คำนำ

พุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ นอกจากบ้านเมือง จะถูกทำลายแล้ว จิตใจผู้คน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ รวมไปถึงวรรณคดี กวีนิพนธ์ พลอยถูกทำลายไปด้วย        วรรณคดีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายเรื่องเหลือแต่เพียงชื่อไว้เล่าขานเป็นตำนานว่าเคยมีอยู่แต่หาต้นฉบับมิได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระนครขึ้นใหม่ นอกจากพระราชภารกิจในการสร้างบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นและในการปกป้องอธิปไตยแล้ว พระราชภารกิจด้านการฟื้นฟูจิตใจก็สำคัญยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรังสรรค์งานศิลปะทุกแขนงเพื่อเป็นการเฉลิมพระนคร ทางด้านวรรณคดีกวีนิพนธ์นั้นมีทั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิตแต่งขึ้นและมีทั้งที่ทรงพระราชนิพนธ์เอง ในส่วนของตัววรรณคดีก็มีทั้งที่แต่งขึ้นใหม่และปรับปรุงจากฉบับอยุธยาเพื่อบันทึกไว้มิให้สูญ

กลอนบทละครเรื่อง อุณรุท หรือ อนิรุทธ นี้ ก็เป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ด้วยเหตุผลตามคำกลอนท้ายพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่อง อุณรุท ว่า

“อันพระราชนิพนธ์อุณรุท สมมุติไม่มีแก่นสาร
ทรงไว้ตามเรื่องโบราณ สำหรับการเฉลิมพระนคร
ให้รำร้องครื้นเครงบรรเลงเล่น เป็นที่แสนสุขสโมสร
แก่หญิงชายไพร่ฟ้าประชากร ก็ถาวรเสร็จสิ้นบริบูรณ์”

จากคำว่า “ทรงไว้ตามเรื่องแต่โบราณ” เข้าใจว่าทรงรังสรรค์บทพระราช นิพนธ์อุณรุทขึ้นใหม่จากกลอนบทละครเรื่องอุณรุทสมัยอยุธยาซึ่งมีอยู่เดิมให้ ไพเราะงดงามขึ้น เพราะเมื่อเทียบสำนวนกับกลอนบทละครเรื่องอุณรุท พระราช นิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อครั้ง ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเล้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร แล้วพบว่ามี ความคล้ายคลึงกันมาก เป็นไปได้ว่าเพราะมีต้นเค้าจากที่เดียวกัน ซึ่งอุณรุทฉบับ รัชกาลที่ ๒ นั้น กล่าวว่าเป็นบทละครครั้งกรุงเก่าที่ทรงนำมาตัดให้เหมาะแก่การ แสดงละคร ซึ่งนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้กล่าวถึง อุณรุท หรือ อนิรุทธ สมัยอยุธยาไว้ใน “ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์ และบทละครเรื่องอุณรุท” ซึ่งได้นำมารวมพิมพ์ในครั้งนี้ด้วยแล้ว

บทพระราชนิพนธ์เรื่องอุณรุทนี้ แม้จะทรงกล่าวว่าเป็นเรื่อง “สมมุติไม่มี แก่นสาร” เพราะ “แก่น” ของเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักใคร่ของพระอุณรุทตัวละครเอก และการอวตารมาปราบยักษ์ของพระนารายณ์ก็ตาม แต่ “สาร” ซึ่งได้สอดแทรกเป็นสาระในเนื้อเรื่องนั้นทรงคุณค่ายิ่ง นอกจากบทกวีนิพนธ์อันงดงามแล้ว ยังทำให้ได้เข้าใจแง่คิดมุมมองของยุคสมัย ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีวิถีชีวิต และการเรียงถ้อยร้อยภาษากลอนบทละครในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งนับเป็นช่วงรอยต่อของวรรณกรรมสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์

สำหรับประวัติการพิมพ์นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้เรียบเรียงไว้ว่า บทพระราช นิพนธ์อุณรุทนี้ได้เคยแยกพิมพ์เป็นคราวๆ ไม่จบเรื่อง ดังนี้

“พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ มีอยู่ ๑๘ เล่มสมุดไทย เคยมีผู้นำออกตีพิมพ์จำหน่ายแล้ว เท่าที่เคยพบฉบับตีพิมพ์ ปรากฏว่า ตั้งแต่เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๘ สมุดไทย หรือตั้งแต่หน้า ๑ ถึงหน้า ๒๕๒ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์นายเทพ ที่แพตรงข้ามหน้าสกูลสุนันทาลัย เมื่อ ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) ตั้งแต่เล่ม ๙ ถึงเล่ม ๑๐ สมุดไทย หรือตั้งแต่หน้า ๒๕๓ ถึงหน้า ๓๗๖ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิท บางคอแหลม เมื่อ จ.ศ. ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗) และตั้งแต่เล่ม ๑๓ ถึงเล่ม ๑๘ สมุดไทย หรือตั้งแต่หน้า ๓๗๗ ถึงหน้า ๕๒๒ ตีพิมพ์ที่ โรงพิมพ์นายเทพ แสดงว่าได้ตีพิมพ์มาแล้ว ๒ ครั้ง”

ส่วนที่เคยพิมพ์รวมเล่มนั้น ได้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องยาวจึงได้ตัดพิมพ์ตั้งแต่ตอนที่ ๑ ท้าวกรุงพาณเล่นสระอโนดาต - ตอนที่ ๒๐ ศุภลักษณ์อุ้มสม ส่วนการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นการพิมพ์รวมเล่มตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องครั้งแรก ได้จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสุวรรณ วิชัยดิษฐ์ ซึ่งในการตรวจสอบชำระครั้งนี้กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นางดาวรัตน์ ชูทรัพย์ นักอักษรศาสตร์ ๗ ว. กลุ่มภาษาและวรรณกรรม เป็นผู้ตรวจสอบชำระ โดยได้ใช้ ต้นฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ดังกล่าว ตรวจสอบชำระกับหนังสือสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ตามรายละเอียดในบทนำเรื่อง ในการตรวจสอบชำระพบว่าสิ่งที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมากในการจัดพิมพ์ครั้งก่อนนี้คือ การระบุเพลงหน้าพาทย์ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับกลอนบทละคร เพราะทำให้เห็นภาพลักษณ์ของนาฎการยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ชัดเจนขึ้น       จึงได้เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ตามต้นฉบับ ทั้งได้ตรวจสอบแก้ไขในจุดที่ผิดพลาดก่อน ๆ ให้ถูกต้องตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย และเรียบเรียงคำอธิบายเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้า

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือ ‘‘บทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอุณรุท” นี้จะอำนวยประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้สนใจวรรณคดีไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

กรกฎาคม ๒๕๔๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ