- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๕ กำเนิดพระไกรสุท แล้วท้าวบรมจักรกฤษณ์ปราบวิรุณจักร
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางจันทมาลีเสน่หา |
เสวยแสนไอศูรย์สวรรยา | ด้วยพระจักราสามี |
ดั่งดวงสุริยันจันทร | อันเขจรส่องทวีปทั้งสี่ |
พระเกียรติเฟื่องฟ้าธาตรี | นางในธรณีไม่เทียมทัน |
เป็นที่ร่วมรักพระจักรกฤษณ์ | ดั่งดวงชีวิตชีวาสัญ |
ขึ้นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิรันดร์ | กัลยาจำนงจงรัก |
ไม่มีฉันทาราคิน | ภิญโญยศยิ่งจำเริญศักดิ์ |
สมวงศ์สมศรีสิริลักษณ์ | ในที่เอกอัครชายา |
ทุกข์โศกโรคภัยไม่กล้ำกราย | โฉมฉายเป็นบรมสุขา |
อยู่จำเนียรกาลนานมา | กัลยาก็ทรงพระครรภ์ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์รังสรรค์ |
แจ้งว่าอัครราชวิไลวรรณ | มีครรภ์ขึ้นมาก็ดีใจ |
จึ่งจัดค่อมเค้าเถ้าแก่ | ชาวแม่กำนัลน้อยใหญ่ |
พิทักษ์รักษาอรไท | มิให้มีอันตรายแผ้วพาน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันทมาลียอดสงสาร |
ถนอมครรภ์จำเริญสำราญ | ในห้องแก้วสุรกานต์อลงการ์ |
พอถ้วนกำหนดทศมาส | ลมกัมมัชวาตพัดกล้า |
ให้เจ็บปวดพระครรภ์กัลยา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลสาวศรี |
เห็นองค์อัคเรศเทวี | ประชวรพระนาภีก็ตกใจ |
บ้างเข้าฝืนท้องประคองหลัง | ล้อมนั่งแปรผันพระครรภ์ให้ |
เรียกหาหมอวุ่นทั้งวังใน | บ้างไปเฝ้าองค์พระสี่กร |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนบนิ้วขึ้นเหนือเกศ | ทูลว่าอัคเรศดวงสมร |
ให้รัญจวนประชวรพระอุทร | บังอรกลิ้งเกลือกไปมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์นาถา |
แจ้งข่าวเร่าร้อนในอุรา | ผ่านฟ้าก็รีบเสด็จไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | ประกาศแก่แพทยาน้อยใหญ่ |
ช่วยกันผันแปรอรไท | อย่าให้อันตรายราคี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันทมาลีโฉมศรี |
ครั้นได้ศุภฤกษ์ยามดี | เทวีประสูติพระลูกรัก |
ฯ ๒ คำ ฯ มโหรี เจรจา
๏ เป็นชายทรงโฉมบริสุทธิ์ | ล้ำมนุษย์เทวาในไตรจักร |
คล้ายพระบิตุรงค์ทรงลักษณ์ | ผ่องพักตร์พริ้มพร้อมทั้งกายา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โหรเฒ่าผู้มียศถา |
จึ่งลั่นฆ้องชัยขึ้นสามครา | ให้ประโคมกาหลดนตรี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางผู้ใหญ่ทั้งสี่ |
จึ่งเอาข่ายเพชรรัตน์รูจี | ชุลีกรรับองค์พระกุมาร |
เชิญลงในสาครแก้ว | แล้วจึ่งชำระสระสนาน |
เสร็จสรงทรงทิพสุคนธ์ธาร | วางเหนือพานทองรจนา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์องค์นารายณ์นาถา |
พิศโฉมสมเด็จพระลูกยา | ผิวพักตร์ลักขณาวิลาวัณย์ |
มีพระทัยชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
แสนรักแสนสวาทผูกผัน | เสมอกันกับดวงชีวี |
จึ่งประทานพี่เลี้ยงนางนม | อุดมด้วยรูปทรงส่งศรี |
เจ้าขรัวยายวงศาพญารี | ตามตำแหน่งที่ทุกประการ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แล้วให้พระนามตามวงศ์ | พงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
ชื่อพระไกรสุทกุมาร | ประทานทั้งเครื่องทรงอลงการ์ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงนางนมซ้ายขวา |
ถนอมเลี้ยงองค์พระกุมารา | เสน่หาพิศวาสชมเชย |
เช้าค่ำผัดผ่องละอองโฉม | ประโลมชำระองค์สรงเสวย |
ยามนอนมิให้ร้อนระคายเลย | รำเพยโบกปัดพัดพาน |
ดั่งโอรสโกสีย์ตรีเนตร | ในทิพนิเวศน์ไพศาล |
อุ้มเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิจกาล | ให้ชำนาญระเบียบกษัตรา |
แล้วพาลดเลี้ยวเที่ยวประพาส | บุปผชาติสระสวนซ้ายขวา |
จับกระต่ายทรายแก้วโกญจา | ให้ปรีดาผาสุกทุกคืนวัน |
ฯ ๘ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์รังสรรค์ |
เสด็จเหนือแท่นแก้วแพร้วพรรณ | ในสุวรรณปราสาทอลงกรณ์ |
พร้อมด้วยพระสนมอนงค์นาฏ | บำเรอบาทเป็นสุขสโมสร |
เหมือนอยู่เกษียรสาคร | บรรจถรณ์ปฤษฎางค์นาคี |
มีพระทัยถวิลจินดา | ถึงนารอทมหาฤๅษี |
เคยสั่งสนทนาพาที | โดยในคดีทางธรรม์ |
แต่คิดคอยหาช้านาน | ไม่เห็นพระอาจารย์ฌานขยัน |
หรือจะเกิดอาพาธโรคัน | จำจะไปยังบรรณศาลา |
ฯ ๘ คำ ฯ ร่าย
๏ คิดแล้วเสด็จลีลาศ | จากอาสน์สุวรรณเลขา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | มาเข้าที่สรงชลธาร |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ พนักงานไขท่อสุหร่ายทอง | น้ำทิพย์เป็นละอองหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | สนับเพลาเครือก้านกระหนกครุฑ |
ภูษาทองพรรณอุทุมพร[๑] | ช่อเชิงมังกรเล่นสมุทร |
ชายไหวชายแครงชมพูนุท | ฉลององค์แย่งยุดกินนรรำ |
สร้อยสนสังวาลสะอิ้งแก้ว | แล้วด้วยมรกตเขียวขำ |
เฟื่องห้อยพลอยบุษราคัม | ประจำยามตาบทิศทับทรวง |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายรุ้งร่วง |
มงกุฎสุรกานต์ดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจอน |
จับพระขรรค์แก้วฤทธิรงค์ | อาจองดั่งพญาไกรสร |
ย่างเยื้องยุรยาตรนาดกร | บทจรมายังเกยลา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ คิดถึงพญาครุฑราช | อันเป็นอาสน์เดินโดยเวหา |
บัดเดี๋ยวโผผินบินมา | จับหน้าเกยแก้วรูจี |
จึ่งเสด็จขึ้นทิพบัลลังก์ | เหนือหลังพญาปักษี |
ดั่งบรมพรหเมศธิบดี | สถิตที่ปฤษฎางค์หงส์ทอง |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
โทน
๏ ครุฑเอยครุฑทรง | เทียบพงศ์ทั่วภพไม่มีสอง |
คู่นารายณ์เคยณรงค์รณคะนอง | เผ่นทะยานผ่านผยองโพยมบน |
ถาบราถาร่อนในคัคนานต์ | ลมปีกลั่นปานพยุฝน |
สะเทือนโลกสะท้านหล้าสากล | เมฆกล่นหมอกเกลื่อนอัมพร |
หมู่เทพแมนสถานพิมานสถิต | ขามฤทธิ์เข็ดรบสยบสยอน |
เยี่ยมข้ามยอดเขายุคุนธร | เคียงร่อนแข่งรถพระสุริยา |
บินรีบโบกเร็วกว่าลมพัด | ลัดนิ้วลอยในเวหา |
ล่วงเขตลุเขาหิมวา | เลื่อนราลงริมกุฎี |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเสด็จย่างเยื้องยุรยาตร | จากหลังพญาราชปักษี |
นวยนาดวาดกรจรลี | มาที่อาศรมศาลาลัย |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ น้อมเศียรยอหัตถ์มัสการ | พระมหาอาจารย์ผู้ใหญ่ |
ถามถึงทุกข์โศกโรคภัย | ที่ในขอบเขตหิมวา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารอทดาบสพรตกล้า |
เห็นท้าวจักรกฤษณ์ฤทธา | มาถึงศาลาก็ยินดี |
จึ่งกล่าวสุนทรปราศรัย | ด้วยใจชื่นชมเกษมศรี |
ถามกิจสุขทุกข์ในธานี | ต่างแจ้งคดีแก่กัน |
ดั่งองค์โกสีย์ตรีเนตร | กับบรมพรหเมศรังสรรค์ |
สนทนาโดยทางทศธรรม์ | ในสุวรรณพิมานรัตนา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงวิรุณจักรยักษา |
ทรงอานุภาพมหึมา | ผ่านมหากาลวุธธานี |
แทบเนินขอบเขาหิมพานต์ | มีหมู่บริวารยักษี |
พันโกฏิล้วนเรืองฤทธี | หยาบช้าราวีทุกตัวตน |
ย่ำยีนักสิทธ์วิทยา | สุบรรณนาคาทุกแห่งหน |
เทวาทานพในสากล | ไม่อาจประจญประจัญบาน |
คิดจะใคร่ไปเที่ยวประพาส | ล่าไล่จัตุบาทเป็นอาหาร |
ตามแถวแนวป่าหิมพานต์ | ให้สำราญทั้งหมู่โยธี |
ฯ ๘ คำ ฯ ร่าย
๏ คิดแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยดวงมณีศรี |
จับตระบองโลหะโมลี | แกว่งดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
พร้อมพวกพหลพลมาร | โห่สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่น |
มืดฟ้ามืดดินเป็นควัน | กุมภัณฑ์ก็เที่ยวประพาสไป |
ฯ ๔ คำ ฯ กราวใน เชิด
๏ มาถึงเนินเขาคันธมาทน์ | รุกขชาติร่มระหงดงใหญ่ |
เป็นที่โยคีชีไพร | อาศัยตั้งกิจพิธี |
ขุนยักษ์เหลือบแลซ้ายขวา | เห็นบรรณศาลาฤๅษี |
รอบรายชายเชิงคีรี | มีจิตอิจฉาสาธารณ์ |
จึ่งคิดว่าดาบสนี้สามารถ | องอาจพากเพียรกล้าหาญ |
รู้รอบประกอบพิธีการ | เชี่ยวชาญประสิทธิ์วิทยา |
แม้จะละไว้บัดนี้ | น่าที่พิธีจะแก่กล้า |
จะบอกเล่ห์กลมนตรา | แก่มนุษย์เทวาสุราลัย |
จะมีผู้รู้ศิลปศาสตร์ | องอาจหากลัวกูไม่ |
คิดแล้วขับพวกพลไกร | เข้าไล่รุกรานพระมุนี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารยักษี |
ต่างต่างสำแดงฤทธี | ไล่ตีโยคีเป็นโกลา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายคณะฤๅษีชีป่า |
แลเห็นพวกพาลอสุรา | ไล่มาก็ตระหนกตกใจ |
บ้างฉวยตาลิปัตรไม้เท้า | ลูกประคำน้ำเต้าย่ามใหญ่ |
บ้างขึ้นภูเขาบ้างเข้าไพร | บ้างเข้าในโพรงไม้ซ่อนกาย |
บ้างเข้าสุมทุมพุ่มพง | ลางองค์ก็ดิ้นเข้าเซิงหวาย |
ล้มลุกคลุกคลานกลัวตาย | วุ่นวายวิ่งพะปะทะกัน |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกอสุราโมหัน |
โห่ร้องก้องมี่นี่นัน | สับฟันศาลาวุ่นไป |
ทุบต่อยนำเต้ากระเช้าสาน | ขอคานหักเสียหาไว้ไม่ |
ยื้อแย่งกองกูณฑ์บูชาไฟ | บ้างไล่โยคีเป็นโกลา |
ที่ทันก็รันด้วยตระบอง | ทุบถองทุ่มทิ้งด้วยหินผา |
ทำตามโมหันฉันทา | อื้ออึงทั้งป่าพนาลี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่คณะฤๅษี |
เล็ดลอดหลบหลีกอสุรี | ตกใจวิ่งหนีงกงัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างไปหานารอทอาจารย์ | ลนลานหน้าซีดตัวสั่น |
บ้างไหว้บ้างหอบยิงฟัน | ชิงกันแจ้งการพาลภัย |
เล่าพลางเหลียวหลังระวังอยู่ | เป็นครู่จึ่งต่อไปได้ |
เห็นท้าวจักรกฤษณ์ฤทธิไกร | ภูวไนยจงช่วยชีวี |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์เรืองศรี |
รู้ว่าพวกพาลอสุรี | มาเที่ยวย่ำยีพระนักพรต |
ให้ขาดภาวนารักษาฌาน | อลหม่านแตกตื่นกันไปหมด |
จึ่งมีสุนทรมธุรส | พระดาบสอย่ากลัวกุมภัณฑ์ |
ไว้นักงานข้าจะต่อตี | ล้างชีวีเสียให้อาสัญ |
ว่าพลางย่างเยื้องจรจรัล | ออกมาหน้าบรรณศาลา |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | วิรุณจักรยักษา |
พาพวกพหลโยธา | ไล่ค้นด้นหาโยคี |
แลเห็นหลังคาอาศรม | พระนารอทบรมฤๅษี |
กรูกันเข้าไปทันที | โห่ร้องก้องมี่หิมวันต์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เหลือบแลไปเห็นมนุษย์ | งามดั่งเทพบุตรในสวรรค์ |
กรกุมอาวุธพรายพรรณ | ยืนอยู่หน้าบรรณศาลา |
ชะรอยว่าสานุศิษย์ฤๅษี | มาเรียนพิธีคาถา |
มีความพิโรธโกรธา | จะผลาญชีวาให้บรรลัย |
คิดแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งพวกพลมารน้อยใหญ่ |
จงจับมนุษย์จังไร | ฆ่าให้สิ้นชีพชีวัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธาพลขันธ์ |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | กรูกันเข้าจับเป็นโกลา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างแทงบ้างพุ่งบ้างยิง | ลางมารทุ่มทิ้งด้วยหินผา |
บ้างวางหน้าไม้ปืนยา | โห่สนั่นลั่นป่าพนาลี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์เรืองศรี |
ครั้นเห็นพวกพาลอสุรี | เข้ามาราวีโรมรัน |
พระกรกวัดแกว่งพระแสงทรง | อาจองรวดเร็วดั่งจักรผัน |
หลบหลีกรับรองป้องกัน | ไล่พิฆาตฟาดฟันประจัญกร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาอุตลุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรชาญสมร |
ตายกลาดดาษป่าพนาดร | บ้างหนีซอนแตกพ่ายไม่สมประดี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุณจักรยักษี |
เห็นพวกพหลโยธี | ตายหนีแตกพ่ายกระจายมา |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งเพลิงกัลป์ | แผดเสียงเลื่อนลั่นสนั่นป่า |
แกว่งหอกกลอกกลับเป็นโกลา | ออกยืนขวางหน้าแล้วถามไป |
เหวยเหวยมนุษย์อหังการ | ถิ่นฐานบ้านเมืองเอ็งอยู่ไหน |
เชื้อชาตินามกรนั้นชื่อใด | เหตุไรมาคบกับโยคี |
ไม่เกรงกูผู้ทรงสิทธิศักดิ์ | ชื่อวิรุณจักรยักษี |
ผ่านมหากาลวุธธานี | ปราบได้ทั้งตรีโลกา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | เหวยเหวยดูรากุมภัณฑ์ |
กูชื่อจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ | คือองค์นารายณ์รังสรรค์ |
อวตารมาผลาญกุมภัณฑ์ | ที่มันเป็นเสี้ยนธาตรี |
ได้เสวยสวรรยามหานิเวศน์ | นคเรศณรงกาบุรีศรี |
ออกมาสนทนาพาที | กับพระมุนีผู้ปรีชาญ |
เอ็งนี้องอาจอหังการ์ | ชีวาจะม้วยสังขาร |
ทั้งพวกพหลพลมาร | ด้วยพระแสงสุรกานต์ราญรอน |
ฯ ๘ คำ ฯ ร้น
ร้น
๏ เมื่อนั้น | วิรุณจักรขุนมารชาญสมร |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งไฟฟอน | ว่าเหวยดูก่อนมนุษย์ |
เย่อหยิ่งอวดตนให้พ้นพักตร์ | อหังการฮึกฮักเป็นที่สุด |
นี่หรือคือองค์พระทรงครุฑ | จะตายด้วยฤทธิรุทรกุมภัณฑ์ |
ว่าแล้วกวัดแกว่งหอกชัย | ว่องไวรวดเร็วดั่งจักรผัน |
โลดโผนโจนจับพัลวัน | หมายมั่นจะล้างชีวี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์เรืองศรี |
ประจัญกรรอนราญอสุรี | ต่อตีป้องปัดไปมา |
โจนขึ้นเหยียบเข่าน้าวเศียร | ผัดผันหันเหียนเปลี่ยนท่า |
ต่างฟันต่างแทงเป็นโกลา | ต่างหาญต่างกล้าไม่ลดกัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุณจักรฤทธิแรงแข็งขัน |
รบชิดไม่คิดชีวัน | ขบฟันเผ่นโผนโจนไป |
เท้าซ้ายยันเหยียบเข่าขวา | กรนั้นเงื้อง่าหอกใหญ่ |
กลับกลอกเคล่าคล่องว่องไว | ด้วยกำลังฤทธิไกรชัยชาญ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด[๒]
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์ผู้ปรีชาหาญ |
โจนขึ้นเหยียบบ่าขุนมาร | ฉวยหอกสุรกานต์ได้ทันที |
งามทรงดั่งองค์อินทรา | จับไพจิตรายักษี |
กวัดแกว่งพระขรรค์โมลี | หวดต้องอสุรีซานไป |
แล้วถอดทิพเทพธำมรงค์ | ซึ่งองค์อิศวรประสาทให้ |
หมายมาดพิฆาตชีวาลัย | ขว้างไปด้วยกำลังฤทธา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ โชติช่วงดั่งดวงพระอาทิตย์ | เสียงสนั่นครรชิตดั่งฟ้าผ่า |
ต้องวิรุณจักรอสุรา | สุดสิ้นชีวาวายปราณ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดโอด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงเทเวศนางฟ้าทุกสถาน |
เห็นองค์สมเด็จพระอวตาร | ผลาญวิรุณจักรบรรลัย |
มีความยินดีเป็นพ้นนัก | ผ่องพักตร์ดั่งดวงแขไข |
บ้างเยี่ยมแกลแก้วแววไว | ตบหัตถ์มี่ไปทั้งเมืองฟ้า |
แสนสำราญสำรวลสรวลสันต์ | โปรยทิพสุวรรณบุปผา |
บ้างไขสหัสธารา | สุคนธาเฟื่องฟุ้งขจายจร |
อำนวยอวยชัยพระกฤษณ์ | จงทรงฤทธิ์ห้าวหาญชาญสมร |
อันพวกอาสัตย์ดัสกร | ให้พ่ายแพ้ฤทธิรอนทั้งธาตรี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารอทบรมฤๅษี |
ทั้งหมู่คณะโยคี | ผู้มีเดชะตบะญาณ |
เห็นท้าวบรมจักรกฤษณ์ | ทรงฤทธิ์ศักดากล้าหาญ |
ล้างวิรุณจักรขุนมาร | อันสาธารณ์หยาบช้าอาธรรม์ |
ทั้งพวกพหลโยธา | ตายกลาดดาษป่าพนาสัณฑ์ |
เทเวศโปรยทิพบุษบัน | ทรงสุคันธารสขจายจร |
ต่างองค์ชื่นชมโสมนัส | ไพบูลย์พูนสวัสดิ์สโมสร |
แซ่ซ้องอำนวยอวยพร | สรรเสริญฤทธิรอนเป็นโกลา |
แต่นี้พวกเราทั้งหลาย | จะวายทุกข์เป็นสุขถ้วนหน้า |
สิ้นเสี้ยนอาธรรม์ฉันทา | ด้วยเดชเดชาพระอวตาร |
พระองค์จงทรงอานุภาพ | ปราบไปได้ทั่วทุกสถาน |
อันศัตรูหมู่พวกภัยพาล | อย่าให้ต้านทานฤทธี |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบรมจักรกฤษณ์เรืองศรี |
รับพรพระมหามุนี | ด้วยใจยินดีปรีดา |
จึ่งกล่าววาจาอันสุนทร | ดูก่อนพระดาบสพรตกล้า |
จงอยู่ผาสุกภิรมยา | โยมจะลากลับคืนยังกรุงไกร |
ว่าแล้วยอกรมัสการ | พระนารอทอาจารย์ผู้ใหญ่ |
ยุรยาตรนาดกรคลาไคล | ไปจากอารัญกุฎี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เสด็จขึ้นทรงบัลลังก์อาสน์ | เหนือหลังพญาราชปักษี |
ถีบทะยานผ่านขึ้นด้วยฤทธี | เร็วรี่มาในคัคนานต์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลัดนิ้วมือเดียวก็ลุถึง | ซึ่งกรุงณรงการาชฐาน |
ร่อนลงยังเกยอลงการ | หน้ามุขวิมานรัตนา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสด็จลงจากหลังสุบรรณราช | นวยนาดวาดกรซ้ายขวา |
สุบรรณก็บินไปหิมวา | ผ่านฟ้าเข้าปราสาทพรายพรรณ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | อันโอภาสจำรัสฉายฉัน |
พร้อมฝูงพระสนมกำนัล | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษไป |
บ้างเข้าอยู่งานพัดวี | ตามตำแหน่งที่น้อยใหญ่ |
พระเล่าความแก่สนมกำนัลใน | โดยได้สังหารอสุรา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
[๑] ทองพรรณอุทุมพร ใช้ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๑ ซึ่งเขียนว่า ทองพัน หมายถึงทอง + วรรณ = ผ้าสีทองลายเถาอุทุมพร แต่ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๕๖๘ เขียนว่า ท้องพัน หมายถึง ผ้าพื้นเขียนลายเถาอุทุมพร
[๒] จบต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๘ เริ่มต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๙ สอบเทียบกับต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๑