บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ประทานสมุด “คาวัวร์” แก่ข้าพเจ้าเล่มหนึ่งเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พร้อมด้วยคำทรงอำนวยพรปีใหม่ ข้าพเจ้าขอให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงสำราญพระกายสบายพระทัย เกิดปีติในงานที่ทรงกระทำ คือเผยแผ่ความรู้สู่ชนไทยโดยวิธีที่ทรงเขียนหนังสือ เช่นประวัติของคาวัวร์เล่มนี้ และหนังสืออื่น ๆ ที่ทรงเขียนและพิมพ์ให้แพร่หลายมาก่อนแล้ว

ข้าพเจ้าพลิกอ่านสมุด “คาวัวร์” ในเวลาที่อิตาลีกำลังทำศึกกับบริเตนเพลี่ยงพล้ำลงในสมรภูมิหลายด้าน เมื่อพลิกอ่านแล้ว ก็นึกเทียบอิตาลีเมื่อครั้งคาวัวร์ อันเป็นสมัยที่เริ่มคติ “ริสอร์บิเม็นโต” ขึ้นใหม่ ๆ กับอิตาลีสมัย ”ฟาสซิสโม” หรือที่เรียกว่า ฟาสซิสต์ อิตาลีปัจจุบันนี้

การเทียบอิตาลีสมัยคาวัวร์ กับ อิตาลีสมัยมุสโซลินีนี้ ถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือเทียบคติการเมืองของรัฐบุรุษสองคน คนหนึ่งกระเดื่องเกียรติอยู่ในศตวรรษที่ ๑๙ แห่งคริสตศักราช อีกคนหนึ่งเลื่องลือนามอยู่ในศตวรรษที่ ๒๐ คือเวลาปัจจุบันนี้

คติที่เรียก “ริสอร์บิเม็นโต” เป็นคติที่ชักจูงน้ำใจชนชาวประเทศย่อย ๆ ในอิตาลีหลายประเทศ ให้คำนึงถึงความเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ให้ละทิ้งความแก่งแย่งบาดหมางซึ่งกันและกัน จนในที่สุดรวบรวมเป็นมหาประเทศขึ้นได้ ดังที่เราเห็นอิตาลีอยู่ในวันนี้

คาวัวร์เป็นรัฐบุรุษสำคัญเยี่ยมอยู่คนหนึ่งในพงศาวดารของอิตาลีมหาประเทศ และมุสโซลินีก็เป็นรัฐบุรุษชั้นเยี่ยมอีกคนหนึ่ง ถ้าจะเปรียบคติของคาวัวร์ในเวลานั้น กับคติของมุสโซลินีในเวลานี้ ก็กล่าวได้ว่า ตั้งใจจะบำรุงความเจริญของอิตาลีด้วยกัน แต่คาวัวร์มุ่งหมายอยู่ในขอบเขตอันแคบ มุสโซลินีมุ่งหมายไกลออกไปกว่าคาวัวร์มาก ข้อที่ผิดกันนี้ ถ้าจะพูดให้กระทัดรัดเข้าอีกหน่อย ก็คือ คาวัวร์มุ่งหมายความเจริญเป็นปึกแผ่นอยู่ในขอบเขตแห่งดินแดนที่เป็นอิตาลีโดยเฉพาะ แต่มุสโซลินีประศาสโนบายไปในทางที่จะประดิษฐานจักรพรรดิ์อิตาลีขึ้น ให้แผ่ไพศาลไปในภูมิประเทศที่ข้ามทะเลไปใกล้และไกล ย้อนกลับไปคำนึงถึงคำว่า “ทะเลของเรา” และจักรวรรดิโรมันแต่ก่อน

ก็เมื่อรัฐบุรุษทั้งสองสมัยของอิตาลีมีความปรารถนากว้างน้อยและกว้างมากผิดกันฉะนี้ ทางปฏิบัติก็ย่อมจะแตกต่างกันตามขนาดแห่งความมุ่งหมาย และทางปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนกันอย่างชัดแจ้งก็คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริติช ดังจะนำมาแสดงเป็นเค้า ๆ ในที่นี้

ในตอนที่จะปรากฏนามคาวัวร์ขึ้นนั้น อิตาลียังแยกกันเป็นประเทศย่อย ๆ อยู่หลายประเทศ ในตอนนั้น รัฐบุรุษผู้ใหญ่ของบริติช คือปาลเบอสตันและรัสเซ็น เป็นต้น มีใจฝักใฝ่กับอิตาลี คิดจะช่วยให้ได้รวบรวมกันเป็นมหาประเทศ มีอิสระบริบูรณ์ ไม่พะยักให้ออสเตรียและฝรั่งเศสทำตามใจในเรื่องอิตาลี สองประเทศนั้น จึงไม่กล้าเข้าขัดขวางมิให้ภาคเหนือและภาคกลางแห่งอิตาลีควบเข้าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับภาคใต้ได้ เหตุที่สองประเทศไม่กล้าขัดขวางนั้น ก็ด้วยเกรงขามกองทัพเรือบริติช ซึ่งเป็นเจ้าทะเลอยู่แล้วในสมัยนั้น หัวหน้ารัฐบุรุษบริติชในสมัยนั้นไม่แสดงให้เห็นออกมาว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินออสเตรียและพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงกีดขวางกิจการภายในของอิตาลีมิให้รวบรวมกันเป็นปึกแผ่นลงได้ กองทัพเรือบริติชจะปฏิบัติอย่างไร พระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ในเวลานั้น ทรงยำเยงอำนาจในทะเลของบริติชอยู่ จึงไม่กล้าขัดขวาง และประเทศย่อย ๆ ในอิตาลีก็รวมกันเข้าเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวได้

มีความข้อหนึ่งซึ่งพงศาวดารนำมาชี้ว่า รัฐบุรุษตัวยงของอิตาลีตกอยู่ใต้เงื้อมปัญญาของบริติชในตอนนั้น คือว่า คาวัวร์เป็นศิษย์ในคติลิเบอรัลของอังกฤษ คาวัวร์มีประสงค์จะก่อคติการเมืองชนิดที่เคยเห็นในประเทศอังกฤษให้เกิดขึ้นในอิตาลี คือระบอบการปกครองที่มีพระราชาและรัฐธรรมนูญ อันอาศัยเสรีภาพเป็นหลัก และอำนวยตามน้ำใจคนในทางศาสนา ไม่มอบให้บ้านเมืองอยู่ในเงื้อมอำนาจแห่งสงฆ์ดังแต่ก่อน ส่วนทางเศรษฐกิจนั้น คาวัวร์ดำเนินประศาสโนบายที่จะไม่ใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องกีดกันหวงห้ามการค้าขาย คิดสร้างรถไฟให้มาก และบำรุงอุตสาหกรรมและกสิกรรมตามทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น อิตาลีต่อนั้นมาได้ธำรงความสงบอยู่นาน จึงมีเวลาที่จะจัดบำรุงตนให้บริบูรณ์ขึ้นได้ จนเป็นประเทศมหาอำนาจขึ้นประเทศหนึ่งก่อนมหาสงคราม (ค.ศ. ๑๙๑๕ - ๑๘) และเมื่อสิ้นมหาสงครามแล้ว (ค.ศ. ๑๙๑๔ - ๑๘) อิตาลีเป็นพวกมีชัยก็ได้เถลิงอำนาจยิ่งใหญ่ขึ้น

แต่ระบอบพระเจ้าแผ่นดินดำเนินครองรัฐธรรมนูญของอิตาลีนั้น แม้ได้ตั้งเป็นปึกแผ่นลงได้เกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว ก็ไม่ยึดรากแน่นเหมือนดังระบอบพระเจ้าแผ่นดินและประชาธิปัตย์ในบางประเทศที่ตั้งมานานกว่า ถ้าพูดในส่วนตำแหน่งพระราชาธิบดี ตำแหน่งนั้นก็ขาดความแวดล้อมของวงศ์สกุลเก่า ๆ ซึ่งสร้างบารมีมาด้วยกันกับราชสกุล และขาดความมีชัยในการศึก ซึ่งย่อมเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อน ในส่วนประชาธิปัตย์นั้น ไม่ปรากฏว่าระบอบปกครองระบอบนี้ได้ยึดรากเหนียวแน่นอยู่ในพื้นของอิตาลีนัก จึงเกิดความปั่นป่วนกันภายในร่ำไป เมื่อสิ้นมหา สงครามแล้วความแก่งแย่งกันเอง ซึ่งมีเชื้อมาเดิมได้กลับผุดพุ่งขึ้นอีก จนในที่สุด พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงอนุมติให้ชมรมฟาสซิสต์เข้ารับภาระถือบังเหียนของประเทศ ทรงยอมให้มีจอมบงการธำรงอำนาจบริบูรณ์อยู่ในตัว แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระนามว่าเป็นประมุขแห่งประเทศอยู่

มุสโซลินีหัวหน้าชมรมฟาสซิสต์ ได้รับตำแหน่งจอมบงการแล้ว ก็ใช้อำนาจอันรวมอยู่ในตน ด้วยความสามารถยอดเยี่ยม บันดาลให้ความยุ่งยากภายในหมดไปแทบจะทันที และนำมาซึ่งความจำเริญอย่างรวดเร็วน่าพิศวง ฐานะของอิตาลีซึ่งชักจะเสื่อมลงด้วยความปั่นป่วนภายใน ก็คืนสู่ความมั่นคงธำรงเกียรติยิ่งกว่าแต่ก่อน

ความสำเร็จภายในของอิตาลีนั้น ทำให้จอมบงการคิดต่อไปถึงวาสนาภายนอก นัยหนึ่งปรารถนาให้มีกิ่งก้านปกคลุมกว้างออกไป ซึ่งถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็คือหาเมืองขึ้นเป็นเครื่องแวดล้อมเมืองแม่ แต่การหาเมืองขึ้นนั้น อิตาลีเป็นประเทศซึ่งรวบรวมกันตั้งเป็นปึกแผ่นขึ้นได้ใหม่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี เมื่อกวาดตาหาเมืองขึ้นที่ข้ามทะเลไป สายตาก็ประสบแต่ภูมิประเทศ ซึ่งผู้อื่นได้ยึดถือเอาเสียก่อนแล้ว ยังเหลือแต่ท้องที่ซึ่งไม่มีใครต้องการ หรือไม่มีใครหวง เพราะเป็นทะเลทรายหรือที่กันดารโดยมาก

แต่แม้ทะเลทรายหรือกันดารก็ยังดีกว่าไม่มีเลย เพราะถ้าบำรุงนานเข้าก็อาจเกิดประโยชน์ได้

แต่การบำรุงท้องที่ ซึ่งไปมายากและต้องอาศัยทางเดินของผู้อื่นนั้นย่อมจะไม่สะดวก ถ้าได้ท้องที่ซึ่งตกไปเป็นสมบัติ หรืออยู่ในเงื้อมอำนาจของผู้อื่นแล้ว เพื่อจะได้ใช้เป็นทางเดินและเป็นแหล่งที่จะเกิดผลประโยชน์ต่าง ๆ ได้ไซร้ จักรพรรดิ์ก็จะเติบโตสู่ความล่ำสันขึ้นได้

ประศาสโนบายนี้ ย่อมจะก่อให้เกิดอริขึ้นกับประเทศอื่น ๆ อันเป็นเจ้าของท้องที่ซึ่งขวางทางอยู่หรือมีอำนาจอยู่ในทะเลอันเป็นทางติดต่อระหว่างเมืองแม่กับเมืองขึ้นของอิตาลี ในที่สุดจึงเกิดเป็นสงครามคราวนี้ขึ้น และอิตาลีกำลังต้องทำศึกบริติชอยู่ในวันนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๔)

ผู้อ่านย่อมทราบข่าวสงครามของอิตาลีในยุโรป และแอฟริกาตามที่มีมาทุก ๆ วัน และอาจเทียบปัจจุบนคือสมัยมุสโซลินี กับอดีตคือสมัยคาวัวร์ว่ามีลักษณะแผกเพี้ยนกันประการใดบ้าง แล้วคอยดูว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร

สมุดคาวัวร์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์นี้เป็นเรื่องพงศาวดารตอนหนึ่ง ซึ่งไทยส่วนมากไม่เคยทราบ และเวลาที่พิมพ์นี้ก็เหมาะ เพราะเป็นโอกาสให้ผู้อ่านเทียบอิตาลีตอนหนึ่งในอดีต กับอิตาลีตอนหนึ่งในปัจจุบันให้เห็นความแผกเพี้ยนกันไปตามเวลา นับว่าเป็นประโยชน์ใหญ่อยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเจ้าของควรได้ทรงรับความสรรเสริญของผู้อ่านและผู้สนใจในวิชาพงศาวดารทั่วไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ