- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๓๔ นางศรีสุดาหึง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกรสุทสุริย์วงศ์ชาญสมร |
กับนวลนางรัตนาบังอร | ออกพระโรงอลงกรณ์ข้างใน |
พร้อมฝูงสุเรศสนมนาฏ | ประไพพักตร์วิลาศเพียงแขไข |
เฟี้ยมเฝ้าเดียรดาษกลาดไป | ภูวไนยคอยองค์พระลูกยา |
ครั้นเห็นพระเยาวราชรัก | พาองค์นงลักษณ์เสน่หา |
ตามกันดำเนินเข้ามา | ยังปราสาทแก้วอลงการ |
สองกษัตริย์ทรงแสนโสมนัส | เสด็จจากอาสน์รัตน์มุกดาหาร |
ไปรับโอรสายุพาพาล | มาสถานแท่นแก้วรูจี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี |
กับองค์วนิดาดวงชีวี | น้อมศีโรตม์กราบบังคมคัล |
แทบเบื้องยุคลบัวบาท | พระชนนีบิตุราชรังสรรค์ |
ท่ามกลางฝูงสนมกำนัล | ด้วยมหันต์ภิรมย์ปรีดา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนกชนนีนาถา |
พินิจพิศพักตร์ลักขณา | โฉมพระสุณิสานารี |
อรชรอ้อนแอ้นระทวยองค์ | ดั่งอนงค์นางฟ้าในราศี |
นวลละอองผ่องพริ้มทั้งอินทรีย์ | ฉวีวรรณวิลาสประหลาดงาม |
พิศทรงงามทรงวงพักตร์ | วิไลลักษณ์เลยล้ำในโลกสาม |
พิศรูปน่าชมสมนาม | เสงี่ยมงามทรามสวาททั้งกายา |
กระนี้แลหรือพระโอรส | จะมิทรงกำสรดกำสรวลหา |
ชมพลางทั้งสองกษัตรา | จึ่งมีวาจาไปทันใด |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ พ่อดวงฤทัยนัยน์เนตร | เยาวเรศผู้ยอดพิสมัย |
วันเมื่อแก้วตาหายไป | ดั่งใครมาเด็ดเอาชีวี |
ชวนกันรีบร้นค้นหา | ค่อนทรวงโศกาอึงมี่ |
อันองค์สุดาเทวี | มารศรีพ่างเพียงบรรลัยลาญ |
ล่วงไปหลายวันจึ่งเทเวศร์ | นำเหตุมาแจ้งแถลงสาร |
ว่าอ้ายอสุรากรุงพาณ | มันทำประจานลูกยา |
พ่อได้แจ้งข่าวยิ่งเร่าร้อน | ทวีทุกข์อาวรณ์นี้หนักหนา |
ต่างคนต่างแสนโศกา | องค์พระอัยกาจึ่งตามไป |
กลับมาบอกว่าพระลูกรัก | จะสงครามฆ่ายักษ์เสียให้ได้ |
ค่อยคลายทุกข์ร้อนอาวรณ์ใจ | ถึงกระนั้นก็ไม่วายโศกี |
นับวันคอยท่าหาเจ้า | ขวัญข้าวพ่อผู้เฉลิมศรี |
พระตรัสเล่ารำพันพาที | ถ้วนถี่นุสนธิ์แต่ต้นมา |
ซึ่งพ่อกลับคืนพระนคร | บิตุเรศมารดรได้เห็นหน้า |
ดั่งใครเอาอำมฤตฟ้ามา | โสรจสรงชีวาให้รอดไว้ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังสองกษัตริย์เลิศไกร | โหยไห้รำพันพจมาน |
คิดถึงพระคุณการุณรัก | แสนสลักทรวงโศกด้วยสงสาร |
กราบลงแล้วสนองบัญชาการ | ผ่านเกล้าของลูกคือชีวี |
ซึ่งมิได้บังคมยุคลบาท | ลาบรมนาถทั้งสองศรี |
ให้พระองค์ทรงโศกโศกี | โทษนี้ใหญ่พ้นคณนา |
ลูกไปก็ได้ทุกข์ยาก | แสนลำบากปิ้มสิ้นสังขาร์ |
หากองค์สมเด็จพระอัยกา | เมตตาไปช่วยชีวิตไว้ |
แล้วต้องรณรงค์ด้วยกรุงพาณ | รบหนักหักหาญเป็นศึกใหญ่ |
เดชะพระเดชปกเกศไป | จึ่งมีชัยชนะอสุรี |
ได้ซึ่งธิดาพญายักษ์ | อันทรงเยาวลักษณ์เฉลิมศรี |
กลับมานิเวศน์สวัสดี | อัญชุลีละอองพระบาทา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนกชนนีนาถา |
ได้ฟังโอรสร่วมชีวา | พรรณนาทุกข์ยากด้วยจากไป |
ให้คิดสงสารสังเวชนัก | พระทรงจักรทอดถอนใจใหญ่ |
ลูบหลังขวัญด้วยอาลัย | ดวงใจพ่อจงสวัสดี |
แล้วมีสุนทรวาจา | แก่องค์สุณิสาโฉมศรี |
เจ้าผู้ยอดเยาวนารี | มิเสียทีกำเนิดในบุษบง |
งามเฉลาเพราพริ้มดั่งพิมพ์มาศ | แน่งเนื้อทิพนาฏนวลหง |
วาสนาลูกรักทั้งสององค์ว | เคยดำรงสืบสร้างแต่ปางบรรพ์ |
เทวาจึ่งพาไปสู่สม | ให้ร่วมรักเชยชมภิรมย์ขวัญ |
ได้ร่วมยากร่วมชีพชีวัน | ร่วมทุกข์ด้วยกันเพียงบรรลัย |
บิตุรงค์มารดาจะเลี้ยงเจ้า | มิให้ขวัญข้าวเคืองสิ่งใดได้ |
ดั่งเอกองค์ธิดาดวงใจ | อันกำเนิดเกิดในอุทรมา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์นางอุษา |
ได้ฟังทั้งสองกษัตรา | ดั่งอำมฤตฟ้าวารี |
มาโสรจสรงลงทั่วดนัยนาง | สารพางค์ซาบเย็นเกษมศรี |
น้อมเศียรกราบลงด้วยยินดี | แล้วเทวีทูลสนองไปทันใด |
ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตา | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
จะขอรองฉลองเบื้องพระบาทไป | กว่าชีวาลัยจะวายปราณ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริยสุริย์วงศ์มหาศาล |
ได้ฟังสุณิสายุพาพาล | พจมานหวานจับวิญญาณ์ |
ลูบหลังแล้วกล่าวสุนทร | ดวงสมรแม่ยอดเสน่หา |
มิเสียแรงเจ้ากำเนิดเกิดมา | สิริรูปวาจาน่ารัก |
งามสรรพพร้อมสิ้นยุพินทรง | ควรร่วมอาสน์องค์พญาจักร |
เป็นปิ่นอนงค์วิไลลักษณ์ | สมศักดิ์สมสองครองกัน |
เป็นบุญบิตุเรศมารดา | ได้แก้วตามาเลี้ยงประโลมขวัญ |
เฉลิมศรีสุริย์วงศ์เทวัญ | สารพันจำเริญวิญญาณ์ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางสุดาเยาวยอดสงสาร |
กับพี่เลี้ยงทั้งสี่ปรีชาญ | แฝงม่านลอดนัยนาดู |
เห็นนางอุษาธิดายักษ์ | เฟี้ยมเฝ้าเคียงพักตร์พระองค์อยู่ |
ให้คั่งแค้นแน่นจิตเป็นพ้นรู้ | นัยน์เนตรโฉมตรูมืดไป |
จึ่งเหลียวมาสะกิดพี่เลี้ยง | ดูดู๋ช่างเคียงกันอยู่ได้ |
ผัวเขาไม่รู้หรือว่าไร | จะอดสูแก่ใจก็ไม่มี |
เป็นหญิงอย่างนี้ใครมีบ้าง | ช่างกระไรไม่คิดบัดสี |
นึกจะใคร่ออกไปพาที | ให้สาใจที่กาลีพาล |
ถึงจะเคืองเบื้องบาทพระทรงฤทธิ์ | ก็ไม่คิดชีวิตสังขาร |
สุดที่จะกลั้นทนทาน | วานพี่ดูให้ประจักษ์ตา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สี่นางพี่เลี้ยงเสน่หา |
จึ่งกระซิบทูลองค์กัลยา | ข้าเห็นสิ้นแล้วนะทรามวัย |
อันนางอุษาสิงามงอน | กระนี้หรือภูธรมิรักใคร่ |
จะจู่ลู่วู่วามเสียความไป | จงอดใจก่อนเถิดนะเทวี |
จะอยู่ก็เครื่องระเคืองตา | เชิญมากลับไปปราสาทศรี |
ถ้าพระแม่มิฟังพาที | นานไปน่าที่จะเสียการ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุดาผู้ยอดสงสาร |
ฟังสี่พี่เลี้ยงทัดทาน | เยาวมาลย์สะท้อนถอนใจ |
ให้เคืองแค้นแน่นไปด้วยความโกรธ | จะออกโอษฐ์เจรจามิใคร่ได้ |
ในทรวงร้อนรุ่มดั่งสุมไฟ | จนใจจึ่งตอบวาจา |
อันถ้อยคำของพี่ทั้งสี่ | ว่านี้ก็ดีอยู่หนักหนา |
สุดแค้นสุดทนพ้นปัญญา | พี่ห้ามแล้วข้าจะเชื่อฟัง |
ว่าพลางเสด็จยูรยาตร | อนงค์นาฏพี่เลี้ยงพร้อมพรั่ง |
ออกจากฉากม่านที่กำบัง | มายังปราสาทนางเทวี |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจมาน | แก่พี่เลี้ยงนงคราญทั้งสี่ |
ซึ่งให้ไปดูพระภูมี | ที่นี้ก็เห็นอยู่ด้วยกัน |
เสียแรงตัวน้องร้องไห้ | อาลัยวิโยคโศกศัลย์ |
เช้าค่ำพร่ำครวญถึงทรงธรรม์ | ดั่งหนึ่งชีวันจะมรณา |
พระไปอยู่ชมเชยเสวยสุข | ฝ่ายน้องทนทุกข์เทวษหา |
ควรหรือเสด็จกลับมา | แต่จะถามถึงข้าก็ไม่มี |
นี่หรือพี่ว่าพระไม่หลง | ด้วยองค์อุษามารศรี |
เห็นต้องคำน้องแต่เดิมที | ที่ข้ากับพี่ได้พูดกัน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงแสนกลคนขยัน |
จึ่งทูลอัคเรศวิไลวรรณ | ข้อนั้นจริงแล้วเยาวมาลย์ |
ถึงพระมิหลงก็เหมือนหลง | ด้วยพิศวงปลื้มเปรมเกษมศานต์ |
อย่าว่าแต่แม่แค้นในวิญญาณ | พี่ก็พานจะพลอยน้อยใจ |
แต่หรือหนึ่งพึ่งมาไม่ล่วงวัน | จะหุนหันโกรธก่อนยังไม่ได้ |
เจ้าจงระงับดับไว้ | ดูทีภูวไนยสักเวลา |
ก็นัยจะเสด็จมาหาน้อง | นวลละอองจงฟังพี่ว่า |
อันจะรักมิรักวนิดา | กิริยาก็พอจะเข้าใจ |
แม้นไม่เมตตาเหมือนหนหลัง | เราจะนั่งน้อยหน้ากระไรได้ |
วิบากกรรมแล้วจำจะเป็นไป | จะคิดอาลัยไยแก่ชีวัน |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุดาเยาวยอดโฉมสวรรค์ |
ได้ฟังพี่เลี้ยงรำพัน | กัลยาจึ่งตอบพจมาน |
อันพี่ว่ากล่าวทั้งนี้ | ก็ชอบทีด้วยปรีชาหาญ |
แต่ความแค้นนั้นแน่นแดดาล | พี่ทัดทานแล้วจะคอยดูที |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทผู้ส่งรัศมี |
แต่เฝ้าพระชนกชนนี | อยู่จนสิ้นสีรวีวรรณ |
จึ่งถวายประณตบทบงสุ์ | ลาสองสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
พาองค์วนิดาแจ่มจันทร์ | ไปปราสาทสุวรรณพรรณราย |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งสถิตสิงหาสน์ | อันโอภาสด้วยดวงวิเชียรฉาย |
เรืองสิริวิลาศเพริศพราย | งามคล้ายองค์อมรินทร |
จึ่งมีมธุรสวาจา | แก่โฉมวนิดาดวงสมร |
แต่พี่ไปอยู่ด้วยบังอร | ในนครรัตนาก็ช้านาน |
ฝ่ายศรีสุดาเยาวเรศ | พูนเทวษกำสรดสงสาร |
เช้าคํ่ารํ่าทุกข์ทรมาน | สิ้นกาลเป็นนิจนิรันดร์มา |
พี่จะลาเจ้าเยาวลักษณ์ | ดวงจักษุยอดเสน่หา |
ไปเยี่ยมโฉมยงองค์สุดา | สาวสวรรค์ขวัญฟ้าอยู่จงดี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางอุษามารศรี |
ได้ฟังบัญชาพระสามี | นบนิ้วชุลีแล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์จะเสด็จยูรยาตร | ไปหาวรนาฏพิสมัย |
ข้าน้อยนี้พลอยดีใจ | ด้วยจากไปเป็นหลายทิวารา |
แม้นว่าพระองค์อยู่ช้านัก | นงลักษณ์จะละห้อยคอยหา |
จะแหนงน้องผู้รองบาทา | เชิญเสด็จผ่านฟ้าจรลี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังวนิดาพาที | ยิ้มแล้วจึ่งมีพจมาน |
ดูก่อนโฉมเฉลาเยาวราช | สายสวาทผู้ยอดสงสาร |
เจ้าจงค่อยอยู่ให้สำราญ | พี่ไปไม่นานจะกลับมา |
ตรัสแล้วย่างเยื้องบทจร | วาดกรกรีดกรายซ้ายขวา |
งามเพียงเทวราชลีลา | ไปปราสาทสุดาเทวี |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงห้องศรีไสยาสน์ | ลดองค์เหนืออาสน์มณีศรี |
ลูบหลังแก้วกัลยาณี | แล้วมีสุนทรตรัสไป |
เจ้าดวงฤทัยนัยน์เนตร | เยาวเรศผู้ยอดพิสมัย |
แต่พี่พลัดพรากจากไกล | อรไททนทุกข์เวทนา |
จนผิวพรรณพักตร์พระนุชน้อง | มัวหมองสลดลงหนักหนา |
เสียศรีฉวีวรรณกายา | อนิจจาสงสารเป็นสุดคิด |
มิเสียทีที่เจ้ารักพี่ | ร่วมชีวีร่วมใจร่วมจิต |
พี่ก็แสนคะนึงถึงมิ่งมิตร | ถึงตัวไปใจสถิตอยู่ด้วยน้อง |
จงวายทุกข์เถิดนะแก้วตา | พี่ยามาแล้วอย่าหม่นหมอง |
จะถนอมกล่อมเนื้อนวลละออง | ครองรักกว่าจะสิ้นชีวี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสุดามารศรี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | กัลยาถอยหนีภูวไนย |
แล้วเบือนประณตบทบงสุ์ | ทูลทางพลางทรงกันแสงไห้ |
พระทิ้งน้องเสียไม่อาลัย | ช้านานได้หลายทิวารา |
ไปเสวยเชยแสนสมบัติยักษ์ | แล้วทรงจักรกลับว่าคะนึงหา |
ข้ามิใช่นางในปทุมา | พระแสร้งบัญชาให้ผิดที |
ซึ่งน้องได้พบบทเรศ | ก็เพราะเดชสองกษัตริย์เรืองศรี |
หาไม่จะเสด็จมาไยมี | แจ้งสิ้นครั้งนี้แล้วทรงธรรม์ |
เช้าค่ำพร่ำกินน้ำตา | ตั้งแต่กลับมาจากไพรสัณฑ์ |
ทรงพระโกรธาไล่ฆ่าฟัน | สำคัญว่าต้องเจ้าไพร |
อนิจจาไม่รู้ว่าภูมี | จะถูกต้องแรงผีพิสมัย |
อยู่อยู่ก็จู่หายไป | ให้พากันร้องไห้ทั้งพารา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ นงเอยนงลักษณ์ | ดวงจักษุยอดเสน่หา |
ซึ่งไปไม่บอกวนิดา | ด้วยเป็นเพลาราตรีกาล |
อย่าละห้อยน้อยใจเลยสายสวาท | ไม่แกล้งบำราศยอดสงสาร |
อดโทษพี่เถิดนะนงคราญ | อย่าผูกใจภัยพาลนั้นไม่ดี |
แม้นมิให้ไปตามกวางทอง | นวลละอองหรือจะร้างอกพี่ |
อันซึ่งเกิดเหตุทั้งนี้ | ก็เพราะด้วยมารศรีจะโทษใคร |
นี่เป็นกุศลทั้งสองข้าง | สร้างมาเทวาจึ่งนำให้ |
ที่จะได้ร่วมรักร่วมใจ | กับสองนางสืบไปด้วยกัน |
เพราะเหตุมีก่อนจึ่งมีผล | อย่าเกียจกลขึ้งเคียดเดียดฉันท์ |
จะถนอมกล่อมเกลี้ยงโดยธรรม์ | ขวัญข้าวอย่าทรงโศกี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โลม
๏ พระเอยพระสุริย์วงศ์ | เห็นแล้วว่าพระองค์ไม่หน่ายหนี |
ไพเราะในรสวาที | ใครฟังน่าที่ตายใจ |
เดิมน้องสิให้ไปตามกวาง | จะให้ไปตามนางก็หาไม่ |
มาหยิบยกโทษข้าด้วยอันใด | ว่าไปพอรู้เท่าทัน |
ซึ่งกุศลผลบุญได้เคยคู่ | เชิญอยู่ให้สุขเกษมสันต์ |
วาสนามิได้สร้างมาด้วยกัน | จะขอลาทรงธรรม์ไปบุรี |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ ขวัญเอยขวัญเนตร | เยาวเรศผู้มิ่งมารศรี |
อนิจจาเจ้าไม่ปรานี | ว่าไยฉะนี้วนิดา |
สารพัดความจริงพี่บอกเล่า | ควรหรือช่างเอาอะไรว่า |
รักเจ้าเท่าดวงชีวา | จงเมตตาพี่บ้างนะทรามวัย |
อันจะตั้งรังเกียจเสียดแทง | เหมือนแกล้งหาเอ็นดูไม่ |
อดเสียบ้างเถิดนะดวงใจ | อย่าพิรี้พิไรรำพัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ว่าพลางสัพยอกหยอกนาง | โลมลูบปฤษฎางค์แล้วรับขวัญ |
ชมเนตรเกษแก้มแกมกัน | เชยถันคือทิพประทุมมาลย์ |
คลึงเคล้าเย้ายวนชวนสนิท | จุมพิตเสาวรสหอมหวาน |
เกลียวกลมสมสร้อยยุพินพาล | เกษมสันต์ซาบซ่านสำราญใจ[๑] |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางสุดานารีศรีใส |
ได้ประสบพบองค์พระทรงชัย | ทรามวัยสุขเกษมเปรมปรีดิ์ |
ซึ่งความวิโยคโศกเศร้า | ก็บรรเทาเบาใจนางโฉมศรี |
แอบเมียงเคียงเฝ้าพาที | ด้วยภักดีในองค์พระทรงธรรม์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทรุ่งฟ้านราสรรค์ |
ครั้นแสงทองรองเรืองพรายพรรณ | พระประคองรับขวัญกัลยา |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | มารศรีเยาวยอดเสน่หา |
บัดนี้จะรุ่งสุริยา | แก้วตาค่อยอยู่จะลาไป |
กังวลด้วยหมู่อสุรา | ซึ่งมาแต่รัตนากรุงใหญ่ |
สับสนอลหม่านทั้งเวียงชัย | จะได้ให้กำชับตรวจตรา |
ฝ่ายฝูงไพร่ฟ้าประชาชน | จะปลอมแปลกปนกับยักษา |
สั่งแล้วเสด็จลีลา | มาจากปรางค์รัตน์มณี |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงสัททะรา
๏ เมื่อนั้น | องค์นางสุดามารศรี |
คิดแค้นอุษานารี | ทุกทิวาราตรีไม่เว้นวาย |
นั่งนอนร้อนรำคาญจิต | ดั่งเพลิงพิษติดทรวงไม่รู้หาย |
แต่กลั้นกลั้นยิ่งชํ้าระกำกาย | โฉมฉายจึ่งเรียกพี่เลี้ยงมา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พี่เอยพี่เจ้า | ความทุกข์ของเรานี้หนักหนา |
ด้วยพระโฉมเฉิดเลิศฟ้า | รักนางอุษาเป็นพ้นไป |
จนพระเสด็จมาเยี่ยมข้า | แต่จะอยู่ช้าก็ไม่ได้ |
มันยิ่งขึ้นหน้าได้ใจ | เหตุว่าภูวไนยปรานี |
มิได้ยำเยงเกรงเจ้าผัว | ตั้งตัวว่าเป็นมเหสี |
พี่ห้ามข้าก็ฟังมาหลายที | ครั้งนี้สุดคิดสุดใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งทูลสนองไปทันใด | ซึ่งพี่ห้ามไว้แรกมา |
คิดว่าจะเคืองพระโฉมยง | ไม่ควรแก่องค์ขนิษฐา |
บัดนี้ก็ไม่สมจินดา | จะนิ่งไว้ก็ทารกรรมใจ |
ถึงมาตรมิว่าก็แจ้งอยู่ | สุดรู้ที่จะออกปากได้ |
แต่ปรับทุกข์กันทุกวันไป | ใช่ว่าไม่คิดเมื่อไรมี |
อย่าว่าพระแม่ร้อนรน | ถึงอกพี่ก็หม่นหมองศรี |
จะละให้ขึ้นหน้าไปไยมี | ทั้งนี้ก็ตามแต่เวรา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางศรีสุดาเสน่หา |
ได้ฟังพี่เลี้ยงทูลมา | ต้องในวิญญาณ์นางเทวี |
จึ่งเข้าที่สรงทรงเครื่อง | รองเรืองแอร่มแจ่มศรี |
เสด็จจากปราสาทอันรูจี | พี่เลี้ยงสาวศรีก็ตามไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงทยอย
๏ ครั้นถึงปราสาทพระสามี | เทวียอกรบังคมไหว้ |
เห็นองค์อุษาทรามวัย | เฟี้ยมเฝ้าอยู่ใกล้พระยอดฟ้า |
ให้เคืองคายนัยน์เนตรเป็นพ้นนัก | นงลักษณ์แลดูนางอุษา |
แล้วชม้ายชายดูพระผ่านฟ้า | นางค้อนไปมาด้วยเคืองใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทรัศมีศรีใส |
เห็นนางศรีสุดาทรามวัย | ก็แจ้งในจริตกิริยา |
จึ่งมีมธุรสปราศรัย | เจ้าดวงใจผู้ยอดเสน่หา |
หยุดอยู่นั่นไยวนิดา | เชิญมายังแท่นพรรณราย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางศรีสุดาโฉมฉาย |
ได้ฟังบัญชาอภิปราย | ชม้ายเนตรแล้วทูลไปทันใด |
พระเอยพระองค์ | พระโฉมยงทรงศักดิ์เป็นใหญ่ |
อันจะเรียกให้น้องขึ้นไป | ไม่ควรนั่งใกล้พระภูมี |
แม้นเหมือนเมื่อก่อนแต่ไรมา | ตัวข้าจะรองบทศรี |
บัดนี้พระได้ผ่านบุรี | รัตนาธานีเวียงชัย |
ประกอบด้วยกฤษฎาธิการนัก | จะคู่เคียงเรียงพักตร์กระไรได้ |
จะขอทูลบาทอยู่แต่ไกล | หวังจะใคร่ชมบุญนางกัลยา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งโฉมนางอุษา |
ได้ฟังคั่งแค้นในอุรา | นัยนามืดมัวลงทันใด |
ความเจ็บความอายเป็นพ้นนัก | นงลักษณ์ไม่กลั้นกันแสงได้ |
สะอื้นพลางทางกราบทูลไป | ได้ยินหรือไม่พระภูมี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสุดามารศรี |
ได้ฟังยิ่งแค้นแสนทวี | ดั่งอัคคีร้อนรุมสุมใจ |
จึ่งว่าไปพลันทันที | นี่ใครว่าไรจึ่งร้องไห้ |
ช่างชะอ้อนอ้อนองค์พระภูวไนย | จะให้มาทำไมหรือนางเทวี |
ข้าเห็นมีบุญก็ชมบุญ | เคืองขุ่นข้อไรนะโฉมศรี |
เนื้อจะแกล้งแสร้งให้พระภูมี | เคืองละอองธุลีบาทา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์นางอุษา |
ได้ฟังคั่งแค้นในวิญญาณ์ | จึ่งตอบวาจาไปทันใด |
เจ้าเหน็บแนมแกมกลเจรจา | ดั่งข้าหารู้เท่าไม่ |
ถึงกราบทูลองค์ภูวไนย | จะทำไมเจ้าได้นางกัลยา |
ข้าเห็นเป็นองค์มเหสี | พระภูมีรัญจวนครวญหา |
จึ่งจะช่วยกราบทูลพระจักรา | กลับเปรียบปรายด้วยข้าอันใด |
ซึ่งสมบัติในกรุงรัตนา | จะเหมือนโรมพาราก็หาไม่ |
สารพัดจะน้อยทุกสิ่งไป | จะชมบุญข้าไยนางเทวี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสุดามารศรี |
ฟังคำช้ำใจใช่พอดี | จึ่งตอบวาทีไปทันใด |
รู้แล้วว่าจะช่วยเสนอหน้า | คำหนักข้าจะว่าก็หาไม่ |
มาคอยเจ็บเก็บเอาไปใส่ใจ | จะปรารถนาสิ่งใดนางเทวี |
ชิชะเจ้าดวงปทุเมศ | องค์อัคเรศมเหสี |
ตกจะมิให้ได้พาที | ด้วยพระภูมีหรือว่าไร |
อนิจจาเป็นน่าละอายนัก | จะรู้จักเจ้าผัวก็หาไม่ |
ข้าว่าแต่จะชมบุญไป | เจ็บใจเจียวหรือนางเทวี |
อันชาวเมืองโรมพารา | รักหน้าอุตส่าห์สงวนศรี |
ไม่เหมือนชาวรัตนาธานี | รักดีไม่เกรงแก่นินทา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์นางอุษา |
เจ็บใจในรสวาจา | จึ่งตอบพจนาไปทันที |
เออเจ้าจริงแล้วนางกัลยา | อันชาวรัตนาบุรีศรี |
รักหน้ามิให้มีราคี | ถึงมาตรมิว่าก็แจ้งใจ |
ตัวข้าใครใครไม่สู่ขอ | แต่พอใจที่ดีจะใคร่ได้ |
จึ่งข้ามมหาสมุทรไท | มายื่นยอขอให้ถึงบุรี |
ชิชะนี่หรือคือเจ้าผัว | ลิ้นลมสมตัวนางโฉมศรี |
แม้นว่ารู้จักแต่เดิมที | จะนบนอบเทวึให้ถึงใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุดาเทวีศรีใส |
ฟังถ้อยน้อยจิตเป็นพ้นไป | คิดได้จึ่งตอบวาจา |
อันตัวข้านี้แหละมักดี | ประหลาดกว่าสตรีในแหล่งหล้า |
ใช้ให้พี่เลี้ยงลอบมา | อุ้มพาผัวไปซ่อนไว้ |
จึ่งเกิดการณรงค์ยงยุทธ์ | จนบิดาม้วยมุดตักษัย |
เขารู้อยู่สิ้นทั้งแดนไตร | เจ้าจะว่าไปไยให้ได้อาย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอุษาโฉมฉาย |
ฟังคำชํ้าเจ็บด้วยแยบคาย | ดั่งกายจะทรุดทำลายไป |
ชลเนตรคลอเนตรนางเทวี | อายแค้นไม่มีที่เปรียบได้ |
จึ่งประณตบทบงสุ์พระทรงชัย | อรไททูลพลางทางโศกี |
ได้ยินหรือไม่พระโฉมยง | ถ้อยคำขององค์มเหสี |
ไพเราะเพราะรสวาที | พระภูมีฟังเล่นสำราญใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทรัศมีศรีใส |
ได้ฟังขุ่นเคืองหฤทัย | ภูวไนยตริตรึกไปมา |
ครั้นจะว่าแต่ศรีสุดาเล่า | จะน้อยใจว่าเข้าด้วยอุษา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่สองวนิดาด้วยพลัน |
เจ้าผู้มิ่งมงกุฎนารี | อันมีลักษณ์วิไลเฉิดฉัน |
ย่อมเชื้อสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | ลือทั่วเขตขัณฑ์ธานี |
อนิจจาควรเป็นฉะนี้ได้ | เหตุไรจึ่งไม่เอ็นดูพี่ |
มาผิดหมองพ้องกันฉันนี้ | ให้เป็นที่ติฉินนินทา |
ชอบสองจะผดุงบำรุงสวาท | ร่วมชีวาตม์กันไปวันหน้า |
ธรรมดาจารีตกษัตรา | สองอัครชายาก็ย่อมมี |
เหตุใดหวนหักไม่รักหน้า | แกล้งให้ภัสดาหมองศรี |
จะเกรงใจใครบ้างก็ไม่มี | เห็นดีแล้วหรือนางกัลยา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองอัคเรศเสน่หา |
สะดุ้งจิตคิดเกรงพระอาญา | ฟังพระวาจาก็จับใจ |
เสื่อมหายคลายความพิโรธกัน | ต่างองค์อภิวันท์ด้วยแจ่มใส |
นางศรีสุดาก็คลาไคล | เข้าไปกราบลงกับบาทา |
แล้วจึ่งทูลองค์พระภูมี | โทษข้านี้ผิดเป็นหนักหนา |
ทีนี้จะตามพระบัญชา | สิ่งใดไม่ว่าให้เคืองใจ |
นางอุษาจึ่งทูลพระทรงฤทธิ์ | ซึ่งน้องผิดให้ขัดอัชฌาสัย |
เพราะโมโหโกรธาก็ว่าไป | พระภูวไนยจงได้ปรานี |
อันตัวของน้องผู้รองบาท | หรือจะอาจให้เคืองบทศรี |
จำเป็นจึ่งจำพาที | ทีนี้จะดีไปด้วยกัน |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทภุชพงศ์รังสรรค์ |
เห็นสองนางต่างกล่าวรำพัน | เป็นชั้นเชิงคมขำทั้งสองรา |
ยิ้มแย้มละไมในพักตร์ | ดูสองเยาวลักษณ์เสน่หา |
หยอกเย้าสรวลสันต์จำนรรจา | ด้วยสองวนิดานารี |
พระลูบปฤษฎางค์ทั้งสององค์ | รับขวัญอนงค์ทั้งสองศรี |
เชยชมสมสองเทวี | ที่ในแท่นแก้วแพรวพรรณ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
[๑] จบต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๔