- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
ตอนที่ ๒๘ การรบที่เขาอังชัน
๏ สถิตเหนือแท่นรัตน์ชัชวาล | เคียงองค์เยาวมาลย์เสน่หา |
เล่าความตามได้จำนรรจา | โต้ตอบอสุราอาธรรม์ |
พี่ก็ได้งอนง้อขอโทษ | ยิ่งกริ้วโกรธว้าวุ่นหุนหัน |
ถึงพรหมลิขิตของกุมภัณฑ์ | จะสิ้นชีวาสัญในวันนี้ |
ขอเชิญโฉมเฉลาเยาวเรศ | ขวัญเนตรมาไปด้วยพี่ |
ยังเขาอังชันคีรี | เป็นที่รณรงค์รอนราญ |
ตรัสแล้วก็โอบอุ้มองค์ | พระอนงค์เยาวยอดสงสาร |
สำแดงเดชเหาะระเห็จเตร็ดทะยาน | ไปสถานอังชันบรรพตา |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษา |
เห็นมนุษย์องอาจอหังการ์ | อุ้มราชธิดาเหาะไป |
ทวยหาญห้อมล้อมอยู่เกลื่อนกลาด | ก็ไม่อาจกั้นกางขวางได้ |
อสุรีกริ้วโกรธคือไฟ | จะลามไหม้โลกาธาตรี |
ขับพญามหาเมฆกุญชร | เร่งหมู่นิกรยักษี |
แน่นพื้นอากาศปัฐพี | ตรงไปคีรีอังชัน |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึงหยุดคเชนทร์ทรง | เห็นองค์อุณรุทรังสรรค์ |
กับพระบุตรีวิไลวรรณ | ยืนอยู่ด้วยกันบนบรรพต |
ท่วงทีอาจองทะนงหาญ | พญามารกริ้วโกรธดั่งไฟกรด |
ร้องสั่งเสนีอันมียศ | ให้เร่งทศโยธาเข้าราวี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | รณพักตร์เสนายักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | ก็เร่งพลโยธีเข้าชิงชัย |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่มารทหารน้อยใหญ่ |
ต่างตนแผลงฤทธิเกรียงไกร | ถาโถมเข้าไปเป็นโกลา |
บ้างเข้าง้างเอาสิงขร | บ้างถอนเอาต้นพฤกษา |
ฟาดทิ้งด้วยกำลังศักดา | ไล่พิฆาตเข่นฆ่าราวี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์เรืองศรี |
เห็นพวกพหลโยธี | กรูกันอึงมี่เข้าราญรอน |
พระยืนอยู่เหนือพื้นศิลาลาด | องอาจดั่งพญาไกรสร |
ชักพระขรรค์แก้วสำหรับกร | รับรันฟันฟอนอสุรา |
อันนายใหญ่ชื่อว่ารณพักตร์ | กับพวกพลยักษ์กองหน้า |
ก็สุดสิ้นชีวิตด้วยฤทธา | หลานพระจักราธิบดี |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษี |
แลเห็นรณพักตร์เสนี | กับหมู่โยธีบรรลัยลาญ |
จึ่งชักศรสาตร์พาดสาย | หมายล้างชีวิตสังขาร |
น้าวหน่วงด้วยกำลังชัยชาญ | ขุนมารก็ผาดแผลงไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ศรนั้นบันดาลเป็นเพลิงกรด | ล้อมรอบบรรพตเขาใหญ่ |
รุ่งโรจน์โชติป่าพนาลัย | จะลามไหม้เอาองค์พระยอดฟ้า |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หลานพระหริรักษ์นาถา |
เห็นกรุงพาณผาดแผลงศรมา | เป็นเพลิงแรงแสงกล้าดั่งไฟกัลป์ |
ไม่ครั่นคร้ามขามฤทธิ์ขุนยักษ์ | พระหัตถ์ฉวยชักพระแสงขรรค์ |
เสด็จเหนือยอดเขายืนยัน | ทรงธรรม์กวัดแกว่งไปมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ด้วยเดชพระแสงสุรกานต์ | บันดาลเป็นฝนแสนห่า |
ตกลงมาแต่เมฆา | ดับไฟพญาอสุรี |
แล้วไหลหลั่งดั่งห้วงสมุทรไท | ไปท่วมพลไกรยักษี |
ทั้งหมู่คชาพาชี | ว่ายวนชลธีแหลกลาญ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรใจหาญ |
เห็นหมู่พหลพลมาร | บ้างวายปราณบ้างว่ายในสายชล |
ยิ่งกริ้วกราดผาดแผดสุรเสียง | สำเนียงพิลึกโกลาหล |
เงื้อง่าจักรแก้วฤทธิรณ | ขว้างไปเบื้องบนโพยมพราย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จักรเป็นลมกาฬพานพัด | กำจัดห้วงน้ำแห้งหาย |
แล้วสำแดงเดชกลับกลาย | เป็นนาคตัวร้ายอเนกนันต์ |
เลื้อยเลิกพังพานพ่นพิษ | ดังเพลิงชวลิตฉายฉัน |
จะเข้ารวบรัดองค์พระทรงธรรม์ | ด้วยเดชกุมภัณฑ์อันเกรียงไกร |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์ทรงฤทธิ์แผ่นดินไหว |
เห็นหมู่นาคราชกลาดไป | ทั้งในพ่างพื้นอัมพร |
ก็กวัดแกว่งพระแสงขรรค์แก้ว | เป็นประกายพรายแพร้วประภัสสร |
แล้วขว้างออกไปจากกร | ด้วยกำลังฤทธิรอนอันศักดา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พระขรรค์ชัยไปเป็นพญาครุฑ | ฉวยฉุดจับนาคเป็นภักษา |
สูญหายวายชีพชีวา | แล้วกลับมายังกรพระภูมี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษี |
เห็นพระขรรค์เป็นสุบรรณสกุณี | ฉาบโฉบนาคีบรรลัยลาญ |
ยิ่งเคืองแค้นแสนโทมนัสนัก | ด้วยแพ้ฤทธิ์สิทธิศักดิ์กำลังหาญ |
กรกรายขอแก้วสุรกานต์ | ขับคชาธารเลิศไกร |
โรมรุกบุกฟ้าขึ้นหน้าพล | เสียงคำรนโกญจนาทหวาดไหว |
ทะยานย่างวางวู่เข้าไป | หมายให้โถมแทงภูธร |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์อวตารชาญสมร |
เห็นท้าวยักษียี่สิบกร | ขับพญากุญชรเข้ามา |
จึ่งถอดซึ่งเทพธำมรงค์ | สอดทรงนิ้วพระหัตถ์เบื้องขวา |
ออกคำรพนบคุณพระอัยกา | แล้วผ่านฟ้าก็ขว้างไปทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แหวนแก้วขององค์พระทรงครุฑ | สำแดงฤทธิรุทแผ่นดินไหว |
สำเนียงครืนครั่นสนั่นไป | ดั่งเสียงบรรลัยลมกาฬ |
ตรงมาถูกพญามหาเมฆ | เอกอัครคเชนทร์ตัวหาญ |
ล้มลงกับพื้นสุธาธาร | บรรลัยลาญด้วยฤทธิ์ราวี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นแล้วพระธำมรงค์รัตน์ | เลื่อนลอยจำรัสรัศมี |
กลับมาสวมหัตถ์ดัชนี | หลานพระจักรีผู้ศักดา[๑] |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษา |
เสียช้างต้นเอกไอยรา | อันแกล้วกล้าเหี้ยมหาญชาญฉกรรจ์ |
เสียทั้งรถรัตน์อัสดร | อีกหมู่นิกรพลขันธ์ |
ดั่งว่าเสียชีพชีวัน | โรมรันผู้เดียวเปลี่ยวกาย |
เห็นมนุษย์ฤทธิไกรคือไฟกรด | ยิ่งหวาดหวั่นรันทดใจหาย |
จำกูจะดูแยบคาย | คิดแล้วอุบายถามไป |
เหวยเหวยดูก่อนอุณรุท | ได้เทพอาวุธมาแต่ไหน |
สังหารคชกรรม์เราบรรลัย | อาจใจทำได้ถึงเพียงนี้ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังวาจาอสุรี | ภูมีสรวลยิ้มพริ้มพักตร์ |
แล้วร้องว่าเหวยกรุงพาณ | อันแหวนสุรกานต์สิทธิศักดิ์ |
องค์นี้มีฤทธิ์ประเสริฐนัก | ของพระหริรักษ์จักรา |
เมื่อครั้งเสด็จมานั้น | ทรงธรรม์พบท่านบนเวหา |
ก็ได้ตรัสแจ้งกิจจา | ว่าเป็นนารายณ์อวตาร |
ลงมากำจัดสัตว์บาป | ซี่งร้ายหยาบอิจฉาโมหาหาญ |
ให้เย็นยุคเป็นสุขสำราญ | ทั่วสถานภพแผ่นแดนไตร |
ตัวท่านเป็นพาลหยาบช้า | จะเชื่อฟังบัญชาก็หาไม่ |
เราเป็นหลานรักร่วมใจ | ภูวไนยธิราชจักรี |
จึ่งประทานซึ่งเทพอาวุธ | อันทรงฤทธิรุทรเรืองศรี |
ไว้หวังสังหารชีวี | ท่านนี้ให้บรรลัยลาญ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรใจหาญ |
ได้ฟังเรื่องรสพจมาน | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วตอบไป |
เหวยเหวยดูก่อนมนุษย์ | ยกวงศ์นี้สุดสูงใหญ่ |
อวดอ้างช่างไม่อายใจ | คือใครจะเชื่อวาจา |
นี่ฤๅหลานองค์พระทรงนาค | ฤทธิรุทรภุชภาคย์นาถา |
เป็นไรจึ่งให้นาคา | รัดพาไปได้ในอัมพร |
ไม่ทำศักดาอานุภาพ | ปราบแต่นาคนั้นให้ได้ก่อน |
นี่หากเรางดลดกร | ไม่ราญรอนจึ่งรอดชีวัน |
ถึงท้าวจักรกฤษณ์สุริย์วงศ์ | ว่าเป็นองค์นารายณ์รังสรรค์ |
หากความคิดดีหนีทัน | หาไม่ชีวันจะมรณา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทภุชพงศ์นาถา |
ได้ฟังบรรหารอสุรา | ผ่านฟ้าจึ่งตรัสตอบไป |
เหวยเหวยดูก่อนขุนมาร | ยังฮึกหาญด้านว่าก็เป็นได้ |
เมื่อเห็นตระหนักประจักษ์ใจ | ไม่เชื่อวาจาพาที |
ทำไมสุริย์วงศ์พระทรงสังข์ | ไม่พลาดพลั้งบ้างเลยฤๅยักษี |
ครั้งนารายณ์เป็นพระรามจักรี | ไปสังหารอสุรีในลงกา |
ส่วนองค์พระลักษมณ์นุชนาถ | ก็ต้องศรนาคบาศยักษา |
แก้ได้ไม่สิ้นชีวา | กลับฆ่าอาธรรม์บรรลัยลาญ |
ซึ่งความเวทนาดั่งนี้ | ย่อมมีทั่วโลกทุกสถาน |
อันองค์พระลักษมณ์ชัยชาญ | ใช่น้องพระอวตารฤๅว่าไร |
ท่านนี้ถึงที่พรหมลิขิต | จึ่งมืดมิดหาเชื่อฟังไม่ |
จงคืนเข้ารัตนากรุงไกร | สั่งสนมกรมในแลเสนา |
เสร็จแล้วจึ่งออกมาต่อสู้ | กับตัวกูผู้หลานพระนาถา |
จะสังหารผลาญเสียด้วยศักดา | ให้สิ้นชีวาในวันนี้ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ได้ฟังดั่งสายอสุนี | ฟาดต้องอินทรีย์ขุนมาร |
เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันครั่นครึก | เหี้ยมฮึกตบหัตถ์ฉัดฉาน |
เหวยเหวยมนุษย์สาธารณ์ | อหังการให้เกินพักตรา |
ถ้อยคำร่ำอ้างอวดรู้ | ทั้งขู่ทั้งลวงได้ซึ่งหน้า |
จะให้กลับเข้านิเวศน์สวรรยา | อยู่หลังจะได้พากันหนีไป |
ว่าพลางเหลือบเห็นพระบุตรี | อสุรีกริ้วโกรธดั่งเพลิงไหม้ |
เหม่อีอุษาจัญไร | ดูดู๋เป็นได้ช่างไม่คิด |
เสียแรงที่กูบำรุงเลี้ยง | พ่างเพียงสืบสายโลหิต |
ความรักเปรียบปานชีวิต | แสนถนอมเป็นนิจดั่งดวงตา |
ทีนี้จะประจักษ์ว่ารักตอบ | คิดชอบแทนคุณพ่อหนักหนา |
มึงหักจิตคิดล้างบิดา | จึ่งตามชายมาได้ดั่งนี้ |
แม้ว่าชีวันกูบรรลัย | จะร้องไห้ฤๅจะสรวลเกษมศรี |
อีลูกทรลักษณ์อัปรีย์ | ดีแล้วจะได้เห็นกัน |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางอุษาสาวสวรรค์ |
ได้ฟังบิตุเรศรำพัน | กัลยาสลดระทดใจ |
คิดความยามท้าวอุปถัมภ์ | กลั้นน้ำเนตรไว้มิใคร่ได้ |
นบนิ้วขึ้นแล้วก็ทูลไป | ภูวไนยของลูกคือโมลี |
อันพระคุณซึ่งการุญรัก | ได้เป็นหลักชุบเกล้าเกศี |
หนักยิ่งแผ่นฟ้าธาตรี | ไม่มีสิ่งซึ่งจะเปรียบปาน |
ใช่ลูกไม่คิดถึงบิตุเรศ | ซึ่งโปรดเกศชูชีพสังขาร |
แต่ทำชั่วกลัวเบื้องบทมาลย์ | เป็นการจนใจก็จำมา |
จะใคร่ได้รองละอองบาท | จึ่งอ้อนวอนภูวนาทให้ไปหา |
อ่อนง้อขอโทษพระบิดา | ผ่านฟ้าสลัดตัดไป |
ลูกเป็นสตรีนี้จนจิต | มิรู้ที่จะคิดทำไฉน |
แม้นพระองค์สู่สวรรคาลัย | ลูกจะร่ำร้องไห้เพียงวายปราณ |
ทูลกระหม่อมก็เป็นจอมอสุเรศ | เรืองเดชปรีชากล้าหาญ |
จงงดโทษดับโกรธในสันดาน | ระงับการเข่นฆ่าราวี |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษี |
ฟังรสพจมานพระบุตรี | ยิ่งทวีความโกรธพิโรธนัก |
ดั่งรุ่มร้อนพิษศรแล้วมิหนำ | มีผู้มาซ้ำด้วยคมจักร |
ความแค้นแน่นทรวงพญายักษ์ | มิได้ดูพักตร์พระธิดา |
จึ่งมีสิงหนาทบรรหาร | เหวยอีสาธารณ์อุษา |
ลิ้นลมคมสันพรรณนา | กล่าวแกล้งแต่งว่าทุกสิ่งไป |
มึงเห็นว่ากูจะแพ้ฤทธิ์ | มนุษย์ทุจริตฤๅไฉน |
อีลูกทรลักษณ์จังไร | กูจะฆ่าให้ม้วยไปด้วยกัน |
ว่าพลางผาดแผลงฤทธิรุทร | กวัดแกว่งอาวุธดั่งจักรผัน |
โจนขึ้นยังเขาอังชัน | เข้าไล่โรมรันราวี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุททรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นยักษาถาโถมเข้าโจมตี | ภูมีรับรอต่อกร |
โจนขึ้นเหยียบเข่ายืนหยัด | แกว่งพระขรรค์เพชรรัตน์ประภัสสร |
หวดถูกกรุงพาณฤทธิรอน | กายขาดสองท่อนด้วยศักดา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรยักษา |
มิได้สิ้นชีพชีวา | กลับเป็นขึ้นมาสองตน |
ยี่สิบหัตถ์กวัดแกว่งอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรกุลาหล |
ขบเขี้ยวเคี้ยวกรามคำรามรน | เข้าไล่ประจญโรมรัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
องค์เดียวรับสองกุมภัณฑ์ | ทั้งประคองป้องกันวนิดา |
ได้ทีเผ่นโผนเข้าโจมจับ | กลอกกลับสัประยุทธ์ทั้งซ้ายขวา |
หมายมาดจะพิฆาตอสุรา | ผ่านฟ้าก็หวดไปทันที |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องกายพินาศขาดกระเด็น | กลับเป็นขึ้นสี่ยักษี |
พระผลาญ่ไม่วายชีวี | เป็นแปดอสุรีเข้าชิงชัย |
ยิ่งฆ่ายิ่งเป็นจนถึงพัน | กลุ้มกันถาโถมโจมไล่ |
เอิกเกริกฟากฟ้าสุราลัย | ภูวไนยฟันฟอนรอนราญ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพาณาสูรใจหาญ |
ทั้งพันตนฤทธิไกรชัยชาญ | โลดโผนโจนทะยานเข้าราวี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างฉะบ้างแทงแย้งยุทธ์ | อุตลุดอื้ออึงคะนึงมี่ |
บ้างพุ่งบ้างซัดเป็นโกลี | อสุรีรบชิดติดพัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ผู้เดียวหักโหมโรมรัน | เห็นมันไม่เบาบางตา |
ยิ่งฆ่ายิ่งเป็นทวีไป | ภูวไนยเหนื่อยพักตร์หนักหนา |
ทั้งพะวงด้วยองค์วนิดา | จะหิวโหยโรยรากำลังนัก |
จำจะใช้พระขรรค์ชัยชาญ | ให้อยู่ต่อต้านหาญหัก |
จะพาโฉมยงนงลักษณ์ | ไปหยุดพักสระสรงวารี |
คิดแล้วจึ่งตั้งวจีสัตย์ | เสี่ยงพระขรรค์เพชรรัตน์เรืองศรี |
เดชะบุญญาบารมี | ข้าที่เป็นวงศ์พระทรงครุฑ |
จะปราบหมู่อิจฉาสาธารณ์ | พวกพาลอสุรินให้สิ้นสุด |
ด้วยเดชศักดาวราวุธ | แทนพระจักรภุชอวตาร |
บำรุงโลกให้เย็นเป็นสุข | ในทวาบรยุคทุกสถาน |
ขอพระขรรค์แก้วสุรกานต์ | จงบันดาลเป็นหมู่วิชาธร |
ดั่งมีวิชาสามารถ | องอาจแกล้วหาญชาญสมร |
อยู่รณรงค์ราญรอน | ต่อกรกับพวกกุมภัณฑ์ |
เสี่ยงเสร็จกวัดแกว่งพระแสงแก้ว | วาวแวววาบพรายฉายฉัน |
งามทีดั่งท้าวเทวัญ | ทรงธรรม์ขว้างไปด้วยศักดา |
ฯ ๑๖ คำ ฯ ตระ เชิด
๏ เดชะความสัตย์อธิษฐาน | พระแสงสุรกานต์คมกล้า |
เกิดขึ้นเป็นพวกวิทยา | โกฏิหนึ่งแน่นฟ้านภาลัย |
ล้วนแต่กรกุมพระขรรค์เพชร | เหาะระเห็จถาโถมโจมไล่ |
รอรับสัประยุทธ์ด้วยพวกภัย | ชิงชัยสังหารราญรอน |
ฯ ๔ คำ ฯ เ ชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบหัตถ์ชาญสมร |
แลไปเห็นหมู่วิชาธร | อึงอัดอัมพรแน่นนันต์ |
ฮึกฮึกหักเข้ามาราวี | อสุรีกริ้วโกรธหุนหัน |
เหม่อ้ายวิทยาอาธรรม์ | เหตุใดพากันอหังการ์ |
แต่ก่อนบ่ห่อนองอาจ | ครั้งนี้ประหลาดหนักหนา |
ไม่เกรงกูผู้ทรงศักดา | อวดกล้าเกินพักตร์หนักไป |
ความโกรธมนุษย์ก็สุดแสน | จะแค้นเท่าวิทยาก็หาไม่ |
มันเห็นกูจะแพ้ฤๅว่าไร | จึ่งไปประสมด้วยไพริน |
ดีแล้วจะเป็นไรมี | กูจะผลาญชีวีเสียจงสิ้น |
ให้หัวขาดกลาดอยู่กับกลางดิน | จึ่งสาที่หมิ่นมือมาร |
ว่าพลางอสุราทั้งห้าพัน | พร้อมกันผาดแผลงสำแดงหาญ |
ต่างตนเผ่นโผนโจนทะยาน | เข้ารอนราญเข่นฆ่าราวี |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอุณรุทภุชพงศ์เรืองศรี |
เห็นหมู่กรุงพาณอสุรี | เข้าต่อตีด้วยพวกวิทยา |
รับกรกันเป็นหมู่หมู่ | ท่วงทีน่าดูหนักหนา |
จึ่งอุ้มองค์อัคเรศวนิดา | เหาะไปหิมวาพนาลัย |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
สระบุหร่ง
๏ ลงยังฝั่งสระมุจลินท์ | แทบเชิงสิขรินทร์สูงใหญ่ |
ที่นั้นสะอ้านสำราญใจ | ประดับด้วยมิ่งไม้หลายพรรณ |
บ้างทรงผลปนผการะย้าย้อย | ดั่งแกล้งร้อยกรองติดประดิษฐสรรค์ |
แดงม่วงดวงเหลืองสลับกัน | เป็นพวงพันช่อช้อยอรชร |
ประยงค์ปีบจำปามหาหงส์ | ลมชวยรวยส่งเกสร |
พลับทองพลองหว้าอุทุมพร | แก่อ่อนสุกห่ามอร่ามเรือง |
คณานกผกบินมากินผล | ทุกต้นจับอึงคะนึงเนื่อง |
บ้างโจนไปร่ายมาอเนกเนือง | ยูงเยื้องลีลาน่าดู |
สาลิกาแขกเต้าดุเหว่าแว่ว | สกุณแก้วจับเรียงเคียงคู่ |
เบญจวรรณโนรีสีชมพู | พระชี้ให้โฉมตรูทัศนา |
นางกินนรร่อนพากันมาสรง | รูปร่างเอวองค์ดั่งเลขา |
ชมพลางทางชวนวนิดา | ลงสรงคงคาชลาลัย |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลง
พระทอง
๏ ชำระกายในสายกระแสสินธุ์ | วารินบริสุทธิ์เย็นใส |
ทรายทองกรวดแก้วแววไว | แลเลื่อมอำไพพรายพรรณ |
มีกอโกสุมปทุมมาศ | ขาวแดงดาดาษหลายหลั่น |
จงกลนีนีลุบลแกมกัน | อรชรซ้อนชั้นประชุมบาน |
บ้างร่วงเรณูนวลละอองโอช | พระพายพาสาโรชหอมหวาน |
บ้างผุดแซมแย้มสร้อยผกากาญจน์ | ตูมแนมแกมก้านบังใบ |
ฝูงปลาคลาเคล้าเห็นตัว | แหวกว่ายแอบบัวอยู่ไหวไหว |
หงส์ทองท่องท้องชลาลัย | เวียนไวไซ้กลีบปทุมา |
พระเด็ดดวงลินจงสุบงกช | อันรื่นรสให้ยอดเสน่หา |
แล้วแลลอดสอดชายนัยนา | ดูฝูงกินรานารี |
นางอุษาสรวลยิ้มพริ้มพราย | ช้อยชม้ายค้อนให้แล้วผันหนี |
พระรับขวัญแก้วกัลยาณี | ขัดสีลูบไล้กันสำราญ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ