ในอินเดีย

เรื่องที่คันธีอดอาหารว่าจะยอมตายคราวนี้ เป็นเรื่องน่านำมาเล่า แต่ถ้าจะเล่าให้เข้าใจสนิท ก็ต้องถอยหลังไปไกลหน่อย ซึ่งจะกินเวลาและหน้ากระดาษมากเกินไปในวันนี้ การเล่าถอยหลังจะมีเรื่องเล่าไม่เบื่อ แต่วันนี้ต้องขอผลัดไว้ก่อน และจะเล่าเพียงสั้นๆ ถอยหลังไป ๒-๓ ปีเท่านั้น

ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ อังกฤษได้ออกกฎหมายเรียกว่า “พระราชบัญญัติอินเดีย ค.ศ. ๑๙๓๕” กฎหมายนั้นมีข้อความที่เป็นเนื้อแท้ ๓ ข้อ ข้อ ๑ รวมอินเดียทั้งหมดให้อยู่ในกรอบปกครองเดียวกัน ข้อ ๒ ให้มีสำนักงานกลางเป็นผู้รับผิดชอบส่วนรวม ข้อ ๓ ให้หน่วยต่าง ๆ รับผิดชอบการภายในของตนเอง

บัญญัติกว้าง ๆ ๓ ข้อนี้ ดูเหมือนไม่มีใครขัดข้อง ความเห็นที่มีแตกต่างก็คือว่า ข้อไหนจะควรปล่อยเพียงไหน หรือควรรั้งไว้ก่อนสักเพียงใด ในที่สุดเพียงเวลานี้ปรากฏว่า ความพยายามที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินั้นไม่เป็นที่ถูกใจใครเลย

ตรงนี้ควรจะต้องชี้แจงแซกเข้ามาอีกหน่อย ว่าอินเดียนั้นแบ่งอยู่ ๒ แผนก คืออินเดียอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอินเดียมีรัฐบาลของอังกฤษเป็นผู้ปกครองทั้งภายนอกภายในแผนก ๑ อินเดียประเทศราช มีเจ้าผู้ครองรับผิดชอบภายในบ้านเมืองของตนแผนก ๑

อินเดียอังกฤษแยกเป็นมณฑล ๑๑ มณฑล รวมที่ดินประมาณ ๑ ล้านแสนไมล์ตารางเหลี่ยม มีพลเมืองตามทะเบียนสำมะโนครัวครั้งหลังที่สุด ๒๗๑ ล้านคน

อินเดียประเทศราชมี ๕๖๒ รัฐ ตั้งแต่ใหญ่ที่สุดไปจนเล็กที่สุด ถ้าจะรวมดินแดนที่เป็นอินเดียประเทศราชทั้งหมดก็ประมาณ ๗๑๒,๐๐๐ ไมล์ตารางเหลี่ยม มีราษฎรประมาณ ๘๐ ล้านคน

ข้อ ๑ พระราชบัญญัติรัฐบาลอินเดีย ที่ว่าให้รวมอินเดียทั้งหมดเข้าอยู่ในกรอบเดียวกันนั้น หมายความว่า รวมอินเดียอังกฤษ กับอินเดียประเทศราชเข้าไปด้วยกัน ใช้คำอังกฤษว่า เฟเดอเรชั่นอินเดียประเทศราช ซึ่งทุก ๆ รัฐมีเจ้าผู้ครองเป็นอิสระอยู่ในอาณาเขตของตนนั้น ประเทศราชเหล่านี้ย่อมจะระแวงสงสัย ไม่สู้จะเต็มใจสละอำนาจไปให้แก่สำนักซึ่งจัดขึ้นเป็นอำนาจกลาง แต่เจ้าผู้ครองรัฐบางคนก็เห็นว่า ถ้าได้รวมเข้าไปให้ได้มีเสียงในการปกครองทั่วอินเดียแล้วก็จะดีกว่ามีอิสระอยู่ต่างหาก เพราะการที่อยู่ในวงใหญ่ แต่สิทธิ์ขาดอยู่เพียงในวงเล็กนั้น ถ้าเกิดวิบัติแก่วงใหญ่ วงเล็กก็จะต้องติดไปด้วย เพราะวงเล็กจะออกจากวงใหญ่หาได้ไม่ ดังนี้ปัญหาว่าจะรวมเข้าด้วยกันทั้งหมดเป็นเฟเดอเรชั่นหรือไม่นี้ อินเดียประเทศราชเห็นชอบบ้าง จะตกลงให้พร้อมกันหมดก็ยากที่สุด

อนึ่ง ชนในศาสนาฮินดูซึ่งเป็นส่วนมากแห่งพลเมืองอินเดีย บางจำพวกก็เห็นว่า การรวมตามโครงการในพระราชบัญญัตินั้น ดูจะยอมให้พวกประเทศราชมีเสียงในอินเดียมากเกินไป เกรงจะชักไปในทางที่ไม่เป็นประชาธิปัตย์ และอีกประการหนึ่ง ข้อที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ว่า อังกฤษยังจะต้องมีตำแหน่งเป็นผู้ระมัดระวังไปก่อนนั้น เห็นว่าอังกฤษยังเอาอำนาจไว้มากเกินไป

ส่วนชนมุสลิม คือ พวกถือศาสนามะหะหมัดนั้น ไม่ไว้ใจพวกฮินดู ซึ่งมีจำนวนมากกว่า และไม่ค่อยวางใจในการรวมประเทศเอกราชเข้าไป เพราะเจ้าผู้ครองรัฐเหล่านั้นเป็นฮินดูโดยมาก

ในมณฑลต่าง ๆ แห่งอินเดียอังกฤษเวลานี้ ได้มอบให้จัดคณะเสนาบดีกันเองแล้วทั้งนั้น พวกคณะเสนาบดีจะได้ความลำบากหลายประการ ก็ยังนับว่าพอเข้าเค้าได้บ้างแล้ว ในตอนนี้จึงเกิดรีบทำมากขึ้นในทางเฟเดอเรชั่น คือให้ประเทศราชรวมเข้าไป ความพยายามที่จะทำให้พวกฮินดูกับพวกมุสลิมกลมเกลียวกันนั้น คันธีเป็นผู้พยายามมาก และปรากฏในตอนหนึ่งเหมือนว่าจะกลมเกลียวกันได้ แต่เมื่อไปเข้าพวกร่วมประชุมกันมากเข้า พวกมุสลิมรู้สึกว่าพวกตนน้อยกว่าและแพ้คะแนนมติ จึงตีห่างออกไปเสีย

ความพยายามของพวกคอนเกรส คือ พวกสวราชย์ ในเวลานี้ว่าจะให้ช่วยกันคิดให้ประเทศราชดำเนินไปในทางประชาธิปัตย์ แต่ในประเทศราชนั้นราษฎรไม่เหมือนกันไปทั้งนั้น เจ้าประเทศราชบางองค์ปกครองดี ราษฎรอยู่เป็นสุข ก็ไม่ต้องการจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเจ้าครองประเทศไม่เป็นที่รักของราษฎร หรือปกครองไม่มีผาสุก ราษฎรที่อยากจะเปลี่ยนไปรวมกันส่วนใหญ่ แม้เจ้าประเทศราชเองบางองค์ก็เห็นอย่างนั้น บางองค์ก็เห็นอย่างนี้ ดังได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้ว

ทีนี้จะกล่าวถึงประเทศราชเล็กประเทศหนึ่ง ชื่อราชโกตอยู่ในแถบบอมใบ เป็นสาขาหนึ่งแห่งรัฐเขื่อง ซึ่งฝรั่งเรียกว่า นาอะนาคาร (นวนคร) ราชโกตนี้ไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินชื่อ เพราะเป็นรัฐเล็ก มีพลเมืองประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนเท่านั้น

ในราชโกตได้มีปัญหาเรื่องจะคิดเข้าร่วมกันส่วนใหญ่ แต่มีความยากหลายอย่าง ซึ่งจะจัดให้เรียบร้อยไปไม่ได้ คันธีซึ่งมิใช่ชาวราชโกตได้เข้าไปตักเตือนเจ้าครองประเทศนั้น ตกลงกันว่า จะตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องราวและรายงานความเห็น ดูเหมือนว่าถ้ากรรมการแนะนำอย่างไร เจ้าผู้ครองประเทศก็ยอมจะทำตาม แต่ข้อนี้ผู้เขียนฟังข้างเดียวจะทราบเป็นแน่ไม่ได้

ความตกลงกันว่า จะตั้งกรรมการนั้น เข้าใจว่าคงจะมีหนังสือหรือหลักฐานอย่างอื่นเป็นสำคัญ แต่ในเวลาที่เขียนนี้ไม่ทราบละเอียดทราบแต่ว่าเมื่อได้ตกลงกันแล้ว คันธีก็เสนอนามกรรมการดูเหมือน ๑๑ คน ให้เจ้าผู้ครองราชโกตเป็นผู้ตั้ง

เจ้าผู้ครองราชโกตขัดข้องว่า ชื่อคนที่คันธีเสนอนั้น เป็นพวกเดียวกันทั้งนั้น จะต้องเปลี่ยนตัวเสียบ้าง เพื่อจะให้พวกมุสลิม และพวกอื่น ๆ มีผู้แทนเข้าไปมีเสียงในกรรมการด้วย

คันธีกล่าวว่า เจ้าผู้ครองราชโกตทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะผิดสัญญาที่ว่ากันไว้ ถ้าเจ้าราชโกตขืนไม่ทำตามคำมั่นสัญญา คันธีก็จะอดอาหารจนกว่าเจ้าจะยอม หรือถ้าไม่ยอมก็อดไปจนตาย เจ้าราชโกตเถียงว่า ไม่ได้ให้คำสัญญาเช่นที่คันธีว่า และการเรื่องนี้เป็นการภายในบ้านเมืองของประเทศราช ซึ่งไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องยินยอมตามความต้องการของคนภายนอก เพราะฉะนั้น จึงไม่ยอมตั้งกรรมการให้ครบตัวตามที่คันธีเสนอ ถ้าคันธีไม่ชอบใจไซร้ จะอดอาหารหรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ปรารถนา

เมื่อการเป็นดังนี้คันธีก็เริ่มอดอาหาร และแจ้งให้รู้ทั่วไปทั่วอินเดีย จนเกิดเป็นเหตุเกรียวกราวกันใหญ่ดังที่เราได้เล่าเมื่อวานนี้แล้ว

เมื่อเกิดการเช่นนี้ อุปราชก็อาสนแข็ง จึงได้ช่วยพูดจาไกล่เกลี่ยจนคันธีกลับกินอาหาร

ทางที่อุปราชดำเนินนั้น ไม่ได้ตัดสินว่าใครผิดใครถูก เป็นแต่แนะว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายควรส่งเรื่องให้ศาลฎีกาตรวจดูว่า ได้สัญญากันไว้ว่ากระไรแน่ ถ้าปรากฏตามคำของศาลฎีกาว่าฝ่ายไหนได้ให้สัญญาไว้เพียงไร ผ่ายนั้นก็ควรปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ให้ไว้

คำแนะนำของอุปราชนี้ เจ้าราชโกตยอม และคันธีก็ยอม จึงเลิกอดอาหาร

ที่เล่ามานี้เล่าตามความเข้าใจของผู้เขียน ยังไม่มีเวลาที่หนังสือพิมพ์จะมาถึง เมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์คงจะได้ความละเอียดออกไปกว่านี้

ส่วนชื่อราชโกตนั้น หนังสือแขกเขียนตัวสกดอย่างไรค้นสอบยังไม่พบ ฝรั่งเขียน RAJKOT และฝรั่งโดยมากออกเสียงว่าราชกอต แต่ผู้เขียนได้ยินผู้รู้เขาออกเสียงว่า ราชโกต จึงเขียนตามเสียงที่ได้ยิน.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ