- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
สารกถา
ว่าด้วยประชาธิปัตย์
ประชาธิปัตย์เป็นของเวียนว่ายตายเกิดเหมือนสิ่งอื่น ๆ ในโลก เมื่อก่อนมหาสงคราม (โลกครั้งที่ ๑) ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีพระราชาเป็นหัวหน้าโดยมาก อำนาจของพระราชานั้นๆ มีในประเทศของพระองค์ ยิ่งบ้างหย่อนบ้างต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า พระราชาประเทศรัสเซียทรงพระนามตำแหน่งว่า “ออโตแครตแห่งรัสเซียทั้งหลาย” ออโตแครตแปลว่า ผู้มีอานุภาพพร้อมอยู่ในตน นัย หนึ่งเป็นชื่อเรียกพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงไว้ซึ่งอาญาสิทธิ์แต่ผู้เดียว เดชและอำนาจทั้งหลายมีบ่อเกิดอยู่ในพระองค์ทั้งสิ้น ถัดพระราชารัสเซียลงมา ก็มีพระเจ้าแผ่นดินเช่นพระราชาเยอรมัน และพระราชาออสเตรียเป็นต้น ซึ่งมีรัฐสภาในประเทศของพระองค์ก็ทรงอำนาจอยู่ในพระองค์เองมาก นอกนั้นยังมีพระราชาประเทศย่อม ๆ อีกหลายพระองค์ ซึ่งทรงอำนาจภายในประเทศยิ่งบ้างหย่อนบ้างต่าง ๆ กันแทบทั้งนั้น พระราชาที่อยู่ใต้ประชาธิปัตย์มากที่สุด แต่ทรงสง่าราศีไม่หย่อนกว่าใครเลย ก็คือพระราชาอังกฤษ พระราชาพระองค์นั้น ถ้าจะพูดในส่วนที่ทรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกบริหารราชการบ้านเมือง ก็อยู่ใต้ปกคลุมของประชาธิปัตย์ยิ่งไปกว่าเปรซิเด็นต์ของสหปาลีรัฐอเมริกาเสียอีก เปรซิเด็นต์ของประเทศรีปับลิกน่าจะนึกว่าอยู่ใต้ประชาธิปัตย์ยิ่งกว่าพระราชา แต่ถ้าจะพูดในส่วนที่เป็นหัวหน้าบริหารก็มิได้เป็นเช่นนั้น พระราชาอังกฤษจะทรงตั้งใครเป็นเสนาบดีของพระองค์ ก็ทรงเลือกเฉพาะในพวกที่ราษฎรเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกในรัฐสภา (ปาลิเม็นต์) แต่เปรซิเด็นต์อเมริกาจะตั้งใคร ๆ ก็ได้ มีบังคับอยู่แต่ว่า จะตั้งคนที่เป็นสมาชิกในรัฐสภาเป็นเสนาบดีไม่ได้ แม้เปรซิเด็นต์เองก็มิได้เป็นสมาชิกของรัฐสภา และรัฐธรรมนูญอเมริกา (มาตรา ๖) กล่าวไว้แจ่มแจ้งว่า “ห้ามมิให้ผู้มีตำแหน่งออฟฟิศในราชการของสหปาลีรัฐอเมริกา เป็นสมาชิกในรัฐสภาตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง
เมื่อมหาสงคราม (โลกครั้งที่ ๑) ได้แพ้ชนะกันแล้ว ความระส่ำระสายอันเป็นผลของมหาสงครามก็เกิดทั่ว ๆ ไปในโลก บางแห่งก็เป็นแต่เพียงที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจตกต่ำ” ไม่กระเทือนไปถึงวิธีปกครองบ้านเมือง แต่ในบางประเทศความข้นแค้นทำให้ปั่นป่วนกัน จนถึงระบอบรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ในเหล่าประเทศที่แพ้สงครามนั้น ก็เปนธรรมดาที่จะโทษพระราชา เพราะฉะนั้น ที่เปลี่ยนไปเป็นรีปับลิกก็ไม่น่าพิศวง แต่ประเทศที่อยู่ฝ่ายชนะก็เป็นไปบ้าง แม้บางประเทศที่มิได้เข้าสงครามก็เป็นไปเช่นกัน เพราะความข้นแค้นซึ่งเป็นผลของสงครามนั้นแผ่ทั่วไปทั้งฝ่ายชนะและฝ่ายแพ้ มิหนำซ้ำประเทศที่มิได้ทำสงครามก็ได้รับผลนั้น ๆ ด้วย
ดังนี้ระบอบรัฐบาล ซึ่งถ้าดูเผิน ๆ ก็เหมือนประชาปิปัตย์อย่างจริงจังนั้น จึงเกิดและแผ่ไปเร็วดังโรคระบาด หลายประเทศได้เลิกตำแหน่งพระราชาเปลี่ยนเป็นรีปับลิก พระราชาหลายพระองค์ต้องทรงสละราชสมบัติย้ายที่ประทับไปอาศัยประเทศอื่น ๆ ที่ยังมีเจ้าแผ่นดิน พระราชาบางพระองค์เสด็จย้ายราชสำนักไปโดยมิได้สละราชสมบัติ ประเทศต่าง ๆ ซึ่งตำแหน่งพระราชา ก็สถาปนาริปับลิกและเลือกบุคคลขึ้นเป็นเปรซิเดนต์
แต่ประชุมชนที่ได้จ่ายทรัพย์เผาดินปืนไปแล้วมากมายในคราวสงครามก็ดี ประชุมชนที่เคยค้าขายกับประชุมชนที่เผาดินปืนก็ดี เมื่อข้นแค้นลงไปแล้ว จะแก้ความข้นแค้นให้หลุดพ้นไปในเร็ว ๆ ด้วยวิธีเปลี่ยนระบอบรัฐบาลหาได้ไม่ ประชาธิปัตย์อาจเป็นของดี แต่ไม่เคยปรากฏในตำนานมนุษย์ ว่าประชาธิปัตย์เปลี่ยนความจนของประชุมชนให้เป็นความมั่งมีในวันในพรุ่งได้ ที่แท้ถ้าจะตรวจดูตามพงศาวดารไซร้ ประชาธิปัตย์ใหม่ ๆ ถ้าเผลอและเพลินไปนัก ก็มักจะทำให้เกิดยุ่งหนักขึ้น เพราะพวกที่ไม่เคยมีอำนาจปกครองนั้น ถ้าไปได้อำนาจเข้าก่อนที่มีความรู้ว่าใช้อำนาจอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ปราศจากภัยไซร้ ถึงแม้จะตั้งใจดีที่สุด ก็มีทางพลาดพลั้งได้มาก และเมื่อพลาดไปแล้วประชุมชนที่จนก็จนหนักขึ้น ความยุ่งเหยิงก้ไม่สงบไป กลับจะทวีขึ้น การได้เป็นเช่นนี้หลายประเทศที่เปลี่ยนระบอบรัฐบาลไปใช้แบบรีปับลิกภายหลังมหาสงคราม (โลกครั้งที่ ๑)
ดังนี้ ประชาธิปัตย์แบรีปับลิกที่เกิดขึ้นภายหลังมหาสงครามหลายประเทศ จึงเวียนกลับไปลงแบบปกครองด้วยอาญาสิทธิ์เด็ดขาด เกิดมิดิกเตเตอร์เป็นผู้บงการประเทศด้วยอำนาจและอานุภาพอันถือไว้แน่นหนา ถ้าจะเปรียบก็คือถือตะบองเพชรชี้ต้นตายปลายเป็น จะบงการประการใด คนทั้งหลายก็ไม่อาจขัดขวางได้ การมีผู้ถือตะบองเพชรเช่นนี้ ถึงแม้ผู้ถือจะทรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมและเมตตาปรานีเป็นที่สุด ก็กล่าวไม่ได้ว่า ประชาธิปัตย์มิได้สิ้นไป และผู้อ่านของเราคงจะระบุชื่อประเทศในยุโรปได้หลายประเทศที่ได้ตั้งรีปับลิกขึ้นแล้ว รีปับลิกกลับกลายเป็นมีหัวหน้าถือตะบองเพชรโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อรัฐบาลที่เรียกว่ารีปับลิก แต่ใช้วิธีปกครองโดยอาญาสิทธิ์เด็ดขาดของผู้บงการได้เกิดขึ้น และจำเริญมาในบางประเทศหลายบจนบัดนี้ ก็เกิดมีท่าทางว่าในที่บางแห่งประชาธิปัตย์มีช่องลมหายใจจะคืนมีกำลังมาบ้าง เห็นได้ในประเทศหนึ่ง ซึ่งมีรีปับลิกไม่เป็นประชาธิปัตย์จริงดังว่า ต้องกลับมีพระราชาเพื่อให้ประชาธิปัตย์คืนมีมาในประเทศ บางประเทศยังไม่ถึงต้องทำเช่นนั้น แต่ต้องให้โอกาสให้ประชาชนออกเสียงในการเลือกสมาชิกรัฐสภากันใหม่ ก็คือว่า หันเข้าหาประชาธิปัตย์มากขึ้น บางประเทศประชาธิปัตยยังไม่ถึงแก่ถูกรุกราน แต่ก็มีเงามาว่าจะถูกผจญถึงอาจกลายเป็นใช้อาญาสิทธิเด็ดขาด และบัดนี้ปรากฏว่า ชมรมผู้ผจญนั้นกลับถอยห่างออกไปเอง
ดังนี้แหละ ประชาธิปัตย์หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นไทยแก่ตนของราษฎรพลเมืองนั้น เป็นของเวียนว่ายตายเกิดฟูขึ้นแล้วก็ยุบลง ยุบลงแล้วก็ฟูขึ้น เมื่อปีสองปีนี้เอง มีคำพูดกันทั่ว ๆ ไปในยุโรปว่า ประชาธิปัตย์กำลังตกต่ำจวนจะเข้าตาจน เหตุเพราะดิกเตเตอร์เฟื่องฟูยิ่งๆขึ้น และเพราะวิธีการของประชาธิปัตยเองก็มีบกพร่องหลายอย่าง แต่มาบัดนี้ดูเหมือนประชาธิปัตย์ค่อยืลืมหน้าอ้าปากขึ้นบ้างในที่บางแห่ง
เราได้เขียนมาแล้วข้างบนนี้เรื่องประชาธิปัตย์ แต่ยังมิได้กล่าวว่า ประชาธิปัตย์คืออะไร ผู้อ่านของเราคงจะทราบแล้วว่า ประชาธิปัตย์ (ซึ่งอังกฤษเรียกว่า ดิโมคระซีและโดยมากเราเขียนว่า “ประชาธิปัตย์”) นั้น มิใช่มีแบบเดียว และยังจะแยกเป็นชนิดย่อยออกไปอีกเล่า ในศึกษาสถานของเราในยามคือมหาวิทยาลัยเป็นต้น ก็คงจะได้สอนเรื่องประชาธิปัตย์กันบ้างแล้ว แต่ผู้อ่านของเราทุกคนมิได้เป็นนักเรียนอยู่ในเวลานี้ หรือเคยเป็นนักเรียนในเวลาก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะชี้แจงเรื่องประชาธิปัตย์ต่อไปในวันหน้า ๆ ก็อาจเป็นเครื่องแนะผู้อ่านที่ยังไม่ทราบและต้องการทราบให้ทราบและใส่ใจตรึกตรอง เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองต่อไป อนึ่ง การสอนกันตามตำราว่านักปราชญ์คนนั้นว่าอย่างนั้น นักปราชญ์คนนี้ว่าอย่างนี้นั้น ผู้อ่านส่วนมากซึ่งมิได้ตั้งใจหรือมีเวลาจะศึกษาให้ลึกซึ้งจริงจัง อาจไม่เข้าใจได้ง่ายเหมือนชี้แจงกันโดยโวหารของผู้แจงเอง เราจึงตั้งใจจะเขียนโดยวิธีที่เข้าใจง่าย หากจะไม่เดินตามร่องอันเป็นแบบเป็นตำรา ก็มุ่งเอาความเข้าใจง่ายของผู้อ่านเป็นใหญ่ เราจะทำดังนั้นในวันหน้าๆ ต่อไป อนึ่ง เราขอเสนอต่อผู้อ่านที่สนใจในเรื่องนี้ว่า ท่านอ่าน “ประมวญวัน” แบบนี้แล้วอย่าเพิ่งทิ้งเสีย จึงเก็บรวมไว้ก่อน เผื่อในฉบับหน้า ๆ เราย้อนอ้างถึง ถ้าทานจำไว้ไม่ได้ ก็จะได้ย้อนมาพลิกดู
วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
สมาชิกรัฐสภาอังกฤษคนหนึ่งพูดทางวิทยุกระจายเสียง ว่าด้วยความเป็นไทแก่ตน (ฟรีดอม Freedom) ของคนในประเทศของเขา เราตอนมาสู่กันฟังในที่นี้ เพราะแม้จะไม่มีอะไรใหม่ และผู้สนใจในวิธีการปกครองบ้านเมืองย่อมรู้อยู่ด้วยกันเป็นอันมากแล้วก็จริง แต่ผู้พูดคือกัปตันฮาโรลด์ บัลฟอร์ เป็นผู้คงแก่เรียนและฉลาดในเรื่องที่นำมาพูด แม้ในประเทศอังกฤษซึ่งใช้รัฐธรรมนูญแบบราชาธิปัตย์มาหลายร้อยปีแล้ว ก็ยังนิยมกันว่า เป็นคำพูดที่นำให้เกิดความรู้ชัดแจ้ง เพราะฉะนั้นในประเทศของเขาซึ่งใช้รัฐธรรมนูญคล้ายกันมาในสองสามปี ก็คงจะยังมีสักสองสามคนกระมัง ซึ่ง้ถาได้ฟังคำชี้แจงของเขา ก็อาจเป็นเครื่องนำความรู้ให้กว้างขึ้น
ข้อความที่เขากล่าวนั้น กล่าวถึงประเทศของเขา และตามที่เราตอนมาเล่านี้ กล่าวเฉพาะประเทศอังกฤษก็จริง แต่มีบางแห่งเราช่วยชี้แจงเพิ่มเติมออกไป เพื่อจะให้เข้าใจง่ายเข้า คำชี้แจงของเรานี้มิได้ออกนอกวงความที่เขาพูด เป็นแต่อธิบายให้เห็นความหมายในที่บางแห่งเท่านั้น
ผู้พูดกล่าวว่า ประชาชนชาวอังกฤษอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายและประเพณี อันเป็นไปทีละเล็กละน้อยในเวลาหลายร้อยปี มีขีดขอบซึ่งจะล่วงล้ำไปไม่ได้ ทั้งหมดนั้นเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ของเขา สิ่งซึ่งเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” อังกฤษนี้ คนอังกฤษทุกคนยกย่องว่าเป็นคติอันจะหาเสมอได้ด้วยยาก เขาจะตื่นตัวของเขานัก ตามธรรมดาคน ถ้ายกย่องอะไรของตนว่าดี ก็ควรจะรู้ว่าสิ่งซึ่งตนยกย่องนั้นคืออะไรแน่ ผู้พูดกล่าวว่า คนอังกฤษธรรมดากลาง ๆ ไม่ใช่พวกที่มีความรู้มากนักหรือน้อยนัก ถ้าถามว่าตื่นตัวเพราะเหตุใด ก็มักจะฉงนอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “เพราะเป็นไทแก่ตน” ถ้าเราทั้งหลายรับรองกันว่า มนุษย์ควรตื่นตัวเพราะเป็นไทแก่ตนไซร้ เราก็จะต้องรู้เสียก่อนว่า ความเป็นไทแก่ตนนั้นเพียงไหนแน่
ความเป็นไทแก่ตนนั้นมีหลายทางเป็นต้นว่า คนในประเทศอังกฤษ มีอิสระ ที่จะคิดแลที่จะพูด แต่จะพูดไปทุกอย่าง ตามอำเภอใจ ก็ไม่ได้ เช่นว่า ถ้าพูดหมิ่นประมาทคนอื่น ก็อาจถูกเรียกตัวไปชำระในศาล และถูกตัดสินว่าทำผิดกฎหมายหมิ่นประมาท ถ้าไม่พูดหมิ่นประมาทบุคคลคนใด เพียงแต่พูดลามกเป็นที่รังเกียจของฝูงคนเท่านั้น ก็อาจถูกศาลตัดสินลงโทษตามกฎหมาย
อนึ่ง คนในประเทศอังกฤษย่อมมีอิสระที่จะทำงาน แต่นั่นมิได้หมายความว่า จะให้เลือกทำงานที่ไหนก็ได้ทั้งหมด หรือจะรับจ้างใครก็ได้โดยไม่มีขอบขีด อนึ่ง นายจ้างจะจ้างคนตามอำเภอใจนอกแบบนอกเกณฑ์ของกฎหมายก็ไม่ได้เหมือนกัน
ความข้อหลังนี้มีอธิบายเป็นต้นว่า นายจ้างจะจ้างเด็กไปทำงานอย่างผู้ใหญ่ ถึงแม้ผู้ปกครองของเด็กจะเต็มใจและวิงวอนขอให้จ้าง นายจ้างก็จ้างไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้เด็กอย่างสมบุกสมบัน หรือถ้าจะจ้างผู้ใหญ่ไปทำงานอย่างสัตว์ ถึงลูกจ้างจะเต็มใจ ก็จ้างไม่ได้เหมือนกัน
ที่ว่าชาวประเทศอังกฤษมีความเป็นไทแก่ตนนั้น หมายความว่า ใครจะบังคับใครให้ทำอะไรที่ไม่ต้องการทำก็บังคับไม่ได้ ถ้าใครอยากทำอะไร ผู้อื่นจะห้ามไม่ให้ทำก็ไม่ได้ เว้นแต่จะบังคับหรือห้ามตามกฎหมาย ซึ่งราษฎรเองได้ช่วยบัญญัติไว้ กฎหมายนั้นอันที่จริงรัฐสภา (ปาลิเม็นต์) เป็นผู้บัญญัติ แต่ชาวประเทศอังกฤษที่มีอายุเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีส่วนทุกคนในการเลือกสมาชิกไปเข้ารัฐสภา คือว่าผู้แทนของตนเข้าไปมีส่วนในการบัญญัติกฎหมาย จึงกล่าวได้ตามทางการว่า คนทุกคนมีส่วนในการบัญญัติกฎหมาย หรือในการที่ยอมให้กฎหมายนั้น ๆ คงเป็น กฎหมายต่อไป
ความในวรรคหลังนี้ว่า ผู้เป็นไทแก่ตนนั้นใครจะบังคับไม่ได้ เว้นแต่จะบังคับตามกฎหมาย ซึ่งผู้นั้นเองมีส่วนช่วยบัญญัติหรือยอมให้เป็นกฎหมายต่อไป
เมื่อเข้าใจกันเป็นเลา ๆ ว่า ความเป็นไทแก่ตนมีขีดขอบอันจะล่วงล้ำไปไม่ได้ฉะนี้แล้ว ก็ควรเข้าใจต่อไปว่า ข้อที่ล่วงล้ำไม่ได้นั้นแหละทำให้ความเป็นไทแก่ตนเป็นของดี ถ้าล่วงล้ำกันได้ ก็คือต่างคนมีอำนาจ ทำตามอำเภอใจ ทุกคนถือ “เสรี” ที่จะด่า แย่งชิง ประทุษร้ายผู้อื่น หรือที่จะไม่ทำตามกฎหมาย ถ้าเป็นเช่นนั้น เสรีก็คือจลาจล
ก็ถ้าความเป็นไทแก่ตน เป็นของที่ประชาชนอังกฤษนับถือว่าเป็นของดีของตนไซร้ มีอะไรเล่าในวิธีการปกครองของเขาที่ เป็นประกัน ความเป็นไทแก่ตน ความเป็นไทแก่ตนมิใช่สักแต่คำพูด หากจะมีก็เหมือนมีทรัพย์ ซึ่งถ้ามีแล้วก็ต้องมีวิธีรักษาให้มั่นคงอยู่ได้ อะไรเป็นเหตุให้ชนชาวอังกฤษเป็นไทแก่ตน และเป็นเครื่องประกันให้รักษาความเป็นไทแก่ตนนั้นไว้
ปราชญ์ฝรั่งเศสคนหนึ่งกล่าวว่า ความเป็นไทแก่ตนของคนอังกฤษนั้นเกิดเพราะ “ความแยกอำนาจ” ในวิธีการของประเทศ ซึ่งจะอธิบายโดยตัวอย่าง (อังกฤษ) อันสมมติขึ้นง่าย ๆ ดังนี้
ต่างว่าท่านเป็นคนอังกฤษ ท่านขี่จักรยานกลับบ้านเวลาเย็น ยังไม่ถึงบ้านก็มืดถึงเวลาต้องจุดโคมตามกฎหมาย แต่ท่านลืมโคมเสีย ขี่รถไปมืด ๆ จึงถูกตำรวจเรียกให้หยุด ตำรวจจดชื่อและที่อยู่ของท่านไว้แล้วปล่อยท่านไปบ้าน ต่อไปอีก ๒-๓ วัน ท่านได้รับหมายเรียกตัวไปศาล ผู้พิพากษาที่ศาลฟังคดีแล้ว ก็ตัดสินปรับท่าน ๕ ชิลลิง หรือถ้าท่านมีเหตุผลชี้แจงดีก็ไม่ปรับ เป็นแต่กำชับแล้วสั่งให้เลิกแล้วกันไป การตัดสินปรับท่านนั้น ถ้าท่านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ผู้พิพากษาก็ปรับท่านไม่ได้ ผู้พิพากษาไม่ได้เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย เป็นเพียงผู้ “แปล” หรือนำบัญญัติแห่งกฎหมายมาใช้กับท่านเท่านั้น กฎหมายที่นำเอามาใช้ปรับท่านนั้น รัฐสภาเป็นผู้ทำ และตัวท่านเองในฐานะที่เป็นผู้เลือกผู้แทนไปเข้ารัฐสภา ก็มีส่วนเป็นผู้บัญญัติกฎหมายด้วย ส่วนตำรวจที่จดชื่อและที่อยู่ของท่านไป หรือถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็จับตัวท่านไปนั้น ก็ไม่ใช่ผู้บัญญัติกฎหมาย เป็นผู้ “บริหาร” กฎหมายเท่านั้น
ตามตัวอย่างที่สมมติมานี้ ในเรื่องนิดเดียว ท่านเป็นไทแก่ตน ต้องเกี่ยวข้องกับกิจการหรืออำนาจของคน ๓ จำพวก คือ ผู้บัญญัติกฎหมาย (คือรัฐสภา) จำพวกหนึ่ง ผู้บริหารกฎหมาย (ในตัวอย่างนี้คือตำรวจ) จำพวกหนึ่ง ผู้พิจารณาตัดสินตามกฎหมาย (คือตุลาการ) จำพวกหนึ่ง
ที่เรียกว่า “แยกอำนาจ” นั้น ออกไปในหมู่คน ๓ จำพวกที่กล่าวมานี้ ในประเทศอังกฤษงานทั้ง ๓ แผนกจะคาบเกี่ยวกันไม่ได้เลย
(๑) พวกบัญญัติกฎหมายมีอำนาจและหน้าที่เฉพาะการบัญญัติกฎหมาย (เราจะตั้งทัพท์สำหรับเราเอง ใช้เรียกพวกนี้ว่า “นักราชการ” คือพวกโปลิติค)
(๒) พวกบริหาร เป็นพวกรับใช้เช่นตำรวจ เจ้าพนักงานคลัง เกษตร ศึกษา และกระทรวงทะบวงการ อื่น ๆ พวกนี้เป็นพวก “ข้าราชการ” (ซึ่งผิดกับ “นักราชการ” ตามศัพท์ที่เราใช้ใหม่ในที่นี้ คำอังกฤษว่า มินิสเตอร แปลว่าผู้รับใช้)
(๓) พวกพิจารณาตัดสินตามกฎหมาย คือพวกตุลาการ พวกนี้แยกจากอีกสองพวกอย่างเด็ดขาด แผนก (๑) กับ (๒) นั้นมีปนกันได้บ้าง เป็นต้นว่า พวก นักราชการ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเป็นเสนาบดี ก็ได้เป็นหัวหน้าของ ข้าราชการ ในกระทรวงของตน แต่ราชการที่นักราชการเข้าไปทำปนอยู่ในพวกข้าราชการนั้น เป็นราชการแผนกโปลิซีเท่านั้น ส่วนการดำเนินราชการนั้น พวกข้าราชการทำราชการของอังกฤษจึงทำต่อเนื่องกันอยู่เสมอ นักราชการต้องอาศัยข้าราชการจึงทำงานไปได้ ถ้าข้าราชการเป็นนักราชการ ก็จะต้องเก่าไปใหม่มากันร่ำไป ราชการก็จะขาดด้วนเป็นตอน ๆ ไปหมด ส่วนแผนก (๓) คือตุลาการนั้น กั้นขาดออกไปจากแผนกอื่น ๆ ทีเดียว แม้เงินเดือนที่อยู่ในงบประมาณ งบเดียวกับเงินที่ถวายส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พูดตามธรรมดารัฐสภาจะปรึกษาเรื่องเงินเดือนตุลาการก็ไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะจะไม่ให้ตุลาการต้องยำเกรงใคร ให้เป็นเถรตรงได้ถนัด เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๑ รัฐบาลอังกฤษกำหนดลดเงินเดือนตุลาการลง ๑๐ เปอร์เซนต์ เท่ากับลดเงินเดือนทหารพลเรือนและนักตุลาการทั้งหมด พวกตุลาการร้องเอะอะใหญ่ กล่าวว่ารัฐบาลซึ่งเป็นแผนกบริหารไม่มีอำนาจจะทำแก่แผนกตุลาการได้ การตัดเงินเดือนพวกตุลาการไม่ขัดข้องในส่วนเงิน ที่แท้ยินดีจะช่วย เป็นส่วนที่สมัครเองแต่บังคับไม่ได้ ปัญหาเรื่องนี้ยังคาราคาซังกันอยู่ เป็นปัญหาสำคัญทางรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักความเป็นไทแก่ตนของประชาชนทั่วไป เพราะเป็นการทำลายหลัก “แยกอำนาจ” ซึ่งเป็นเหมือนป้อมรักษาอิสรภาพของบุคคล
[ในที่นี้เราควรจะชี้แจงอีกนิดว่า คำว่าข้าราชการที่ใช้กันในภาษาไทยมาตั้งเดิมนั้น รวมคนรับใช้ทั้งหลายของพระเจ้าแผ่นดิน มักแยกเป็นทหารและพลเรือน ข้าราชการพลเรือนรวมทั้งพวกตุลาการด้วย เพราะใครจะได้เป็นอะไรก็แล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว “นักราชการ” มีไม่ได้ (นักราชการเป็นศัพท์ที่จารึกในศิลาที่นครวัด แต่หมายความข้าราชการ เพราะนักราชการอย่างใหม่ไม่มีในสมัยโน้น) ในภาษาอังกฤษพวกตุลาการมิใช่ข้าราชการพลเรือน]
นี่แหละ คนอังกฤษเขาว่าเครื่องป้องกันรักษาความเป็นไทแก่ตนของเขาให้มั่นอยู่นั้น คือ การแยกอำนาจเป็น ๓ แผนก ซึ่งระวังอย่างกวดขันมิให้คาบเกี่ยวกันได้โดยนัยที่ชี้แจงมาแล้ว ตามตัวอย่างที่แสดงมาในเรื่องขี่จักรยานไม่จุดโคมในเวลามืดนั้น (ก) ถ้านักราชการพวกบัญญัติกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ท่านต้องจุดโคม ถ้าไม่จุดให้ปรับ (ข) ถ้าตุลาการมิได้พิจารณาตัดสินว่า ท่านทำผิดกฎหมายจริง (ค) ถ้าข้าราชการมิได้ทำงานตามหน้าที่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ถ้าทั้ง ๓ แผนกมิได้รวมพร้อมกันไซร้ ใครก็ปรับท่านไม่ได้ พวกใดพวกหนึ่ง หรือแม้สองพวกก็ทำไมท่านไม่ได้ แลข้อที่ว่าสามพวกที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ต้องมารวมพร้อมกันนั่นแหละ เป็นเครื่องประกันความเป็นไทแก่ตน
ข้อที่ว่าแผนกตุลาการต้องตัดแยกออกไปให้เด็ดขาดจากอีก ๒ แผนกนั้น อาจชี้แจงต่อไปได้อีกว่า ตามลักษณะรัฐบาลอังกฤษ ราชการแผนกตุลาการต้องอยู่เหนือความชักจูงของนักราชการมิให้นักราชการบังคับหรือเกลี้ยกล่อมน้ำใจตุลาการได้ เพราะว่าตุลาการมีหน้าที่ไม่ใช่แต่ตัดสินระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือระหว่างเจ้าหน้าที่บริหารกับเอกชนเท่านั้น บางทีต้องตัดสินว่า รัฐบาลทำผิดกฎหมายก็ได้ กฎหมายนั้นรัฐสภาเป็นผู้บัญญัติก็จริง แต่สมาชิกของรัฐสภา และพนักงานบริหารก็ต้องทำตามเหมือนกัน แลบางทีรัฐบาลทำผิดเพราะเจ้าหน้าที่หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งทำพลาดพลั้งก็ได้ ในประเทศอังกฤษรัฐบาลเคยถูกศาลตัดสินว่าผิดหลายครั้ง บางคราวถึงแก่ต้องออกกฎหมายใหม่ให้อภัยโทษรัฐบาลที่ทำผิดกฎหมาย
ยังมีเหตุอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องเกียจกัน มิให้ตุลาการอยู่ในความชักจูงของรัฐสภา คือว่า กฎหมายที่รัฐสภาบัญญัติออกมานั้น ตุลาการอาจตีความไปคนละอย่างกับที่รัฐสภาตั้งใจก็ได้ การเป็นดังนี้บางทีเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ก็ต้องลองฟ้องคดีในศาลตั้งแต่ศาลล่างตลอดไปถึงศาลสูงสุด คือศาลสภาขุนนาง ต่อเมื่อศาลสูงสุดตัดสินแล้ว จึงจะทราบแน่ว่า กฎหมายนั้น ๆ มีหมายความดังที่รัฐสภาตั้งใจหรือไม่ รัฐสภาซึ่งเป็นผู้บัญญัติกฎหมายเองก็อยู่ใต้กฎหมายที่ตนบัญญัติ แลถ้าศาลตัดสินว่ากฎหมายหมายความว่ากระไร รัฐสภาก็ต้องยอมตามนั้น มิฉะนั้นผิดกฎหมายส่วนรัฐบาลนั้น เมื่อจัดการชักจูงให้รัฐสภาออกกฎหมายไปแล้ว ถ้าศาลตีความไปคนละอย่างกับที่สภาตั้งใจจนจะถึงเสียหาย บางทีรัฐบาลก็ต้องขอให้รัฐสภาออกกฎหมายแก้เสียใหม่ให้เป็นไปตามความตั้งใจเดิม
ยังมีอีกข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ตุลาการไม่ต้องอยู่ในความเห็นชอบของรัฐสภาที่พลเมืองเลือก ข้อนั้นคือว่าในการตัดสินลงโทษผู้แพ้คดีนั้น อาจลงโทษน้อยก็ได้มากก็ได้ภายในกำหนดที่วางไว้ในกฎหมายเป็นต้นว่า ถ้ากฎหมายบัญญัติว่าให้จำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ตุลาการจะจำคุกวันเดียวก็ได้ แล้วแต่จะเห็นชอบตามรูปคดี ถ้าใครไม่พอใจคำตัดสินศาลล่างก็พาคดีไปศาลอุทธรณ์ ถ้าเป็นปัญหากฎหมายก็เลยไปถึงศาลสภาขุนนาง ซึ่งเป็นศาลสูงสุดในประเทศของเขา ผู้อ่านพึงสังเกตว่า สภาขุนนางนั้น เป็นส่วนหนึ่งแห่งสภาปาลิเม็นต์ก็จริง แต่ไม่ใช่สภาที่พลเมืองเลือก เป็นตุลาการพวกที่สูงและเป็นอิสระยิ่งขึ้นไปกว่าตุลาการศาลอื่น ๆ เสียอีก
ที่เรียกว่าสภาขุนนางนั้น มีสมาชิกกว่า ๗๐๐ คน แต่ไม่ใช่ขุนนางทั้งหมดที่นั่งศาลได้ ขุนนางมีพวกหนึ่งที่เรียกว่า “ขุนนางกฎหมาย” มีหัวหน้าคนหนึ่งกับขุนนางอื่นอีก ๗ คนล้วนแต่เคยเป็นผู้พิพากษาชั้นสูงจนได้เป็นขุนนางทั้งนั้น ท่านขุนนางเหล่านี้เป็นสันหลังของศาลขุนนาง ได้เงินเตือนเหนือตุลาการอื่น ๆ แลที่ได้รับบรรดาศักดิ์ก็เพื่อจะได้นั่งในคำสสูงสุดของประเทศ เป็นบรรดาศักดิ์เฉพาะตัวเพียงชั่วชีวิต เมื่อตายแล้วบรรดาศักดิ์ก็หาตกแก่ลูกหลานผู้รับมรดกไม่ ถ้าศาลจะต้องชำระความเมื่อไร ก็มักตั้งกรรมการอาจมีขุนนางอื่น ๆ นอกจากท่านทั้ง ๘ รวมอยู่ได้แต่คงจะเป็นขุนนางที่เคยเป็นตุลาการชั้นสูงมาแล้วเหมือนกัน
ยังมีอีกอย่างหนึ่งในกฎหมายอังกฤษที่ถือกันว่า เป็นเครื่องประกันความเป็นไทแก่ตนของบุคคล สิ่งนั้นคือกฎหมายเรียกว่า เฮบิอัสคอปัสแอคต์ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ต้องคุมขังต้องรู้โดยเร็วว่าต้องหาว่ากระไร เมื่อเจ้าหน้าที่จับตัวใครไว้แล้วต้องรีบนำตัวไปฟ้อง แสดงข้อหาต่อตุลาการอย่างเร็วที่สุด ใครจะจับตัวใครคุมขังไว้ โดยไม่ให้รู้ว่าเรื่องอะไรไม่ได้ กฎหมายอังกฤษถือหลักว่า ไม่มีใครมีความ ผิดก่อนที่ฝ่ายโจทก์แสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าผิดจริง ถึงแม้ศาลจะสั่งให้ขังตัวไว้ (ภายหลังศาลได้ฟังคำฟ้องแล้ว) ก็ยังถือว่าไม่ใช่ผู้ทำผิดจนกว่าจะตัดสิน
ที่ชนชาวประเทศอังกฤษยกย่องตนว่า เป็นไทแก่ตนนั้น มีวิธีการเป็นเครื่องยึดมั่นดังกล่าวมานี้ เขาว่าถ้าเลิกประกันเหล่านี้เสีย ความเป็นไทแก่ตนของคนอังกฤษก็จะสิ้นไป.