- คำนำ
- บทนำเรื่อง
- ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละคอนเรื่องอุณรุท ของ ธนิต อยู่โพธิ์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓ ทศมุขพบพระอุณรุท
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
- ตอนที่ ๒๙
- ตอนที่ ๓๐
- ตอนที่ ๓๑
- ตอนที่ ๓๒
- ตอนที่ ๓๓
- ตอนที่ ๓๔
- ตอนที่ ๓๕
- ตอนที่ ๓๖
- ตอนที่ ๓๗
- ตอนที่ ๓๘
- ตอนที่ ๓๙
- ตอนที่ ๔๐
- ตอนที่ ๔๑
- ตอนที่ ๔๒
บทนำเรื่อง
เรื่องอุณรุทเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย และเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ปรากฏเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ในปัจจุบันคือเรื่อง “อนิรุธคำฉันท์” ของ ศรีปราชญ์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนบทละครเรื่องอุณรุท สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น แม้ปัจจุบันจะไม่ปรากฏเป็นรูปเล่มวรรณกรรมลายลักษณ์ แต่ก็น่าจะมีอยู่เช่นกัน ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ
๑. เป็นวรรณกรรมราชสำนักมิใช่วรรณกรรมชาวบ้าน
๒. ได้เคยมีการนำมาจัดแสดงเป็นละครในราชสำนัก ปรากฏหลักฐานใน “ปุณโณวาทคำฉันท์” ของ พระมหานาค วัดท่าทราย ว่า ได้มีการแสดงละครเรื่อง อุณรุทคราวสมโภชพระพุทธบาท สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่า
“ละคอนก็ฟ้อนร้อง | สุรศัพท์ขับขาน |
ฉับฉํ่าที่ดำนาน | อนุรุทธกินรี” |
และในเพลงยาวความเก่า ได้กล่าวถึงการฝึกหัดละครเรื่องอุณรุทในวังว่า
“มาร่ำเร่อให้เป็นที่ศรีสุดา | ทั้งอุตส่าห์เบือนบิดจริตงาม |
ไปฝึกฝนกันที่ต้นลำไยเก่า | ข้างลำเนาสรรเพชญ์ปราสาทสนาม” |
ละครในคือละครในราชสำนัก เป็นละครหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งต้องมีการประพันธ์และการบันทึกเป็นลายลักษณ์ในพระสมุดโดยอาลักษณ์ในราชสำนัก อันเป็นสิ่งปกติสามัญที่ปฏิบัติกันมา
๓. บทละครเรื่องอุณรุท ๒ ฉบับ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ คือ ฉบับพระราช นิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และฉบับพระราช นิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย) มีความคล้ายคลึงใกล้เคียงกันมาก ดังจะขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ดังนี้
ตอนเทวาอุ้มสม
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ | พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ |
๏ พิศพิศแล้วคิดคำนึงไป | ๏ เทวาแลเล็งเพ่งพิศ |
แม้นจะให้พระองค์สงสาร | ครั้นแล้วขุกคิดขึ้นได้ |
ปราศรัยด้วยองค์นงคราญ | แม้นกูจะให้พระภูวนัย |
ปางกาลพาสมภิรมยา | ปราศรัยด้วยองค์กัลยา |
ก็จะรู้จักวงศ์พงศ์นาม | ก็จะรู้จักวงศ์พงศ์นาม |
จะยวนยั่วมัวความเสน่หา | จะปลุกปลื้มด้วยความเสน่หา |
จะเป็นห่วงหน่วงหนักชักช้า | จะเป็นห่วงหน่วงหนักชักช้า |
เกลือกพาณารู้จะเป็นภัย | เกลือกพาณารู้จะเป็นภัย |
จำจะผูกโอษฐ์สองกษัตริย์ | จำจะผูกโอษฐ์ไว้ด้วยมนตรา |
อย่าให้ตรัสเจรจาด้วยกันได้ | อย่าให้เจรจาด้วยกันได้ |
แต่พอสู่สมภิรมย์ใจ | แต่พอสู่สมภิรมย์ใจ |
จะพาไปมิให้รุ่งราตรี | จะพาไปมิให้รุ่งสุริยา |
ตอนพระอุณรุทคล้องช้าง
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ | พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ |
๏ บัดนั้น | |
ฝูงช้างพังพลายน้อยใหญ่ |
ต่างตัวตระหนกตกใจ |
ก็แตกตื่นวุ่นไปอลวน |
ที่ลูกน้อยก็ร้องแหวแหว |
เลี้ยวแล่นตามแม่สับสน |
ที่พังกล้าเพรียวหาญชาญชน |
ก็เข้ารับประจญประจัญงา |
ฝ่ายพญาสารเศวตศรีสวัสดิ์ | ๏ ฝ่ายฝูงพลายพังทั้งหลาย |
มงคลคชรัตน์ตัวกล้า | ตื่นแตกกระจายกันนักหนา |
แล่นไปแล้วเหลียวหลังมา | สารเศวตแล่นไปแล้วเหลียวมา |
เห็นคชาทรงพระภูมี | เห็นคชาทรงพระภูมี |
ก็บังหูชูหางกระหึมมัน | ก็บังหูชูหางกระหึมมัน |
โกญจนาทสนั่นอึงมี่ | โกญจนาทสนั่นพนาศรี |
กำลังสารหาญหวงกิริณี | กำลังสารหาญหวงกิริณี |
เข้าราวีช้างทรงพระภูธร | เข้าต่องาราวีด้วยช้างทรง |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด | ฯ ๔ คำ ฯ เชิด |
๏ เมื่อนั้น | ๏ เมื่อนั้น |
หลานพระอวตารชาญสมร | พระอุณรุทสิทธิศักดิ์สูงส่ง |
จึ่งขับพระที่นั่งกุญชร | ขับคชสารชนรณรงค์ |
เข้าราญรอนด้วยเศวตา | ต่อด้วยคเชนทร์พงษ์มหิมา |
เสียงงาประหารกันฉานฉาด | เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงงาดั่งฟ้าฟาด |
กัมปนาทครื้นครั่นสนั่นป่า | ฉานฉาดประกายวับจับเวหา |
เสยส่ายคัดค้อนเป็นโกลา | เสยส่ายคัดค้อนเป็นโกลา |
ต่างกล้าต่อหาญประจัญกัน | ต่างกล้าต่อหาญประจัญกัน |
คชาทรงองอาจดั่งราชสีห์ | คชาทรงองอาจดั่งราชสีห์ |
ชาญชนท่วงทีคือจักรผัน | ชาญชนท่วงทีคือจักรผัน |
สอดงาลงล่างแบกดัน | สอดงาลงล่างแบกดัน |
บุกบันช้างป่าด้วยกำลัง | บุกบันช้างป่าด้วยกำลัง |
จนเท้าขวิดไม่ติดธรณี | จนเท้าขวิดไม่ติดธรณี |
เถื่อนหนีร้องแล่นตระหลบหลัง | เถื่อนหนีผละร้องตระหลบหลัง |
วิ่งแซงแข่งหน้าคณาพัง | วิ่งแซงแข่งหน้าคณาพัง |
ดั่งป่าจะถล่มทำลายไป | ดั่งป่าจะถล่มทลายไป |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด | ฯ ๘ คำ ฯ เชิด |
ตอนพระอุณรุทเสด็จไปปราสาทนางศรีสุดา นางอุษา
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ | พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ |
๏ เมื่อนั้น | ๏ เมื่อนั้น |
สองอนงค์เยาวยอดพิสมัย | สองอัครเทวีศรีใส |
ได้ฟังคั่งแค้นแน่นฤทัย | ได้ฟังคั่งแค้นแน่นหฤทัย |
ค้อนให้ต่างสลัดปัดกร | ค้อนให้ต่างสลัดปัดกร |
เออนี่แหละหรือพระทรงจักร | เออนี่แหละหรือพระทรงจักร |
ซึ่งว่ารักเห็นผิดกับคำก่อน | ซึ่งว่ารักเห็นผิดกับคำก่อน |
วันเมื่อพระองค์จะบทจร | วันเมื่อพระองค์จะบทจร |
น้องวอนโดยเสด็จพระบาทา | น้องวอนโดยเสด็จพระภูบาล |
ว่าจะเป็นกำหละพระคชกรรม์ | พระภุชพงษ์ไม่ทรงพระเมตตา |
ทรงธรรม์ไม่โปรดเกศา | ว่าจะเป็นกำหละคชสาร |
อยู่หลังตั้งแต่โศกา | อยู่หลังตั้งแต่ทุรมาน |
คำนึงถึงผ่านฟ้าทุกราตรี | คำนึงถึงผ่านฟ้าทุกราตรี |
มิรู้พระไปเที่ยวประพาส | มิรู้พระไปเที่ยวประพาส |
สมสวาทกินนรเกษมศรี | สมสวาทนางกินนรเกษมศรี |
แม้นรู้ว่าจะเป็นอย่างนี้ | แม้นรู้ว่าจะเป็นอย่างนี้ |
จะโศกีถึงไยให้ป่วยการ | จะโศกีถึงไยให้ป่วยการ |
ซึ่งจะให้ไปดูคชาพงษ์ | ซึ่งจะให้ไปชมคชาพงษ์ |
ไม่ประสงค์จะดูคชสาร | ไม่ประสงค์ที่จะดูคชสาร |
จะใคร่ชมกินรายุพาพาล | จะใคร่ชมกินรายุพาพาล |
เหตุใดผ่านฟ้าไม่พามา | เหตุใดภูบาลมิพามา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ | |
๏ เมื่อนั้น | ๏ เมื่อนั้น |
พระอุณรุทภุชพงศ์นาถา | พระอุณรุทภุชพงษ์นาถา |
ได้ฟังสองศรีวนิดา | ได้ฟังสองศรีวนิดา |
จึ่งมีบัญชาตอบไป | พระผ่านฟ้าจึ่งมีตอบคำไป |
อนิจจาเจ้าดวงนัยน์เนตร | แก้วเอยแก้วตา |
เยาวเรศควรเคียดแค้นได้ | อนิจจาควรเคียดแค้นได้ |
ความจริงพี่แจ้งแก่อรไท | ความจริงพี่แถลงให้แจงใจ |
ทรามวัยไม่คิดปรานี | ทรามวัยไม่คิดปรานี |
พี่เดียวแรมไพรสันโดษ | พี่เดียวแรมไพรสันโดษ |
ลิ่วโลดหฤทัยถึงสองศรี | ลิ่วโลดหฤๅทัยถึงสองศรี |
ถวิลหาทุกทิวาราตรี | อันธรรมดาจารีตโลกีย์ |
ไม่มีความสุขสักเวลา | จะไปที่กันดารพนาลัย |
จึ่งเที่ยวไปชมพนมเนิน | นํ้าขุ่นจำอาบเอาเย็นก่อน |
หวังเพลินพาใจให้หรรษา | พอคลายร้อนกระวนหม่นไหม้ |
เป็นธรรมดาจิตโลกีย์ | ยามไร้ไม่มีดอกไม้ชม |
ก็ยินดีในรสสงสาร | เด็ดดอกหญ้าดมก็ได้กลิ่น |
จึ่งคะนองลองเล่นประโลมลาน | หอมดั่งรสคนธ์รวยริน |
พอสำราญดับร้อนอาวรณ์ใจ | แก้วตาอย่าถวิลกินใจ |
อันพี่กับนางกินรา | ซึ่งพี่กับนางกินรา |
จะได้จงเจตนาก็หาไม่ | จะได้จงเจตนาก็หาไม่ |
แล้วยังมิได้เบิกไพร | แล้วยังมิได้เบิกไพร |
จึ่งเป็นไปเพราะแสนคะนึงนาง | จึ่งเป็นไปเพราะแสนคำนึงนาง |
ว่าพลางเย้ายวนชวนชิด | มาดแม้นกำหลังดั่งเจ้าว่า |
กรประคองสองสนิทแนบข้าง | ไหนจะพบคชาในป่ากว้าง |
เชยเนตรเกศแก้มแนมคาง | ใช่พี่จะแกล้งนิราร้าง |
ต่างแสนสุขเกษมเปรมปรีดิ์ | อย่าคลางแคลงแหนงใจกัลยา |
ฯ ๑๔ คำ ฯ กล่อม | ว่าพลางเชยแก้มแนมพักตร์ |
รสรักยั่วยวนเสน่หา | |
เกลียวกลมสมสองวนิดา | |
หรรษาร่าเริงบันเทิงใจ | |
ฯ ๑๖ คำ ฯ กล่อม |
จากตัวอย่างคำกลอนที่ยกมาจะเห็นความใกล้เคียงคล้ายคลึงกัน บางบท บางตอนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นสำนวนเดิยวกัน ทั้งนี้สันนิษฐานได้ว่ามาจากเหตุผล ๒ ประการ คือ
๑. มีต้นเค้ามาจากบทละครเรื่องอุณรุทฉบับเดียวกัน คืออุณรุทสมัยกรุงศรีอยุธยาที่อาจจะหาฉบับได้ในขณะนั้นหรืออาจจะพอยังจำกันได้มาพระราช นิพนธ์แต่งเสริมเติมเต็มจนสมบูรณ์ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระนคร
๒. บทละครเรื่องอุณรุทฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่จากฉบับพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นก่อน ตามที่นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้อธิบายไว้ใน “ที่มาของอนิรุทธคำฉันท์และบทละครเรื่องอุณรุท” ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องนี้ขึ้น โดยทรงนำบทละครเรื่องอุณรุทสมัยกรุงศรีอยุธยามาตัดปรับให้เหมาะแก่การแสดงละคร ซึ่งบทละครเรื่องอุณรุทฉบับของพระองค์นั้นสันนิษฐานว่า เป็นบทละครฉบับที่ใช้แสดงละครผู้หญิงคราวสมโภชพระแก้วมรกตและสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ เพราะบทละครเรื่องอุณรุทฉบับรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปีที่ ๖ ของรัชกาล คืออีก ๒ ปีหลังจากนั้น ซึ่งหากบทละครอุณรุทฉบับรัชกาลที่ ๑ มีที่มาจากบทละครฉบับนี้ ก็ไม่นับว่าเป็นการผิดอันใดที่ “พ่อ” นำของ “ลูก” มาแต่งใหม่ เพราะฉบับพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นบทละครอุณรุทฉบับกรุงศรีอยุธยาที่ทรงนำมาตัดให้เหมาะแก่การแสดงดังกล่าวแล้วนั้นเองและจากคำกลอนท้ายพระราชนิพนธ์ยังได้ทรงระบุไว้ว่า “ทรงไว้ตามเรื่องแต่โบราณ” ก็น่าจะหมายถึงโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่จะเป็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงหยิบฉบับ “เรื่องแต่โบราณ” แท้ที่ยังพอหาได้ในขณะนั้น หรือจะทรงใช้ฉบับของพระราชโอรสเป็น “เค้า” ก็อาจเป็นได้ทั้งสองทาง แต่การที่ทรงพระราชนิพนธ์ครั้งนี้มิได้เป็นการลอกเลียน หากเป็นการที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระนครตามขนบ
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าบทละครเรื่องอุณรุท สมัยกรุงศรีอยุธยา ยังไม่นับว่าสาบสูญโดยสิ้นเชิง เนื่องจากยังปรากฏร่องรอยเค้าเงื่อนให้สัมผัสได้จากบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอุณรุทยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งสองฉบับนี้ ซึ่งเมื่ออ่านดูจะพบว่าลีลากลอน ธรรมเนียมนิยมในการแต่งแฝงกลิ่นอายของธรรมเนียมนิยมและลีลากลอนสมัยอยุธยาอยู่ด้วย
ในส่วนชื่อเรื่องอุณรุทและอนิรุทธ ซึ่งได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คำ ‘‘อุณรุท” ก็เป็นการ “ผิดเพี้ยน” มาจากคำ “อนิรุทธ” นั้น เข้าใจว่าไมใช่การผิดเพี้ยน แต่น่าจะเป็นชื่อเรียกที่เป็นที่รู้จักใช้เรียกทั้งสองชื่อ เพราะในปุณโณวาทคำฉันท์ยังใช้เรียกว่า “อนุรุทธกินรี” ซึ่งในคำฉันท์ตอนนี้ ตรงคำว่า “อนุรุทธ” ต้องการลหุ ๒ ครุ ๑ และ ไม่ได้มีสัมผัสบังคับว่าต้องการลงเสียงสระอุ ก็น่าจะใช่คำว่า “อนิรุทธ” ได้หากกวีต้องการและหากไม่มีการเรียกว่าอนุรุทธอยู่ในยุคสมัยนั้น เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่ยืนยันว่าชื่อ “อุณรุท” มิได้เป็นการผิดเพี้ยน แต่เป็นชื่อ ๑ ใน ๒ ชื่อซึ่งเรียกขานกันอยู่ คือ ที่หน้าต้นของต้นฉบับหนังสือสมุดไทยจะมีเขียนบอกไว้ว่า “พระสมุดอุณรุท” บ้าง “พระสมุดอนิรุทธ” บ้าง แม้ว่าตัวละครในเรื่องจะคงชื่อพระอุณรุททุกแห่ง
อึกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้การดำเนินเนื้อเรื่อง ลีลากลอน จะดำเนินไปในทางเดียวกัน เกือบจะโดยตลอดทั้งสองฉบับ แต่ในบทละครเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เนื้อเรื่องจบลงเพียงว่า พระอุณรุทและพระมเหสีทั้งสองพระองค์ ครองแผ่นดินร่มเย็นเป็นสุขสืบไป แต่ในฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ มีความต่อไปอีกว่าเมื่อพระอุณรุทเสด็จสวรรคตก็กลับไปเป็นพระนารายณ์ และนางอุษานั้น ก็กลับไปเป็นนางสุจิตรามเหสีของพระอินทร์ตามเดิม และทรงมีบันทึกจบเรื่องไว้ว่า “พอพระทัยทรงไว้แต่เพียงนี้ อักษรกลอนมีบริบูรณ์” โดยเนื้อความในตอนจบมีดังนี้
เสวยสุขอยู่ทุกราตรี | กับอุษาเทวีศรีสุดา |
พระองค์ทรงทศธรรเมศ | ขจรเดชเรืองฤทธิ์ทั่วทิศา |
อานุภาพปราบไปทั้งโลกา | ปรากฏพระยศเกรียงไกร |
อันศัตรูหมู่อรินราช | ก็ขยาดย่อท้อไม่ต่อได้ |
เกรงฤทธิ์สิทธิศักดิ์เป็นพ้นไป | ทั้งไตรภพไม่ทานศักดา |
ต่างต่างแต่งเครื่องบรรณาการ | ศุภสารสร้อยสุวรรณบุปผา |
มาเป็นพำนักพระจักรา | เอาเดชาปกเกศทุกธานี |
บรรดาท้าวพญาทั่วชมพู | ก็อยู่ใต้เบื้องบทศรี |
เป็นปิ่นปักหลักโลกโมลี | ดั่งอิศราธิบดีไชยชาญ |
พระปราบเข็ญให้เย็นเป็นสุข | ในทวาบริยุคเกษมศานต์ |
เสวยรมย์ชมแสนศฤงคาร | ช้านานสำราญวิญญา |
อันหมู่ไพร่ฟ้าประชากร | ก็เป็นศรีสถาวรถ้วนหน้า |
สมบูรณ์พูนสวัสดิ์วัฒนา | ทั้งไตรโลกาไม่เทียมทัน |
ครั้นถึงชนมานกำหนด | ต่างองค์ธิวงคตสู่สวรรค์ |
อันองค์พระอุณรุทนั้น | ก็ครรไลไปเกษียรสาคร |
เป็นองค์พระนารายณ์ภุชภาคย์ | เสด็จเหนือหลังนาคบรรจถรณ์ |
โฉมยงองค์อุษาบังอร | ม้วยมรณ์ไปเป็นสุจิตรา |
ร่วมภิรมย์สมสู่รสรัก | มัฆวานในดาวดึงสา |
ต่างเสวยสมบัติอันโอฬาร์ | ในสวรรค์ชั้นฟ้าเปรมปรีดิ์ |
อันพระราชนิพนธ์อุณรุท | เรื่องไสยสมมุติมาถ้วนถี่ |
พอพระทัยทรงไว้แต่เพียงนี้ | อักษรกลอนมีบริบูรณ์[๑] |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
เหตุที่เนื้อความต่างกันออกไปนี้ไม่ปรากฏในฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ น่าจะเป็นด้วยทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า การที่พระอุณรุทกลับไปเป็นพระนารายณ์นั้นไม่ตรงกับความในเนื้อเรื่อง เพราะตามเรื่องแล้วผู้ที่เป็นพระนารายณ์อวตารลงมาเกิด คือ ท้าวบรมจักรกฤษณ์ ผู้ทรงเป็นพระราชบิดาของ ท้าวไกรสุท และเป็นพระอัยกาหรือปู่ของพระอุณรุท ซึ่งในบทกลอนเมื่อขนานนามพระอุณรุทจะใช้คำว่า “หลานนารายณ์ พระภุชพงษ์, นารายณ์พงษ์ หรือหลานพระจักรกฤษณ์ เป็นต้น ซึ่งหมายถึงไม่ใช่องค์พระนารายณ์แต่เป็นพงษ์นารายณ์ คือ ผู้สืบเชื้อสายใจาก พระนารายณ์
พระราชประสงค์ในการพระราชนิพนธ์ นอกจากเพื่อเป็นการเฉลิมพระนครแล้ว อีกพระราชประสงค์หนึ่ง คือ เพื่อ
“ให้รำร้องครื้นเครงบรรเลงเล่น | เป็นที่แสนสุขสโมสร |
หญิงชายไพร่ฟ้าประชากร | ...............................” |
บทบาทหน้าที่ของวรรณกรรมเรื่องนี้ในการเฉลิมพระนคร ปรากฏชัดเจนอยู่แล้วในความไพเราะงดงามและคุณค่าเหมาะสมแก่การ “เฉลิมพระนคร” ส่วน บทบาทหน้าที่ที่จะให้เป็น “ปราโมทย์ศิลป์” เป็นนาฏกรรมที่ยังความสุขแก่ไพร่ฟ้าประชากร ได้ชม ได้รำ ได้ร้อง ได้เล่นตามพระราชประสงค์นั้น บทละครเรื่อง อุณรุทก็ถือว่าทำบทบาทหน้าที่ได้สมบูรณ์เช่นกัน คือ เมื่อดูจากต้นฉบับหนังสือ สมุดไทย “พระสมุดเรื่องอุณรุท” แต่ละเล่มจะมีร่องรอยของการได้ใช้ประกอบการจัดแสดงจริง เช่น
๑. มีการปรับเปลี่ยนเพลงหน้าพาทย์หรือการร้องให้เหมาะสมแก่การแสดง จากเพลงเดิมที่ระบุไว้ในพระราชนิพนธ์ ซึ่งต้นฉบับหนังสือสมุดไทยนี้มีอยู่หลายชุด ในแต่ละชุดซึ่งอาจได้เคยอยู่ในครอบครองของเจ้าของต่างพระองค์ (คน) กัน ก็จะมีการแก้ไขเพลงใหม่แล้วเขียนเติมลงไปด้วยดินสอขาว เช่น เปลี่ยนจากร่ายเป็นกระต่ายชมเดือน เป็นต้น
๒. มีการคัดเลือก ตัดตอนบทกลอนเพื่อให้เหมาะสมแก่การจัดแสดง โดยในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยหลายฉบับ จะมีการเขียนเพิ่มเติมด้วยดินสอขาว ว่า “ตัด” และ “จับ”
ตัด คือ ตัดตอนนี้ออกไม่ใช้ในการแสดง
จับ คือ เริ่มต้นแสดงหลังจากที่ตัดตอนไปแล้วตรงนี้
๓. บางแห่งมีการแต่งเติม ตัดทอน ปรับเปลี่ยนคำกลอนเพื่อให้กระชับขึ้น หรือให้มีสีสันเพื่อการแสดง เช่น จากข้อความในหน้า ๑๘๙ นั้น ข้อความตอน เดียวกันในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๕๕๕ และ เลขที่ ๕๕๖ เนื้อความตรงนี้ มีการแก้ไขเนื้อความ (คำกลอน) โดยเป็นการใช้กระดาษขาวเขียนข้อความคำกลอนขึ้นใหม่ด้วยเส้นหมึก ทากาวปิดทับข้อความเดิมในหนังสือสมุดไทย ความว่า
ร้องเชิดฉิ่ง
๏ ระเห็จเหิรตำเนินพระเวหน | วิมานบนบาดาลตํ่าใต้ |
วาดรูปอินทราสุราลัย | เทพไทครุฑาวาสุกรี |
วาดรูปพระพายอันเรืองฤทธิ์ | พระอาทิตย์ผู้รุ่งรัศมี |
พระเพลิงเริงแรงฤทธี | ทั้งพระมาตุลีอันศักดา |
รูปท้าวโลกบาลอันชาญชิต | ซึ่งประจำทั้งสี่ทิศา |
รูปท้าวเวสสุวัณมหึ่มมา | ได้ด้วยฤทธาอสุรี |
เสร็จแล้วก็กลับจรดล | มาโดยอำพนวิถี |
เร่งรีบเร็วมาในราตรี | หมายมุ่งบุรีรัตนา |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดกลอง
จากนั้นมีการบันทึกว่า “ตัด” คือให้ตัดคำกลอนเดิมออกไป และบันทึกคำ ว่า “จับ” คือให้เริ่มเรื่องหรือเริ่มข้อความใหม่ ตั้งแต่
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้ายังปราสาท | นบบาทถวายรูปเลขา |
แก่องค์สมเด็จพระธิดา | ทูลว่าอันรูปทั้งนี้ |
ซึ่งมีสัมผัสต่อเนื่องกับคำกลอนที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งเข้าใจว่าต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๕๕๕ และ เลขที่ ๕๕๖ นี้ เจ้าของเดิมก่อนที่จะมอบให้แก่กองการสังคีต ซึ่งเป็นผู้นำมอบต่อแก่หอสมุดแห่งชาติ น่าจะเป็นผู้ที่มีคณะละครอยู่ในครอบครอง อาจเป็นท่านเจ้าของวังใดวังหนึ่ง และได้ให้มีการแก้ไขบทละครให้กระชับขึ้นเหมาะแก่การแสดง
การที่มีการแก้ไข ปรับเปลี่ยน แต่งเติมต้นฉบับในหนังสือสมุดไทยมากมายเช่นนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าบทละครเรื่องอุณรุทนี้ เป็นบทละครที่มีการแสดงจริง มิได้เป็นเพียงหนังสือบทละคร หากแต่คือบทละครของคณะละครในได้ “รำร้องครื้นเครงบรรเลงเล่น” จริง ๆ
บทละครเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นอกจากจะเป็นวรรณคดีกวีนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าความไพเราะงดงาม สมกับเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงแต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระนครแล้ว คุณค่าในแง่ที่เป็นหนังสือสำคัญให้ความรู้ด้านภาษา โบราณคดี วิถีไทย ที่สอดแทรกอยู่โดยตลอดในเนื้อเรื่องก็ทรงคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
อนึ่งในการตรวจสอบชำระครงนื้ได้ตรวจสอบชำระกับหนังสือสมุดไทยจำนวน ๓๔ เล่ม ดังมีรายละเอียดดังนี้
๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๗
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ท้าวพาณาสูรกับนางไวยกาครองเมืองรัตนา จนถึงท้าวกำพลขึ้นไปเยี่ยมท้าวพาณาสูรเมืองรัตนา |
๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๘
ประวัติ | นางทองอยู่ จรรยากุล ถวายหอพระสมุดฯ เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๔๖๘ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ท้าวพาณาสูรกับนางไวยกาเทวีครองราชในเมืองรัตนา จนถึงกุมภาสูรอยู่เชิงเขากาลกูฎเที่ยวหาอาหารในป่าและได้พบกองทัพของพระบรมจักรกฤษณ์ |
๓. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๑
ประวัติ | ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่นางจันทมาลีเห็นยักษ์กุมภาสูรก็ตกใจกลัว พระจักรกฤษณ์รบกับกุมภาสูร ฆ่ากุมภาสูรตายแล้วรบกับวิรุณจักร ฆ่าวิรุณจักรตายอีก แล้วทำพิธีอภิเษกไกรสุทราชโอรสกับรัตนาเทวีให้ครองราชสมบัติ จนถึงพระนางรัตนาทรงพระครรภ์ พอครบกำหนดก็ประชวรพระครรภ์จะประสูติ |
๔. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๘
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่พระจักรกฤษณ์พานางจันทมาลีประพาสป่า รบกับท้าวกุมภาสูร ฆ่าท้าวภุมภาสูร นางจันทมาลีประสูติพระโอรสงามโสภาทรงพระนามว่าไกรสุทกุมาร จนถึงพระจักรกฤษณ์ออกไปสนทนาธรรมกับนารอทฤๅษีเกิดสู้รบกับท้าววิรุณจักร |
๕. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๙
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรี่องย่อ | ตั้งแต่พระบรมจักรกฤษณ์ฆ่าท้าววิรุณจักรตาย ปวงเทพยดาพากันชื่นชมยินดีแล้วเสด็จเข้าเมือง รับสั่งให้ทำพิธีอภิเษกไกรสุทราชโอรสกับรัตนาเทวีให้ครองสมบัติ จนถึงท้าวไกรสุทกับนางรัตนาเทวีมีพระโอรสทรงพระนามว่า อุณรุทแล้วพระจักรกฤษณ์โปรดประทานพระโอวาทแด่พระโอรสและออกทรงผนวชเป็นพระฤๅษี |
๖. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๐
ประวัติ | นางทองอยู่ จรรยากุล ถวายหอพระสมุดฯ เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๔๖๘ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่นางรัตนาคลอดพระโอรส แล้วพระบรมจักรกฤษณ์ประทานนามพระนัดดาว่าพระศรีอุณรุท จนถึงนางสุจิตราถูกพาณาสูรแปลงเป็นพระอินทร์แล้วร่วมพิศวาท พอพระอินทร์กลับจากอุทยานมาแสดงความรักอีกทำให้นางสงสัย |
๗. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๑
ประวัติ | คุณท้าวภัณฑสารส่งให้หอพระสมุดฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๖๐ |
เรืองย่อ | ตั้งแต่นางจันทมาลีกับสนมกำนัลเห็นกุมภาสูรแล้วกลัวจนตัวสั่น พระบรมจักรกฤษณ์สังหารกุมภาสูร จนถึงนางรัตนามเหสีเจ็บพระครรภ์จะประสูติ |
๘. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๗๐
ประวัติ | ซี้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่พระจักรกฤษณ์เสด็จออกทรงผนวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ เทวดาพากันไปประชุมเล่นมหรสพที่เขาไกรลาส ท้าวกรุงพาณจำแลงกายไปลักลอบสมสู่นางเทพธิดาทุกวิมานแท้กระทั่งนางสุจิตรามเหสีของพระอินทร์ จนถึงพระอินทร์พาหมู่เทพบุตรเทพธิดาไปกราบทูลเรื่องถวายพระอิศวร |
๙. หนังสือสมุดไทยเลชที่ ๕๗๒
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ท้าวโกสีย์รำพันในคราวที่นางสุจิตราอัครมเหสีจะจุติลงไปเกิดในมนุษย์โลกจนถึงพระไกรสุทได้รับสารจากเจ้าเมืองโรมราชเรื่องขอถวายนางศรีสุดาพระธิดาไปเป็นอัครมเหสีของพระอุณรุท |
๑๐. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๗๒
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ |
เรื่องย่อ | พระไกรสุทจัดการอภิเษกพระอุณรุทกับนางศรีสุดา จนถึงท้าวพาณาสูรจักษีกับอัครราชเทวีขอนางอุษากับพระมุนีเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นราชบุตรี |
๑๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๖๓๐
ประวัติ | คุณหญิงดุลยกรณ์พิทารณ์ มอบให้หอสมุด เมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๐ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ท้าวพาณาสูรให้หาเทวดามาเนรมิตปราสาทให้นางอุษา จนถึงพระอุณรุทออกประพาสป่า ตามกวางทองและบวงสรวง |
๑๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๗๓
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ฤๅษีสุทาวาสให้นางอุษากับท้าวพาณาสูรและนางไวยกา จนถึงท้าวพาณาสูรกับนางไวยกามีพระโอรสคือทศมุข |
๑๓. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๘
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | พระอุณรุทและนางศรีสุดาลาพระไกรสุทไปเที่ยวป่า ตามกวางทอง บวงสรวงเทวดา เทพอุ้มสมจนถึงพระอุณรุทกลับเมือง |
๑๔. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๙
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | พระอุณรุทและนางศรีสุดาลาพระไกรสุทไปเที่ยวป่า เทพอุ้มสมพระอุณรุทกับนางอุษา จนถึงนางศุภลักษณ์วาดรูปครั้งที่ ๒ |
๑๕. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๕
ประวัติ | ได้จากกองการสังคีต เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่พระไกรสุทให้ยายแม่มดบอกเหตุว่า เพราะเหตุไรลูกเราไปป่ามาแล้วจึงมีอาการผิดปกติดังนี้ จนถึงพระอุณรุทให้นางศุภลักษณ์กรรฐาพาไปหานางอุษา |
๑๖. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๖
ประวัติ | ได้มาจากกองการสังคีต เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ |
เรื่องย่อ | เช่นเดียวกับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๕ |
๑๗. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๗
ประวัติ | นางทองอยู่ จรรยากุล ถวายหอพระสมุดเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๖๘ |
เรื่องย่อ | เช่นเดียวกับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๕ |
๑๘. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๖๓๒
ประวัติ | คุณหญิงดุลยกรณ์พิทารณ์ มอบให้หอฯ เมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๐ |
เรื่องย่อ | เช่นเดียวกับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๐ |
๑๙. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๘
ประวัติ | ได้มาจากกองการสังคีต เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่นางศุภลักษณ์อุ้มพระอุณรุทเหาะไปเมืองรัตนาหานางอุษา จนถึงพระบรมจักรกฤษ์กับท้าวไกรสุทให้โหรทำนาย เรื่องที่พระอุณรุทหายไป ส่วนพระอุณรุทได้เสวยสุขกับนางอุษาอยู่บนปราสาท |
๒๐. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๐
ประวัติ | คุณท้าวภัณฑสาร ส่งให้หอฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๖๐ |
เรื่องย่อ | เช่นเดียวกับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๕๐ |
๒๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๑
ประวัติ | คุณท้าวภัณฑสาร ส่งให้หอฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๖๐ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ทศมุขไม่เห็นนางอุษาไปเฝ้าพระบิดาจึงไปดูในปราสาท เห็นพระอุณรุทนอนร่วมที่บรรทมกับนางอุษา จนถึงนางอุษาอ้อนวอนขอโทษพระบิดาให้ไว้ชีวิตพระอุณรุท |
๒๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๓
ประวัติ | ได้มาจากกองการสังคีต เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ |
เรื่องย่อ | เช่นเดียวกับหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๕๖๑ |
๒๓. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๕
ประวัติ | สมบัติเดิมของหอพระสมุดฯ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่นางอุษาเห็นว่าท้าวพาณาสูรไม่ปล่อยพระอุณรุทแน่ จึงชักพระขรรค์ขึ้นอธิษฐานขอให้มีผู้มาช่วย จนถึงพระอุณรุทขว้างเทพธำมรงค์ไปถูกช้างพระที่นั่งรองท้าวพาณาสูรตาย |
๒๔. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๖๖
ประวัติ | ได้มาจากกองการสังคีต เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ท้าวพาณาสูรเสียพระทัยที่เสียช้างต้นกับกองทัพแล้วร้องถามถึงเทพธำมรงค์รองพระอุณรุทว่าเอามาจากไหน จนถึงพระอุณรุทอธิษฐานจิตเนรมิตรพระเมรุที่เผาศพท้าวพาณาสูร |
๒๕. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๓
ประวัติ | คุณท้าวภัณฑสารส่งให้หอฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๖๐ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ท้าวพาณาสูรเสียพระทัยที่เสียช้างต้นกับกองทัพ จึงร้องถามพระอุณรุทว่า เทพธำมรงค์นั้นเอามาแต่ไหน จนถึงนางไวยกาเชิญพระอุณรุทครองเมืองรัตนา |
๒๖. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๓
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรืองย่อ | ตั้งแต่นางอุษารํ่าไห้ด้วยความรักท้าวพาณาสูรพระบิดาเลี้ยงจนสลบไป จนถึงอภิเษกทศมุขครองเมืองรัตนา |
๒๗. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๔
ประวัติ | ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่นางอุษาไปลานางไวยกาจะมาเมืองณรังกากับพระอุณรุทผู้ภัสดา จนถึงพระอุณรุทยกมาถึงปลายด่านแล้วจัดพลจะเข้าเมือง |
๒๘. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๔
ประวัติ | คุณท้าวภัณฑสารส่งให้หอฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๖๐ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่พระอุณรุททำพิธีบวงสรวงพระไทรแล้วยกพลไปเมืองณรังกา จนถึงนางศรีสุดาต่อว่าพระอุณรุทเรื่องตามกวางแล้วได้นางอุษามาเป็นชายา |
๒๙. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๕
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่ทศมุขกราบทูลลานางอุษาไปบุรีรัตนา จนถึงนางกินรีทั้งสี่หนีพระอุณรุทมาถึงที่อยู่ ไม่เห็นพี่นางตามมาต่างก็แสนวิโยคถึงพี่นาง |
๓๐. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๕
ประวัติ | พระองค์เจ้าวงษ์จันทร์ ถวายหอฯ ๑๙/๑/๑๓๑ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่พระอุณรุทให้ตั้งพลับพลาใกล้เชิงเขากำจาย แล้วให้พรานป่ากับหมอคชสารไปสำรวจดูที่พักพญาช้าง จนถึงนางกินรีผู้พี่พาน้องอีก ๔ ตน ไปเฝ้าพระอุณรุท |
๓๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๖
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่นางกินรีผู้พี่ลาพระอุณรุทไปหาน้องทั้งสี่ แล้วพากันไปเฝ้าพระองค์ จนถึงสี่พี่เลี้ยงพูดจาหยอกล้อพระอุณรุทเรื่องนางกินรีทั้งห้า |
๓๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๖
ประวัติ | คุณท้าวภัณฑสารส่งให้หอฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๖๐ |
เรื่องย่อ | นางแก้วกินรีผู้พี่ชวนน้องทั้งสี่ไปเฝ้าพระอุณรุท จนถึงพระอุณรุทกลับจากถ้ำนางกินรีมายังกองทัพ |
๓๓. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๔๗
ประวัติ | คุณท้าวภัณฑสารส่งให้หอฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๖๐ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่สี่พี่เลี้ยงพูดจาหยอกล้อกับพระอุณรุทเรื่องนางกินรีทั้งห้า จนถึงพระอุณรุทกับพระมเหสีทั้งสองครองกรุงณรังกาอย่างมีความสุข |
๓๔. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๗
ประวัติ | ซื้อจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ |
เรื่องย่อ | ตั้งแต่พระอุณรุทยกมาจากฝั่งน้ำ คล้องช้างแล้วกลับเข้าเมืองจนจบบริบูรณ์ |
[๑] คัดลอกจากต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕๓๐ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๕/๒ มัดที่ ๒๐๖ ประวัติ ฉบับพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ ถวาย ๑๙ เมษายน ร.ศ. ๑๕๑