- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๑๒ ท้าวกรุงพาณกับนางไวยกาขอนางอุษามาเลี้ยงเป็นธิดา
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงหมู่อสูรใจหาญ |
บรรดาซึ่งเป็นพวกพราน | ในสถานบุรีรัตนา |
เคยไปล่าไล่มฤคี | ยังอรัญที่ราวป่า |
ถึงกำหนดวันซึ่งสัญญา | ชักชวนกันมาวุ่นไป |
บ้างถือแหลนหลาวธนูศร | หน้าไม้โตมรหอกใหญ่ |
บ่วงบาศข่ายครืนปืนไฟ | แล้วออกไปจากราชธานี |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงหิมวาพนาวาส | ถิ่นที่มิคชาติเสือสีห์ |
บ้างขึงข่ายรายบ่วงเป็นโกลี | แล้วแยกไปในที่ดงดอน |
ด้อมดูหมู่เนื้อในพงพุ่ม | ทุกสุมทุมท่าธารสิงขร |
ครั้นเห็นโห่กระทบแล้วตบกร | ตามต้อนไล่ลัดสกัดมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จับได้หมู่เนื้อเสือสิงห์ | โคกระทิงแรดควายกระต่ายป่า |
กวางทรายสุกรกิเลนลา | ฉวยคว้าฟาดลงกับดินดาน |
ที่ติดบ่วงกลิ้งเกลือกเสือกดิ้น | จับฟัดกัดกินเป็นอาหาร |
เฮฮาร่าเริงสำราญ | ทุกหมู่พวกพรานชาญฉกรรจ์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งกินมังสา | ก็ปรีดาผาสุกเกษมสันต์ |
แล้วตัดทิ้งเชือกเขาเถาวัลย์ | มามัดผูกพันมฤคี |
กวางทรายหมีหมูสุกร | จับใส่หาบคอนอึงมี่ |
ได้น้อยไม่เต็มท่วงที | อสุรีก็พากันล่าไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาใกล้บริเวณวนาศรม | พระบรมสุธาอาจารย์ใหญ่ |
เห็นร่มรังบังแสงอโณทัย | ก็เข้าหยุดอาศัยพร้อมกัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางอุษาสาวสวรรค์ |
แต่กำเนิดเกิดในบุษบัน | พระนักธรรม์เอามาเลี้ยงไว้ |
จำเริญรุ่นชันษาได้เจ็ดปี | สูงศรีผ่องเพียงแขไข |
กล้องแกล้งแน่งน้อยอำไพ | วิลาสเลิศวิไลลักขณา |
เทริดทรงองค์อิ่มพริ้มเพรา | ดั่งทองทิพหล่อเหลาเลขา |
งามละม่อมพร้อมจริตกิริยา | ศรีสวัสดิ์วัฒนาปรีชาชาญ |
พจนารถแสนฉลาดเฉลียวล้ำ | ถ้อยคำสุนทรอ่อนหวาน |
ไม่มีโรคภัยแผ้วพาน | แสนสุขสำราญทุกคืนวัน |
ฯ ๘ คำ ฯ
พระทอง
๏ เช้าเย็นเที่ยวเล่นริมอาวาส | ชมช่อบุปผชาติเกษมสันต์ |
เลือกเด็ดดอกดวงพวงพรรณ | ซึ่งรายรอบอรัญกุฎีดง |
ลำดวนสารภีมะลิลา | แก้วกุหลาบจำปามหาหงส์ |
เบญจมาศชาตบุษย์ประยงค์ | กาหลงยี่สุ่นพิกุลกาญจน์ |
สาวหยุดพุทธชาดนางแย้ม | สุกรมแกมพะยอมหอมหวาน |
การะเกดกรรณิการ์ชบาบาน | พุดตานชงโคโยทะกา |
เก็บพลางพลางชมคณานก | หกโหนโจนจับพฤกษา |
วายุภักษ์จักโกระวาลา | กะหรอดแก้วสาลิกาโนรี |
ภิรมย์รังอาศัยรายรอบ | เขตขอบอาศรมฤๅษี |
แล้วลำดับบุปผามาลี | ถวายพระมุนีบูชาไฟ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หมู่มารพรานป่าน้อยใหญ่ |
แอบนั่งเรียงรายที่ชายไพร | ตั้งใจคอยหมู่มฤคา |
แลไปเห็นนางอนงค์น้อย | แช่มช้อยเที่ยวเก็บบุปผา |
งามทรงวงพักตร์ลักขณา | ทั่วทั้งกายาไม่ราคิน |
ผิวเนื้อเรื่อเรืองเหลืองอร่าม | ยิ่งดูยิ่งงามพร้อมสิ้น |
เพียงเทพธิดาในเมืองอินทร์ | อสุรินทร์ฉงนสนเท่ห์ใจ |
จะว่าเป็นเชื้อวงศ์พระมุนี | หรือนางนี้เธอได้มาแต่ไหน |
จึ่งอยู่ยังที่กุฎีไพร | เราไม่ได้เห็นแต่ก่อนมา |
ต่างคนต่างคิดสะกิดกัน | นางนี้อัศจรรย์หนักหนา |
ครั้นเราจะลักไปพารา | ถวายองค์พญาอสุรี |
เป็นความชอบไว้ไนเบื้องบาท | ก็เกรงกลัวอำนาจพระฤๅษี |
ทรงวาจาสิทธิ์ฤทธี | มีตบะกิจเชี่ยวชาญ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ จะทำฉะนี้ก็มิได้ | เราจะกลับคืนไปราชฐาน |
กราบทูลให้ทราบบทมาลย์ | พระผู้ผ่านบุรีรัตนา |
ครั้นคิดเห็นพร้อมยอมกัน | จึ่งพวกกุมภัณฑ์พรานป่า |
บ้างหอบคอนโคถึกมฤคา | รีบเร่งกลับมายังธานี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษี |
ครั้นค่ำยํ่าราษราตรี | เสด็จเข้าที่แท่นอลงกรณ์ |
เอนองค์ลงเหนือทิพอาสน์ | สำราญราชฤทัยในบรรจถรณ์ |
หอมกลิ่นมาลัยขจายจร | เกสรโกสุมปทุมมาลย์ |
ฟังเสียงสำเนียงนางขับ | ร้องรับรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
โอดพันพิณเพลงบรรเลงลาน | ประสานศัพท์ดนตรีนี่นัน |
พร้อมเพราะเสนาะสำเนียง | ดั่งหนึ่งนางจำเรียงเพลงสวรรค์ |
จับใจเพลิดเพลินจำเริญกรรณ | กุมภัณฑ์ก็เคลิ้มหลับไป |
แต่มัชฌิมยามย่ำมา | จนเวลาล่วงปัจจุสมัย |
นิมิตฝันเป็นอัศจรรย์ใจ | ภูวไนยผวาตื่นขึ้นทันที |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ โสรจสรงทรงเครื่องอาภรณ์ | จับคทาธรแก้วมณีศรี |
บทจรจากห้องรูจี | เสด็จออกยังที่พระโรงคัล |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พร้อมราชสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ประโรหิตเสนาแน่นนันต์ | บังคมคัลเกลื่อนกลาดดาษดา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งมีสีหนาทวาที | แก่โหราธิบดีซ้ายขวา |
คืนนี้เราเข้าที่ไสยา | ฝันว่าได้ดวงปทุมมาลย์ |
กระพุ่มพูเชิดชูไว้กับหัตถ์ | ระบัดแบ่งเกสรหอมหวาน |
ประทับองค์ชมบุษบงบาน | โกเมศบันดาลเป็นเพลิงพราย |
ติดขึ้นแต่ผกาเกสร | เร่าร้อนเปลวแรงแสงฉาย |
ลามไหม้ทั่วตนสกนธ์กาย | ฝันนี้ดีร้ายประการใด |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนี้ | ประโรหิตโหราผู้ใหญ่ |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | พิเคราะห์ไปโดยข้อพระสุบิน |
ลอบใส่ในตำรับไสยเวท | ก็เห็นเหตุร้ายร้อนทุกสิ่งสิ้น |
แต่ท้าวหัสเนตรธิบดินทร์ | ดลใจอสุรินทร์โหรา |
สิ่งซึ่งไภยันอันตราย | ให้กลับกลายว่าดีพร้อมหน้า |
จึ่งก้มเกล้ากราบลงกับบาทา | ทูลองค์พญากุมภัณฑ์ |
อันลักษณะพระสุบินนิมิตนี้ | จะได้แก่ภูมีแม่นมั่น |
ด้วยเป็นสังหรณ์เทวัญ | ผลนั้นมิใช่พยากรณ์ |
ซึ่งว่าฝันได้สุบงกช | อันรื่นรสเสาวคนธ์เกสร |
จะได้นางกุมารีอรชร | มาเฉลิมพระนครรัตนา |
ซึ่งเป็นไฟไหม้ลามทั้งองค์ | จะยิ่งทรงอานุภาพแกล้วกล้า |
ปรากฏยศเกียรติเดชา | แผ่ทั่วฟากฟ้าสุธาธาร |
ไม่มีผู้ใดจะต่อฤทธิ์ | ดั่งเพลิงพิษรุ่งแรงแสงฉาน |
เป็นเอกองค์เดียวในจักรวาล | จะแจ้งเหตุการณ์ในวันนี้ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษี |
ฟังโหรทำนายทายว่าดี | อสุรีชื่นชอบหฤทัย |
ผลที่จะมาถึงซึ่งชีวิต | ให้มืดมิดหารู้ตัวไม่ |
ตรัสประภาษราชกิจทั้งปวงไป | อยู่ในท่ามกลางเสนา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกหมู่มารพรานป่า |
ครั้นเช้าก็ชวนกันมา | เฝ้าองค์พญาอสุรี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างตนน้อมเกล้าบังคมบาท | กรุงพาณาราชยักษี |
ทูลว่าตัวข้าทั้งปวงนี้ | ออกไปเที่ยวที่หิมพานต์ |
ล่าไล่ฝูงเนื้อเสือสัตว์ | ในจังหวัดใกล้อาศรมสถาน |
พบทาริกายุพาพาล | โฉมปานนางฟ้าสุราลัย |
อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์ | แต่เห็นมาไม่มีใครเปรียบได้ |
เล่นอยู่ยังที่กุฎีไพร | แห่งองค์ท่านไทนักธรรม์ |
ถ้าได้มาไว้ในเมือง | จะระบือลือเลื่องทุกเขตขัณฑ์ |
ควรที่พระธิดาวิลาวัณย์ | เฉลิมศรีไอศวรรย์อสุรา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกรุงพาณยักษา |
ฟังพรานทูลแจ้งกิจจา | ดั่งได้ฟากฟ้าดุษฎี |
ยี่สิบหัตถ์ตบหัตถ์ครื้นครั่น | สิบปากสรวลสนั่นอึงมี่ |
แล้วประทานรางวัลให้ทันที | แก่หมู่อสุรีพรานไพร |
แก้วแหวนเงินทองเสื้อผ้า | โหรหลังโหรหน้าก็แจกให้ |
แล้วสั่งเสนาผู้ร่วมใจ | ให้เตรียมพลไกรกุมภัณฑ์ |
จะออกไปมัสการพระดาบส | อันทรงพรตยอดญาณฌานขยัน |
ยังที่ศาลอารัญ | ให้ทันในรุ่งราตรี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ สั่งเสร็จเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์พระที่นั่งมณีศรี |
ย่างเยื้องกรายกรจรลี | เข้าที่ปราสาทรัตนา |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ตรัสแก่อัคเรศเสน่หา |
เล่าความแต่ต้นจนปลายมา | ตามพรานป่าแจ้งทุกประการ |
เราก็ไร้โอรสบุตรี | จะสืบศรีวงศามหาศาล |
ตัวพี่กับเจ้าเยาวมาลย์ | จะออกไปมัสการพระนักธรรม์ |
ขอนางทาริกามาเลี้ยงไว้ | ที่ในนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
ต่างบุตรอันเกิดในครรภ์ | ของขวัญเมืองมิ่งวนิดา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางไวยกาเสน่หา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | แสนโสมนัสสาพันทวี |
จึ่งนบนิ้วเหนือเกศบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพเรืองศรี |
ซึ่งจะไปขอนางกุมารี | ข้าบาทยินดีเป็นสุดคิด |
สองกษัตริย์ตรัสสนทนากัน | เกษมสันต์ชื่นชมภิรมย์จิต |
จนค่ำสิ้นแสงพระอาทิตย์ | จันทร์แจ่มชวลิตในเมฆา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
รับสั่งพระองค์ทรงนครา | ก็ออกจากท้องพระโรงชัย |
ฯ ๒ คำ ฯ ปราม
ยานี
๏ จัดหมู่โยธาอันสามารถ | เป็นกองพยุหบาตรกระบวนใหญ่ |
ต้นเชือกแต่พื้นถือปืนไฟ | ใส่เสื้อชมพูเป็นคู่กัน |
ถัดมากุมหอกกลอกแกว่ง | เสื้อแดงดวงลายฉายฉัน |
ถัดมาขัดดาบยืนยัน | ใส่เสื้อสีจันทน์สุพรรณราย |
ถัดไปเสื้อโหมดม่วงอ่อน | กรกุมธนูศรประลองสาย |
ถัดไปถือทวนกริชกราย | สอดใส่เสื้อลายเขียวทอง |
เทียบทั้งรถทรงอลงการ | ทวยหาญเรียบริ้วเป็นทิวท่อง |
ล้วนเหี้ยมฮึกพันลึกลำพอง | ทุกกองคอยเสด็จยาตรา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกรุงพาณราชยักษา |
ครั้นรุ่งสางสว่างเวลา | เสด็จเข้ามาที่สนานกาย |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ปทุมทองโปรยละอองดั่งฝอยฝน | สำราญรื่นชื่นชลกระแสสาย |
ทรงสุคนธ์ปนทิพสุพรรณพราย | สนับเพลาพลอยรายเชิงงอนงาม |
ภูษาทองประสานก้านกระหนก | แย่งยกลายร่วงดวงอร่าม |
ชายแครงชายไหวสุวรรณวาม | ฉลององค์ทรงงามสังเวียนวรรณ |
ตาบทิศทับทรวงมุกดาหาร | สะอิ้งแก้วสังวาลดวงกุดั่น |
ทองกรมังกรเกี้ยวกัน | พาหุรัดนาคพันชิงดวง |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรพลาม | มงกุฎแก้วแวววามรุ้งร่วง |
ห้อยกุณฑลทัดดอกไม้พวง | กรรเจียกจอนซ้อนดวงทับทิมพราย |
จับพระขรรค์แก้วแววฟ้า | ชวนนางไวยกาโฉมฉาย |
เสด็จจากห้องสุวรรณพรรณราย | กรายกรไปขึ้นพิชัยรถ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอ๋ยรถประพาส | งามวิลาสกำกงอลงกต |
งามแปรกแอกงอนอ่อนชด | งามชั้นหลั่นลดบัลลังก์ลอย |
งามเสากาบเก็จเพชรคั่น | งามกระหนกเครือวัลย์ช่อห้อย |
งามมุกสุกพลามอร่ามพลอย | งามยอดแสงย้อยด้วยโกเมน |
งามเทียมสิงหราชผาดผาย | งามสารถีกรายกลอกเขน |
งามเครื่องสูงบังสุริเยนทร์ | งามเกณฑ์แห่เรียบระเบียบจร |
งามเสียงแตรสังข์ประโคมครื้น | งามพื้นเรี่ยรายด้วยทรายอ่อน |
งามฤดูบุปผชาติอรชร | พเนจรนำหน้าพาไป |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เดินโดยมรคาพนาเวศ | เข้าเขตหิมวาป่าใหญ่ |
รีบรถรีบพลสกลไกร | มาใกล้บริเวณกุฎี |
แลเห็นหลังคาอาศรม | แห่งองค์บรมฤๅษี |
ให้หยุดพหลโยธี | ประทับที่ริมธารชายดง |
ลงจากรถรัตโนภาส | กับโฉมอัครราชนวลหง |
ประดับด้วยฝูงนางอนงค์ | เสด็จตรงไปบรรณศาลา |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งสองกษัตริย์ | ประนมหัตถ์เหนือเกล้าเกศา |
ถวายมัสการพระสิทธา | แล้วกล่าววาจาอันสุนทร |
ข้าแต่พระผู้นิรทุกข์ | พระองค์ค่อยสุขสโมสร |
ซึ่งผนวชนานในพนาดร | โรคร้อนสิ่งใดไม่แผ้วพาน |
อันเผือกมันพฤกษาผลาผล | ไม่ขัดสนพอหาเป็นอาหาร |
งูร้ายมิได้กรายให้รำคาญ | เหลือบยุงริ้นร่านไม่ราวี |
เสือสัตว์จัตุบาททั้งหลาย | แรดร้ายกาสรราชสีห์ |
อันแรงฤทธิ์หยาบใหญ่เหล่านี้ | ยังย่ำยีบ้างหรือพระสิทธา |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระดาบสผู้ทรงสิกขา |
ฟังท้าวกรุงพาณพจนา | จึงกล่าววาจาตอบไป |
ดูก่อนพระองค์ผู้ทรงยศ | แต่รูปสร้างพรตอยู่ป่าใหญ่ |
ไม่มีทุกข์โศกโรคภัย | สัตว์ร้ายมิได้ราวี |
ผลไม้เปรี้ยวหวานเผือกมัน | คัดฉันโดยเพศฤๅษี |
ไม่ยากกายหาง่ายสะดวกดี | พอเป็นที่ตั้งเมตตาฌาน |
ซึ่งเสด็จออกมาทั้งสององค์ | พร้อมพวกจตุรงค์ทวยหาญ |
ที่ในอรัญกันดาร | ผ่านฟ้าจะไปแห่งใด |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามารผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังก็ตรัสเล่าไป | ถวายองค์ท่านไท้พระสิทธา |
เดิมข้าเข้าที่ไสยาสน์ | สำราญราชบรมสุขา |
ฝันว่าได้ดวงปทุมา | บานแบ่งผกาอรชร |
เชยชื่นรื่นรสเรณูนวล | หอมหวนเสาวคนธ์เกสร |
ตื่นขึ้นรุ่งศรีรวีวร | โหรทูลพยากรณ์ทำนาย |
ว่าจะได้ทาริกาแน่งน้อย | เสาวภาคย์แช่มช้อยโฉมฉาย |
ความยินดีซาบสกนธ์กาย | พอนายพรานป่าพนาลี |
เข้ามาแจ้งว่าไปล่าสัตว์ | ในจังหวัดหิมวาพนาศรี |
พบองค์เยาวเรศกุมารี | อยู่ที่พระบรรณศาลา |
โหรทายพรานทูลเห็นสมจริง | โยมยิ่งแสนโสมนัสสา |
จึ่งพากันดั้นดงออกมา | มัสการบาทาพระอาจารย์ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังบัญชาพญามาร | ก็ตริการรำพึงคะนึงไป |
อันท้าวกรุงพาณเจรจา | จะกล่าวแกล้งแต่งว่านั้นหาไม่ |
เธอรู้ตระหนักประจักษ์ใจ | กูจะอำพรางไว้ก็ใช่ที |
คิดแล้วจึ่งเรียกหลานรัก | เจ้าผู้ทรงลักษณ์เฉลิมศรี |
จงออกมานอกกุฎี | อัญชุลีทั้งสองกษัตรา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งโฉมนวลนางอุษา |
ได้ฟังองค์พระอัยกา | ก็คลานออกมาทันใด |
กฤษฎาชุลีขึ้นเหนือเกศ | เยาวเรศบังคมประนมไหว้ |
ทั้งสองกษัตริย์เลิศไกร | ด้วยใจเคารพยินดี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษี |
กับนางไวยกาเทวี | พิศโฉมกุมารีกัลยา |
วิไลลักษณ์แฉล้มแช่มช้อย | แน่งน้อยน่ารักหนักหนา |
ผิวพรรณผุดผ่องดั่งทองทา | ทั้งจริตกิริยาจำเริญใจ |
พิศพลางพลางแสนโสมนัส | พูนเพิ่มประดิพัทธ์พิสมัย |
จึ่งกล่าวสุนทรถามไป | อันองค์อรไทน้อยนี้ |
สุริย์วงศ์บิตุรงค์มารดร | ถิ่นฐานนามกรโฉมศรี |
อยู่ไหนชื่อไรพระมุนี | นางนี้พระได้แห่งใดมา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ทรงญาณฌานกล้า |
ฟังรสพจนารถอสุรา | จึ่งกล่าววาจาตอบไป |
อันทาริกาน้อยนี้ | บิตุเรศชนนีหามีไม่ |
ใช่วงศ์พงศ์พันธุ์ผู้ใด | เกิดในดอกดวงปทุมมาลย์ |
บริสุทธิ์ผุดพ้นวาริน | แย้มผกากลีบกลิ่นหอมหวาน |
ในโบกขรณีนทีธาร | แทบสถานอาศรมศาลา |
รูปเห็นจึ่งเอามาเลี้ยงไว้ | ให้นามชื่อนางอุษา |
จนจำเริญวัยวัฒนา | อายุกัลยาได้เจ็ดปี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษี |
กับองค์อัครราชเทวี | ได้ฟังวาทีพระนักพรต |
พระปีติแผ่ผ่านซ่านซาบ | อิ่มอาบไปทั่วทั้งกายหมด |
จึ่งกล่าวสุนทรมธุรส | แก่พระดาบสเลิศไกร |
อันตัวของโยมฟังสองนี้ | โอรสบุตรีหามีไม่ |
ซึ่งจะสืบสุริย์วงศ์ไป | ที่ในรัตนาเมืองมาร |
จึ่งตั้งใจหวังมาทูลบาท | พระมุนีนาถปรีชาหาญ |
จะขอนางอุษายุพาพาล | ผู้ปานชีวิตพระสิทธา |
ไปเลี้ยงเป็นราชบุตรี | เฉลิมศรีนคเรศยักษา |
ให้ปรากฏยศเลื่องลือชา | เป็นมหามหัศอัศจรรย์ |
พระองค์จะพ้นปลิโพธ[๑] | ผู้เดียวสันโดษเกษมสันต์ |
โปรดข้าบาทเถิดพระนักธรรม์ | เหมือนให้วงศ์กุมภัณฑ์เป็นสุขไป |