- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๑๓ ท้าวกรุงพาณพานางอุษาเข้าเมือง
๏ เมื่อนั้น | พระสุทธาวาสอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังสองกษัตริย์เลิศไกร | ก็ตรึกไปโดยทางประเวณี |
อันกรุงพาณกับอัครชายา | มาวอนขออุษาโฉมศรี |
จะไปเลี้ยงเป็นราชบุตรี | ว่านี้เห็นจริงทุกประการ |
ตัวกูก็เป็นดาบส | สร้างพรตทรงพรหมวิหาร |
จะตั้งใจภาวนารักษาฌาน | ให้สำราญวิเวกวิญญาณ์ |
ครั้นว่าจะหวงนางไว้ | จนจำเริญวัยใหญ่กล้า |
จะเป็นที่ติฉินนินทา | แก่มนุษย์เทวานาคี |
ควรกูจะให้นงลักษณ์ | แก่ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
ไปไว้ในราชธานี | จะได้มีสุขทุกนิรันดร์ |
คิดแล้วจึ่งกล่าวสุนทร | ดูก่อนพระบรมรังสรรค์ |
ซึ่งมาว่าวอนรำพัน | จักขอหลานขวัญของเราไป |
เลี้ยงเป็นพระราชบุตรี | ตูนี้ก็ประสิทธิ์ประสาทให้ |
จงอุปถัมภ์บำรุงอรไท | ดั่งบุตรเกิดในอุทร |
แม้นมาตรประมาทผิดพลั้ง | จงเมตตายับยั้งสั่งสอน |
จึ่งจะมีศรีสวัสดิ์สถาวร | ทั้งพระบิดรแลมารดา |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษา |
กับโฉมนวลนางไวยกา | ได้ฟังวาจาพระนักธรรม์ |
แสนภิรมย์สุดโสมนัสนัก | ผิวพักตร์ผ่องพรายฉายฉัน |
ดั่งได้สมบัติเทวัญ | ในฉ้อชั้นวิสุทธิ์ดุษฎี |
ประนมหัตถ์ตรัสตอบขอบคุณ | ซึ่งการุณโปรดเกล้าเกศี |
ลึกกว้างหนักพ้นพันทวี | ไม่มีสิ่งเปรียบเทียบทาน |
พระองค์อย่าทรงพระอาวรณ์ | ปรารมภ์เร่าร้อนด้วยพระหลาน |
โยมจะเลี้ยงเรียงร่วมวิญญาณ | ถนอมปานดวงใจนัยนา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ทรงไสยศาสตร์สิกขา |
ได้ฟังทั้งสองกษัตรา | แสนโสมนัสสาพันทวี |
จึ่งว่าแก่เยาวมาลย์หลานรัก | เจ้าดวงจักษุเฉลิมศรี |
บัดนี้สองกษัตริย์ธิบดี | มาขอเทวีผู้ร่วมใจ |
ครั้นว่าอัยกามิให้เจ้า | จะห่วงเลี้ยงขวัญข้าวไปจนใหญ่ |
ก็จะเป็นมลทินโทษภัย | แก่วิสัยบรรพชิตสิทธา |
หนึ่งอยู่ในไพรก็ไร้ญาติ | สารพันอนาถอนาถา |
อยู่เดียววิ่งเล่นเห็นเวทนา | กำพร้าบิตุเรศมารดร |
เจ้าไปก็จะได้เป็นเอกองค์ | พระบุตรีสุริย์วงศ์อดิศร |
ไพบูลย์พูนสวัสดิ์สถาวร | เป็นศรีพระนครเมืองมาร |
ด้วยเธอนิราศขาดประยูร | จะสืบเสวยไอศูรย์มหาศาล |
ไปด้วยท่านเถิดนะนงคราญ | จะได้สุขสำราญเปรมปรีดิ์ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางอุษามารศรี |
ฟังพระอัยกาพาที | เทวีสลดระทดใจ |
คิดถึงที่เสบยเคยสนิท | สะท้อนจิตอาทวานํ้าตาไหล |
กราบลงทรงโศกาลัย | โหยไห้ครวญคร่ำรำพัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้พระอัยกาเจ้าเอ๋ย | พระคุณเคยบำรุงผดุงขวัญ |
ประสายากเลี้ยงข้าในอารัญ | ไม่มีวงศ์พงศ์พันธุ์จะนำพา |
เช้าตรู่หลานอยู่ศาลาลัย | พระไปเก็บผลไม้ที่ในป่า |
มากน้อยสอยได้แล้วรีบมา | ประโลมเลี้ยงนัดดาเป็นอาจิณ |
เคยกล่อมไกวให้นอนแล้วอาบนํ้า | ไม่ควรทำก็ทำได้สิ้น |
พระคุณหนากว่าแผ่นแดนดิน | สูงสุดพรหมินทร์ทิฆัมพร |
ซึ่งเมตตากรุณานี้หนักนัก | หลานรักมิได้แทนพระคุณก่อน |
วิบากใดมาซัดกำจัดจร | ให้จำจากบวรบาทา |
ถึงกระไรแต่พอใหญ่ขึ้นกว่านี้ | จะพลัดพระมุนีก็ไม่ว่า |
ที่เคยเห็นเคยเล่นทุกเวลา | ทีนี้จะเปล่าตาเปล่าใจ |
เมื่อไรจะได้กลับมาเห็นพักตร์ | พระผู้การุญรักนั้นหาไม่ |
ตั้งแต่จะแลลับไป | นับวันจะไกลทุกเดือนปี |
หลานไปที่ไหนจะมีสุข | จะแสนทุกข์ถึงเบื้องบทศรี |
ร่ำพลางกอดบาทพระมุนี | โศกีเพียงสิ้นชีวา |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสพรตกล้า |
เห็นหลานรักร่วมวิญญาณ์ | ทรงโศกโศกาจาบัลย์ |
ให้คิดอาลัยเป็นใยห่วง | ดังบาศบ่วงผูกใจไว้มั่น |
ชลเนตรนองพักตร์พระนักธรรม์ | รับขวัญกอดหลานเข้าร่ำไร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ โอ้อนิจจาอุษาเอ๋ย | ตาเคยเลี้ยงเจ้ามาจนใหญ่ |
ครั้งนี้จะจากอกไป | แสนสังเวชใจพ้นประมาณ |
ประสาเด็กก็จะเห็นแก่เป็นสุข | หรือทนทุกข์วอนว่าน่าสงสาร |
น้ำคำร่ำรักทุกประการ | ตาฟังเพียงลาญชีวาวาย |
อันความกตัญญูซึ่งรู้รอบ | ก็ประกอบเป็นเกียรติของโฉมฉาย |
อย่าแสนโศกวิโยคระกำกาย | สายสวาทจงคลายซึ่งทุกข์ร้อน |
เจ้าเป็นสัตว์อุบัติในบัวมาศ | ประหลาดโลกแท้เทพอัปสร |
สวาทอายหน่ายครรภ์มารดร | เหมือนแกล้งเกิดกลางกรอัยกา |
ไปพบเข้าจึ่งเอามาเลี้ยงไว้ | ก็แจ้งใจว่ามีวาสนา |
ผูกพันประดิพัทธ์ยิ่งนัดดา | เสน่หาเจ้าสุดเแสนทวี |
ซึ่งปลิดปลงจำนงอนุญาต | แก่สองไทธิราชเรืองศรี |
ใช่จะไม่อาลัยเมื่อไรมี | แสนรักพ้นที่จะเปรียบปาน |
เห็นโฉมตรูอยู่ด้วยอัยกา | เสวยแต่ของป่าเป็นอาหาร |
แสนยากลำบากกันดาร | ต้องธุลีลมพานหมองมอม |
เจ้าไปอยู่ในบุรีราช | จะพร้อมพรูหมู่นาฏนางถนอม |
จงวายคลายทุกข์ฤทัยตรอม | จอมขวัญอย่าร้อนอาวรณ์ใจ |
เราเป็นแต่วิบัติพลัดพราก | ใช่จะวายตายจากนั้นหาไม่ |
ตานี้มีชีวิตอยู่ตราบใด | จะเวียนไปเยี่ยมเยือนนิจกาล |
อุตส่าห์ฝากกายสองกษัตริย์ | โฉมสวัสดิ์อย่างพลั้งที่สั่งสาร |
เจ้าไปโรคภัยอย่าแผ้วพาน | รํ่าพลางกอดหลานเข้าโศกา |
ฯ ๒๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
เห็นพระบรมสิทธา | กับนางอุษาวิลาวัณย์ |
ต่างองค์ทรงกันแสงโศก | ด้วยวิโยคยามร้างห่างขวัญ |
โหยไห้พิไรร่ำรักกัน | กุมภัณฑ์สงสารแสนทวี |
จึ่งกล่าวสุนทรวาจา | ปลอบนางอุษาโฉมศรี |
แม่ผู้ยอดฟ้ากุมารี | อย่าโศกีครวญคร่ำระกำองค์ |
บิตุรงค์ชนนีจะรับเจ้า | ขวัญข้าวนิ่มน้อยนวลหง |
ไปเป็นเฉลิมศรีสุริย์วงศ์ | เอกองค์อัครราชธิดา |
ถนอมเลี้ยงเพียงบุตรในอุทร | ดวงสมรจงฟังพ่อว่า |
อย่ารังเกียจเดียดฉันท์เลยแก้วตา | มารดามิให้ระคายใจ |
แม้นปรารถนาดาวเดือนดวงตะวัน | พ่อจะเหาะไปสวรรค์เอามาให้ |
ขวัญอ่อนอย่าอ้อนอาลัย | ไปด้วยแม่เถิดนะนงคราญ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอุษาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังสองกษัตริย์พจมาน | สวาทหวานซ่านซาบทั้งอินทรีย์ |
ค่อยสว่างบางเบาบรรเทาเทวษ | เยาวเรศนบนิ้วเหนือเกศี |
กราบลงแล้วสนองวาที | ลูกนี้ไร้วงศ์พงศ์พันธุ์ |
บิตุเรศมารดาก็หาไม่ | กำเนิดในหิมวาพนาสัณฑ์ |
พระจะเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม์ | พระคุณนั้นเลิศล้นคณนา |
ขอเอาพระเดชสองกษัตริย์ | เป็นฉัตรแก้วกั้นเกศา |
จะสนองรองเบื้องบาทา | ไปกว่าจะสิ้นชนมาน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านรัตนามหาศาล |
กับนางไวยกานงคราญ | ฟังรสพจมานกุมารี |
แสนฉลาดแหลมล้ำร่ำไร | เสนาะเพราะจับใจยักษี |
สองกษัตริย์โสมนัสยินดี | จึ่งมีสุนทรบัญชา |
มิเสียแรงเจ้าเกิดในโกเมศ | แต่เยาวเรศได้เจ็ดชันษา |
งามทั้งรูปรสพจนา | ปรีชาชาญยิ่งทุกสิ่งงาม |
จะหาไหนได้เหมือนเจ้านี้ | ไม่มีเลยแล้วในโลกสาม |
บุญส่อให่พ่อพยายาม[๑] | มาพบทรามรักร่วมใจ |
ว่าพลางสององค์อภิวาท | ลาบาทพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
นวลนางอุษาอรไท | ละห้อยไห้ลาองค์อัยกา |
นอบนบจบเท้ามาใส่เกศ | เพิ่มเทวษเศร้าโทมนัสสา |
พญามารอุ้มองค์พระธิดา | ออกจากศาลาพระมุนี |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลง
๏ ถึงที่ประทับจัตุรงค์ | ขึ้นทรงรถแก้วทั้งสองศรี |
วางองค์อุษากุมารี | เหนือตักเทวีมารดร |
แล้วมีบรรหารสิงหนาท | ให้ขับซึ่งราชไกรสร |
เลิกหมู่โยธาพลากร | บทจรไปโดยมรคา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
โอ้
๏ เมื่อนั้น | โฉมเฉลาเยาวเรศอุษา |
เหลียวหลังดูบรรณศาลา | กัลยายิ่งคิดสลดใจ |
นิจจาเอ๋ยทีนี้จะแลลับ | จะได้กลับมาเห็นนั้นหาไม่ |
สระสนานธารน้ำก็จำไกล | ทั้งพระไทรร่มรื่นพื้นทราย |
เห็นต้นโศกยิ่งแสนกำสรดโศก | จะวิโยคจากไปน่าใจหาย |
เคยนั่งนอนเล่นเย็นสบาย | กับฝูงทรายเนื้อนกไม่ไกลกัน |
เห็นพลาญยิ่งลานฤทัยหวัง | จะจากมิ่งไม้ดั่งสวนสวรรค์ |
เคยเล่นชิงช้าลดาวัลย์ | จะห้อยหันเปล่าอยู่กับดงดาน |
ครวญพลางนบนิ้วขึ้นเหนือเกศ | ลาฝูงเทเวศทุกสถาน |
ทั้งพระคุณทูนเกล้าผู้ยอดญาณ | ไม่ตามมาส่งหลานให้ชื่นใจ |
เหลียวแลจนสุดเนตรแล้ว | สุดแคล้วสุดคล้อยละห้อยไห้ |
สุดลับไม่เห็นศาลาลัย | สลดใจซบพักตร์ลงโศกา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษา |
เห็นลูกรักแสนโศกา | ผ่านฟ้าสงสารเป็นสุดคิด |
สองกษัตริย์ตรัสปลอบแล้วรับขวัญ | รำพันพรรณนาประกาศิต |
เชิญแม่เสมอทรวงดวงชีวิต | พิศชมนกไม้ให้คลายใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมดง
๏ พระชี้หัตถ์ตรัสชวนพระธิดา | เจ้าแลดูสกุณาในป่าใหญ่ |
นั่นโนรีจับรังบังใบ | ส่งสำเนียงเสียงใสน่าฟัง |
พระชนนีชี้ว่านั่นนกแก้ว | จับเกดพูดแจ้วเหมือนร้องสั่ง |
สาลิกาจับพุ่มภิรมย์รัง | กระลาจับกระสังระวังนาง |
เบญจวรรณจับหว้าแล้วราร่อน | ช่างทองจับสะท้อนฟ้อนหาง |
กางเขนเล่นขนบนต้นคาง | เขาไฟจับฝางร้างรัก |
เค้าโมงจับโมงมองเมียง | ซังแซวส่งเสียงบนต้นสัก |
กระลุมพูจู่จับกระลำพัก | นกกวักร้องกวักบนทองกวาว |
กุลาโห่จับเหียงเคียงคู่ | เค้ากู่กู่ก้องสำเนียงหนาว |
พระเยาวมาลย์เยี่ยมม่านสุวรรณวาว | กับแสนสาวชมเพลินจำเริญใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ รีบรถคชาพาชี | รีบแสนเสนีน้อยใหญ่ |
ล่วงเข้าลำเนาพนัสไพร | ตรงไปยังราชพารา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
แจ้งว่าองค์ท้าวเจ้าพาณา | ได้ราชธิดากุมารี |
ชื่อนางอุษายุพาพักตร์ | มาแต่สำนักพระฤๅษี |
ทรงลักษณ์เลิศกัลยาณี | ทั้งไตรโลกไม่มีเปรียบปาน |
เล่าลือไปทุกแห่งหน | ต่างคนอุ้มลูกจูงหลาน |
บ้างละร้านเรือนการงาน | วิ่งพ่านอื้ออึงคะนึงมา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ นั่งแน่นตามที่วิถีทาง | สองข้างถนนซ้ายขวา |
วัดเหวี่ยงเถียงกันเป็นโกลา | พอแลมาเห็นพวกพลไพร |
แห่แหนเป็นระเบียบเรียบริ้ว | เครื่องสูงธงทิวปลิวไสว |
ฆ้องกลองครื้นครั่นสนั่นไป | ภูวไนยนั้นนั่งบัลลังก์รถ |
กับเยาวมาลย์อุ้มราชบุตรี | สูงศรีเพียงจันทร์ทรงกลด |
สมศักดิ์สมวงศ์สมยศ | งามหมดทั่วสารพางค์กาย |
แน่งน้อยน่ารักพักตร์พริ้ม | จิ้มลิ้มลักษณ์เลิศเฉิดฉาย |
ด้วยบุญบันดาลจิตหญิงชาย | ให้สบายชื่นเย็นไม่เว้นตน |
ต่างต่างโสมนัสประนมกร | แซ่ซ้องอวยพรกุลาหล |
จงจำเริญศรีสวัสดิ์มงคล | ชนมาแม่ยืนได้หมื่นปี |
ข้าบาทราษฎร์ฝูงทั้งหลาย | จะพลอยสุขสบายเกษมศรี |
ด้วยเดชเกศกัลยาณี | มาสืบวงศ์อสุรีจิรังกาล |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นรัตนาปรีชาหาญ |
ครั้นถึงพระนิเวศน์โอฬาร | ประทับเกยแก้วกาญจน์อลงกรณ์ |
ทรงอุ้มพระยอดเยาวเรศ | ดั่งเทเวศอุ้มองค์อัปสร |
ทั้งเทวีไวยกาบังอร | บทจรขึ้นปราสาทรูจี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสด็จเหนือพระที่นั่งบัลลังก์อาสน์ | ท่ามกลางอนงค์นาฏสาวศรี |
เชยชมพระธิดาจนราตรี | แล้วกลับเขาที่ศรีไสยา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นสว่างสร่างแสงอุทัยทอง | เรื่อรองจำรัสพระเวหา |
เสนาะเสียงไก่แก้วโกญจา | โกกิลาเรียกร้องหากัน |
เพรียกเสียงคชาพาชี | กาหลดนตรีนี่สนั่น |
ดาวเดือนเลื่อนลับสัตภัณฑ์ | สุริยันเยี่ยมยอดยุคนธร |
ภุมราหาสร้อยสุบงกช | หอมรื่นเสาวรสเกสร |
ระคนกลิ่นอนงคนิกร | ขจายจรเฟื่องฟุ้งละลุงลาน |
น้ำค้างตกต้องละอองอาบ | เย็นซาบทั่วมนเทียรสถาน |
พระพายชายพัดรำเพยพาน | พญามารตื่นจากนิทรา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองผ่องผิวมังสา |
จับคทาธรแก้วอันศักดา | เสด็จมายังท้องพระโรงชัย |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พร้อมหมู่อำมาตย์น้อยใหญ่ |
จึงสั่งเสนีปรีชาไว | จงไปหาฝูงเทพเทวัญ |
บอกว่ากูเชิญลงมา | ทั้งสองชั้นฟ้าสรวงสวรรค์ |
อย่าเนิ่นอยู่ช้าจนสายัณห์ | ให้ทันแต่ในเวลานี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | อัญชุลีแล้วเหาะระเห็จไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพิภพสรวงสวรรค์ | ประกาศฝูงเทวัญน้อยใหญ่ |
ว่าพระปิ่นรัตนากรุงไกร | ตรัลใช้ให้ข้าขึ้นมา |
เชิญท่านเทเวศทุกองค์ | ผู้ทรงสิทธิศักดิ์แกล้วกล้า |
ลงไปยังราชพารา | แต่ในเวลาเดี๋ยวนี้[๒] |
ฯ ๔ คำ ฯ