- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๓๙ พระอุณรุทรบกับวิรุณเมศ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพระพี่เลี้ยงทั้งสี่ |
ครั้นพระองค์ผู้ทรงสวัสดี | เหาะตามกินรีลับไป |
ตั้งแต่คอยท่าพระทรงฤทธิ์ | สถิตยังมุจลินท์สระใหญ่ |
จนสายัณห์ตะวันเย็นลงไรไร | ไม่เห็นภูวไนยกลับมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ ต่างองค์ต่างทรงทุกข์เทวษ | ชลนัยน์นองเนตรทั้งซ้ายขวา |
ปรึกษากันพลางทางโศกา | โอ้ว่าจะทำฉันใดดี |
พระองค์ทรงฤทธิ์สิเหาะเหิน | เราจะเดินดินตามก็ใช่ที่ |
ถึงจะดั้นด้นป่าฝ่าคีรี | ไหนจะพบธุลีบทมาลย์ |
ครั้งเมื่อไปตามอุษา | ผ่านฟ้าอยู่ในราชฐาน |
พระบิตุรงค์ยังโกรธดังเพลิงกาฬ | จะสังหารชีวันให้บรรลัย |
ครั้งนี้ออกมาโพนประพาส | เราโดยเบื้องบาทเป็นผู้ใหญ่ |
พระเหาะตามนางกินนรไป | ไหนเลยจะพ้นพระอาญา |
จำเป็นจำเราจะกลับก่อน | พาพลนิกรมาเที่ยวหา |
กว่าจะตายอยู่ในอรัญวา | ว่าแล้วกลับมาทันที |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสุวรรณพลับพลาชัย | ซบพักตร์โหยไห้ทั้งสี่ |
ต่างบอกมหาเสนี | โดยที่เหตุผลทุกประการ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาธิบดีทวยหาญ |
ฟังพระพี่เลี้ยงพจมาน | ว่าหลานนารายณ์หายไป |
ดั่งองค์พระกาลพาลราช | มาฟันฟาดเศียรเกล้าไปได้ |
ต่างตนตระหนกตกใจ | ครวญคร่ำร่ำไรโศกี |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าพระมิ่งมงกุฎเกศ | เรืองเดชเฟื่องฟ้าราศี |
พระคุณเคยร่มเกล้าเมาลี | พ้นที่จะร่ำรำพัน |
ควรหรือละพวกพลากร | ไปตามนางกินนรสาวสวรรค์ |
ร่ำพลางโศกาจาบัลย์ | เสียงแซ่สนั่นทั้งพลับพลา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงผู้มียศถา |
จึ่งว่าแก่มหาเสนา | ซึ่งจะแสนโศกาอยู่ดั่งนี้ |
ไหนเลยจะพบเบื้องบาท | สุริย์วงศ์ธิราชเรืองศรี |
จำจะยกพหลโยธี | ติดตามภูมีไปในไพร |
ว่าแล้วก็แบ่งทวยหาญ | กับเสนีปรีชาญผู้ใหญ่ |
ให้อยู่สุวรรณพลับพลาชัย | คอยหลานภูวไนยสี่กร |
เกลือกว่าจะเสด็จกลับมา | ยังภูผากำจายสิงขร |
กำชับคนปรนปรือกุญชร | ทั้งฟังข่าวอันจรนายพราน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วก็ยกโยธา | ม้ารถคชาทวยหาญ |
ดั้นดัดลัดพงดงดาน | หมายสถานไกรลาสหิมวันต์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาถึงแม่นํ้าสารภู | ใหญ่กว้างขวางอยู่สกัดกั้น |
ลึกใสไหลแลเป็นควัน | ล้วนพรรณมัจฉาปลาร้าย |
ฉนากฉลามราหูงูเงือก | เหลือกตากลอกกลมผมสยาย |
จระเข้เหราหยาบคาย | ข้างน้ำร้ายแรงแทงเงา |
มังกรโลมาน่ากลัว | แต่ละตัวใหญ่หลวงดั่งภูเขา |
จะคิดฉันใดนะอกเรา | จนใจต่างเศร้าโศกา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าพระองค์ทรงฤทธิ์ | สุดคิดจะข้ามไปตามหา |
นํ้าขวางกว้างใหญ่สุดสายตา | แสนมหากันดารพาลภัย |
แม้ไม่พบองค์ทรงพระเดช | จะคืนกลับนคเรศก็หาไม่ |
ให้เลือดเนื้อเป็นเหยื่อสัตว์ไพร | มิได้อาลัยแก่ชีวัน |
ร่ำพลางต่างคนทุกข์ร้อน | อาวรณ์วิโยคโศกศัลย์ |
เสนีรี้พลทั้งนั้น | ก็โศกาจาบัลย์ทั้งไพร่นาย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วกินราโฉมฉาย |
สมสู่อยู่ด้วยหลานนารายณ์ | ได้หลายราตรีทิวารา |
ครั้นรุ่งสุริโยโอภาส | สว่างปล่องห้องมาศคูหา |
จึ่งนบนิ้วกราบลงกับบาทา | ทูลพระยอดฟ้าด้วยภักดี |
ขอเชิญเสด็จพระสุริย์วงศ์ | ไปประพาสโสรจสรงยังสระศรี |
อันชื่อสุคนธ์ชลธี | วารีหอมหวานตระการใจ |
อยู่แทบเชิงไศลไกรลาส | ดาษด้วยปทุมมาศบานไสว |
ฝักแก่ฝักอ่อนอำไพ | ภูวไนยจะได้ชมสำราญ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทผู้ปรีชาหาญ |
ฟังรสพจนารถนงคราญ | ชวนไปสรงสนานก็ยินดี |
ครั้นเวลาสายแสงทินกร | ก็บทจรจากถ้ำมณีศรี |
ห้านางโดยเสด็จจรลี | ทูลชี้มรคาคลาไคล |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
พระทอง
๏ มาถึงซึ่งสระสุคนธ์ธาร | ใกล้ลานไกรลาสขุนไศล |
ริมรอบขอบฝั่งชลาลัย | ประดับด้วยมิ่งไม้รายเรียง |
พิกุลแก้วกรรณิการ์กาหลง | มหาหงส์พุทธชาดมหาดเหียง |
พระชี้ชวนนวลนางประคองเคียง | ภิรมย์เรียงชมช่อผกากาญจน์ |
นางเด็ดดวงกุหลาบบานแสล้ม | ประยงค์แย้มกลีบกลิ่นหอมหวาน |
น้อมถวายนัดดาพระอวตาร | ผ่านฟ้ารับดมแล้วชมนาง |
วิหคโหนโจนจับกิ่งไม้ | ส่งเสียงแซ่ไซ้ปีกหาง |
ไก่ฟ้าพญาลอกะลิงลาง | กางเขนเขาคุ่มกระลุมพู |
สาลิกาการเวกกระเหว่าว่อน | โนรีร่อนจับเรียงเคียงคู่ |
ชมพลางตรัสชี้ให้นางดู | แล้วภูมีลงสรงชลธาร |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ น้ำใสดั่งแสงแก้วผลึก | เสมอรสอำมฤคหอมหวาน |
ดาษด้วยโกสุมปทุมมาลย์ | แลลานซ้อนซับสลับไป |
แดงขาวม่วงขาบเขียวอ่อน | อรชรชูก้านบานไสว |
บ้างกระพุ่มตูมตั้งบังใบ | งามวิไลเพียงทิพย์บุษบัน |
พระเด็ดดวงบงกชโกเมศ | ให้แก้วกินเรศโฉมสวรรค์ |
นางเด็ดอุบลบานพรายพรรณ | ถวายองค์ทรงธรรม์ด้วยภักดี |
พระเลือกหักซึ่งฝักบัวอ่อน | ให้เกสรมณฑามารศรี |
แล้วทรงเก็บจงกลนี | ให้จันทมาลีกัลยา |
ยื่นหัตถ์ถอนสัตตบุษย์บาน | ประทานนางสุวรรณเสน่หา |
ลินจงกลีบแสล้มแย้มผกา | ให้นางรัชฎาลาวัณย์ |
ต่างรับต่างชมโสมนัส | สอดแซมทรงทัดปทุมถัน |
บ้างโผนโผแหวกว่ายไล่กัน | เกษมสันต์เริงร่าในสาคร |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงวิรุญเมศชาญสมร |
เป็นใหญ่แก่หมู่วิชาธร | ฤทธิรอนเลื่องชื่อลือยศ |
อยู่ยังเขาแก้วคันธมาทน์ | เรืองเดชอำนาจดั่งเพลิงกรด |
คนธรรพ์เทวัญทุกบรรพต | กลัวหมดไม่มีใครผจญ |
แต่ได้ยินออกนามวิรุญเมศ | เกรงเดชเศียรพองสยองขน |
ทรหดคำแหงแรงรณ | เดินดินบินบนได้ดั่งใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ กระบองกัน
๏ สาธารณ์ร้ายกาจอาจหาญ | อหังการใจบาปหยาบใหญ่ |
มีมหากายสิทธิ์พระขรรค์ชัย | รุ่งเรืองฤทธิไกรมหิมา |
ยิ่งคิดอิ่มเอิบกำเริบนัก | ทรลักษณ์ทุจริตอิจฉา |
มีพวกบริวารวิทยา | ห้าโกฏิพื้นพาลชาญฉกรรจ์ |
แต่ละตนมนต์ดลสามารถ | องอาจฤทธิแรงแข็งขัน |
ทั้งไพร่นายหยาบช้าอาธรรม์ | เที่ยวทำอันตรายทุกตำบล |
ฯ ๖ คำ ฯ
รำพันพิลาป
๏ ให้คิดประหวัดกำหนัดใน | จะไปชมไม้นารีผล[๑] |
ก็พาวิทยาพลาพล | ไปสรงชลในเนินบรรพตา |
ฯ ๒ คำ ฯ กลม
สระบุหร่ง
๏ กระแสธารซ่านเซ็นเย็นใส | พุ่งพุขึ้นไปบนยอดผา |
หอมตระหลบดั่งอบสุคนธา | ด้วยเกสรมาลาหล่นลง |
ลูบไล้ไปทั่วอินทรีย์ | ชำระขัดสีธุลีผง |
สำราญรื่นชื่นซาบอาบองค์ | ในสาโรชโสรจสรงวารีรส |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แล้วนุ่งผ้าหนังสีหราช | ประหลาดลายงามคล้ายดาบส |
เกาบินประดับสำหรับยศ | อลงกตคาดรัดสะเอวงาม |
ทรงมหาสังวาลเมฆพัท | จำรัสเลื่อมพร้อยพรายอร่าม |
กายสิทธิ์ติดตาบวาบวาม | ประจำยามนิลพัทสีดำ |
ทองกรสวมสอดนาคพต | คชสิทธิ์พาหุรัดเขียวขำ |
ปรอทร้อยแปดเป็นประคำ | สวมใส่กำยำทั้งอินทรีย์ |
แล้วทรงชฎาห่อเกล้า | เพริศเพรานพรัตน์รังสี |
กุมพระขรรค์แก้วโมลี | ชี้กรกรายตรวจโยธา |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พร้อมพรั่งคั่งคับนับโกฏิ | อุโฆษเสียงสำรวลเริงร่า |
ผาดแผลงสำแดงเดชา | เหาะมากับหมู่บริวาร |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เหลือบแลลงไปเห็นมนุษย์ | บริสุทธิ์รูปทรงส่งสัณฐาน |
กับห้ากินนรนงคราญ | ยังสถานคงคาชลาลัย |
จึ่งคิดถวิลจินดา | มนุษย์น้อยนี้มาแต่ไหน |
พานางกินรายาใจ | มาเล่นอยู่ในที่นี้ |
เพ่งพิศดูโฉมนางกินนร | รูปทรงอรชรเฉลิมศรี |
จิ้มลิ้มพริ้มพร้อมทั้งอินทรีย์ | ดูไหนเป็นที่จำเริญตา |
เพียงโฉมสุรางค์นางอนงค์ | อ้อนแอ้นเอวองค์ดั่งเลขา |
พิศพลางเร่าร้อนในวิญญาณ์ | ด้วยความเสน่หาอาลัย |
กูจะณรงค์ราวี | ฆ่าชายคนนี้เสียให้ได้ |
แล้วจะพากินนรอรไท | ไปไว้ร่วมรักให้สำราญ |
คิดแล้วจึ่งมีประกาศิต | สั่งวิทยาธรทวยหาญ |
จงเข้าหักโหมโรมราญ | ผลาญมนุษย์ให้สิ้นชีวา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วิชาธรบริวารหาญกล้า |
น้อมเกล้าคำนับรับบัญชา | ต่างแผลงฤทธาเกรียงไกร |
โห่ร้องก้องกึกครึกครั่น | หิมวันกัมปนาทหวาดไหว |
เยียดยัดลัดล้อมเข้าชิงชัย | หมายใจเข่นฆ่าราวี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นหมู่วิทยาโยธี | โห่มี่อึงอัดกันเข้ามา |
ยินดีที่จะได้สังหาร | ล้างเหล่าพวกพาลริษยา |
พระแย้มยิ้มชำเลืองนัยนา | ดูห้ากินราลาวัณย์ |
เห็นนางตกใจไม่สมประดี | ภูมีปลอบพลางทางรับขวัญ |
เจ้าอย่ากลัววิทยาอาธรรม์ | มันจะทำไมวนิดา |
ว่าแล้วกวัดแกว่งพระขรรค์เพชร | เหาะระเห็จขึ้นยังเวหา |
ผาดแผลงสำแดงเดชา | โจนฝ่าฟาดฟันไพรี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หมู่พวกวิทยาเรืองศรี |
เห็นมนุษย์เหาะได้ด้วยฤทธี | ต่อตีหักโหมโรมราญ |
ต่างตนถาโถมเข้าโจมยุทธ์ | สัประยุทธด้วยเดชกำลังหาญ |
เกลื่อนกลุ้มรุมกันประจัญบาน | อลหม่านเอิกเกริกทั้งอัมพร |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุญเมศใจหาญชาญสมร |
เห็นมนุษย์ไปจากกินนร | ต่อกรด้วยพวกวิทยา |
มีความชื่นชมโสมนัส | กวักหัตถ์เรียกพลซ้ายขวา |
เหาะระเห็จเตร็ดทะยานลงมา | ยังพื้นพสุธาทันที |
เป็นเหล่าเหล่าแยกย้ายรายกัน | สกัดกั้นกินรามารศรี |
เลี้ยวไล่ไขว่คว้าเป็นโกลี | อึงมี่อุตลุดทั้งบ่าวนาย |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ห้านางกินนรโฉมฉาย |
เห็นหมู่วิทยาหยาบคาย | วุ่นวายไล่ล้อมเข้ามา |
ต่างตนตระหนกอกสั่น | ดั่งจะสิ้นชีวันสังขาร์ |
ร้องหวีดตรีดไปเป็นโกลา | เรียกพระยอดฟ้ายาใจ |
พระองค์จงช่วยชีวาตม์ | โจรไพรร้ายกาจมาล้อมไล่ |
มันจักฆ่าฟันให้บรรลัย | ภูวไนยจงโปรดปรานี |
ว่าพลางบินขึ้นยังอัมพร | พากันเร็วร่อนรีบหนี |
จิตใจไม่เป็นสมประดี | ด้วยกลัวฤทธีวิทยา |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์นาถา |
ชิงชัยอยู่ในเมฆา | กับพวกโยธาวิชาธร |
ได้ยินเสียงกรีดหวีดหวาด | เหลือบเห็นวรนาฏสายสมร |
ไพรีไล่มาในอัมพร | ภูธรกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาฬ |
กวัดแกว่งพระแสงอันศักดา | ถีบทะยานผ่านมาดั่งจักรผัน |
เลี้ยวไล่พิฆาตฟาดฟัน | พลนั้นตายสิ้นด้วยฤทธี |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด โอด
๏ แล้วพระสุริย์วงศ์ทรงเดช | พาห้ากินเรศโฉมศรี |
ลงยังพ่างพื้นปัฐพี | แทบที่สุคนธสาคร |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ จึ่งมีมธุรสพจนารถ | รับขวัญสายสวาทดวงสมร |
ลูบหลังทั้งห้ากินนร | บังอรอย่าตระหนกตกใจ |
อันพลวิทยาสาธารณ์ | พี่ผลาญเสียสิ้นไม่นับได้ |
ยังแต่นายมันจะบรรลัย | ทรามวัยดูเล่นเป็นขวัญตา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญเมศฤทธิไกรใจกล้า |
เห็นพลสุดสิ้นชีวา | เกลื่อนกลาดดาษป่าพนาลี |
กริ้วโกรธพิโรธเป็นพ้นนัก | ดังอัคนิรุทรมาจุดจี่ |
ชักพระขรรค์อันเรืองฤทธี | เข้าไล่ราวีโรมรัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | หลานพระหริวงศ์รังสรรค์ |
เห็นวิรุญเมศชาญฉกรรจ์ | ไล่รุกบุกบันเข้ามา |
พระกวัดแกว่งพระขรรค์ฤทธิรอน | ออกต่อกรสัประยุทธ์เข่นฆ่า |
ต่างตนเหาะขึ้นบนเมฆา | ประจันหน้าหักโหมโจมตี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองกล้าหักหาญราญรบ | เลี้ยวตระหลบชิงชัยไม่ถอยหนี |
ต่างผัดต่างรับเป็นโกลี | ถ้อยทีฟันฟอนรอนราญ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุญเมศผู้มีกำลังหาญ |
ยงยุทธ์สุดที่จะต้านทาน | ให้สะท้านทดท้อฤทธิไกร |
จึ่งคิดว่ามนุษย์ผู้นี้ | เรืองเดชไม่มีใครเปรียบได้ |
จะเคี่ยวขับสัประยุทธ์กันไป | จะเสียชัยย่อยยับอัปรา |
ครั้นกูจะหนีไปไม่สู้ | ก็อดสูเทวัญทุกทิศา |
แม้นมาตรจะม้วยชีวา | ให้ปรากฏเกียรติไว้ในธาตรี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้วกวัดแกว่งพระแสงแก้ว | เป็นประกายพรายแพร้วจำรัสศรี |
ถาโถมโจมล้วงเข้าราวี | ด้วยกำลังฤทธีอหังการ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทผู้ปรีชาหาญ |
ปัดป้องต่อกรรอนราญ | โผนทะยานรับรองด้วยว่องไว |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองเชิด
๏ ถีบถูกอุราวิรุญเมศ | ซวนไปด้วยเดชไม่ทนได้ |
เห็นท่วงทีชั้นเชิงชิงชัย | ก็รู้ในกำลังฤทธิ์วิทยา |
แม้กูจะฆ่าเสียบัดนี้ | น่าที่จะม้วยสังขาร์ |
จึ่งแย้มเย้ยหยันด้วยบัญชา | ว่าเหวยโจรป่าใจพาล |
พวกพลของเองก็สิ้นสุด | แต่ตัวสัประยุทธ์ต่อต้าน |
ไม่รู้หรือว่าจะวายปราณ | จึ่งฮึกหาญโอหังดั่งนี้ |
ตัวท่านมีนามกรใด | อาจใจมาชิงชัยศรี |
แม้นรักกายจงถวายอัญชุลี | เรานี้จะไว้ชีวัน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญเมศฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ | ตบมือเย้ยหยันแล้วตอบไป |
ตัวเราชื่อว่าวิรุญเมศ | เรืองเดชฟากฟ้าดินไหว |
ไม่เคยประนมบังคมใคร | ทั้งในชั้นฟ้าบาดาล |
เป็นชายถึงตายจะไว้ยศ | ให้ปรากฏไปทั่วทุกสถาน |
ท่านนี้ชื่อไรอหังการ | มาถึงหิมพานต์พนาวัน |
พงศ์พันธุ์บ้านเมืองอยู่ไหน | อาจองทะนงใจด้วยโมหัน |
มาต่อกูผู้ชายชาญฉกรรจ์ | จะม้วยชีพชีวันไม่พริบตา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์พงศ์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | เรานี้ชื่อว่าพระอุณรุท |
สถิตยังณรงกาเวียงชัย | หน่อไทธิราชท้าวไกรสุท |
หลานพระภุชพงศ์ทรงครุฑ | มงกุฎฟากฟ้าสุธาธาร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญเมศฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาฬ | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วตอบไป |
ชิชะนี่หรือหลานนารายณ์ | มาอวดอ้างแอบกายหาอายไม่ |
สู่รู้ขู่ข่มเหงไม่เกรงใคร | ดีแล้วจะได้เห็นกัน |
ว่าพลางเข่นเขี้ยวกระทืบบาท | ทำอำนาจผาดเสียงดังฟ้าลั่น |
ถาโถมโจมจ้วงทะลวงฟัน | เข้าโรมรันด้วยกำลังศักดา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริยวงศ์นาถา |
รับรองป้องกันวิทยา | เผ่นขึ้นเหยียบบ่าทันที |
กรหนึ่งโจมจับจิกเกศ | วิรุญเมศเงื้อฟันพระโฉมศรี |
พระผัดปัดป้องราวี | ถ้อยทีกำแหงแรงรณ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พระขรรค์ต่อพระขรรค์ฟันฟาด | ดั่งเสียงสุนีบาตคะนองฝน |
ต่างหาญทรหดอดทน | สองโจมประจญประจัญกัน |
เข้าออกหันเหียนเปลี่ยนท่า | กลับกลอกไปมาดั่งจักรผัน |
วิทยาเสียทีทรงธรรม์ | พระฟันต้องบ่าวิชาธร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญเมศใจหาญชาญสมร |
ต้องพระขรรค์แก้วฤทธิรอน | พิษกลุ้มรุ่มร้อนทั้งอินทรีย์ |
ลอยลิ่วปลิวไปในอากาศ | ตกยอดคันธมาทน์คีรีศรี |
ด้วยทรงกำลังฤทธี | ชีวียังไม่มรณา |
ให้รักกายอาลัยในชีวิต | ยิ่งคิดยิ่งโทมนัสสา |
พลิกเสือกเกลือกกลิ้งไปมา | โศกาครวญคร่ำรำพัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าอนิจจาตัวกู | เสียแรงรู้พระเวทชาญขยัน |
เสียแรงเรืองฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | เสียแรงทรงมหันต์เดชาชาญ |
เสียแรงมีสังวาลกายสิทธิ์ | ทศทิศไม่รอต่อต้าน |
หรือมาแพ้มนุษย์สาธารณ์ | บรรลัยลาญชีวังเสียครั้งนี้ |
โอ้ว่าเสียดายพระเมรุมาศ | ไกรลาสสัตภัณฑ์คีรีศรี |
เคยเที่ยวเล่นสุขเกษมเปรมปรีดิ์ | เป็นที่สำราญวิญญาณ์ |
เสียดายทั้งไม้นารีผล | รื่นรสสุคนธ์บุปผา |
ทั้งอโนดาตสระคงคา | แสนสนุกโอฬาร์ยาใจ |
ทีนี้จะนิราศแรมเห็น | จะได้ชมได้เล่นก็หาไม่ |
จะแลลับดั่งอับอโณทัย | อันลับเหลี่ยมไศลสัตภัณฑ์ |
ร่ำพลางร้อนรุ่มกลุ้มจิต | ด้วยพิษทิพย์เทพพระแสงขรรค์ |
อัดอั้นกลั้นทรวงแดยัน | ก็สุดสิ้นชีวันบรรลัยลาญ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
[๑] ชื่อเพลงหน้าพาทย์บทนี้ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๕๓๖ เขียนว่า “พัรพิราพ” ส่วนในต้นฉบับเลขที่ ๕๔๖ ไม่มีบอกเพลงไว้