ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์

เราได้กล่าวในสารกถาซึ่งได้พิมพ์ก่อนวันนี้ว่า ประชาธิปัตย์ต้องได้รับการศึกษาแล้วจึงจะเดินได้คล่อง สยามของเราได้ใช้ประชาธิปัตย์แล้ว แต่ข้อที่ว่าจะได้เริ่มใช้พอดีแก่เวลาหรือช้าเกินไปหรือเร็วเกินไปนั้น มิใช่ปัญหาที่เราจะกล่าว ผู้อ่านของเรามีหลายพันคน คงจะเห็นอย่างโน้นบ้าง เห็นอย่างนี้บ้าง ใช่ที่จะโต้เถียงกันในเวลานี้ แต่เรานึกว่าเห็นจะไม่มีใครค้านข้อที่ว่า ประชาชนพลเมืองของเราส่วนมากยังอ่อนศึกษา ไม่ใช่อ่อนกว่าประเทศทั้งหลายที่ใช้ประชาธิปัตย์อยู่ด้วยกัน แต่อ่อนกว่าบางประเทศ ประเทศที่การศึกษาดีกว่าเรานั้น เราไม่ว่า ๆ คือประเทศของอารยะชน เพราะประเทศที่มิได้เป็นอารยะ ก็มีการศึกษาดีกว่าเรา ญี่ปุ่นไม่ใช่อารยะแต่มีสิวิไลเซชั่นอย่างสูง (เราขออภัยต่อนักวิทยาศาสตร์ที่เรางุ่มง่ามใช้คำว่าอารยะ อันเป็นศัพท์ซึ่งเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตรเลิกใช้เสียแล้ว)

ก็เมื่อสยามได้ถือเอาประชาธิปัตยเป็นที่ตั้งแล้ว แต่ประชาชนพลเมืองของเรายังอ่อนศึกษา ก็จะต้องช่วยกันลาลู่ถูกังไปให้บรรลุผาสุกจนได้ ฝรั่งผู้มีความรู้ผู้หนึ่ง เป็นผู้รู้จักสยามมานาน แลเคยไปอยู่ประเทศอื่นนอกยุโรปด้วย กล่าวว่าไทยสยามที่มีความรู้ชั้นสูง ๆ นั้น พอเสมอบ่าเสมอไหล่ได้กับฝรั่งชั้นเดียวกัน แต่เขาไม่ได้กล่าว (หรือไม่กล่าวให้เราได้ยิน) ว่าประชาชนพลเมืองของเรา ยังต่ำกว่าประชาชนพลเมืองในประเทศฝรั่ง เขานึกดังนั้นในใจ แต่ถ้าพูดออกมาตรงๆ เราก็ไม่โกรธ เพราะพวกเราเองก็นึกดังนั้นโดยมากเหมือนกัน

ความหมายของเราในที่นี้ว่า เมื่อสยามได้โน้มตนพึงประชาธิปัตย์แล้ว ก็จะต้องพยายามยกความรู้ของประชาชนให้สูงขึ้นตามคั่นอันควรแก่ประเทศที่ใช้ประชาธิปัตย์ วิธียกความรู้ของพลเมืองวิธีหนึ่ง ก็คือจัดให้คนได้เล่าเรียนในสำนักศึกษา แลในข้อนี้รัฐบาลก็ได้พยายามทำอยู่แล้วเต็มกำลังทรัพย์และกำลังปัญญา โดยวิธีมีกฎหมายบังคับให้ประชาชนรุ่นเด็กต้องเข้าโรงเรียน ครั้นพ้นกำหนดเวลาบังคับแล้ว ก็มีโรงเรียนชั้นสูงขึ้นไปให้คนมีโอกาสจะเรียนได้ ตลอดถึงมหาวิทยาลัยเป็นที่สุด วิธีนี้ชนอื่น ๆ ที่มิใช่รัฐบาลก็ได้ช่วยอยู่บ้างแล้ว เห็นได้ที่มีโรงเรียนไปรเวตเป็นอันมาก ซึ่งแม้เป็นการหากินของบุคคลหรือบริษัท ก็เป็นทางช่วยการปกครองได้ไม่น้อยเลย

แต่วิธีสอนในโรงเรียนนั้น เป็นการสอนความรู้กลาง ๆ เมื่อสำนักศึกษาสูงขึ้นไป ก็มุ่งไปทางอาชีพ เพราะคนจะต้องมีกินก่อน จึงจะเป็นนักราชการได้ คนส่วนมากจะตั้งหน้าเรียนสำหรับเข้าไปกินเงินเดือนในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้ เหตุฉะนความรู้ที่สอนกันในโรงเรียนจึงเป็นความรู้กลาง ๆ ที่เป็นพื้นของความรู้พิเศษ หรือเมื่อเรียนสูงขึ้นไปที่เป็นความรู้วิชาชีพ ถ้าเอาความรู้วิธีการบ้านเมืองไปสอนในโรงเรียน นักเรียนก็จะขาดความรู้กลาง ๆ ที่เป็นพื้น เหมือนก่อตึกไม่มีรากฉะนั้น

ความรู้กลาง ๆ นั้น ใช่จะไม่เป็นพื้นสำหรับการเมืองด้วย ที่แท้ความรู้การเมืองก็ต้องมีพื้นเหมือนความรู้พิเศษอื่น ๆ เหมือนกัน เหตุฉะนี้ ความรู้ที่เรียนในศึกษาสถานต่าง ๆ ถึงแม้จะเป็นความรู้กลาง ๆ ก็สำคัญแก่ประชาธิปัตย์เหมือนกัน ความข้อนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็เห็นอยู่แล้ว บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจึงมีเตรียมไว้ว่า วิธีเลือกผู้แทนราษฎรที่ใช้อยู่ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๘) เมื่อราษฎรได้เล่าเรียนเป็นจำนวนมากขึ้นแล้ว ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

รัฐธรรมนูญมาตราที่อ้างนี้ บ่งว่าผู้ร่างเห็นชัดอยู่แล้ว ว่าราษฎรพลเมืองของเราอ่อนศึกษา และประมาณว่าอีก ๑๐ ปีจากวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ การศึกษาจึงจะดีพอเปลี่ยนวิธีเลือกได้ ถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อเด็กที่ในโรงเรียนรุ่นนี้โตขึ้นแล้ว พลเมืองจึงจะมีศึกษาพอควรแก่ประชาธิปัตย์จริง ๆ

แต่บัดนี้ เราก็ได้ใช้ประชาธิปัตย์แล้ว แลระหว่างที่เด็กยังไม่โตนี้ ประชาธิปัตย์ก็จะต้องเดินไป ทั้งๆที่รับกันอยู่แล้วว่าประชาชนส่วนมากยังอ่อนศึกษา ถ้าจะใช้ศัพท์ที่เราใช้มาแล้ว ก็คือว่า จะต้องลากลู่ถูกังกันไป และในการลากลู่ถูกังนี้ จะต้องใช้วิธีต่าง ๆ อันพึงใช้ได้เพื่อให้เบาแรงขึ้น พูดสั้น ๆ การสอนเด็กในโรงเรียนก็สอนไป แต่จะต้องสอนผู้ใหญ่ด้วย ผู้ใหญ่ที่ควรรับสอนแลยินดีในการรับสอนนั้น ใช่แต่นายอ่ำอำแดงอึ่งเท่านั้น อาจรวมไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนก็ได้ แลพวกเราผู้เขียนหนังสือพิมพ์นี้ด้วย

เรายกเอา ส.ส. แลพวกเราเองขึ้นกล่าว เพราะถ้ามี ส.ส. ผู้ใดที่รู้สึกตัวว่าอ่อนความรู้ในเรื่องประชาธิปัตย์ ผู้นั้นก็อยู่ในพวกแรกที่คงจะอยากศึกษา ส่วนพวกเราเองผู้เขียนหนังสือพิมพ์นั้นเล่าถ้าอ่อนความรู้ จะนำความรู้สู่ผู้อ่านตั้งแต่นายอ่ำอำแดงอึ่งไปจนคุณขจีและคุณชาดอย่างไรได้ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงอยู่ในพวกแรกที่อยากจะศึกษาเหมือนกัน

ก็วิธีที่จะให้เกิดความรู้แก่ผู้ใหญ่ที่พ้นโรงเรียนไปแล้วและจำต้องพะวงในกิจการต่างๆ คือการหากินเป็นต้น ไม่สู้มีเวลาที่จะใช้ในการสืบความรู้นั้น การจัดให้มีปาฐกถาเป็นวิธีสำคัญอย่างหนึ่ง แต่การแสดงปาฐกถานั้น ใครจะใช้เป็นทางหากินในประเทศนี้ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะหาผู้รู้มากคนให้แสดงปาฐกถาเสมอ ๆ จนเกิดความรู้แก่คนมาก ๆ ก็น่ากลัวจะไม่ได้ อนึ่ง การกล่าวปาฐกถานั้น คนฟังได้น้อยคน โดยมากก็นับเพียงจำนวนร้อย น้อยครั้งจึงจะมีคนฟังนับจำนวนพัน แม้จะมีเครื่องขยายเสียงออกไปให้คนฟังได้มาก ๆ ก็คงจะทราบกันแล้วว่า ฟังเทศน์ไม่เห็นพระ แลฟังปาฐกถาไม่เห็นตัวผู้พูดนั้น ผิดกับเห็นมาก ในสมัยนี้มีวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษา แต่มีข้อยากอยู่ ๒ ข้อ ข้อ ๑. เพราะราษฎรของเราที่มีเครื่องรับวิทยุนั้นน้อย แม้ตำบลที่ไม่สู้ไกลจากกรุงเทพ ฯ ก็ไม่ค่อยมี แลซ้ำวิทยุกระจายเสียงที่พญาไทยังส่งไปถึงท้องที่ไกล ๆ ที่จะรับด้วยเครื่องราคาถูกได้ ข้อ ๒. ผู้จะกล่าวปาฐกถาทางวิทยุนั้น จะหาคนความรู้ดีมาพูดแทนไม่เว้นวันก็เห็นจะหายาก คนพูดเหลว ๆ ไหล ๆ ด้วยไม่รู้จริงนั้น ป่วยการหามาพูดเพราะคนฟังไม่นับถือก็ย่อมจะไม่เชือ่แลปิดเครื่องรับวิทยุเสีย หรือถ้าคนหลงเชื่อก็พาเข้ารก การที่หาคนดียากนั้น ก็เพราะเรื่องค่าจ้าง ถ้าให้ประมาณนาทีละ ๑๒ บาท ดังที่เราได้ยินว่า เขาให้คนพูดชั้นเยี่ยมในลอนดอน ก็คงจะพอหาปาฐกชั้นเก่งได้ แต่อย่าว่าแต่นาทีละ ๑- บาทเลย แม้นาทีละบาทเดียว ก็สงสัยว่ากองวิทยุกระจายเสียงของเราไม่มีให้เสียแล้ว แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องสงสัย ว่าวิทยุกระจายเสียงเป็นเครื่องมือดีสำหรับสอนผู้ใหญ่แลสอนเด็กด้วย ต่อไปข้างหน้าคงจะใช้วิทยุกระจายเสียงได้ดีขึ้นทุกที

เครื่องมืออีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้ดีก็ย่อมจะดีนัก เครื่องมือนั้นคือหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพฺมีกิจธุระเบื้องต้นคือขายข่าว แต่เมื่อให้ข่าวแล้วก็มีพันธะที่จะให้ความรู้ แลคำชี้แจงในเรื่องข่าวนั้น ๆ หรือในเรื่องอื่นๆ ด้วย หนังสือพิมพ์มีหน้าที่จะมีความรู้ ถ้ายังไม่มีก็ต้องขวนขวายหา ดังที่เราพูดถึงพวกเราเองในเบื้องต้นนั้นแล้ว หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือดีสำหรับสอนผู้ใหญ่ แลในประเทศนี้ใช้ราชาธิปัตย์แล้ว แต่หากประชาชนพลเมืองยังอ่อนความรู้อยู่นั้น หนังสือพิมพ์ก็จำต้องช่วยในการลากลู่ถูกังโดยประการที่กล่าวมาแล้ว อนึ่ง หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องให้คนรู้ถึงกัน เป็นเครื่องส่อความเห็นและสืบความเห็น ถึงแม้ประชาธิปัตย์ที่ได้ศึกษาแล้ว ก็ยังต้องใช้หนังสือพิมพ์อยู่นั่นเอง ทั้งหมดที่กล่าวนี้ ถ้าจะพูดสรุปลงให้สั้น ก็ว่าประชาธิปัตย์ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ มิฉะนั้นก็กระโผลกกระเผลก ยังตั้งหลักไม่แน่น

เมื่อ ๒-๓ วันนี้ในสภาผู้แทนราษฎรได้มีญัตติแลอภิปรายกันมากมายในเรื่องหนังสือพิมพ์ ซึ่งแสดงว่าสภาทราบประโยชน์อันอาจเกิดจากหนังสือพิมพ์ในทางที่เรากล่าวนี้ แต่ลู่ทางที่สมาชิกหลายนายคิดว่าควรใช้เพื่อแก้วิธีการที่สมาชิกนั้น ๆ ยืนยันว่าบกพร่องนั้น จะสำเร็จไปได้เพียงไหนเป็นคนละเรื่องกับที่กล่าวนี้

ผู้อ่านของเราบางคนคงจะนึกหรือกล่าวว่า ข้อที่เราว่าประชาธิปัตย์ต้องอ่านหนังสือพิมพ์นี้ หมายความว่า คนทั้งหลายควรอ่านประมวญวันดอกกระมัง เรารับทันทีว่าเราหมายเช่นนั้นด้วย แต่ไม่ใช่เช่นนั้นอย่างเดียว หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวไม่พอ ต้องช่วยกันหลายฉบับ จึงจะช่วยประชาธิปัตย์ได้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ