ตอนที่ ๒๔ พระอุณรุทเสียทีถูกท้าวกรุงพาณจับตัวได้

๏ เมื่อนั้น ท้าวกรุงพาณราชยักษี
ได้ฟังลูกรักร่วมชีวี อสุรีกริ้วโกรธดั่งไฟกัลป์
จะไหม้มอดไปทั้งไตรจักร ฮึกฮักเฉียวฉุนหุนหัน
โจนจากแท่นแก้วแพรวพรรณ กุมภัณฑ์สำแดงแผลงฤทธา

ฯ ๔ คำ ฯ พิราบร้อน รัวสามลา รัวเข้าโรง

๏ สิบเศียรสิบหน้ายี่สิบกร สูงเยี่ยมอัมพรเวหา
สิบปากเขี้ยวงอกออกมา ยี่สิบตาดั่งดวงอโณทัย
แผดเสียงสิงหนาทตวาดร้อง กึกก้องฟากฟ้าดินไหว
กระทืบบาทครึกครั่นสนั่นไป ถึงเมรุไกรสัตภัณฑ์
มือหนึ่งนั้นจับพระแสงหอก แกว่งกลอกแพรวพรายฉายฉัน
มือสองฉวยเอาเกาทัณฑ์ มือสามคว้าพระขรรค์อันศักดา
มือสี่จับแกว่งพระแสงง้าว มือห้ากุมตาวอันคมกล้า
มือหกนั้นถือปืนยา มือเจ็ดคว้าจักรฤทธิรอน
มือแปดฉวยจับได้เสน่า มือเก้านั้นน้าวพระแสงศร
มือสิบหยิบได้คทาธร ทั้งยี่สิบกรครบครัน
สรรพด้วยอาวุธไม่ว่างเว้น โลดเต้นกวัดแกว่งดั่งจักรผัน
มันดีทีนี้จะเล่นกัน กูจะหั่นมิให้แค้นคอกา

ฯ ๑๒ คำ ฯ คุกพาทย์[๑]

๏ บัดนั้น กาลานุราชยักษา
ผู้เป็นเอกอัครเสนา เรืองฤทธิ์ศักดาปรีชาชาญ
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล นเรนทร์สูรธิราชมหาศาล
ซึ่งพระองค์ผู้ทรงสุธาธาร จะด่วนรอนราญไพรี
ข้าคิดเห็นประหลาดนัก พระทรงจักรจงโปรดเกศี
อันชายชู้พระราชบุตรี เห็นทีจะเรืองฤทธิไกร
น่าจะรู้เหาะเหินดำเนินฟ้า แต่โดยบาทาไม่มาได้
ซึ่งพระองค์จะยกพลไกร มาตรแม้นมีชัยก็ไม่งาม
ถ้าฉวยเพลี่ยงพล้ำจะซ้ำร้าย จะอับอายทั่วโลกทั้งสาม
อย่าหมิ่นพระทัยว่าชายทราม อันณรงค์สงครามจงยั้งคิด
จะทำโดยเล่ห์กลอุบาย ล้างด้วยแยบคายให้สนิท
อันสหายพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ ซึ่งสถิตบาดาลเวียงชัย
ขอให้ไปเชิญเสด็จมา เห็นว่าจะจับมนุษย์ได้
ซึ่งเกรงไพรีจะหนีไป จะล้อมไว้ด้วยพลโยธี

ฯ ๑๔ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น ท้าวพาณาสูรยักษี
ได้ฟังมหาเสนี อสุรีเห็นชอบทุกประการ
จึ่งตรัสสรรเสริญกาลราช มิเสียทีเป็นชาติมหาศาล
พร้อมทั้งสติปรีชาชาญ ควรสถานเอกอัครเสนา
ท่านจงรีบยกพลไกร ไปยังปราสาทอุษา
ล้อมไว้ด้วยเดชศักดา อย่าให้มันพากันหนีพ้น
อันเป็นทั้งนี้กูหลากนัก ดีร้ายอีศุภลักษณ์เป็นต้น
มันรู้ดำดินบินบน สื่อสนด้วยฤทธิเกรียงไกร
เห็นจะลอบลักชักพา เอาชู้ชายมาส่งให้
จับตัวมาทำให้หนำใจ ฆ่าเสียอย่าไว้ชีวิตมัน
อาลักษณ์จงเร่งแต่งสาร ลงลานนพมาศฉายฉัน
ให้กุมภินมารชาญฉกรรจ์ ลงไปเขตขัณฑ์นาคี
เชิญท้าวกำพลนาคราช ผู้ทรงอำนาจเรืองศรี
สหายรักกูร่วมชีวี ขึ้นมาบัดนี้อย่าช้า

ฯ ๑๔ คำ ฯ

๏ บัดนั้น อาลักษณ์ผู้มียศถา
ก้มเกล้ารับราชบัญชา ก็แต่งสาราด้วยปรีชาญ
เสร็จแล้วลงยังลานทอง[๒] ใส่กล่องแก้วพรายฉายฉาน
ส่งให้แก่กุมภินมาร โดยดั่งโองการอสุรี

ฯ ๔ คำ ฯ

๏ บัดนั้น กุมภินเสนายักษี
รับสารแล้วถวายอัญชุลี ก็แทรกพื้นปัฐพีลงไป

ฯ ๒ คำ ฯ กราว

๏ บัดนั้น กาลานุราชเสนาใหญ่
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร บังคมไหว้แล้วรีบออกมา

ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม

ยานี

๏ เกณฑ์หมู่อสูรเป็นสามกอง ลำพองฤทธิแรงแข็งกล้า
ขี่สัตว์จัตุบาทนานา นิมิตกายาพันลึก
นายขี่คชสีห์สิงหราช เผ่นผาดแผดร้องก้องกึก
พลขี่สิงโตโห่ฮึก บ้างขี่โคถึกเถลิงเปรียว
บ้างขี่คชาม้ามิ่ง อูฐกระทิงแรดร้ายควายเปลี่ยว
บ้างขี่ลาโล่โห่เกรียว ขี่เสือแยกเขี้ยวเหลือกตา
กองตระเวนคงคาบาดาล นายขี่ปลาวาฬตัวกล้า
พลขี่จระเข้เหรา ช้างน้ำโลมามังกร
ขี่ฉนากฉลามราหู ขี่เต่าขี่งูเงือกหงอน
ล้วนคณาปลาร้ายในสาคร เขี้ยวงาเงี่ยงงอนพิลึกลาน
อันกองกระเวนเวหน เกลื่อนกล่นผาดแผลงสำแดงหาญ
นายขี่หัสดินบินทะยาน พลขี่หงส์ห่านระเห็จฟ้า
ขี่กระตรุมเหนียงยานขวานแขวก[๓] ทิ้งทูดเค้าแสกแถกถา
บ้างขี่กดแดงแร้งกา เหยี่ยวร้าราร่อนว่อนไป
พื้นถือเครื่องสรรพอาวุธ สำแดงฤทธิรุทรหวาดไหว
บดบังแสงสุริโยทัย เร่งรีบพลไกรไปตามกัน

ฯ ๑๖ คำ ฯ กราวนอก

ร่าย

๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน จึ่งอำมาตย์มารชาญขยัน
ให้พลเดินเท้าทั้งนั้น ล้อมปราสาทสุวรรณพระบุตรี
รอบทั้งสามชั้นมั่นคง แต่ล้วนอาจองไม่ถอยหนี
คอยเขม้นเข่นฆ่าราวี ยักษีตั้งหมวดตรวจตรา

ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา

๏ บัดนั้น ฝ่ายนางศุภลักษณ์กรรฐา
แลเห็นพวกพลอสุรา มาล้อมปราสาทนงคราญ
ตกใจตัวสั่นขวัญหาย ดั่งจะวายชีวิตสังขาร
อกเอ๋ยครั้งนี้มิเป็นการ เห็นจะบรรลัยลาญชีวี
แลขึ้นไปดูโพยมหน เห็นพลล้วนขี่ปักษี
จำจะร่ายพระมนต์อันฤทธี หนีไปให้รอดชีวาลัย
คิดแล้วอ่านเวทกำบังตา ใครจะเห็นกายาก็หาไม่
เหาะระเห็จเตร็ดหนีด้วยฤทธิไกร ออกไปนอกขอบจักรวาล

ฯ ๘ คำ ฯ รัว เชิด[๔]

๏ เมื่อนั้น พระอุณรุทผู้ปรีชาหาญ
สถิตเหนือแท่นแก้วสุรกานต์ กับอุษาเยาวมาลย์วิไลวรรณ
ได้ยินสำเนียงโกลาหล สุธาดลอากาศหวาดหวั่น
พระเผยบัญชรแก้วแพรวพรรณ ทรงธรรม์เยี่ยมทอดทัศนา
เห็นพวกอสุราดาดาษ แวดล้อมปราสาทไว้แน่นหนา
แล้วแลขึ้นไปในท้องฟ้า เห็นหมู่อสุรารี้พล
ขี่วิหคนกพรรณต่างต่าง แออัดเกลื่อนกลางโพยมหน
บ้างผาดแผลงสำแดงฤทธิรณ แต่ละตนฮึกหาญจะราญรอน
พระแย้มยิ้มพริ้มพักตร์ภิรมยา ตรัสเรียกอุษาสายสมร
แก้วตามาดูพลากร ของพระบิดรเจ้าบัดนี้

ฯ ๑๐ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น นวลนางอุษามารศรี
ได้ฟังบัญชาพระสามี เทวีแลไปในเมฆา
เห็นมืดมิดทั่วทิศโพยมหน ล้วนพลเกลื่อนกลาดแน่นหนา
เยียดยัดอัดพื้นพสุธา ดั่งจะพลิกดินฟ้าภพไตร
สองกรนางปิดนัยน์เนตร อัคเรศซบพักตร์กันแสงไห้
พระทรงฤทธิ์จะคิดประการใด จะพากันบรรลัยครั้งนี้
อันพวกพลมารล้วนชาญยุทธ์ ฤทธิรุทรดั่งพญาราชสีห์
หยาบคายร้ายกาจใช่พอดี ไม่มีใครต้านทานทัน
โอ้ว่าสงสารพระเยาวราช จะมาม้วยชีวาตม์เพราะเมียขวัญ
นางแสนโศกาจาบัลย์ รำพันกับบาทพระภัสดา

ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด

๏ เมื่อนั้น พระอุณรุทสุริย์วงศ์นาถา
รับขวัญพลางปลอบกัลยา แก้วตาอย่าโศกาลัย
สาอะไรกับพลเท่านี้ ไหนจะต่อฤทธีของพี่ได้
โกฏิแสนแม้นมาสักเท่าใด จะบรรลัยชีวันไม่ครั่นกร
ตัวพี่ผู้เดียวจะเคี่ยวฆ่า ด้วยกำลังศักดาชาญสมร
ให้วินาศกลาดกลางดินดอน บังอรอย่ากลัวอสุรี
ตรัสพลางฉวยชักพระขรรค์เพชร เสด็จยืนโดยช่องบัญชรศรี
กวัดแกว่งสำแดงฤทธี ดั่งอัคคีแสงพรายกระจายฟ้า

ฯ ๘ คำ ฯ เชิด ฉิ่ง

๏ บัดนั้น ฝ่ายหมู่ทหารยักษา
เห็นแสงพระขรรค์อันศักดา บาดตาแปลบปลาบวาบพราย
ต่างตนต่างกลัวตัวสั่น กัมปนาทหวาดหวั่นใจหาย
อุตลุดซุดซานทั้งไพร่นาย กลัวตายทุกพวกพลมาร
บรรดาคชาม้ามิ่ง สารพัดสัตว์สิงตัวหาญ
ตื่นโจนโผนแผดเผ่นทะยาน อลหม่านแตกยับทั้งทัพชัย

ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์

๏ บัดนั้น กาลานุราชนายใหญ่
เห็นมนุษย์แผลงฤทธิ์เกรียงไกร พลมารแตกไปเป็นโกลา
พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท ผาดแผดสิงหนาทดั่งฟ้าผ่า
ด่าตีต้อนขับให้กลับมา พากันล้อมปราสาทไว้ทันที

ฯ ๔ คำ ฯ เชิด

๏ เมื่อนั้น นวลนางอุษามารศรี
เห็นฤทธิ์สมเด็จพระสามี ยินดีแล้วทูลวิงวอน
ซึ่งจะสังหารผลาญยักษ์ พระทรงจักรจงเงือดงดก่อน
เกลือกว่าสมเด็จพระบิดร ภูธรจะคลายโกรธา
จะเลิกพหลโยธี มิให้ราวีเข่นฆ่า
ตัวข้าผู้บาทบริจา จะได้ทูลบาทาสืบไป

ฯ ๖ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น พระภุชพงศ์ทรงเดชแผ่นดินไหว
ได้ฟังวนิดายาใจ ภูวไนยสวมกอดเทวี
มิเสียแรงที่เจ้าเกิดมา ยิ่งอนงค์นางฟ้าในราศี
ประกอบด้วยปรีชาปัญญาดี พาทีนี้ต้องคลองธรรม์
ตรัสพลางจูงกรวรนาฏ เข้าที่ไสยาสน์แล้วรับขวัญ
สมสนิทวนิดาดวงจันทร์ เกษมสันต์หลับไปทั้งสองรา

ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม

๏ บัดนั้น ฝ่ายกุมภินมารยักษา
ครั้นถึงพิภพนาคา ก็ไปยังเสนาทันที

ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ

๏ แจ้งว่าสมเด็จพญามาร ผู้ผ่านรัตนาบุรีศรี
ใช้มาโดยราชไมตรี ก็ส่งสารสวัสดีให้ทันใด

ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา

๏ บัดนั้น จึ่งเสนานาคีผู้ใหญ่
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ ก็พาไปยังท้องพระโรงคัล

ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ

๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ ทูลพญาภุชฌงศ์รังสรรค์
บัดนี้พระสหายร่วมชีวัน ใช้ให้กุมภัณฑ์เสนี
จำทูลอักษรสารสวาสดิ์ มายังเบื้องบาทบทศรี
ก็คลี่ออกอ่านถวายทันที ในที่ท่ามกลางโยธา

ฯ ๔ คำ ฯ

ช้า

๏ ราชสารพระองค์มงกุฎเกศ อสุรินทร์เรืองเดชนาถา
ผู้ผ่านพิภพรัตนา เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร
จำเริญราชไมตรีศรีสวัสดิ์ โดยทางประดิพัทธ์พิสมัย
มาถึงพระสหายผู้ร่วมใจ อันเป็นใหญ่ในกรุงบาดาล
ด้วยบัดนี้มีทุกข์ทับอก แสนวิตกเร่าร้อนดั่งเพลิงผลาญ
เจ็บใจได้ความอัประมาณ ทั่วสถานฟากฟ้าธาตรี
ไม่มีผู้ใดจะช่วยคิด ทั้งญาติมิตรสุริย์วงศ์ยักษี
เห็นแต่พระสหายผู้ฤทธี เป็นที่ร่วมชีพชีวา
จะระงับดับเดือดร้อนได้ ให้วายทุกข์โทมนัสสา
พระองค์จงทรงพระเมตตา เชิญเสด็จขึ้นมายังเมืองมาร

ฯ ๑๐ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น ท้าวกำพลนาคใจหาญ
ได้ฟังทราบสิ้นในวิญญาณ ก็แจ้งว่าเกิดการกลีภัย
ด้วยพระธิดาดวงจิต จะคบชู้ชายสนิทพิสมัย
ใครหนออาจองทะนงใจ ทำได้ไม่เกรงอสุรี
อันในสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ จะหาญหักอาจใจก็ใช่ที่
หรือจะเป็นวิทยานาคี เทวเวศผู้มีฤทธา
ตัวกูจำจะรีบจร ช่วยร้อนพญายักษา
คิดแล้วโสรจสรงคงคา ทรงเครื่องรัตนาอลงการ
จับพระขรรค์ศักดาวราวุธ สำแดงฤทธิรุทรกำลังหาญ
แหวกห้วงมหาชลธาร ถีบทะยานไปกับอสุรี

ฯ ๑๐ คำ ฯ กลม เชิด

๏ เร็วเพียงกำลังลมพา ถึงกรุงรัตนาบุรีศรี
กรายกรย่างเยื้องจรลี ตรงเข้ายังที่พระโรงคัล

ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ

ร่าย

๏ เมื่อนั้น ท้าวพาณาสูรรังสรรค์
เห็นสหายรักร่วมชีวัน กุมภัณฑ์ชื่นชมภิรมย์ใจ
ดั่งหนี่งต้องแสงศรพิษ มีผู้เรืองฤทธิ์ช่วยถอนให้
โจนจากแท่นแก้วอำไพ เสด็จออกไปรับทันที

ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ

ช้า

๏ จูงกรขึ้นยังบัลลังก์รัตน์ ภายใต้เศวตฉัตรเฉลิมศรี
เคารพกันตามประเพณี ในที่ท่ามกลางเสนา
แล้วยักษีคิดแค้นแสนเทวษ ชลนัยน์คลอเนตรซ้ายขวา
ออกโอษฐ์รำพันบัญชา ตรัสเล่ากิจจาแต่ต้นไป
บัดนี้อุษายุพาพักตร์ ทำการทรลักษณ์ก็เป็นได้
คบชู้สู่สมภิรมย่ใจ จะเกรงกลัวใครก็ไม่มี
ชายนั้นหน่อท้าวไกรสุท ชื่อว่าอุณรุทเรืองศรี
อหังการ์หยาบช้าพาที อัปยศครั้งนี้เป็นสุดคิด
จึ่งให้ไปเชิญพระสหาย เพื่อนตายร่วมทุกข์ร่วมจิต
มาหวังช่วยจับปัจจามิตร ซึ่งมันทุจริตไม่กลัวภัย
เสี่ยงสับให้ยับทั้งกายา จึ่งสมน้ำหน้าที่หยาบใหญ่
ตระเวนแล้วจึ่งฆ่าให้สาใจ พระสหายจงได้ปรานี

ฯ ๑๒ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น ท้าวกำพลนาคเรืองศรี
ได้ฟังพญาอสุรี โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์
เหม่เหม่มนุษย์อหังการ์ ไม่กลัวชีวาจะอาสัญ
แล้วว่าแก่พญากุมภัณฑ์ ข้อนั้นอย่าปรารมภ์ใจ
ข้าจะอาสาพระสหาย ไปผูกมัดรัดกายมาให้ได้
ว่าแล้วผาดแผลงฤทธิไกร เป็นใยปลิวไปโดยอัมพร

ฯ ๖ คำ ฯ เชิด

๏ ครั้นถึงซึ่งราชนิเวศน์ ยุพเรศอุษาสายสมร
ก็เลื้อยลอยเข้าไปโดยบัญชร ยังแท่นบรรจถรณ์อลงการ

ฯ ๒ คำ ฯ แผละ

๏ รัดองค์พระอุณรุทได้ ด้วยเดชฤทธิไกรกำลังหาญ
แล้วพาระเห็จเตร็ดทะยาน มายังสถานอสุรา

ฯ ๒ คำ ฯ เชิด

๏ เมื่อนั้น ท้าวพาณาสูรยักษา
เห็นพญาภุชงค์ผู้ศักดา มัดมนุษย์มาก็ดีใจ
ยี่สิบหัตถ์ตบหัตถ์ฉัดฉาน เสียงสะท้านฟากฟ้าดินไหว
สิบปากสรวลสันต์สนั่นไป สรรเสริญฤทธิไกรสหายรัก
มิเสียทีที่ทรงอานุภาพ อาจปราบได้ไปทั้งไตรจักร
ตรัสพลางแย้มยิ้มพริ้มพักตร์ ขุนยักษ์เสด็จออกมา

ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ

เย้ย

๏ จึ่งมีบรรหารสิงหนาท บริภาษพาทีชี้หน้า
เหวยเหวยมนุษย์อหังการ์ ไม่กลัวว่าชีวันจะบรรลัย
ยกเนื้อยอตัวให้เกินพักตร์ อ้างอวดฮึกยักหยาบใหญ่
โอหังเย่อหยิ่งจะชิงชัย เป็นไรจึ่งไม่แผลงฤทธิ์
ให้ยองใยไปมัดรัดมา ดั่งว่าลูกไก่กระจิดหริด
ทีนี้เห็นจะสิ้นชีวิต หรือจะคิดต่อสู้กับหมู่ยักษ์
ดูหมิ่นกันเล่นแล้วมิหนำ กลับซํ้ารอนราญหาญหัก
เป็นไรไม่ทำคึกคัก มานั่งก้มพักตร์ไม่เจรจา
นี่หรือเจ้าหน่อภุชพงศ์ สุริย์วงศ์จักรกฤษณ์นาถา
รูปร่างดั่งหนึ่งเทวา จะมาเป็นเขยข้าหรือว่าไร[๕]

ฯ ๑๐ คำ ฯ กราวรำ เจรจา

ร่าย

๏ แล้วตรัสแก่พญานาคี เราจะทำกระนี้ก็มิได้
แม้นจักฆ่าเสียให้บรรลัย จะลับไปไม่ได้ความเจ็บอาย
จำจะประจานจงสามารถ ให้รู้ทั่วโลกธาตุทั้งหลาย
ทารกรรมให้ลำบากกาย กว่ามันจะวายชีวา
จะได้ลือชาปรากฏ ไปทั่วทั้งทศทิศา
ฝูงมนุษย์ครุฑนาคเทวา เบื้องหน้าจะไม่ดูเยี่ยงมัน
พระสหายผู้เรืองฤทธิไกร จงเอาไปรึงรัดไว้ให้มั่น
ยังยอดปราสาทพรายพรรณ ให้สาใจมันอ้ายอัปรีย์

ฯ ๘ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น ท้าวกำพลนาคเรืองศรี
ได้ฟังบรรหารอสุรี ก็พาองค์ภูมีขึ้นไป

ฯ ๒ คำ ฯ เชิด

๏ ผูกมัดรัดรึงตรึงมั่น ด้วยขนดกายอันยาวใหญ่
กับยอดปราสาทอำไพ มิให้ไหวติงกายา

ฯ ๒ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น ท้าวพาณาสูรยักษา
เห็นสหายรักร่วมชีวา พาเอาชายชู้พระบุตรี
ขึ้นไปมัดไว้ด้วยอำนาจ ยังยอดปราสาทมณีศรี
มีความโสมนัสพันทวี อสุรีสำรวลสำราญใจ

ฯ ๔ คำ ฯ

๏ บัดนั้น กาลานุราชนายใหญ่
ครั้นพญานาคมัดมนุษย์ไป ก็เลิกพลไกรกลับมา

ฯ ๒ คำ ฯ เชิด


[๑] ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๑ ใช้เพลงพันพิราบ

[๒] ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๑ และ ๕๖๙ เป็น “เสร็จแล้วลงยังแผ่นทอง”

[๓] กระตรุม แก้ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๕๖๑ และ ๕๖๙ หมายถึง นกตะกรุม

[๔] ฉบับพิมพ์ก่อนนี้ใช้เพลงตระ เชิด ไม่ตรงกับในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ซึ่งในเลขที่ ๕๖๑ เดิมใช้ ตระ กราว แล้วแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยดินสอขาวเป็นรัว เชิด ส่วนเลขที่ ๕๖๓ เดิมไม่มีบอกเพลง แต่มีการเขียนเพิ่มเติมด้วยดินสอขาวว่า เชิดฉิ่ง กราว

[๕] ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยทั้งสองฉบับเลขที่ ๕๖๑ และ ๕๖๙ เดิมเป็น “จะมาเป็นเขยกูหรือว่าไร” และได้มีการแก้ไขด้วยดินสอขาวในต้นฉบับว่า “จะมาเป็นเขยข้าหรือว่าไร”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ