- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๔๒ พระอุณรุทเสด็จกลับณรงกา
ร่าย
๏ แล้วมีสิงหนาทบรรหาร | สั่งหมอคชสารผู้ใหญ่ |
เร่งฝึกปรนคชสารไพร | โลมให้ชำนิในสามวัน |
เราจะได้ยกโยธี | คืนเข้าบุรีเขตขัณฑ์ |
สั่งเสร็จพระเสด็จจรจรัล | ไปยังสุวรรณพลับพลา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมอเฒ่าผู้มียศถา |
รับสั่งพระองค์ทรงศักดา | ก็ฝึกสอนคชาด้วยชำนาญ |
อ่านมนต์ลูบตาหัสดิน | เสกหญ้าให้กินทุกตัวสาร |
น้ำหยัดหยดหลังให้สำราญ | พยาบาลบำรุงทุกคืนวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วพระหมอเฒ่าผู้ปรีชา | กล่าวเกลี้ยงวาจาทำนองฉันท์ |
โดยศาสตร์พิธีศิวกรรม์ | โลมคชสารนั้นให้อ่อนใจ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โลมช้าง
๏ อ้าพ่อพญากุญชร | ฟังคำเราสอนจงได้ |
บัดนี้พระอุณรุทวุฒิไกร | จะเชิญเข้าไปยังพารา |
ด้วยพ่อชาติเชื้อคชาพงศ์ | คู่องค์จักรพรรดินาถา |
หวังเป็นศรีกรุงณรงกา | จะปราบข้าศึกให้แหลกลาญ |
จงเสียพยศอันร้ายกาจ | ให้สมศักดิ์สมชาติพญาสาร |
อย่าแทงฉัดสะบัดล่อหมอควาญ | จงเชื่องชำนาญอย่าบ้าใจ |
อย่าคำนึงถึงหมู่พวกพงศ์ | แดนดงท่าน้ำเนินไศล |
ฝุ่นหญ้าคาคายทั่วกายไป | อโณทัยแรงร้อนอินทรีย์ |
จงตั้งใจไปสู่พระนคร | โรงร่มถาวรเกษมศรี |
พร้อมด้วยเครื่องประดับรูจี | กิริณีมีลักษณ์โสภา |
กล้วยอ้อยสารพัดจัดส่ง | บรรจงปรนปรือนํ้าหญ้า |
ทั้งพะเนกเอกอิงกายา | มีผู้รักษาพยาบาล |
อาบน้ำขัดสีวีแส้ | ปี่กลองฆ้องแห่เฉื่อยฉาน |
มีพร้อมทุกสิ่งพนักงาน | พ่อจะได้สำราญภิรมย์ใจ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นกุญชรเชื่องชำนิดี | หมอเฒ่าผู้มีอัชฌาสัย |
ก็พากันรีบคลาไคล | ไปยังที่เฝ้าพระทรงธรรม์ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างคนประณตบทบงสุ์ | องค์พระยอดฟ้านราสรรค์ |
ทูลว่าฝึกสอนกุญชรนั้น | เชื่องชำนิดั่งพระบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังหมอเฒ่าผู้ปรีชา | ผ่านฟ้าชื่นชมภิรมย์ใจ |
จึ่งมีบรรหารสิงหนาท | ตรัสสั่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงเตรียมม้ารถคชไกร | จะคืนเข้าพิชัยธานี |
อันช้างซึ่งจับได้นั้น | จงจัดสรรหมอควาญประจำขี่ |
อย่าให้เกิดการโกลี | กว่าจะถึงบุรีณรงกา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีซ้ายขวา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ก็รีบออกมาทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ตรวจเตรียมจัตุรงค์โยธี | โดยที่พยุหบาตรทัพใหญ่ |
ขุนรถเทียมรถอำไพ | ด้วยอาชาไนยชัยชาญ |
ขุนม้าผูกพาชีชาติ | ลำพองร้ายกาจอาจหาญ |
ขุนช้างผูกเครื่องคชาธาร | ทั้งแสนสารพลายพังดั้งกัน |
บรรดาคชลักษณ์ซึ่งจับได้ | ก็เกณฑ์ให้หมอควาญอันแข็งขัน |
กุมขอขี่ขับหยัดยัน | ล้วนผูกเครื่องมั่นทุกคชา |
อันหมู่พหลโยธี | ตั้งกระบวนตามที่ซ้ายขวา |
เป็นระเบียบเพียบพื้นพสุธา | เสร็จดั่งบัญชาพระภูธร |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หลานพระอวตารชาญสมร |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดพลากร | ก็โสรจสรงสาครสุคนธ์ธาร |
ทรงเครื่องสำหรับจักรพรรดิ | ล้วนมหาเนาวรัตน์ฉายฉาน |
สง่างามดั่งองค์มัฆวาน | อันออกหน้าวิมานรูจี |
ฯ ๔ คำ ฯ
ลาไพรคำหวาน
๏ แล้วทรงบูชาลาไพร | เทพไทเจ้าป่าพนาดร |
ทั้งบรรพตเทวัญอันฤทธี | ทุกที่วิมานในอารัญ |
เชิญอยู่เป็นสุขสถาวร | สโมสรโสมนัสสมบัติสวรรค์ |
พร้อมฝูงสุเรศอเนกนันต์ | ล้วนทิพลักษณ์อันโอฬาร |
ทั้งรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส | พูนสวัสดิ์อย่ารู้นิราศา |
ชมพรรณพุ่มพวงดวงผกา | ห้อยย้อยระย้าประดับดง |
ทั้งสัตว์จัตุบาททวิบาท | เดียรดาษหมู่นกวิหกหงส์ |
อีกดวงโกมุทบุษบง | ส่งสุคนธ์เกสรขจรใจ |
จงมีเดชาวราฤทธิ์ | ปัจจามิตรอย่าแผ้วพานได้ |
ตัวข้าขอลาพระไพร | กลับคืนเข้าในพารา |
ได้ประมาทตัดไม้หักใบก้าน | จงอภัยขอประทานโทษา |
ช่วยรังรักษ์รี้พลโยธา | ทั้งกุญชรได้มาแต่ป่านี้ |
แล้วเอาคันธรสหอมหวาน | ทรงธารจิ้มเจิมพฤกษาศรี |
ครั้นเสร็จพระเสด็จจรลี | มาขึ้นรถมณีทันใด |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ ให้เลิกพหลโยธา | แสนสุรเสนาน้อยใหญ่ |
ไปโดยมรคาพนาลัย | พลไกรแห่แหนแน่นนันต์ |
กรมช้างขี่คชสารเถื่อน | เคลื่อนตามรถบรมรังสรรค์ |
หมอเฒ่าเป่าหลอดเป็นสำคัญ | ให้ช้างนั้นลืมไพรไคลคลา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสด็จมาบนรถอลงกรณ์ | ภูธรเศร้าโทมนัสสา |
โหยหวนรำลึกตรึกตรา | ถ้าห้ากินรายาใจ |
โอ้ว่าสายสุดสวาทพี่ | ป่านนี้เจ้าจักเป็นไฉน |
จะคิดถึงพี่บ้างหรือฉันใด | หรือจะลืมอาลัยได้เด็ดดาย |
เมื่อวันโจรไพรมันไล่เจ้า | ครั้นคิดถึงขวัญข้าวแล้วใจหาย |
บัดนี้พี่ละเสียไกลกาย | ให้โฉมฉายสายสวาทอนาถองค์ |
เจ้าเป็นหญิงยิ่งอยู่ลำพังน้อง | ในหุบห้องถ้ำไศลไพรระหง |
ล้วนแต่วิลาสเลิศประเสริฐทรง | เป็นที่จงใจถวิลยินดี |
แก่หมู่นักสิทธ์วิทยา | คนธรรพ์พรานป่าฤๅษี |
จะเบียดเบียนบีฑาราวี | ให้ขวัญเนตรของพี่ราคีไป |
ทำไฉนจะได้กลับไปรับเจ้า | มาร่วมเคล้าเชยชิดพิสมัย |
พระแสนคะนึงรึงร้อนอาวรณ์ใจ | จนล่วงเข้าพิชัยณรงกา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งราชนิเวศน์ | พระทรงเดชให้ประทับรถา |
กับเกยสุวรรณอันโอฬาร์ | แล้วตรัสสั่งมหาเสนี |
บรรดาคชสารตระกูลพงศ์ | มงคลศุภลักษณ์หัตถี |
ซึ่งได้มาแต่ป่าพนาลี | จงผูกที่หน้าพลานพรายพรรณ |
จะได้ถวายตัวสารเศวต | องค์พระบิตุเรศรังสรรค์ |
สั่งเสร็จพระเสด็จจรจรัล | ไปปราสาทสุวรรณอลงการ์ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | พระบิตุรงค์ธิราชนาถา |
ทูลว่าลูกยกโยธา | ไปถึงหิมวาพนาดร |
จึ่งให้หมอเฒ่ากับนายพราน | ไประคายคชสารดูก่อน |
ตัวลูกไปเล่นคีรินทร | ถึงสิงขรไกรลาสรูจี |
พบวิทยาศักดาเดช | ชื่อวิรุญเมศเรืองศรี |
มันพาพวกพลโยธี | เข้าราวีหักโหมโรมรัน |
ตัวลูกผู้เดียวเคี่ยวฆ่า | วิชาธรม้วยชีพชีวาสัญ |
สิ้นทั้งไพร่พลของมัน | แล้วกลับยังทัพขันซึ่งตั้งไว้ |
จึ่งได้ล้อมคชสารศรี | ยังที่พนมมาศเขาใหญ่ |
ได้ช้างศุภลักษณ์อำไพ | ให้นำมาไว้หน้าพลาน |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกรสุทสุริย์วงศ์มหาศาล |
ได้ฟังโอรสพจมาน | ว่าสังหารไพรินสิ้นชีวัน |
มีความชื่นชมโสมนัส | ตรัสว่าพ่อผู้เฉลิมขวัญ |
ตัวเจ้าดั่งดวงสุริยัน | อันทรงแสงพันเกรียงไกร |
สาอะไรกับอ้ายวิชาธร | หรือจะต่อฤทธิรอนของเจ้าได้ |
แต่กรุงพาณสิบเศียรชาญชัย | ยังบรรลัยลาญชีพชีวี |
ตรัสแล้วย่างเยื้องยุรยาตร | พร้อมหมู่สนมนาฏสาวศรี |
พระอุณรุทโดยเสด็จจรลี | ไปที่หน้าพลานพรายพรรณ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งทอดนัยน์เนตร | ดูพญาสารเศวตรังสรรค์ |
ผิวผ่องอำไพวิไลวรรณ | ทั้งคชกรรม์มีศักดิ์ลักขณา |
แต่ละตัวสมบูรณ์ตระกูลพงศ์ | เหี้ยมหาญราญณรงค์แกล้วกล้า |
งามละม่อมพร้อมทุกคชา | ต้องตำราคชลักษณ์สวัสดี |
จึงมีพจนารถอันสุนทร | ดูก่อนพ่อผู้เฉลิมศรี |
ซึ่งได้สารเศวตมาธานี | ทั้งนี้เป็นบุญของลูกรัก |
จะปรากฏยศเกียรติลือชา | ไปทั่วแหล่งหล้าอาณาจักร |
เป็นยอดกษัตริย์ประเสริฐนัก | หลักโลกโลกาสุธาธาร |
จึ่งให้ประทานเครื่องประดับ | โดยลำดับทุกตัวคชสาร |
ทั้งหัวสิบผู้รอบรู้การ | ให้อยู่บริบาลเป็นนิจไป |
แล้วมีพระราชบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
จงแต่งการสมโภชคชไกร | โดยในตำรับพิธีกรรม์ |
ตรัสแล้วย่างเยื้องยุรยาตร | พร้อมฝูงอนงค์นาฏสาวสรรค์ |
เสด็จจากพลานพรายพรรณ | เข้าสุวรรณปราสาทรูจี |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทผู้รุ่งรัศมี |
ครั้นพระบิตุรงค์ทรงธรณี | ภูมีเสด็จกลับไป |
พระคะนึงถึงองค์อนงค์นาฏ | ทั้งสองสายสวาทพิสมัย |
ก็กรายกรลีลาคลาไคล | ไปยังปราสาทพรายพรรณ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงเหมราช
ช้า
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์แก้ว | อันเพริศแพร้วพรรณรายฉายฉัน |
ใกล้สองวนิดาลาวัลย์ | เกษมสันต์ยินดีปรีดา |
ยิ้มพลางพิศพักตร์อัคเรศ | สบเนตรชูชื่นเสน่หา |
จึ่งมีมธุรสวาจา | แก้วตาผู้จำเริญสวัสดี |
แต่พี่นิราศแรมห้อง | ทั้งสองยังสุขเกษมศรี |
ตัวไปใจหวั่นถึงเทวี | มีความอาลัยไม่วายวัน |
สุดคิดจึ่งไปชมมุจลินท์ | พอพบกินรินสาวสวรรค์ |
พี่เหาะไล่ไปถึงไกลลาสนั้น | ได้รบรุกบุกบั่นวิชาธร |
สังหารผลาญมันสิ้นชีวาตม์ | ตายกลาดกับเนินสิงขร |
แล้วกลับมาล้อมกุญชร | ได้เศวตพระพรมาธานี |
ทรงศุภลักษณ์เลิศเพริศเพรา | เชิญเจ้าไปชมสารศรี |
ตรัสพลางลูบหลังเทวี | แก้วพี่ทั้งสองคือดวงใจ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองอนงค์เยาวยอดพิสมัย |
ได้ฟังคั่งแค้นแน่นฤๅทัย | ค้อนให้ต่างสลัดปัดกร |
เออนี่แหละหรือพระทรงจักร | ซึ่งว่ารักเห็นผิดกับคำก่อน |
วันเมื่อพระองค์จะบทจร | น้องวอนโดยเสด็จพระบาทา |
ว่าจะเป็นกำหละพระคชกรรม์ | ทรงธรรม์ไม่โปรดเกศา |
อยู่หลังตั้งแต่โศกา | คำนึงถึงผ่านฟ้าทุกราตรี |
มิรู้พระไปเที่ยวประพาส | สมสวาทกินนรเกษมศรี |
แม้นรู้ว่าจะเป็นอย่างนี้ | จะโศกีถึงไยให้ป่วยการ |
ซึ่งจะให้ไปชมคชาพงศ์ | ไม่ประสงค์จะดูคชสาร |
จะใคร่ชมกินรายุพาพาล | เหตุใดผ่านฟ้าไม่พามา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทภุชพงศ์นาถา |
ได้ฟังสองศรีวนิดา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
อนิจจาเจ้าดวงนัยน์เนตร | เยาวเรศควรเคียดแค้นได้ |
ความจริงพี่แจ้งแก่อรไท | ทรามวัยไม่คิดปรานี |
พี่เดียวแรมไพรสันโดษ | ลิ่วโลดหฤทัยถึงสองศรี |
ถวิลหาทุกทิวาราตรี | ไม่มีความสุขสักเวลา |
จึ่งเที่ยวไปชมพนมเนิน | หวังเพลินพาใจให้หรรษา |
พอพบโฉมนางกินรา | มาเล่นมุจลินท์กสิณธาร |
เป็นธรรมดาจิตโลกีย์ | ก็ยินดีในรสสงสาร |
จึ่งคะนองลองเล่นประโลมลาน | พอสำราญดับร้อนอาวรณ์ใจ |
อันพี่กับนางกินรา | จะได้จงเจตนานั้นหาไม่ |
แล้วยังมิได้เบิกไพร | จึ่งเป็นไปเพราะแสนคะนึงนาง |
ว่าพลางเย้ายวนชวนชิด | กรประคองสองสนิทแนบข้าง |
เชยเนตรเกศแก้มแนมคาง | ต่างแสนสุขเกษมเปรมปรีดิ์ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ กล่อม
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมหาเสนาทั้งสี่ |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งให้เขียนหมายสั่งการ | ไปทุกพนักงานน้อยใหญ่ |
ให้ตั้งสมโภชพระคชไกร | โดยในพระราชบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเจ้าพนักงานถ้วนหน้า |
แจ้งหมายเกณฑ์กันเป็นโกลา | ปลูกโรงคชาหน้าพลาน |
สี่มุขช่อฟ้าหางหงส์ | ดาดแดงงามทรงสูงตระหง่าน |
ปักตะลุงสุวรรณอลงการ | ดาดเพดานห้อยพวงสุมาลัย |
ธงทิวริ้วรายราชวัติ | ต้นกล้วยแถวฉัตรงามไสว |
บายศรีแว่นเทียนอำไพ | พิณพาทย์ฆ้องชัยครบครัน |
แล้วประชุมชีพ่อพฤฒาจารย์ | ล้วนชำนาญไสยเวทมนตร์ขยัน |
ทั้งโรงรำผาลาสารพัน | เสร็จดั่งทรงธรรม์บัญชา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กรมช้างนายใหญ่ถ้วนหน้า |
จึ่งประดับพญาคเชนทรา | ด้วยอลงการ์แล้วรูจี |
งามดั่งบรมเอราวัณ | เผือกผ่องผิวพรรณเฉลิมศรี |
เสร็จแล้วให้นำจรลี | ประโคมมายังที่พิธีการ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกรสุทผู้ปรีชาหาญ |
จึ่งเข้าที่สรงชลธาร | ทรงเครื่องอลงการพรายพรรณ |
แล้วเสด็จย่างเยื้องลีลา | จากปราสาทรัตนาฉายฉัน |
พระอุณรุทโดยเสด็จพระทรงธรรม์ | จรจรัลไปโรงคชไกร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พร้อมเสนามาตย์น้อยใหญ่ |
ครั้นได้ศุภลักษณ์ยามชัย | ก็สั่งให้สมโภชคชาชาญ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชีพ่อพฤฒามหาศาล |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ต่างประณตบทมาลย์พร้อมกัน |
ปโรหิตผู้เฒ่าก็จุดเทียน | ติดในแว่นเวียนเฉลิมขวัญ |
เบิกบายศรีทองพรายพรรณ | ลั่นฆ้องฮึกโห่โกลา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เวียนเอยเวียนเทียน | ให้เวียนแต่ซ้ายไปขวา |
ส่งรับเป็นอันดับกันมา | รอบมหามณฑลพิธีการ |
ชาวประโคมก็ประโคมฆ้องกลอง | พิณพาทย์กึกก้องเฉื่อยฉาน |
เซ็งแซ่แตรสังข์กังสดาล | เสียงสะเทื้อนสะท้านธรณี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดรอบระบอบกิจ | ปโรหิตดับเทียนเฉลิมศรี |
ประสมกันโบกควันสามที | ให้พญาหัตถีมงคล |
พวกพฤฒาจารย์ก็อ่านเวท | อันมีเดชศรีสวัสดิ์สถาผล |
ถือสังข์หลั่งน้ำไสยมนต์ | ลงบนเศียรสารเศวตรา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายการมโหรสพถ้วนหน้า |
ก็เล่นขึ้นพร้อมกันเป็นโกลา | เชิดกราวกรายท่าหยัดยัน |
เหล่าพวกหกคะเมนไต่ลวด | ประกวดกรฟ้อนแพนดูขยัน |
ทั้งมงครุ่มผาลาระเบ็งบัน | ปรบไก่ประชันเทพทอง |
เสียงส้าวเสียงโห่โกลา | เสียงคนเฮฮากึกก้อง |
เสียงพากย์เพ้ยรับกับเสียงกลอง | สะเทื้อนท้องสุธาเพียงทำลาย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงชนชาวเมืองทั้งหลาย |
ชวนกันมาดูวุ่นวาย | หญิงชายเอิกเกริกทั้งธานี |
เบียดเสียดเยียดยัดอัดกัน | สำรวลสรวลสันต์อึงมี่ |
บางพวกพากันจรลี | ดูพญาสารศรีมงคล |
ต่างชมพระเดชเดชา | สรรเสริญบุญญากุลาหล |
ควรเป็นปิ่นภพจบสกล | ประชาชนอวยชัยถวายพร |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกรสุทสุริย์วงศ์ชาญสมร |
ครั้นเสร็จสมโภชกุญชร | ภูธรสำราญฤทัย |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่เสนาบดีน้อยใหญ่ |
ว่าพรานผู้ชำนาญพนาลัย | มาบอกกล่าวสารไพรด้วยภักดี |
แล้วนำไปได้คชเรศ | ศรีเศวตศุภลักษณ์หัตถี |
มาไว้เฉลิมราชธานี | ความชอบนั้นมียิ่งคน |
ควรปูนบำเหน็จนายพราน | เป็นพระยาชำนาญไพรสณฑ์ |
รั้งเมืองปลายด่านมณฑล | ให้กระเหรี่ยงรี้พลสามพัน |
อีกเครื่องสำหรับยศถา | เสลี่ยงงามีสัปทนกั้น |
เจียดทองตะคองน้ำพรายพรรณ | กระบี่บั้งสุวรรณรูจี |
เงินตราเสื้อผ้ามุ้งหมอน | เมียสาวที่นอนกำมะหยี่ |
แหวนเพชรลายราชาวดี | ทาสีเรือยาวเก้าวา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชาวพระคลังนอกในซ้ายขวา |
รับสั่งแล้วเอาสิ่งของมา | ประทานตามบัญชาพระทรงธรรม์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพระยาชำนาญไพรสัณฑ์ |
ได้รับประทานรางวัล[๑] | บังคมคัลแย้มยิ้มอิ่มใจ |
ในจิตคิดเขม้นเมียสาว | คราวนี้ดีนักเป็นลาภใหญ่ |
กราบกรานแล้วคลานออกไป | จากโรงคชไกรอันโอฬาร์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ถุงย่ามนั้นสลัดซัดเสีย | เรียกเมียขึ้นเสลี่ยงหัวร่อร่า |
กระดิกเข่าปั้นปึ่งทีพระยา | กล้องละว้าคาปากระบายควัน |
เหลียวดูบ่าวไพร่ชายหญิง | แบกสิ่งของตามมาหลายหลั่น |
ไปสู่เคหาอารัญ | ยังปลายด่านเขตขัณฑ์บุรี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกรสุทสุริย์วงศ์เรืองศรี |
กับพระโอรสร่วมชีวี | ครั้นเสร็จที่บำเหน็จนายพราน |
ก็เสด็จจากโรงพระคชา | พร้อมหมู่เสนาทวยหาญ |
คืนเข้านิเวศน์อันโอฬาร | ต่างสำราญวิญญาณสถาวร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์ชาญสมร |
ผ่านณรงกาแก้วพระนคร | กับบังอรสองศรีวนิดา |
เป็นบรมสุขทุกนิรันดร์ | ด้วยแสนสรรพ์สิริราชยศถา |
ในปราสาทสามองค์อลงการ์ | ล้วนมหาเนาวรัตน์ชัชวาล |
เพียงไพชยนต์ทิพย์เทเวศ | ในสุทัศน์นคเรศราชฐาน |
ผลัดเปลี่ยนโดยเดือนฤดูกาล | แสนสำราญวิญญาณ์ทุกนาที |
ประดับด้วยพระสนมหกหมื่น | อำไพพื้นลูกกษัตริย์เฉลิมศรี |
วิไลเลิศลักขณาทุกนารี | บำเรอบาทภูมีรพีพงศ์ |
ด้วยสังคีตขับกล่อมถนอมนาถ | ประโลมสวาทอาจให้อาลัยหลง |
ประกอบทั้งทวยหาญจัตุรงค์ | อาจองเหี้ยมแห้งคำแหงนัก |
เพียงพลรามราชอวตาร | ลือสะท้านแหล่งหล้าอาณาจักร |
แต่ละตนอาจผจญศึกยักษ์ | อเนกแน่นบริรักษ์พระบาทา |
พระองค์ทรงทศธรรเมศ | ขจรเดชเรืองฤทธิ์ทั้งทิศา |
อานุภาพปราบไปทั้งโลกา | ปรากฏพระยศเกรียงไกร |
อันหมู่พาลาปัจจามิตร | ขยาดฤทธิ์ไม่รอต่อได้ |
แต่ออกนามก็ขามพระเดชไป | ทั่วไตรโลกาสุธาธาร |
แสนกษัตริย์ส่งราชธิดา | ล้วนโสภายั่วยวนสงสาร |
ทั้งสุวรรณบุปผาบรรณาการ | มาประณตบทมาลย์ทุกธานี |
บรรดาท้าวพญาทั่วชมพู | ก็อยู่ใต้เบื้องบทศรี |
เป็นปิ่นปักหลักโลกโมลี | ดั่งอิศราธิบดีเลิศไกร |
พระปราบเข็ญให้เย็นเป็นสุข | ในทวาบรยุคสบสมัย |
เสวยแสนสวรรยาราชัย | นิราศภัยทั่วแผ่นแดนสีมา |
ฝ่ายหมู่ไพร่ฟ้าประชาชี | เกษมศรีถาวรถ้วนหน้า |
สมบูรณ์พูนสวัสดิ์วัฒนา | เป็นมหาสุโขโอฬาร |
ฯ ๒๔ คำ ฯ
จบพระราชนิพนธ์อุณรุทแต่เท่านี้
๏ อันพระราชนิพนธ์อุณรุท | สมมติไม่มีแก่นสาร |
ทรงไว้ตามเรื่องโบราณ | สำหรับการเฉลิมพระนคร |
ให้รำร้องครื้นเครงบรรเลงเล่น | เป็นที่แสนสุขสโมสร |
แก่หญิงชายไพร่ฟ้าประชากร | ก็ถาวรเสร็จสิ้นบริบูรณ์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
[๑] ต้นฉบับสมุดไทยเลขที่ ๕๔๗ เป็น “รับสัญญาบัตรกับรางวัล”