เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน

ผู้อ่านของเราที่ใส่ใจในเรื่องประชาธิปัตย์ คงจะรู้จักชื่อเปลโตว่าเป็นนักปราชญ์กรีกโบราณ ซึ่ง เขียนหนังสือไว้มากในเรื่องการปกครองบ้านเมือง แลในเรื่องประชาชนเป็นผู้ปกครองตนเองโดยเฉพาะหนังสือของเปลโตมีชื่อ “ริปับลิก” เป็นต้น เปลโตตายกว่าสองพันปีมาแล้ว แต่ถ้าคืนมีชีวิตมาในวันนี้ แกจะเป็นประชาธิปัตย์ในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ประชาธิปัตย์เดี๋ยวนี้เป็นประชาธิปัตย์อย่างที่เปลโตคิด คือประชาธิปัตย์ที่เป็นเค้าเดิมหรือไม่ เปลโตจะไม่กลับมาพูดให้เราฟัง แต่เราอาจเดาได้บ้าง จากหนังสือที่แกเขียนไว้ว่า ถ้ากลับมาแกจะว่ากระไรบ้าง

ถ้าเปลโตมาเห็นประชาธิปัตย์ปัจจุบันจะพิศวงที่สุด เพราะรัฐที่เปลโตรู้จักนั้นคือเอเธ็นส์ มีพลเมืองที่เรียกว่า “ชาวกรุง” ๑๐๐,๐๐๐ คน (ประมาณเท่าลพบุรีเดี๋ยวนี้ พ.ศ. ๒๔๗๘) มีพวกทาสและชาวต่างประเทศซึ่งไม่มีเกียรติเป็นชาวกรุงต่างหาก เปลโตเห็นว่าเอเธ็นส์ใหญ่เกินไป จึงกล่าวในหนังสือที่เขียนไว้แห่งหนึ่งว่า จำนวนชาวกรุงที่มีชายฉกรรจ์ ๕๐๔๐ คน เป็นจำนวนพอดีของรัฐ ที่ว่าชายฉกรรจ์ ๕๐๔๐ คนนั้น หมายความว่า รัฐควรมีพลเมืองประมาณ ๒๒,๐๐๐ คน รวมทั้งชายฉกรรจ์ หญิง เด็ก แลทาส ถ้าเปลโตคืนชีวิตมาพบรัฐซึ่งมีพลเมืองสิบล้านหรือหลายสิบล้าน ความคิดของแกจะป่วนไปหมด เราจะลองดึงเอาความคิดของเปลโตมาเทียบกับสยามในสมัยที่ใช้วิธีเทศบาล แต่จะต้องพูดโดยสมมติ เพราะเทศบาลของเราเพิ่งขยับจะเริ่มเท่านั้น

พลเมืองของรัฐเพียง ๑๐๐,๐๐๐ คนที่เปลโตว่ามากเกินไปนั้น เท่ากับจำนวนคนประมานเท่าลพบุรี เพราะฉะนั้นประชาธิปัตยของรัฐกรีกโบราณ ก็ขนาดเดียวกับเทศบาลลพบุรีในสมัยที่ใช้เทศบาลเต็มที่

สิ่งที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่าประชาธิปัตย์นั้น คือ ประชาชนปกครองตนเองจริงๆ คนหลายสิบล้านจะปกครองตนเองจริง ๆ ไม่ได้ ประชาธิปัตย์เทศบาลก็อนุโลมตามประชาธิปัตย์ของประเทศ เพราะฉะนั้นวิธีเทศบาลของเมือง ๆ หนึ่งในสยาม (หรือในอังกฤษ) นั้น ชาวกรีกโบราณจะไม่เรียกว่าประชาธิปัตย์เลย การเทศบาล (อังกฤษ) มีวิธีเลือกสมาชิกปีละครั้ง และเมื่อใกล้เวลาเลือก ผู้รับเลือกก็เที่ยวพูดให้คนฟังเพื่อจะให้เลื่อมใส บางคนถึงแก่พิมพ์คำพูดแจก ถึงวันเลือกเข้าจริง อาจมีรถยนต์ ๒-๓ คันวิ่งขวักไขว่ ตัวท่าน (ผู้อ่าน) เอง (ต่างว่าอยู่ในเมืองนั้น) จะอุตส่าห์ไปลงคะแนนหรือไม่ก็ไม่แน่ ถ้าฝนไม่ตกก็อาจไป ครั้นรุ่งขึ้นท่านอ่านในหนังสือพิมพ์ ว่านายนั่นหรือนางนี่ได้รับเลือกเป็น มนตรีเทศบาล เป็นผู้แทนท่านมีกำหนดสามปี (หรือกี่ปีตามที่บัญญัติไว้) แลท่านอาจได้ความว่า คนที่อุตส่าห์ไปลงคะแนนนั้น มีจำนวน ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนคนโหวตทั้งหมดที่มีชื่อในทะเบียน (ที่เรากล่าวเช่นนี้ กล่าวตามที่เห็นเป็นตัวอย่างแล้วในอังกฤษ)

แบบการเลือกที่กล่าวนี้ เรียกในประเทศสยาม (แลอังกฤษ) ว่า ประชาธิปัตย์ แต่ชาวกรีกโบราณไม่เรียกประชาธิปัตย์เป็นแน่ ถ้าบอกชาวกรีกโบราณว่า คนจำนวน ๑ ใน ๓ ไปลงคะแนนปีละครั้ง เพราะฉะนั้นคนทั้งหมดปกครองตัวเอง ชาวกรีกโบราณก็จะหัวเราะเยาะแล้วว่า ปกครองตัวเองก็ต้องปกครองจริงๆ การที่คน ๑ ใน ๓ ของคนทั้งหมดไปโหวตตั้งผู้แทนปีละครั้งนั้น หาใช่ปกครองตัวเองไม่

ลองคิดดูว่า ถ้าเมือง ๆ หนึ่งในสยาม ต่างว่าลพบุรีเป็นรัฐ ๆ หนึ่งซึ่งมีพลเมือง ๑๐๐,๐๐๐ คน ถ้าปกครองตัวเองจริง ๆ ตามแบบกรีกโบราณ ซึ่งเป็นต้นเค้าของประชาธิปัตย์ในตำรา จะต้องทำอะไรบ้าง ข้อต้นชายอายุ ๑๗ ปีขึ้นไป ถ้าใครชอบไปประชุม ก็ไปประชุมกันเดือนละครั้ง เพื่อพิจารณาตกลงกันเรื่องการงานของรัฐ ที่ประชุมของพวกนั้นก็คือรัฐสภาแลสถานที่สำหรับประชุม เห็นจะต้องไปที่ว่างกลางแจ้ง มิฉะนั้นรายประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน ก็ไม่มีที่จะประชุมกันได้ ที่ว่า ๑๒,๐๐๐ คนนั้น เพราะรัฐที่สมมติว่ามีพลเมือง ๑๐๐,๐๐๐ คนนั้น ประมาณว่ามีชายฉกรรจ์ ๒๕,๐๐๐ คน (นอกนั้นเป็นหญิงแลเด็กกับทาสซึ่งเข้าประชุมไม่ได้) แลจะมีคนไปประชุมประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอย่างมาก คน ๑๒,๐๐๐ คนประชุมกันทำงานของรัฐ ก็คงทำอะไรไม่ได้เพราะมากเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรจะเสนอให้ที่ประชุมโหวต ก็ต้องเตรียมไปให้ดี และเมื่อโหวตกันแล้ว ก็จะต้องมีผู้รับไปทำอีกเล่า เหตุฉะนี้ประชาธิปัตยกรีกโบราณ จึงมีกรรมการ ๕๐๐ คน ซึ่งมีหน้าที่เตรียมงานสำหรับประชุมชายฉกรรจ์พลเมือง และเมื่อตกลงกันว่ากระไรแล้ว ก็เป็นผู้รับทำต่อไป กรรมการ ๕๐๐ คนนั้น เลือกจากชายฉกรรจ์ทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก บางคนย่านหนังสือไม่ออกก็ได้ หรือเป็นอย่างไร ๆ ก็ได้ สุดแต่จับฉลากถูกแล้วก็ได้เป็นกรรมการ ผู้เป็นกรรมการครั้งหนึ่งแล้วนั้น ประเพณีไม่นิยมว่าควรยอมให้เป็นซ้ำ เพราะฉะนั้นชายกรรจ์โดยมาก คงจะได้เป็นกรรมการสักครั้งหนึ่งในอายุของตน ยังมีข้อร้ายกว่านั้นอีก คือว่ากรรมการ ๕๐๐ คนก็ใหญ่เกินไป ต้องมีกรรมการน้อยอีกชุดหนึ่ง เป็นผู้รับมอบให้ทำงานละเอียด กรรมการน้อยนี้พวกกรรมการใหญ่เปลี่ยนตัวกันเป็นจนแทบจะหมดทั้ง ๕๐๐ คน แลในคราวประชุมกรรมการน้อย ก็เปลี่ยนประธานกันทุกวัน เพราะฉะนั้น พวกกรรมการใหญ่แทบทุกคนได้เป็นอัครเสนาบดีวันหนึ่งในชีวิตของตน

จะย้อนกลับไปถึงเทศบาลเมือง ๆ หนึ่ง ต่างว่าลพบุรีซึ่งสมมติว่ามีขนาดเท่ารัฐกรีกโบราณรัฐ หนึ่งนั้นว่า ราษฎรผู้มีโหวต ๆ หนึ่ง อาจใช้โหวตของตนเป็นเครื่องแสดงความพอใจ หรือไม่พอใจในกรรมการเทศบาลได้ การใช้โหวตแสดงความพอใจหรือไม่พอใจเช่นนั้น ใช้ปีละครั้งเดียว แต่ในระหว่างปีนั้น ถ้านายแดงเป็นคนชอบเอะอะ จะเขียนหนังสือไปต่อว่า หรือติเตียนเทศมนตรี แลขู่ว่าถึงคราวเลือกคราวหน้าจะก่อการโฉงเฉงขึ้นก็ได้ ในระหว่างปีนั้น ถ้ากรรมการทำผิดกฎหมาย นายแดงจะนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลก็ได้ แต่การปกครองตัวเองนั้นทำไม่ได้ พูดตามที่มักจะเป็นไปจริง ๆ แม้แต่เพียงเท่านี้ ก็มิค่อยจะมีใครทำเสียแล้ว คนโดยมากถ้าเห็นกรรมการทำอะไรเป็นที่ไม่ชอบใจก็เพียงแต่นินทาติเตียน ขี้คร้านที่จะทำอะไรยิ่งกว่านั้น โดยเหตุว่าในประชุมชนที่สมมติว่าปกครองตนเองนั้น คนโดยมากไม่ชอบมีหน้าที่ปกครอง เพราะฉะนั้นจะหาคนสมัครเป็นกรรมการก็ไม่ใช่หาง่ายเสียแล้ว

แต่ถ้าหากว่า ลพบุรีเป็นประชาธิปัตย์อย่างประชาธิปัตย์กรีกโบราณ ชายฉกรรจ์ชาวลพบุรีทั้งหมดก็จะประชุมกัน (ต่างว่า) ที่ทุ่งพรหมาศ ปรึกษากันเรื่องงบประมาณรายได้รายจ่ายโดยละเอียด กรรมการที่ทางบประมาณไปเสนอต่อที่ประชุมชายฉกรรจ์ ณ ท้องพรหมาศนั้น เลือกกันโดยวิธีจับฉลาก นายอ่ำและนายอึ่งอาจต้องทิ้งการเลี้ยงควาย หรือทำเกวียนขายไปช่วยทำงบประมาณ แลนายอ้นศิษย์วัดเข้าจับฉลากถูกเข้า ก็อาจต้องทิ้งการปฏิบัติอาจารย์ ไปเป็นประธานเทศมนตรี หรือตุลาการศาลโปรีสภาก็ได้ ที่ประชุมอาจโหวตไล่แม่ทัพลพบุรีเสียก็ได้ หรือจะทำสงครามกับอยุธยาหรือนครสวรรค์ก็ได้

แต่ที่ประมาณว่า ถ้าลพบุรีเป็นประชาธิปัตย์แบบกรีกโบราณ ก็จะมีชายฉกรรจ์กันเป็นที่ประชุมปกครองบ้านเมือง โดยจำนวนประมาณ ๒๔,๐๐๐ คน แต่คงจะมีคนไม่ไปประชุมราวครึ่งหนึ่ง เพราะขี้เกียจหรือเพราะเหตุอื่น จึงจะมีผู้ไปประชุมที่ท้องพรหมาศคราวหนึ่งประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน จะมีความเห็นขึ้นมาพร้อมกันเองก็ไม่ได้ จำจะต้องมีผู้พูดนำความเห็นให้ผู้อื่นเห็นตาม การเป็นดังนั้น ก็คงจะเกิดมีผู้พูดคล่องเป็นผู้พูดนำความคิดที่ประชุม แลชักชวนให้เห็นด้วย ผู้ไปประชุมโดยมากยังไม่มีความเห็นอะไรเมื่อแรกไปถึงท้องพรหมาศ เต็มใจจะฟังคนอื่นพูดชี้แจงแนะนำเสียก่อนจึงจะออกความเห็น หรือแสดงความประสงค์โดยวิธีโหวตนักราชการ (โปลิติเชียน) กรีกโบราณก็คือผู้พูดชนิดนี้ เป็นผู้ไม่มีตำแหน่งอะไรในราชการ สักแต่ว่าเป็นคนเสียงดังและเข้าใจพูดดี ก็เป็นนักราชการได้ การตัดสินว่าจะเอาอย่างไรนั้น ที่ประชุมเป็นผู้โหวตตัดสิน เพราะฉะนั้นนักราชการไม่มีความรับผิดชอบอะไรเลย แต่ในคราวพูดสักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงเดียว อาจบันดาลให้ต้องทำสงครามก็ได้

นักราชการประชาธิปัตย์โบราณกับประชาธิปัตย์ปัจจุบันผิดกันที่ตรงนี้ คือว่านักราชการโบราณพูดแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ คำที่พูดนั้นอาจพาให้ไปขึ้นสวรรค์หรือลงนรกก็ได้ แต่ผู้พูดไม่ใช่ผู้ตัดสิน เพราะฉะนั้นมิใช่ผู้รับผิดชอบ ส่วนในประชาธิปัตย์ปัจจุบันนั้น นักราชการต้องรับผิดชอบ เพราะประชาธิปัตย์ปัจจุบันมอบให้นักราชการเป็นรัฐบาล นักราชการก็ต้องรับผิดชอบ ประชาธิปัตย์กรีกโบราณปกตรองตนเอง ไม่ชอบให้ใครเป็นรัฐบาล นักราชการจึงมีเสียงคืออำนาจ แต่ไม่มีความรับผิดชอบเลย

นี่แหละเป็นวิธีประชาธิปัตย์แบบโบราณ ซึ่งเป็นประชาธิปัตย์แท้จริงตามตำรา เราสมมติเอาลพบุรีเป็นตัวอย่าง เพราะลพบุรีมีสำมะโนครัวประมาณเท่ากัลเอเธ็นส์โบราณ ถ้าลพบุรีใช้ประชาธิปัตย์แบบเอเธ็นส์ในเวลาไหนภายใน ๗๐๐-๘๐๐ ปีที่ล่วงมา ไม่ช้าลพบุรีคงจะต้องเป็นเมืองส่วยขึ้นแก่เมืองขึ้น หรือถ้าเอเธ็นส์ปัจจุบันกลับไปใช้ประชาธิปัตย์แบบโบราณก็จะอยู่ไปไม่ได้เช่นกัน การที่ประชาธิปัตยกรีกโบราณอยู่ได้นานหน่อยนั้น ก็เพราะหลายพันปีมาแล้ว สมัยนี้ประชาธิปัตย์แท้จริงตามแบบเก่าใช้ไม่ได้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ