- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
คนขอทาน
ปัญหาสังสรรค์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องคนขอทาน พวกเราชาวกรุงเทพฯ ที่ดูหนังแล้วไปกินอาหารที่ถนนราชวงศ์ ย่อมจะรังเกียจคนสกปรกที่เข้ามายื่นหน้าขอทานข้างรถ บางคนก็ยืนอ้อยอิ่ง จนคนในรถบางคนรำคาญก็ให้ทานบ้าง ชนชาวสยามที่ไปถนนราชวงศ์ทุกคนไม่ต้องการให้มีคนขอทานที่นั่น เว้นแต่พวกคนขอทานเอง ซึ่งเป็นชนชาวสยามแลเป็นสมาชิกแห่งประชาธิปัตย์ของเราเหมือนกัน
เรานึกถึงคนขอทานที่ถนนราชวงศ์ เพราะเราถูกกวนที่นั่นมากกว่าที่อื่น อันที่จริงคนขอทานมีทั่วไปในสยาม แลถ้าคนประชุมกันมากที่ไหน คนขอทานก็มีชุกที่นั่น ถ้าเราไปที่อื่น ๆ บ่อยเท่าไปที่ถนนราชวงศ์ ก็จะถูกกวนเช่นนั้นเหมือนกัน เราเข้าใจว่าไม่มีสถิติพยากรณ์เที่ยงแท้ ว่าคนขอทานมีเท่าไร แลถ้าจะคิดไปจริง ๆ จะมีสถิติพยากรณ์ก็ลำบาก เพราะจะขีดเส้นว่าเพียงไหนเป็นคนขอทานก็ยากเสียแล้ว คนที่ไม่เรียกตัวว่าคนขอทาน แต่ผู้อื่นเรียกว่าคนขอทานก็มีมาก แลพวกที่เรียกตนเองว่าคนขอทาน แต่คนอื่นไม่ถือว่าเป็นคนขอทาน กลับนับถือกราบไหว้ก็มีนับจำนวนแสน ไม่ใช่เพียงจำนวนหมื่น
เราต้องไม่ลืมว่า ชาวสยามส่วนมากนับถือพุทธศาสนา ยินดีในพระไตรสรณาคม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่พระสงฆ์ท่านเรียกตัวท่านเองว่า ภิกษุ (ภิกขุ) ซึ่งแปลว่าผู้ขอเท่านั้นเอง พระสงฆ์ออกเที่ยวรับบิณฑบาตรเวลาก็ถือออกรับทาน ต่างว่าจะมีกฎหมายปราบปรามการขอทานแล้วไซร้ กฎหมายจะห้ามพระสงฆ์ออกรับบิณฑบาตรและห้ามไม่ให้เรียกตนเองว่าภิกษุหรือไม่ ที่เรากล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่หมายความว่า จะร่างกฎหมายแยกพระภิกษุออกไปจากคนขอทานตามถนนราชวงศ์ไม่ได้ เรายกเรื่องพระภิกษุมากล่าวเพื่อจะให้เห็นว่า แต่เพียงชี้แจง (เดฟินิชั่น) ว่าคนขอทานคืออะไรก็ยากเสียแล้ว
ต่างว่าจะตัดคนขอทานให้หมดไป เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง คนขอทานอาจขอเพราะขี้เกียจทำงานก็ได้ ขอเพราะหางานทำไม่ได้ก็ได้ ขอเพราะทำอะไรไม่เป็นก็ได้ ถ้ามีกฎหมายห้ามไม่ให้ขอทาน แต่ใครขืนขอทาน ก็จะต้องจับตัวไปลงโทษคือจำขัง (หรือจำคุก) คนที่ไม่ได้ทำผิดอะไรเป็นอาญาแผ่นดินที่ไม่ควร แลจะห้ามคนไม่ให้หิวก็ไม่ได้ เหตุดังนี้ ถ้าจะออกกฎหมายห้ามคนไม่มีกินไม่ให้ขอทานกิน รัฐบาลก็จะต้องให้กิน นัยหนึ่งต้องจัดให้มีโรงเลี้ยงคนอนาถา ให้พอแก่คนขอทานทั่วประเทศ แต่ถ้าจัดให้มีโรงเลี้ยงคนอนาถา ก็จะชวนให้คนขี้เกียจเข้าผสมโรงเป็นคนอนาถาหนักขึ้น จึงจะต้องมีวิธีแก้ไปทางนั้นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นความยากหนักขึ้น
คนขอทานโดยมากเป็นคนไม่มีประโยชน์แก่ประชุมชน โดยมากไม่เคยทำประโยชน์อะไร จึงเป็นปัญหาว่า สมาชิกของประชุมชนที่ต้องออกน้ำภักดิ์น้ำแรง หากินสะสมทรัพย์ได้นั้น จะควรช่วยกันออกเงิน (เสียภาษี) สำหรับเลี้ยงคนขอทานสักเพียงไหน เหตุดังนี้ โรงเลี้ยงคนอนาถา ควรจะมีขนาดมาตราสักเท่าใด ก็เป็นเรื่องซึ่งต้องตรึกตรองให้พอดีอีกชั้นหนึ่ง
โดยประการที่กล่าวย่อ ๆ มาฉะนี้ ปัญหาเรื่องคนขอทานจึงเป็นปัญหายาก เราไม่กล่าวว่าวิธีที่จะทำให้บันเทาความลำบากลงไปได้นั้นไม่มี เราอาจดูตัวอย่างที่ประเทศอื่น ๆ เขาทำกันมาแล้วแต่นำมาใช้ได้บ้าง แต่คงจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด
การที่เราทั้งหลายจะโจทก์กันถึงเรื่องคนขอทานแลปัญหาสังสรรค์อื่น ๆ แลร้องเรียนต่อรัฐบาลขอให้พิเคราะห์และจัดการตามควร เพื่อความเรียบร้อยในบ้านเมืองนั้นก็ควรแล้ว แต่ไม่ควรคิดว่าเป็นของง่ายๆ ซึ่งจะทำให้ลุล่วงไปได้โดยเร็ว.