- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
สันนิบาตชาติ
สันนิบาตชาติเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) กำลังตกต่ำ จนถึงกล่าวกันเป็นอันมากว่า ไม่มีประโยชน์อะไร เลิกเสียดีกว่า เพราะมีไว้ก็เสียเงินเปล่า ๆ พวกที่ติโทษอย่างรุนแรง ถึงแก่เห็นว่า สันนิบาตชาติเป็นกลุ่มประเทศ ซึ่งมีแต่จะชักใบให้เรือเสีย จะทำอะไรจริงจังก็ไม่ได้ กลับจะชักให้เกิดสงครามเสียอีก
อันที่จริง ประเทศอิสระทั้งปวง นอกจากสหปาลีรัฐอเมริกาก็ได้เคยเห็นดิบเห็นดี และร่วมกันเป็นสมาชิกอยู่ในสันนิบาตชาติทั้งนั้น มีบางประเทศได้ลาออก เพราะทนเสียค่าบำรุงไม่ไหวบ้าง แต่ในพวกที่ไม่ขัดข้องเรื่องเงินบำรุง ในสองสามปีนี้ได้ออกไปจากสันนิบาตชาติสองสามประเทศล้วนแต่ประเทศมีกำลังมาก และที่ออกก็เพราะมีกำลังจึงไม่สมัครอยู่ในบังคับ ซึ่งตนเองได้ช่วยบัญญัติไว้สำหรับบังคับผู้อื่น แต่เพื่อจะบังคับผู้อื่น จึงต้องยอมให้บังคับตนเองด้วย
ประเทศที่ออกไปจากสันนิบาตชาตินี้ ต่างก็มีคำอธิบายเข้ากับตนเองและโทษผู้อื่น ตามแง่ความเห็นของตน ส่วนประเทศที่ยังอยู่ก็อธิบายเหตุผลในข้อที่ว่า ประเทศที่แตกออกไปนั้น เสียคำมั่นสัญญาซึ่งให้ไว้แก่กัน หาใช่แตกออกไปด้วยไม่มีเหตุเป็นเครื่องเสื่อมเสียแก่ศีลและธรรมไม่ ส่วนบุคคลที่คั่งแค้นว่า สันนิบาตรชาติไม่บังคับให้เป็นไปตามบัญญัติก็เห็นว่า สันนิบาตชาติเป็นของไม่มีประโยชน์เสียแล้ว ผู้เขียนได้อ่านเช่นนี้ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศบ่อย ๆ และเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) ได้ยินพูดกันในกรุงเทพ ฯ หนาหูขึ้น
แต่ถ้าจะพูดกันโดยยุติธรรม ถ้าสามเณรเมาเหล้าก็เป็นความผิดของบุคคล ไม่ใช่ความผิดของสิกขาบท พระภิกษุมีเมียก็เป็นความจังไรของบุคคล ไม่ใช่ความผิดของวินัย อุบาสกรับอุโบสถวันพระ กลับไปกินข้าวเย็น ก็เป็นความผิดของตัวเขาเอง หาใช่ความผิดของศีล ๘ ไม่ ซึ่งเป็นของดีอยู่เสมอ ถ้าใครสมาทานศีลแล้วไม่ปฏิบัติตาม ตำหนิก็ควรจะตกอยู่แก่บุคคล หาควรจะไปตกอยู่แก่ศีลไม่
ประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกในสันนิบาตชาติ เปรียบได้ว่าสมาทานศีล ถ้าไปทำผิดก็ควรจะตำหนิว่า เป็นโทษของผู้ทำเช่นเดียวกับภิกษุมีเมียหรือสามเณรกินเหล้า หรืออุบาสกกินข้าวเย็นฉะนั้น
ข้อที่ว่า สันนิบาตชาติทำอะไรแก่ผู้เสียคำมั่นสัญญาไม่ได้นั้น ศีลก็ทำไมแก่ผู้เสียศีลไม่ได้เหมือนกัน แต่เราไม่เคยกล่าวว่าศีลเป็นของไม่ดีเพราะเหตุนั้น ฉะนั้นศาสนาทั้งหลายจะไม่มีเหลืออยู่ในโลก
สันนิบาตชาติได้ทำประโยชน์สำเร็จมามาก แต่ไม่ค่อยรั่วรู้กันทั่วไปในหมู่ชนผู้ไม่ใส่ใจจะรู้เห็น ส่วนความไม่สำเร็จเป็นต้นว่า จะกันไม่ให้อิตาลีตีเอาอบิสซีเนีย หรือไม่ให้ญี่ปุ่นตีรุกเข้าไปในประเทศจีน ผิดบัญญัติแห่งกัฟนันต์ ก็กันไม่ได้ฉะนี้ เป็นเรื่องที่รู้กันไปทั่วโลก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ อันที่จริงเหตุที่ไม่สำเร็จ ก็เพราะเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องใหญ่จนเกินกำลังของสันนิบาตชาตินั่นเอง สันนิบาตชาติมีความผูกพันที่จะรักษาความสงบ ถ้าเกิดไฟคือสงครามไหม้ขึ้น เหมือนอย่างไฟป่าซึ่งเหลือกำลังน้ำจะดับ วิธีที่จะดับก็คือ เอาไฟจุดดักหน้าให้ลุกต่อไปอีก เมื่อไฟไหม้หมดเชื้อแล้วก็ต้องดับอยู่เอง วิธีที่จะดับไฟด้วยจุดไฟนี้ เป็นวิธีที่สันนิบาตชาติไม่กล้าทำ
แต่สันนิบาตชาติได้ทำประโยชน์มามาก ได้แก้ประเทศที่จวนจะล่มจมทางเศรษฐกิจให้กลับฟูขึ้นได้ และยังดำรงมั่นอยู่จนบัดนี้ก็มี ได้ห้ามสงครามที่เกิดแล้วและจัดให้หย่าทัพปรานีประนอมกันได้ก็มี
ตั้งแต่มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ มาจน ค.ศ. ๑๙๓๖ รวม ๑๖ ปี สันนิบาตชาติได้พิจารณาข้อพิพาทระหว่าง ๕๐ กับ ๖๐ เรื่องที่จัดไม่สำเร็จเรียกว่า “คดีวิวาทชั้นที่ ๑” มี ๒ ราย คืออิตาลีกับอบิสซีเนียรายหนึ่ง ญี่ปุ่นกับจีนรายหนึ่ง เหตุที่สันนิบาตชาติเยียวยาไม่ได้ในเรื่องสองเรื่องนี้ ไม่ได้เพราะอย่างไร ก็ทราบกันอยู่โดยมากแล้ว
ในหนังสือนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะเล่าว่าในระหว่าง ๑๖ ปีนี้ สันนิบาตชาติได้ทำอะไรบ้าง ในทางระงับคดีวิวาท ในทางก่อสร้างโลกขึ้นใหม่ภายหลังมหาสงคราม ในทางสาธารณสุขและทางสังสรรค์ ในทางให้คำปรึกษาแก่ประเทศที่ต้องการ และในเรื่องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นต้น ผู้เขียนได้หยิบหนังสือมาอ่านถอยหลังไปเพื่อจะเก็บใจความมาเล่าตามหัวข้อ ได้ความซึ่งเพิ่งจะรู้ เพราะไม่เคยสนใจมาก่อน ว่าสันนิบาตชาติได้ทำงานสำเร็จมามากจนถึงน่าพิศวง สิ่งที่ผู้เขียนเพิ่งจะรู้ เพราะเพิ่งจะย้อนไปสอบเข้านี้ ผู้อ่านส่วนมากก็คงจะยังไม่รู้เหมือนกัน จึงเห็นควรนำมาเขียนเล่าให้ทราบกันไว้ เพราะว่าสยาม (ไทย) ได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติมาตั้งแต่แรกตั้ง ได้เข้าเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ วันเดียวกับเบลเยียม อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่นเป็นต้น สยาม (ไทย) เสียเงินค่าบำรุงสันนิบาตชาติตามกำลังของประเทศ ซึ่งคำนวณเรียกว่าเอี่ยว สยาม (ไทย) ต้องเสีย ๖ เอี่ยว เป็นเงินปีละ ๑๗๒,๖๖๒ แฟรงค์ เทียบกับประเทศใหญ่ ๆ เช่นอังกฤษ ๑๐๕ เอียว ฝรั่งเศส ๗๙ เอี่ยวเป็นต้น ตามรายงานของที่ปรึกษากระทรวงการคลังสยาม (ไทย) ฉบับที่ออกใหม่ เงินค่าบำรุงสันนิบาตชาติ ซึ่งสยาม (ไทย) เสียตั้งงบประมาณไว้ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นเงิน ๑๓๐,๐๐๐ บาท ผู้อ่านของเราหลายคน คงจะอยากรู้ว่า เงินที่เสียไปเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง
แต่การที่จะเขียนเล่าเช่นนี้จะกินเวลาและหน้ากระดาษมาก เพราะฉะนั้น จะต้องเขียนและพิมพ์อยู่หลายวัน แต่จะพิมพ์ต่อกันทุกวันก็ไม่ได้ เพราะจะต้องให้แก่เรื่องอื่น ๆ ซึ่งมีแทรกเข้ามาอยู่เสมอ และทั้งคงจะมีคนอ่านเป็นอันมากที่ไม่ชอบ ให้เขียนซ้ำ ๆ อยู่เรื่องเดียวหลาย ๆ วัน เป็นอันว่าเรื่องนี้จะเขียนในวันหน้าต่อไป
ระหว่าง ๑๖ ปี ตั้งแต่สันนิบาตชาติมีมา ได้มีคดีโต้เถียงระหว่างประเทศส่งไปให้สันนิบาตชาติ พิจารณาระหว่าง ๕๐ กับ ๒๐ เรื่องคดีเหล่านั้น เป็นเรื่องซึ่งสัญญาสงบศึกบัญญัติตั้งแต่แรกว่า ให้สันนิบาตชาติพิจารณาบ้าง เป็นเรื่องที่รัฐบาลบางประเทศที่เป็นสมาชิกเสนอต่อสันนิบาตชาติบ้าง เป็นเรื่องกรรมการราชทูตเสนอไปบ้าง
เรื่องที่เสนอไปนั้น โดยมากกรรมการสันนิบาตชาติพิจารณาเอง บางเรื่องก็ให้ศาลประจำพิจารณา บางเรื่องก็พิจารณาในประชุมใหญ่
เรื่องที่พิจารณานั้นโดยมากใช้หลักมาตรา ๓๓ ของกัฟนันต์อันเป็นมาตราซึ่งตั้งหลักไว้ว่า เหตุการณ์อันใดมีท่าทางจะทำลายความสงบระหว่างประเทศ เหตุการณ์นั้นย่อมเป็นอินเตอเรสต์ของประเทศทั้งหลายกันหมด เรื่องบางเรื่องได้พิจารณาตามมาตรา ๑๓ ถึง ๑๕ ของกัฟนันต์ ซึ่งบัญญัติวิธีการที่อาจประนีประนอมกันได้ และวิธีการซึ่งจะโฆษณาให้รู้กันทั่วโลกด้วย เรื่องหนึ่งได้ใช้มาตรา ๑๖ คือแซงก์ชั่น คือใช้แก่อิตาลีในเรื่องอบิสซีเนีย เป็นเรื่องที่ใช้ไม่สำเร็จ
ปัญหาที่สันนิบาตชาติพิจารณานี้ เป็นปัญหาสำคัญมากบ้าง น้อยบ้าง บางปัญหาเป็นเรื่องซึ่งจะเกิดรบกันขึ้น ใช่แต่จะรบเท่านั้น ได้ลงมือรบกันแล้วก็มี เป็นต้นว่า ยูโกสลาเวียกับออลเมเนียได้วิวาทถึงเกิดรบกันใน ค.ศ. ๑๙๒๓ กรีซกับบัลกาเรียได้รบกันใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ตุรกีกับอิรากได้รบกันใน ค.ศ. ๑๙๒๔ โคลอมเบียและเปรู ได้รบกันใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ทั้ง ๔ รายนี้ ได้ลงมือสงครามกันแล้ว แต่สันนิบาตชาติได้ไกล่เกลี่ยให้เลิกกันได้ สงครามทั้ง ๔ รายนั้น ไม่ใช่สงครามใหญ่ก็จริง แต่ในสมัยนี้ประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นฝักฝ่ายกันเป็นหมู่ ๆ ทั้งในทางการเมืองทางเศรษฐกิจและการเงิน เพราะฉะนั้น ถ้าตัดต้นไฟไม่สำเร็จ ไฟก็อาจลุกลามไปได้มาก
นอกจากการห้ามทัพ ๔ รายที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกรายหนึ่งซึ่งห้ามได้แล้วกลับเป็นไม่ได้ คือสงครามประเทศโบลิเวียกับประเทศพาราเกฺวย์ ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ และ ค.ศ. ๑๙๒๘ สงครามรายนั้น สันนิบาตชาติได้เข้าช่วยว่ากล่าวตกลงสงบการรบได้โดยเร็ว แต่ในระหว่างที่จัดการกันอยู่นั้น ทั้ง ๒ ฝ่ายเกิดขัดใจกันแล้วรบกันขึ้นอีก เรื่องนั้นโทษสันนิบาตชาติไม่ได้ เพราะ ๒ ประเทศไม่มีคมนาคมให้เรื่องราวที่เกิดใหม่รู้ไปถึงสันนิบาตชาติได้ทันที หรือเมื่อสันนิบาตชาติว่ากระไร ก็รู้ไปถึงประเทศทั้ง ๒ ได้โดยยาก ทั้งนี้ก็เพราะตำบลที่เกิดเหตุนั้นอยู่ไกลทะเล และในว่ามีผู้ยุด้วย แต่ในเรื่องนี้เมื่อเกิดรบกันขึ้นอีกแล้ว ประเทศที่เป็นสมาชิกสันนิบาตชาติก็ไม่ยอมขายเครื่องอาวุธให้แก่คู่สงคราม จนในที่สุดอ่อนเพลียกันเข้าทั้ง ๒ ฝ่าย ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็เลยว่ากล่าวให้เลิกรบกันได้ตามวิธีของสันนิบาตชาตินั่นเอง อนึ่ง ในสงครามครั้งนั้น สันนิบาตชาติได้ทำสำเร็จอย่างหนึ่ง คือ เขียนวงไม่ให้สงครามลุกลามไปถึงประเทศอื่นได้
ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และ ๑๙๓๕ สันนิบาตชาติได้ทำให้หมอกสงครามกระจายไปได้ ๒ ครั้ง ครั้ง ๑ คือ แคว้นซาร์ ซึ่งผู้อ่านคงจะยังจำเรื่องได้อยู่โดยมาก อีกครั้ง ๑ คือ คติวิวาทระหว่างยูโกสลาเวียและฮังการี ซึ่งจวนจะเกิดสงครามเต็มที
ในเรื่องแคว้นซาร์ได้มีกองทหารของประเทศเป็นกลางหลายประเทศ ช่วยกันไปเป็นตำรวจระวังเหตุ ในเรื่องยูโกสลาเวียกับฮังการี ถ้าไม่รีบเอาเรื่องไปเปิดเผยที่เยนิวาให้ทันท่วงที “ก็จะเกิดระเบิดขึ้นในยุโรปในสองสามสัปดาหะ ถ้าไม่สองสามวัน” (คำในเครื่องหมายคำพูดนี้ แปลมาจากหนังสือ “ไตมส์” วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๑๙๓๔) แต่คดีวิวาท “ชั้น ๑” ซึ่งสันนิบาตชาติต้องพิจารณาได้มีเพียง ๒ เรื่อง คือจีนกับญี่ปุ่นใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ถึง ๑๙๓๓ เรื่องหนึ่ง อิตาลีกับอบิสซิเนีย ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ถึง ๑๙๓๖ เรื่องหนึ่ง ทั้ง ๔ ประเทศเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติอยู่ในเวลานั้น เวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) ญี่ปุ่นกับอิตาลีได้ออกจากสันนิบาตชาติไปแล้ว และข้อที่ว่าเหตุใดสันนิบาตชาติจึงจัดไม่สำเร็จนั้น เป็นข้อที่เห็นแตกต่างกันอยู่มาก ผู้อ่านของเราย่อมจะได้ฟังมาแล้วและคงจะยังไม่ลืมเพราะเป็นเรื่องใหม่ ๆ
นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังมีคดีอีกหลายสิบราย สันนิบาตชาติได้จัดให้ระงับไปได้โดยมาก บางรายก็ไม่ตัดปัญหาให้เด็ดขาด แต่ก็ทำให้ระงับไว้ได้ และทำให้บรรเทาความขื่นขมในใจลงไป เราจะนำเรื่องมาเล่าย่อ ๆ ในที่นี้ แต่เขียนละเอียดนักไม่ได้ เพราะยืดยาวนัก
(๑) เรื่องเกาะอาแลนด์ เป็นปัญหาระหว่างประเทศฟินแลนด์กับสวีเด็น ฟินแลนด์ว่าเป็นเจ้าของเกาะ แต่สวีเด็นว่าคนที่อยู่ในเกาะเป็นชาวสวีเด็น ทั้ง ๒ ประเทศได้ส่งคดีให้สันนิบาตชาติตัดสิน เมื่อตัดสินแล้ว ๒ ประเทศยอมตกลง
(๒) โปแลนด์กับลิธัวเนียวิวาทกันเรื่อง อาณาเขต สันนิบาติชาติได้จัดไม่ให้เกิดสงครามกันขึ้น แต่จะให้เลิกขัดใจกันยังไม่ได้ ๒ ประเทศยังค้อนกันอยู่เสมอ แต่ไม่เกิดเป็นเหตุใหญ่
(๓) ปัญหาเรื่องอัปเปอร์ไซลีเซีย เป็นปัญหาเรื่องอาณาเขตระหว่างโปแลนด์กับเยอรมัน เรื่องนี้ขีดเส้นอาณาเขตลงไปไม่ได้ เพราะชนชาวประเทศทั้ง ๒ อยู่ล้ำกันไปล้ำกันมาจะขีดเส้นลงไปเพียงไหน ก็คงจะล่ำอาณาเขตกันทั้งนั้น เรื่องนี้สันนิบาตชาติยังตัดสินไม่ลง
(๔) เรื่องวิวาทระหว่างออลเมเนียกับยูโกสลาเวีย เรื่องนี้เป็นเรื่องแก่งแย่งอาณาเขตกัน ยูโกสลาเวียได้ส่งกองทหารล่วงแดนออสเมเนียเข้าไป สันนิบาตชาติได้เรียกประชุมกรรมการทันที และขู่ว่าจะทำบล๊อกเกตทางเศรษฐกิจ การรบก็หยุดไปได้ การครั้งนั้นถ้าเป็นสมัยก่อนสันนิบาตชาติ จะเกิดสงครามบัลกานเหมือนที่เกิดมานับครั้งไม่ถ้วนเป็นแน่ อนึ่ง สันนิบาตชาติได้เข้าช่วยจัดออลเมเนียโดยวิธีส่งกรรมการไปตรวจราชการและออกความเห็นให้ และให้มีที่ปรึกษาการคลังไปช่วยอยู่ปีหนึ่ง อีกทั้งช่วยปราบไว้มาเลเรีย และเรี่ยรายเงินให้ ๑๘,๐๐๐ ปอนด์ในคราวทุพภิกขภัยด้วย
(๕) โปแลนด์กับเช็คโกสโลวาเกีย เกิดทุ่มเถียงกันเรื่องอาณาเขต สันนิบาตชาติได้ให้ความเห็นทางกฎหมายซึ่งเป็นที่พอใจทั้ง ๒ ฝ่าย
(๖) ปัญหาเรื่องเมเม็ล ซึ่งเป็นเมืองอยู่ที่ปลายเขตแดนของลีธัวเนียเมื่อก่อนมหาสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของปรัชเซีย (เยอรมัน) เมื่อสิ้นมหาสงครามแล้ว สันนิบาตชาติได้ตัดสินว่า จะทำอย่างไรกับเมืองเมเม็ล ได้ปรึกษากันยืดยาว ตั้งกรรมการพิจารณาเขียนรายงานเล่มโตๆ ในที่สุดเมเม็ลเป็นประเทศราชอยู่กับลีธัวเนีย ลีธัวเนียตั้งเกาวนา เกาวนาเลือกประธานกรรมการบริหาร แล้วประธานเลือกกรรมการอีก ๔ คน กับมีสภาผู้แทนราษฎรด้วยรัฐบาล เมเม็ลแบบนี้เกิดขัดใจกันขึ้นกับราษฎรที่เป็นชาวเยอรมัน เกาวนาจึงถอดประธานกรรมการบริหารซึ่งเป็นเยอรมันเสีย แล้วสั่งยุบกรรมการนั้นด้วย เรื่องนี้ไปถึงสันนิบาตชาติ ได้พิจารณาไกล่เกลี่ยอยู่ช้านาน ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) เป็นอันว่ามีเกาวนากับกรรมการบริหาร และสภาผู้แทนดำเนินการปกครองไปได้ (สภาผู้แทนมีเยอรมัน ๒๕ คน ผู้แทนลิธัวเนีย ๔ คน)