- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๑๘ พระอุณรุทขับไล่ธิดานครน้อยใหญ่ จนท้าวไกรสุทให้หายายมดมาขับผี
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกรสุทสุริย์วงศ์เรืองศรี |
ฟังสี่พี่เลี้ยงพาที | ภูมีนิ่งนึกตรึกไป |
เห็นอัศจรรย์วิปริต | ยิ่งคิดก็ยิ่งสงสัย |
ว่านิมิตก็ผิดประหลาดใจ | จะว่าจริงก็ใช่สถานการ |
เห็นจะเป็นด้วยรุ่นดรุณสวัสดิ์ั | กำหนัดในรสสงสาร |
คลับคล้ายหมายจริงในวิญญาณ | ประมาณนี้เห็นต้องทำนองความ |
อันจะแก้ด้วยอื่นหาคืนไม่ | จำจะให้เอาเสี้ยนบ่งหนาม |
จะจัดหากัลยาพะงางาม | มาดับความเดือดดิ้นให้ยินดี |
น่าที่จะหายคลายคลั่ง | ด้วยสมหวังสังวาสเกษมศรี |
คิดแล้วมีราชวาที | แก่เสนาผู้ปรีชาไว |
จงแต่งศุภลักษณ์อักษร | ไปทุกนครน้อยใหญ่ |
ใครมีธิดายาใจ | เร่งให้แต่งส่งเข้ามา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาธิบดีซ้ายขวา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ก็เขียนศุภสาราทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จแล้วส่งสารให้ | แก่ม้าใช้ผู้ชาญชัยศรี |
ท่านจงเร่งรีบจรลี | ไปทุกบุรีอันโอฬาร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีม้าใช้ใจหาญ |
ได้แจ้งแห่งข้อราชการ | รับสารออกจากพระโรงชัย |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลางพวกก็เดินด้วยบาทา | บ้างขี่นาวาน้อยใหญ่ |
บ้างขี่ช้างม้าอาชาไนย | แยกย้ายกันไปทุกธานี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้าไปเฝ้าบาท | กษัตราธิราชเรืองศรี |
ทูลถวายศุภสารทันที | แก่ภูมีร้อยเอ็ดพระพารา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายกษัตริย์สามนต์ถ้วนหน้า |
แจ้งสารพระผู้ผ่านณรงกา | มีใจปรีดาสถาวร |
ต่างแต่งพระธิดาดวงสวาท | งามวิลาศเลิศลักษณ์เพียงอัปสร |
บ้างทรงรถรัตน์กุญชร | นาวาบวรยวดยาน |
มอบให้มหาเสนา | กำกับทูตาผู้ถือสาร |
ถวายไปใต้เบื้องบทมาลย์ | พระผู้ผ่านโลกาธาตรี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาร้อยเอ็ดบุรีศรี |
รีบเชิญเสด็จพระบุตรี | ไปโดยวิถีต่างกัน |
ทั้งทางคงคาพนาลัย | มิได้พักพวกพลขันธ์ |
เดินทั้งกลางคืนกลางวัน | มาถึงพร้อมกันทุกพารา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
จึ่งส่งนางราชธิดา | เข้ามหานิเวศน์วังใน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นางท้าวเถ้าแก่ผู้ใหญ่ |
นำนางกษัตริย์ขึ้นไป | เฝ้าไทธิราชทรงธรรม์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านพิภพไอศวรรย์ั |
เห็นฝูงราชธิดาลาวัณย์ | อันทรงสิริโฉมประโลมลาน |
งามคมงามขำงามงอน | อรชรยั่วยวนสงสาร |
จำเริญเยาว์เสาวภาคย์ัพึงพาล | ประมาณได้สิบห้าสิบหกปี |
พิศผิวขาวเหลืองเรืองเรื่อ | นวลละอองผ่องเนื้อสองสี |
แลเลิศเพริศพริ้งทุกนารี | ควรที่ประดับพระลูกยา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ แล้วเสด็จย่างเยื้องยุรยาตร | กับองค์วรนาฏเสน่หา |
พาหมู่นางราชธิดา | ไปปราสาทลูกยาทันใด |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งบัญชาตรัส | ให้ฝูงนางกษัตริย์น้อยใหญ่ |
อยู่นอกปราสาทอำไพ | แล้วเสด็จเข้าในห้องมณี |
นั่งแนบแอบองค์โอรส | พระทรงยศบิตุเรศเรืองศรี |
จึ่งกล่าวสุนทรวาที | เจ้าดวงชีวีของบิดา |
เป็นไฉนพ่อมาคลั่งคลุ้ม | ร้อนรุ่มเศร้าโทมนัสสา |
ไม่สรงไม่เสวยโภชนา | นอนนิ่งโศกาจาบัลย์ |
จะถามเท่าไรไม่พาที | ผินผันพักตร์หนีแล้วหุนหัน |
พิโรธโกรธาจะฆ่าฟัน | เมียมิ่งสาวสวรรค์กำนัลใน |
เออทำดั่งนี้ดีฤๅ | จะให้ลือทั่วทิศน้อยใหญ่ |
เสียแรงพ่อหวังตั้งใจ | จะให้เป็นปิ่นธาตรี |
ควรฤๅมาเป็นพิกลจริต | ผิดเพศกษัตริย์เรืองศรี |
อันจะนิ่งคลุ้มคลั่งอยู่ดั่งนี้ | น่าที่บิตุเรศมารดา |
ก็จะแสนทุกข์กรอมผอมกาย | วางวายชีวีสังขาร์ |
ทั้งวงศานุวงศ์กษัตรา | จะพากันโศกศัลย์บรรลัย |
แม้นบอกออกความที่ทุกข์ร้อน | จะได้คิดผันผ่อนแก้ไข |
ถึงจะยากแสนยากประการใด | จะให้ได้สำเร็จบัดนี้ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังพระบิตุเรศพาที | ต้องที่ถวิลจินดา |
จึงน้อมเศียรทูลเบื้องบาทบงสุ์ | พระชนนีบิตุรงค์นาถา |
วันลูกไปตามมฤคา | แรมร่มฉายาพระไทร |
ได้ร่วมภิรมย์สมสวาท | ด้วยวรนาฏสนิทพิสมัย |
รุ่งขึ้นไม่เห็นอรไท | จริงใจฉะนี้พระทรงธรรม์ |
ได้บอกพี่เลี้ยงให้เที่ยวค้น | ต่างตนต่างว่านิมิตฝัน |
เมื่อตระหนักทักแท้สำคัญ | กลิ่นนั้นยังซาบทรวงมา |
ลูกจึ่งคลั่งไคล้ใหลหลง | พระบิตุรงค์จงโปรดเกศา |
แม้นมิได้ดวงแก้วแววตา | น่าที่จะม้วยชีวัน |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกรสุทบรมรังสรรค์ |
ฟังโอรสทูลรำพัน | ทรงธรรม์ตรัสปลอบเอาใจ |
เจ้าดวงชีวิตดวงเนตร | อย่าอาดูรพูนเทวษโหยไห้ |
ทุกข์แต่เพียงนี้มิเป็นไร | จะให้สำเร็จดั่งจินดา |
ซึ่งประสงค์อนงค์นารี | บัดนี้พ่อจัดไว้หนักหนา |
แต่ละองค์พื้นทรงลักขณา | เบญจกัลยาวิลาวัณย์ |
ล้วนลูกกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ดำรงพิภพไอศวรรย์ |
จะงามยิ่งกว่านางของเจ้านั้น | จงจัดสรรตามต้องหฤทัย |
ตรัสเแล้วมีราชวาที | แก่ท้าวนางทั้งสี่ผู้ใหญ่ |
ให้หาราชธิดาทุกกรุงไกร | มาในห้องแก้วแพรวพรรณ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางท้าวเถ้าแก่คนขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | ก็พากันเร่งรีบจรลี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงแจ้งกิจจา | แก่นางราชธิดาโฉมศรี |
ว่าพระองค์ผู้ทรงธรณี | ให้ข้านี้มาเชิญขึ้นไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงนางกษัตริย์น้อยใหญ่ |
ได้แจ้งรับสั่งภูวไนย | ก็บทจรเข้าไปตามกัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
ร่าย
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคม | แทบบาทพระบรมรังสรรค์ |
เฟี้ยมเฝ้าคั่งเคียงเรียงรัน | ในปราสาทสุวรรณรูจี |
งามเสงี่ยมเอี่ยมองค์อรชร | ดังอัปสรโฉมสวัสดิ์รัศมี |
ต่างชม้ายชายเนตรเป็นที | เหลือบแลพระศรีอุณรุท |
พ่างเพียงศรแผลงแย้งยิง | งามยิ่งยวนใจเป็นที่สุด |
ล้ำโฉมเทวามานุษย์ | ให้ซ่านซุดเสียวสิ้นวิญญาณ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
จึ่งมีสุนทรบัญชาการ | พ่อดวงชนมานบิตุรงค์ |
จงเลือกดูหมู่ราชบุตรี | ตามแต่เจ้ามีที่ประสงค์ |
ฤๅต้องใจไปสิ้นทุกองค์ | พ่อจำนงจงให้แก่ลูกยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังสมเด็จพระบิดา | ผ่านฟ้าเหลือบดูพระบุตรี |
ถ้วนทั่วทั้งร้อยเอ็ดองค์ | อันทรงวิลาสเฉลิมศรี |
เผอิญพระทัยไม่ไยดี | ดั่งเห็นยักขินีอสุรกาย |
ครั้นนางแลสบพระพักตร์เพศ | ให้ระคายเคืองเนตรไม่รู้หาย |
ยิ่งคลั่งคลุ้มรุ่มร้อนดั่งเพลิงพราย | เผาผิวพระกายเวทนา |
แค้นขัดตรัสไปด้วยวิปริต | ไม่คิดเกรงสองกษัตริย์นาถา |
เหม่เหม่นางราชธิดา | มาเย้ยเยาะข้าฤๅว่าไร |
ตรัสพลางฉวยชักพระขรรค์ | หุนหันอุตลุดลุกไล่ |
หวดซ้ายป่ายขวาวุ่นไป | ไม่เป็นอารมณ์สมประดี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หมู่ราชธิดามารศรี |
ตกใจกลัวม้วยชีวี | วิ่งหนีกระจัดพลัดพราย |
บ้างล้มปะทะปะกัน | หน้าซีดตัวสั่นขวัญหาย |
รองตรีดหวีดหวาดวุ่นวาย | แยกย้ายกันไปเป็นโกลา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระชนกชนนีนาถา |
เห็นโอรสไล่ฝูงกัลยา | สองกษัตริย์ออกมากั้นไว้ |
แล้วจูงกรพาไปที่ไสยาสน์ | ประคองสวาทด้วยแสนพิสมัย |
ตรัสปลอบโอนอ่อนเอาใจ | ไฉนพ่อคลั่งไคล้ดั่งนี้ |
ไม่อดสูหมู่ราชธิดา | อันเป็นวงศ์กษัตราเรืองศรี |
จงระงับดับใจไว้ให้ดี | พระพาทีวอนว่ารำพัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังพระบิตุรงค์ทรงธรรม์ | ถนอมขวัญพร้องพร่ำร่ำไร |
กำลังคลั่งคลุ้มรุ่มโรธ | จะเข้าใจเข้าโสตก็หาไม่ |
มิได้ตอบพจมานประการใด | จะรับโอวาทไว้ก็ไม่มี |
แต่ครวญคร่ำคำนึงถึงขวัญเนตร | อัคเรศผู้มิ่งมารศรี |
รสรักรึงร้อนอินทรีย์ | เพียงพิษนาคีระคายกาย |
ให้สะท้อนถอนใจจาบัลย์ | แสนกระสันแดเดือดไม่เหือดหาย |
วากเว้ระเหหนทุรนทุราย[๑] | เพียงทำลายชีพล้างชีวาลัย |
ไม่สมหมายสมมาดสวาทนาง | พระหมองหมางอาทวาน้ำตาไหล |
หลับเนตรลงแล้วก็นิ่งไป | มิได้พจนาพาที |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้ช้า
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
เห็นโอรสรักร่วมชีวี | มีแต่กันแสงโศกา |
มิได้พาทีสิ่งใดด้วย | ระทวยองค์พลิกพลิ้วแล้วนิ่วหน้า |
พิศพิศดูพักตร์พระลูกยา | ผ่านฟ้าพ่างเพียงจะขาดใจ |
พระชนนีโลมลูบปฤษฎางค์ | รับขวัญปลอบพลางโหยไห้ |
พระบิตุเรศเข้าประคองพระดนัย | ประทับไว้แล้วทรงโศกี |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จงระงับดับด้วยปรีชาชาญ | รังเกียจกาลปางไปพนาศรี |
แล้วจะต้องเจ้าป่าคีรี | บันดาลสมประดีให้พิกล |
จำจะหาออท้าวมาลงดู | ดีร้ายให้รู้เหตุผล |
เขาเล่าลือนับถือทุกคน | ทั่วทั้งสกลกรุงไกร |
แม้นต้องเทวาพนาลี | ก็จะคืนสมประดีขึ้นได้ |
คิดแล้วตรัสสั่งกำนัลใน | จงรีบไปหายายมดมา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลผู้มียศถา |
นบนิ้วรับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วออกมาทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งสั่งแก่โขลนคนใช้ | จงไปหายายมดซึ่งลงผี |
ให้รีบเข้ามาบัดเดี๋ยวนี้ | ตามมีพระราชโองการ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นางโขลนปากร้ายใจหาญ |
ได้ฟังก็รีบลนลาน | ไปบ้านยายมดดั่งบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงจึ่งบอกยายมดเฒ่า | ว่าพระผ่านเกล้าให้หา |
เข้าไปนิเวศน์อลงการ์ | อย่าช้าแต่ในบัดเดี๋ยวนี้ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมดเจนทำรำผี |
ฟังโขลนตกใจสิ้นที | เรียกสมุนอึงมี่วุ่นไป |
ฉวยได้โทนทับกับพัดตาล | ลนลานยื่นส่งให้บ่าวไพร่ |
พากันกับโขลนคลาไคล | ไปยังวังราชอันโอฬาร์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด เจรจา
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าบังคมเหนือเกศา |
หมอบอยู่ที่สุดออกมา | คอยฟังบัญชาพระทรงธรรม์[๒] |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจอมภพลบโลกรังสรรค์ |
จึ่งตรัสแก่ยายมดนั้น | ลูกเราไปอรัญกลับมา |
วิปริตคลั่งไคล้ใหลหลง | กูพะวงสงสัยหนักหนา |
จะถูกต้องสิ่งใดในหิมวา | จงทักมาให้แจ้งร้ายดี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมดคนทรงลงผี |
รับสั่งนบนิ้วอัญชุลี | ฉวยผ้านุ่งหยี่เข้าพันตัว |
เอาผ้าชมพูนั้นคล้องคอ | ขัดสมาธิยิ้มร่อแล้วเสยหัว |
ถือเทียนประนมห่มตัว | กระดิกเท้าสั่นรัวไปมา |
ทำผย่ำเผยอเรอหาว | ตัวสั่นเทาเทาส่ายหน้า |
ผุดลุกขึ้นรำเป็นโกลา | ลูกสมุนตีท้าทับไป |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวรำ เจรจา
๏ บัดนั้น | สมุนเคยรู้อัชฌาสัย |
ทำไหว้แล้วถามไปทันใด | ท่านมาแต่ไหนประหลาดนัก |
นามกรชื่อใดนะเทวา | ไฉนมากริ้วโกรธพิโรธหนัก |
จะประสงค์สิ่งใดสุรารักษ์ | บอกมาจักแต่งให้ทุกอัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมดแสนกลคนขยัน |
ฟังถามยิ่งทำเป็นขบฟัน | กลอกหัวตัวสั่นหนักไป |
อันเรานี้ฤๅย่อมลือเล่า | ชื่อว่าปู่เจ้าเขาใหญ่ |
น้อยใจด้วยลูกเจ้าเวียงชัย | ไปไล่ม้าเราแทบบรรดาตาย |
ไม่มีความเกรงแต่สักหนิด | น้อยจิตคิดแค้นไม่รู้หาย |
ถ้านบนอบชอบใจจะเคลื่อนคลาย | ว่าแล้วเดินกรายไปมา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หลานพระหริรักษ์นาถา |
ได้ยินยายมดเจรจา | ผ่านฟ้ากริ้วโกรธคือไฟ |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | ตวาดด้วยสิงหนาทหวั่นไหว |
เหม่เหม่อีเฒ่าจังไร | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
ศัพท์ไท
๏ ว่าเอ๋ยว่าแล้ว | ชักพระขรรค์แก้วฉายฉัน |
เลี้ยวไล่ฟาดฟัน | จะบั่นชีวา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
รื้อ
๏ อีเอยอีเฒ่า | เจ้าเล่ห์มากล่าวมุสา |
พกลมเจรจา | มายาพาที |
อี่ชาติจังไร | ช่างไม่บัดสี |
อวดว่าตัวดี | วิ่งหนีไปไย |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๏ อีเอยอีเฒ่า | ว่าเป็นปู่เจ้าเขาใหญ่ |
มึงมาลวงใคร | อีใจกระลี |
กูจะเอาพระขรรค์ | บั่นเกล้าเกศี |
อีมดอัปรีย์ | โกหกเจรจา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พระเอยพระเจ้า | จงได้โปรดเกล้เกศา |
ขอประทานชีวา | อย่าฆ่าราตี |
ยายมดทูลพลาง | วิ่งวางแล่นหนี |
ล้มลุกคลุกคลี | ร้องมี่วุ่นวาย |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพลบโลกทั้งหลาย |
เห็นองค์สมเด็จพระลูกชาย | ไล่ยายมดวิ่งลนลาน |
สองกษัตริย์เสด็จออกกางกั้น | รำพันว่าวอนด้วยอ่อนหวาน |
พ่อผู้ดวงชีพชนมาน | จะประหารยายมดเสียไย |
ถึงจะจริงจะเท็จก็ทำเนา | ภาษาเขาเขาว่าตามนิสัย |
เจ้าจงระงับดับใจ | มาไปบรรทมภิรมยา |
แล้วจูงกรขึ้นแท่นไสยาสน์ | สองราชเข้าประคองทั้งซ้ายขวา |
พิไรร่ำพร่ำปลอบไปมา | ให้เสวยโภชนาสาลี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี |
ค่อยคืนอารมณ์สมประดี | ชุลีกรกราบลงทันใด |
ความเกรงสองกษัตริย์สุดคิด | ดำรงจิตเสวยตามได้ |
แล้วยอกรกราบทูลสนองไป | ภูวไนยทุกข์ร้อนเพราะลูกยา |
ไม่ควรให้เคืองบทเรศ | โปรดเกศขอประทานโทษา |
บัดนี้สมประดีมีมา | ค่อยคลายอุราที่รุ่มร้อน |
ขอเชิญเสด็จเบื้องบาท | จอมนาถโมลิศอดิศร |
ไปยังปราสาทอลงกรณ์ | สถาวรเป็นสุขสำราญ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์มหาศาล |
ฟังราชโอรสพจมาน | ผ่านฟ้าสำคัญมั่นคง |
ว่าพระลูกรักเคลื่อนคลาย | เหือดหายคลั่งไคล้ใหลหลง |
จึ่งตรัสสั่งพี่เลี้ยงทั้งสี่คน | ให้ดำรงรักษาพระลูกยา |
อย่าให้ไปเที่ยวแห่งใดได้ | เร่งระวังระไวจงหนักหนา |
แม้นละให้เป็นเหตุมา | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวี |
สั่งเสร็จก็เสด็จยุรยาตร | กับองค์วรนาฏมเหสี |
พร้อมด้วยสนมนารี | ไปปราสาทมณีพรายพรรณ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระพี่เลี้ยงสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
รับสั่งพระองค์ทรงธรรม์ | ก็เกณฑ์พวกพลขันธ์โยธา |
ตั้งกองบริรักษ์กันกง | ล้อมวงนอกในแน่นหนา |
นั่งยามตามไฟตรวจตรา | รักษาลูกเจ้าธรณี |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้าปี่ลงโรง
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี[๓] |
ไสยาสน์เหนืออาสน์รูจี | มีแต่รำพึงคะนึงนาง |
มิได้บรรทมหลับสนิท | ทรงฤทธิ์ขุนข้องหมองหมาง |
แสนทวีเทวษไม่วายวาง | พ่างเพียงจะสิ้นชีวาลัย |
แต่พลิกกลับสับสนทุรนร้อน | รันทดทอดถอนใจใหญ่ |
โหยหวนครวญหาอรไท | ร่ำไรพิลาปโศกี |
โอ้สายสวาทของพี่เอ๋ย | ไฉนเลยจะพบโฉมศรี |
แสนลำบากยากใจในครั้งนี้ | แสนอนาถพ้นที่จะพรรณนา |
เวรใดจำให้มาจากเจ้า | โฉมเฉลาแน่งน้อยเสน่หา |
จะออกโอษฐ์สั่งแก้วแววตา | เจรจามิได้ก็จนใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
พญาโศก
๏ ปานฉะนี้เจ้าดวงชีวี | จะคิดถึงพี่บ้างฤๅไฉน |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | จะได้ข่าววนิดาวิลาวัลย์ |
แต่พระครุ่นครวญหวนถวิล | เดือดดิ้นฤๅทัยใฝ่ฝัน |
จนสิ้นแสงศรีสุริยัน | ก็จรจรัลจากห้องอลงกรณ์ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โอ้
๏ ขึ้นสถิตบัลลังก์ที่นั่งเย็น | ซึ่งเคยเล่นเป็นสุขสโมสร |
หวังภิรมย์ชมแสงจันทร | ดูดารากรให้คลายใจ |
เห็นพระจันทร์ยิ่งหวั่นถวิลนัก | คิดพักตร์เยาวยอดพิสมัย |
แสนทวีเทวษหนักไป | ฤๅทัยเร่าร้อนดั่งอัคคี |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งเสด็จย่างเยื้องยุรยาตร | จากบัลลังก์อาสน์มณีศรี |
นวยนาดวาดกรจรลี | ไปที่สวนสระปทุมมาลย์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ ยืนพินิจพิศดวงโกมล | หวังซาบเสาวคนธ์หอมหวาน |
ก็ไม่ชื่นรื่นรสผกากาญจน์ | พระพายพานอ่อนอ่อนยิ่งร้อนองค์ |
ให้เคลิ้มคลุ้มรุมทรวงดวงจิต | พระทรงฤทธิ์แสนคะนึงตะลึงหลง |
ก็กลับจากสวนสระบุษบง | ตรงมาห้องแก้วแววไว |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เอนองค์ลงที่ไสยาสน์ | กรก่ายวิลาสโหยไห้ |
พลิกกลับสับสนทุรนใจ | อาลัยโศกาจาบัลย์ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
[๑] แก้ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๕๕๓, ๕๕๖, ๕๕๗ และ ๖๓๑ ซึ่งตรงกันทุกฉบับ ฉบับพิมพ์ก่อนนี้เป็น “ว้าเหว่ระเหระหนทุรนราย”
[๒] จบต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๖๓๑ ขึ้นต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๕ และ ๖๓๒ สอบเทียบกับเลขที่ ๕๕๖ และ ๕๕๗
[๓] ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยฉบับอื่นอาทิ เลขที่ ๕๕๕ ๕๕๖ และ ๖๓๒ ใช้ท่วงทำนองโอ้ร่าย ซึ่งการตรวจสอบชำระแต่เดิมมาใช้ท่วงทำนองช้าปี่ลงโรง ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๗ ซึ่งเนื้อความในหนังสือสมุดไทยจะตรงกันทุกเล่ม ต่างกันที่เพลงหน้าพาทย์ไปจนหมดความในเล่ม ๘