโยธามนุษย์ |
พลช้างพลม้าแน่นนันต์ | กุมภัณฑ์กริ้วโกรธดั่งไฟจุด |
มือขวาแกว่งหอกฤทธิรุทร | ไล่พลมนุษย์วุ่นวาย |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พวกพลโยธาทั้งหลาย |
เหลือบแลไปเห็นราพณ์ร้าย | ไพร่นายตระหนกตกใจ |
หน้าซีดความกลัวตัวสั่น | หยุดขยั้นไม่อาจขืนไปได้ |
ลั่นปืนยืนยิงแต่ไกล | สำคัญว่าไล่ก็หนีมา[๓] |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางจันทมาลีเสน่หา |
ทั้งสนมกำนัลกัลยา | เหลือบเห็นอสุราสาธารณ์ |
สูงใหญ่ล่ำสันพันลึก | เหี้ยมฮึกเข้มแข็งกำแหงหาญ |
แกว่งหอกดั่งแสงไฟกาล | เยาวมาลย์ตกใจพันทวี |
บ้างปิดตาร้องตรีดตรีด | หวีดหวีดอื้ออึงคะนึงมี่ |
บ้างแฝงม่านซ่อนอินทรีย์ | มิได้แลดูอสุรา |
ฝ่ายองค์สมเด็จพระอัคเรศ | กลัวเดชอสูรยักษา |
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวา | กอดเบื้องบาทาพระภูธร |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วทรงศร |
รับขวัญพลางปลอบบังอร | ดวงสมรอย่ากลัวไอ้สาธารณ์ |
โกฏิแสนแม้นมาอักนิษฐ์ | เจ้าจงดูฤทธิ์กำลังหาญ |
ตัวพี่ผู้เดียวจะรอนราญ | ผลาญเสียให้สิ้นชีวี |
ตรัสพลางฉวยชักพระขรรค์ชัย | อานุภาพปราบได้ทุกราศี |
กวัดแกว่งดั่งแสงอสนี | คอยทีจะล้างกุมภัณฑ์ |
ฯ ๖ คำ ฯ ร่าย
๏ เมื่อนั้น | กุมภาสูรฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นมนุษย์ทรงโฉมวิไลวรรณ | กับนางนั้นอยู่บนรถชัย |
ใครหนอยกพลโยธี | พาเมียมานี้จะไปไหน |
งามยิ่งนางฟ้าสุราลัย | พักตร์เพียงแขไขในเมฆา |
อย่าเลยจะฆ่าผัวเสีย | พาเมียไปร่วมเสน่หา |
คิดแล้วจึ่งร้องถามมา | ว่าเหวยมนุษย์สาธารณ์ |
ตัวเป็นสุริย์วงศ์พงศ์ไหน | นามกรชื่อใดจึ่งอาจหาญ |
เข้ามาถึงเขตพระกาล | กูจะผลาญให้ม้วยชีวี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังอสุราพาที | จึ่งมีวาจาตอบไป |
เหวยเหวยดูก่อนอ้ายขุนยักษ์ | ทะนงศักดิ์เจรจาหยาบใหญ่ |
กูคือจักรกฤษณ์ฤทธิไกร | ผ่านกรุงพิชัยณรงกา |
เป็นที่พึ่งเทวามนุษย์ | ครุฑนาคนักสิทธ์ทุกทิศา |
ตัวมึงชื่อไรไอ้พาลา | อวดกล้าจะมารอนราญ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | กุมภาสูรฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วตอบไป |
เหมเหม่ดูดู๋มนุษย์ | จะมีฤทธิรุทรเป็นไฉน |
กูทรงอานุภาพเกรียงไกร | อยู่ไศลกาลกูฏศีขรินทร์ |
ชื่อกุมภาสูรผู้ศักดา | ทั้งหกชั้นฟ้าก็กลัวสิ้น |
ตัวท่านดั่งลูกมฤคินทร์ | มาดูหมิ่นพญาพยัคฆี |
นางนี้ทรงโฉมอรชร | ดั่งเทพอัปสรในราศี |
จักเป็นเมียเราบัดเดี๋ยวนี้ | ใครดีก็จะได้เห็นกัน |
ว่าแล้วผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศสะเทือนเลื่อนลั่น |
แกว่งหอกขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | เข้าง้างงอนรถนั้นด้วยศักดา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบรมจักรกฤษณ์นาถา |
เสด็จลงจากรถรัตนา | เข้าต่อฤทธาด้วยขุนมาร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งกุมภาสูรใจหาญ |
รับรองป้องกันประจัญบาน | โถมทะยานเข้าชิดติดพัน |
ต่างถอยต่างไล่เข้าออก | กลับกลอกรวดเร็วดั่งจักรผัน |
ต่างปัดต่างแทงต่างฟัน | หมายมั่นจะล้างชีวี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
รณรุกบุกบันประจัญตี | ได้ทีโจมจับอสุรา |
เผ่นขึ้นเหยียบเข่ายืนยัน | กรายพระแสงขรรค์เงื้อง่า |
หันเวียนเปลี่ยนกันไปมา | ต่างหาญต่างกล้าไม่ลดกร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภาสูรมารชาญสมร |
กวัดแกว่งหอกชัยดั่งไฟฟอน | เข้าราญรอนโจมจับเป็นโกลี |
แทงซ้ายป่ายขวาโกลาหล | ทรหดอดทนไม่ถอยหนี |
เคล่าคล่องว่องไวไปในที | อสุรีไม่คิดชีวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์รังสรรค์ |
เผ่นขึ้นเหยียบบ่ากุมภัณฑ์ | จับกันเคล่าคล่องว่องไว |
หวดด้วยพระขรรค์โมลี | ต้องกายอสุรีไม่ทนได้ |
ทั้งหอกก็หักกระเด็นไป | ด้วยฤทธิไกรพระจักรา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กุมภาสูรผู้ใจแกล้วกล้า |
เสียหอกชอกช้ำทั้งกายา | ปิ้มว่าจะม้วยชีวี |
ขืนใจขบฟันกลั้นพิษ | ด้วยจิตมานะยักษี |
หลับเนตรสำรวมอินทรีย์ | ชุลีกรร่ายเวทอันเพริศพราย |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นครบเจ็ดคาบก็ลูบลง | เจ็บปวดพิษสงนั้นสูญหาย |
ค่อยฟื้นคืนตั้งกำลังกาย | เป็นสุขสบายวิญญาณ์ |
จึ่งคิดว่ามนุษย์นี้สามารถ | ฤทธิรงค์องอาจแกล้วกล้า |
ถึงกระนั้นไม่เกรงศักดา | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวัน |
คิดแล้วเผ่นโผนโจนไป | ด้วยกำลังว่องไวดั่งจักรผัน |
สองเท้าถีบทะยานยืนยัน | ง้างยอดหิมวันต์คีรี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ภูเขาทั้งแท่งศิลาสนิท | หักสะบั้นด้วยฤทธิ์ยักษี |
ใส่บ่าแบกวิ่งดั่งสิงคลี | หมายองค์ภูมีแล้วทิ้งไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตกลงริมราชรถา | พสุธาสะท้านสะเทือนไหว |
เสียงดังฟ้าฟาดเมรุไกร | มิได้ต้ององค์พระอวตาร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
เสด็จยืนยังพื้นสุธาธาร | เห็นขุนมารทุ่มทิ้งภูเขามา |
กวัดแกว่งพระแสงขรรค์แก้ว | เป็นประกายพรายแพร้วเวหา |
หมายมาดพิฆาตอสุรา | ผ่านฟ้าถาโถมเข้าชิงชัย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ถีบถูกอุราขุนมาร | ล้มลงไม่ทานกำลังได้ |
หวดด้วยพระขรรค์อันเกรียงไกร | เศียรขาดกระเด็นไปทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาในราศี |
ทั้งพระไพรเจ้าป่าพนาลี | ทุกคีรีห้วยเหวหิมวันต์ |
เห็นท้าวจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ | คือองค์นารายณ์รังสรรค์ |
ผลาญกุมภาสูรอาธรรม์ | สุดสิ้นชีวันวายปราณ |
ต่างต่างชื่นชมโสมนัส | แซ่ซ้องตบหัตถ์ฉัดฉาน |
โปรยทิพยบุปผาสุมามาลย์ | สาธุการอำนวยอวยพร |
จงทรงสุรภาพปราบยุค | ให้โลกเป็นสุขสโมสร |
พระเกียรติปรากฏขจายจร | ถาวรไปชั่วกัลปา |
ฯ ๘ คำ ฯ
สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์นาถา |
ครั้นเสร็จสังหารอสุรา | เทวาโปรยทิพสุมามาลย์ |
เกลื่อนกลางพ่างพื้นพนาสณฑ์ | ขจรรสเสาวคนธ์หอมหวาน |
พระตรัสเรียกวนิดายุพาพาล | กับสนมบริวารนารี |
ลงจากรถทรงอลงกรณ์ | ดั่งนางอัปสรสาวศรี |
โดยเสด็จหัสนัยน์ธิบดี | ในที่สวนจิตรลดา |
นางเชยท้าวชมบุปผาชาติ | งามประหลาดหอมตลบนาสา |
ทั้งสนมกำนัลกัลยา | เก็บมาลาเล่นสำราญใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงโยธีน้อยใหญ่ |
รู้ว่ากุมภัณฑ์บรรลัย | ก็ดีใจออกจากพนาลี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาถึงซึ่งที่สนามรบ | แลเห็นซากศพยักษี |
เศียรขาดออกจากอินทรีย์ | กลิ้งอยู่ที่พสุธา |
ต่างต่างสรรเสริญฤทธิรอน | ชุลีกรกลอกเกล้าเกศา |
อวยชัยให้พรพระจักรา | อึงมี่ทั้งป่าพนาวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์รังสรรค์ |
ครั้นโยธากลับมาพร้อมกัน | ทรงธรรม์ชื่นชมยินดี |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | แก่องค์อัครราชมเหสี |
ดูก่อนโฉมจันทมาลี | เจ้าพี่ผู้ร่วมชีวา |
ธรรมดาจารีตกษัตริย์ | ทั่วจังหวัดพื้นภพแหล่งหล้า |
ครั้นผลาญไพรีมรณา | ย่อมสนานกายาในชลธาร |
ครั้งนี้ตัวพี่ก็มีชัย | จะไปชำระองค์สรงสนาน |
สระใหญ่ในท้องหิมพานต์ | เป็นการศรีสวัสดิ์สถาวร |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ตรัสแล้วขึ้นยังรถทรง | พร้อมอนงค์วนิดาดวงสมร |
ให้เลิกโยธาพลากร | บทจรไปในพนาลี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เดินทางหว่างเขาลำเนาธาร | ลุถึงหิมพานต์สระศรี |
ให้หยุดพหลโยธี | ประทับที่ชายป่าพนาวัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งชวนอัคเรศดวงสมร | กับอนงค์นิกรสาวสวรรค์ |
ลงจากรถแก้วแพร้วพรรณ | จรจรัลลีลาศประพาสไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
สระบุหร่ง
๏ กรายกรเลียบสระลงสรง | กับฝูงนาฏอนงค์น้อยใหญ่ |
น้ำสะอ้านใสสะอาดจำเริญใจ | ดั่งสระทิพเทพไทสถาวร |
ประกอบสรรพโกสุมปทุมมาลย์ | ชูก้านบานผกาเกสร |
แดงขาวดวงเขียวอรชร | ขาบสีม่วงซ้อนสลับกัน |
บ้างชูฝักดอกแฝงตูมแย้ม | จงกลแกมแนมกอเผื่อนผัน |
โกมุทสัตตบุษย์สัตตบรรณ | ประชุมชั้นอุบลดวงบาน |
เรณูร่วงในกระแสสินธุ์ | วารินอาบรสหอมหวาน |
ภุมเรศบินร่อนรำเพยพาน | เคล้าซาบกุสุมาลย์มาลี |
พระเด็ดดวงผกาบงกชมาศ | ให้อนงค์นุชนาฏมเหสี |
นางแหวกใบอุบลจงกลนี | ถวายพระจักรีด้วยปรีดา |
ฝ่ายสนมกรมกำนัลทั้งหลาย | ก็ว่ายท่องชลธารฉานฉ่า |
ชิงกันโผเก็บปทุมา | สรวลระรี่เริงร่าในสาคร |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๏ ครั้นเสร็จชำระสระสรง | ชวนองค์อัคเรศดวงสมร |
กับหมู่อนงคนิกร | บทจรขึ้นจากชลาลัย |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงเสนาน้อยใหญ่ |
ทั้งพวกพหลพลไกร | ก็ลงเล่นที่ในวาริน |
บ้างฉวยฉุดยุดหยอกกันสับสน | ดำด้นแหวกว่ายในสายสินธุ์ |
บ้างชิงฝักชักเหง้าบัวกิน | กอดรัดฟัดดิ้นหนีกัน |
บ้างขึ้นไม้ร่ายโจนลงนที | อึงมี่สำรวลสรวลสันต์ |
เลี้ยวไล่ไต่ลวดลดาวัลย์ | บ้างตีกันด้วยก้านปทุมา |
บ้างถอนสาหร่ายสายบัว | พันตัวทำสร้อยห้อยบ่า |
เล่นจนสายัณห์เวลา | ต่างขึ้นจากท่าวารี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์เรืองศรี |
แต่เที่ยวประพาสพนาลี | อยู่หลายราตรีทิวาวาร |
ครั้นค่ำย่ำสีรวีวร | ศศิธรส่องแจ้งแสงฉาน |
ให้เลิกพลไกรชัยชาญ | คืนยังราชฐานด้วยแสงจันทร์ |
กราวนอก ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินทางหว่างไศลไพรพฤกษ์ | พิลึกด้วยเสียงสัตว์แซ่สนั่น |
เค้ากู่กู่ก้องวังเวงวัน | ระวังไพรฟังหวั่นวิเวกไพร |
จักจั่นแจ้วเจื้อยเฉื่อยฉาน | ดั่งพาทย์พิณประสานเสียงใส |
เสนาะศัพท์สำเนียงเรไร | จับใจเยือกเย็นวิญญาณ์ |
แสงจันทร์จำรัสเรื่อราง | ส่องสว่างจับใบพฤกษา |
สีระยับเลื่อมลายพรายตา[๔] | ดั่งแสงแก้วมุกดาโอฬาฬาร |
อันดอกไม้ที่รับศศิธร | ก็แบ่งบานเกสรกลีบก้าน |
พระพายพาเสาวรสสุคนธ์ธาร | หอมหวานตลบอบดง |
กระต่ายเต้นเล่นชมแสงจันทร์ | มฤคาพากันมากินป่ง |
ได้ยินแซ่เสียงจัตุรงค์ | ก็ตื่นจากพุ่มพงกระเจิงจร |
ฝ่ายฝูงสุรางค์นางสนม | ชื่นชมสำราญสโมสร |
เพลิดเพลินจำเริญใจสถาวร | เร่งนิกรรีบมาในราตรี |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | พอพระสุริย์ฉานจำรัสศรี |
ให้หยุดรถรัตน์มณี | ประทับที่เกยแก้วอลงกรณ์ |
จึงเสด็จย่างเยื้องยุรยาตร | กับองค์อัครราชดวงสมร |
พร้อมอนงค์ทรงโฉมอรชร | บทจรขึ้นปราสาทรัตนา |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงเร็ว
[๑] พิมพ์ตามฉบับพิมพ์ แต่ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๙ เป็น “ฉลององค์ทองแสงฉานฉาย” ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า ทองแล่ง = ทองคำที่นำมาแล่งเป็นเส้นบางๆ เพื่อทอหรือปักผ้า
[๒] ทักกระทอ แก้ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ซึ่งตรงกันทุกฉบับ ฉบับพิมพ์เดิมชัทักกระทิง ทักกระทอ, ทักทอ = สัตว์ป่าหิมพานต์จำพวกหนึ่ง
[๓] จบต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๘ ขึ้นต้นฉบับสมุดไทยเลขที่ ๕๓๑ สอบเทียบกับต้นฉบับสมุดไทยเลขที่ ๕๖๘
[๔] เลื่อมลาย คงตามฉบับพิมพ์ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ใช้ เลื่อมไล้ และเหลื่อมไหล