สาดน้ำ

วันนี้ใกล้จะถึงวันปีใหม่อันเป็นเทศกาลซึ่งมีประเพณีซัดน้ำกันมาแต่ก่อน การซัดน้ำกันมาแต่ก่อนนับเนื่องเป็นการมงคล เช่น การแต่งงานแต่ก่อนพระสงฆ์สวดมนต์พลางซัดน้ำมนต์ให้คู่บ่าวสาว แต่ในสมัยต่อมาพระสงฆ์รังเกียจที่จะมีส่วนในพิธีตอนที่สมมติว่าผูกพันธ์เจ้าบ่าวกับเจ้าสาว จึงเป็นแต่เพียงไปเจริญพุทธมนต์ในงานทำบุญเรือ ปล่อยการซัดน้ำหรือรดน้ำไว้แก่พวกฆราวาส

การแต่งงานเดี๋ยวนี้รดน้ำเปียกแต่เพียงมือโดยมากผู้รดหัวมีแต่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้สวมมงคลคู่ให้แก่บ่าวสาวเป็นต้น อนึ่ง การรดน้ำแต่งงานเดี๋ยวนี้ใช้สังข์เป็นภาชนะใส่น้ำ แต่ย่อมรดด้วยสังข์ แล้วรดด้วยหม้อน้ำมนต์เทพลั่ง ๆ และทั้งภาชนะใส่น้ำอย่างอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงเปียกหมดทั้งตัว ในสมัยโบราณผู้เปียกไม่ใช่แต่คู่บ่าวสาวเท่านั้น คนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในที่นั้นก็ซัดน้ำเปียกกันโดยมาก เป็นโอกาสที่จะให้เพื่อนบ่าวและเพื่อนสาวเย้าหยอกกันจนเปียกกันไปหมด

เมื่อกล่าวเลยจากการแต่งงานออกไป ก็มีประเพณีซัดน้ำกันในนักขัตฤกษ์คือสงกรานต์ มีลำดับแต่ผู้มีอายุน้อยไปรดน้ำผู้ใหญ่ซึ่งอายุพ้น ๖๐ ขึ้นไป ตลอดถึงซัดน้ำกันในที่เช่นลานวัด ซึ่งนัดก่อพระเจดีย์ทรายเป็นต้น การรดน้ำผู้ใหญ่ด้วยความนับถือนั้น ก็มีต้นเค้ามาเดิมอย่างเดียวกับการซัดน้ำในที่อื่นๆ ถ้าจะพูดตามที่ผู้เขียนเคยเห็นมา แม้การซัดน้ำในลานวัดที่ก่อพระเจดีย์ทราย ก็มักจะซัดกันอยู่ แต่ในพวกที่รู้จักกัน และถ้าแม่สาว ๆ จะถูกน้ำ ซึ่งพ่อหนุ่ม ๆ แกล้งซัดเป็นที่ว่าเผอิญไปถูกเข้าบ้าง แม่สาว ๆ จะแสดงความโกรธเคืองมากนักก็ไม่ได้ เพราะเมื่อไปในที่ซึ่งรู้แล้วว่า เขาจะซัดน้ำกัน ก็ต้องปลงใจแล้วว่าอาจเปียกกลับบ้าน

แต่ในสมัยนี้การซัดน้ำอยู่ในขอบในไรเช่นที่กล่าวนั้น เปลี่ยนเป็นสาดน้ำนอกวงจริยาที่เคยขีดขั้นไว้แต่ก่อน ในสองสามปีมานี้ เมื่อพ้นวันปีใหม่ไปแล้ว ก็ได้อ่านในหนังสือพิมพ์ ถึงเรื่องการสาดน้ำกันตามถนน และในที่สาธารณะอื่น ๆ ไม่มีเกี่ยวเนื่องกับมงคลเลย กลับเป็นอัปมงคลยิ่งขึ้นทุกที ดังเช่นเอาสีสวรรค์ละลายในน้ำ เพื่อย้อมเสื้อผ้าผู้ถูกสาดให้เป็นสีเลอะเทอะ หรือตักน้ำสกปรกขึ้นมาสาดให้คัน หรือเอาน้ำขุ่นปลักมาสาดให้ตมเลนติดบนกายและเสื้อผ้า สมัยนี้หญิงสาวมักจะใช้เสื้อตัดด้วยผ้าบาง ถ้าถูกสาดน้ำเปียกโชก ก็เห็นสรีระร่างอย่างเด่นชัด ไม่เหมือนกับหญิงสมัยโบราณซึ่งห่มผ้า เพราะถึงผ้าห่มจะเปียกก็ยังซ่อนบังสรีระร่างไว้ได้ดีกว่าสมัยนี้ ถ้าหญิงสาวในสมัยก่อนถูกซัดน้ำเปียกโชกตัวก็ไม่ต้องเดินกอดอกกลับบ้าน

แต่การสาดน้ำกันในสมัยนี้มิได้เป็นอกุศลแต่เพียงที่กล่าวมานี้ เพราะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องร้อนถึงตำรวจอยู่ทุกปีในกรุงเทพ ฯ ถ้ารถยนต์ขับมาตามถนนถูกคนคอยอยู่ริมถนนเอาน้ำสาดเข้าตาคนขับ รถก็อาจเกิดวิบัติไปได้ต่าง ๆ ทำให้เสียทรัพย์ก็ทำเนา แต่คนก็อาจบาดเจ็บจนแม้ถึงชีวิตก็ได้

ในกรุงเทพ ฯ ได้เป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว ดังได้มีข่าวในหนังสือพิมพ์ปีละหลาย ๆ ราย แต่ในหัวเมืองก็ปรากฏว่ามีเรื่องเช่นกัน ถ้าจะอ่านตามถ้อยที่คนในสำนัก “ประมวญวัน” ไปเที่ยวเชียงใหม่เมื่อเว้นปีมาแล้ว และกลับมาเขียนลงพิมพ์ ก็ดูเหมือนเชียงใหม่จะเล่นกันรุนแรงมาก ผู้เขียนใน “ประมวญวัน” ครั้งนั้นเล่าว่า ถูกชาวเชียงใหม่โกรธ ว่าเก็บเอาเรื่องเช่นนั้นมาเขียนตำหนิ แต่น่าเข้าใจว่า พวกที่โกรธเห็นจะเป็นพวกที่เล่นรุนแรงจนเกินประเพณีเดิมไป ชาวเชียงใหม่ที่อยากจะอยู่เป็นสุขในวันปีใหม่เห็นจะไม่ได้อยู่ในจำพวกที่โกรธ

ในกรุงเทพฯ เมื่อปีกลาย และปีก่อนขึ้นไปได้มีตำรวจจับผู้สาดน้ำในถนนไปโรงพักหลายราย เพราะผู้ถูกสาดบอกให้จับบ้าง เพราะตรวจเห็นทำเกินไปก็จับบ้าง เราสันนิษฐานว่า ตำรวจตามถนนคงจะได้รับคำสั่งว่า ในวันที่สาดน้ำกันนั้นให้คอยชายตาดูอยู่เสมอ อย่าให้เล่นกันจนเกิดเป็นเหตุการณ์ขึ้นได้ และถ้าเห็นใครเตรียมสาดน้ำผู้อื่นตามทางสัญจร ก็ให้ตักเตือนหรือห้ามเสียทีเดียว

การที่ตำรวจใส่ใจคอยระวังเช่นนั้น ก็คงจะกีดกันการสาดน้ำซึ่งร้ายขึ้นทุกปีนั้น ไม่ให้ทวีความร้ายขึ้นไปอีกได้ แต่ตำรวจไม่มีพอที่จะคอยห้ามอยู่ทุกหนทุกแห่ง เมื่อตำรวจห้ามคนนี้แล้ว ครั้นตำรวจเดินพ้นไปคนอื่นก็มาทำเช่นเดียวกัน ถ้าจะเปรียบก็ดูเป็นจับปูใส่กระด้งอยู่

การห้ามจุดประทัดตรุษจีน ตำรวจจะเที่ยวห้ามในวันที่จุดนั้นไม่พอ กรมตำรวจจึงได้ห้ามล่วงหน้าเสียก่อนว่า ให้จุดประทัดได้แต่ภายในขีดขั้น ครั้นถึงวันตรุษจีนเข้าตำรวจก็คอยดูแต่เพียงที่จะไม่ให้ใครละเมิดคำสั่งเท่านั้น พูดส่วนผู้เขียนเอง เดี๋ยวนี้ไม่เดือดร้อนเรื่องการจุดประทัดตรุษจีนดังแต่ก่อน เราย่อมรู้ประเพณีของชนอื่น ๆ แต่ถ้าการปฏิบัติตามประเพณีของเขา ทำให้เกิดเดือดร้อนแก่เรา เราก็ต้องบ่น

ฉันใดวิธีจัดเรื่องจุดประทัดตรุษจีนได้เรียบร้อยไปเพราะกำชับล่วงหน้าเสียก่อนวันตรุษ ฉันนั้นเรื่องการสาดน้ำปีใหม่จนเกิดเป็นเรื่องกันปีละมาก ๆ ราย และเป็นความเดือดร้อนแก่ผู้ถูกสาดเป็นอันมากนั้น ในวันปีใหม่หน้านี้ เราวางใจว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กำชับล่วงหน้าทั้งในกรุงเทพ ฯ และในประชุมชนใหญ่ ๆ แล้ว การเล่นหรือแกล้งกันจนเกินไปก็คงจะระงับไป ถ้าจะยังเหลืออยู่บ้างก็แต่เพียงที่เป็นประเพณีเดิมพอควรเท่านั้น

มีผู้บอกแก่ผู้เขียนว่า ได้มีชาวเชียงใหม่เขียนหนังสือมาลงพิมพ์ใน “บางกอกไตยส์” ถึงเรื่องการสาดน้ำวันปีใหม่ที่นั่น ครั้นผู้เขียนได้เขียนข้างบนส่งไปโรงพิมพ์แล้วก็ได้สั่งให้ค้น “บางกอกไตยส์” มาอ่าน ต้องค้นถอยหลังไปถึงวันเสาร์ วันที่ ๑๖ เดือนนี้ จึงพบ อ่านได้ความว่า ผู้เขียนที่เชียงใหม่รู้ประเพณีเดิมในเรื่องการซัดน้ำ (ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นสาดน้ำ) แต่มาสมัยนี้ เขาว่าเชียงใหม่ไม่เหมือนแต่ก่อน เพราะถนนแน่นไปด้วยรถยนต์ รถบัส รถบรรทุก เกวียน และรถ ๓ ล้อหลายพันคัน ในถนนซึ่งมากไปด้วยยวดยานเช่นนี้ การสาดน้ำรดกันก็มากขึ้นด้วย

เขาว่าพวกสาดน้ำเช่ารถบรรทุกทั้งคัน ๆ มีอ่างน้ำบรรทุกไปเต็ม แล้วสาดน้ำทีละถังให้เปียกรถยนต์ รถถีบ และคนที่ผ่านไป เขาเองได้เห็นกระจกรถยนต์แตกไปไม่เป็นชิ้น ได้เห็นคนขับหลายคนมีแผลบาดเจ็บ รถ ๓ ล้อชนกัน คนขี่รถ ๒ ล้อกระเด็นลงไปตกอยู่หน้ารถที่กำลังเดินมา ทั้งนี้ย่อมเป็นภัยแก่ทรัพย์และชีวิตด้วย เขาว่าชาวเชียงใหม่ที่เป็นสุภาพชนไม่ว่าจะเป็นชาติใดหรือมีฐานะอย่างไร ย่อมจะรู้สึกเช่นเดียวกับเขาว่า ถ้าห้ามการเล่นสาดน้ำเช่นที่กล่าวมานี้เสียได้ ก็จะร้องสาธุทั่วกัน

เรานำใจความที่ชาวเชียงใหม่เขียนมาพิมพ์ในบางกอกไตยส์ เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนนี้มาเล่าเป็นเครื่องสนับสนุนความสันนิษฐานของเรา ที่กล้าวไว้ในเบื้องต้นว่า ชาวเชียงใหม่ชั้นที่เป็นสุภาพชนก็คงเดือดร้อนนักหนา เพราะปรากฏตามที่เขาเล่ามานั้น ว่าเชียงใหม่ร้ายกว่ากรุงเทพฯ มาก.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ