- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
เหตุแห่งความแพ้
เราไม่สามารถชี้แจงโดยลำพังของเราว่า เหตุไรฝรั่งเศสจึงต้องยอมแพ้เยอรมันคราวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) แต่พอชี้แจงได้บ้าง ตามที่ได้อ่านและได้ฟังผู้อื่นกล่าว เพียงวันที่เขียนนี้ เราได้ฟังคำของ ผู้อื่นมาแล้วหลายคน มีอาทิ คือ จอมพลเปแต็ง มร. วินสตันเชอชิล นายพลเดอโกล หัวหน้าผู้แทนบริษัทรอยเตอร์ ซึ่งประจำอยู่ในประเทศฝรั่งเศสจนเมื่อ ๖-๗ วันมานี้ และหัวหน้าผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ไตมส์” ซึ่งประจำอยู่ในปารีส จนถึงเวลาที่ต้องหลบหนีเยอรมันข้ามทะเลไป เราไม่ทราบชื่อผู้แทนรอย บริษัทรอยเตอร์ แต่ได้ยินชื่อผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ไตมส์” คล้าย ๆ ว่า คะเด็ต สกดตัวอังกฤษอย่างไรไม่เคยเห็น เพราะได้ยินทางวิทยุ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ไตมส์” ในปารีสเป็นผู้มีฐานะสูง เข้าไหนเข้าได้ ตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลลงไป ถ้าจะกล่าวให้เห็นความสำคัญของตำแหน่งก็ชี้ได้ว่า ผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ ไตมส์” ที่ประจำอยู่ในปารีส ได้เงินเดือนสูงกว่าหัวหน้ากระทรวงบางกระทรวงในประเทศอังกฤษเอง
ข้อความซึ่งบุคคลที่ระบุชื่อมาแล้วเหล่านั้น เราได้ฟังวันโน้นบ้างวันนี้บ้างก็จดจำไว้เป็นข้อ ๆ แล้วนำมากล่าวติดต่อกันในที่นี้ เราไม่จำเป็นจะเตือนผู้อ่านว่า เราไม่ได้กล่าวอะไรเอง เป็นแต่นำข้อความซึ่งผู้อื่นกล่าว มาผสมผสานให้ท่านฟังเท่านั้น
จอมพลเปแต็งได้แถลงทางวิทยุเมื่อ ๒๒ เดือนนี้ (๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒) ว่า ฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้ครั้งนี้ ก็เพราะเหตุที่ชนฝรั่งเศสไม่ใช่คนมีลูกดก อีกทั้งมีเครื่องรบไม่พอ และมีกองทัพประเทศอื่นช่วยรบน้อย
จอมพลเปแต็งกล่าวว่า ครั้งมหาสงคราม (โลกครั้งที่ ๑) เมื่อได้รบกันมาแล้วถึง ๓ ปี ฝรั่งเศสยังมีทหารอยู่ในกองทัพถึง ๓,๒๘๐,๐๐๐ คน แต่ในคราวนี้แม้จะเพิ่งขึ้นต้นรบใหม่ ๆ ฝรั่งเศสก็มีทหารในสนามรบน้อยกว่าคราวก่อนถึง๕8 แสนคน คราวก่อนอังกฤษได้ส่งทัพบกไปช่วย ๘๕ กองพล ครั้งนี้ได้ส่งเพียง ๑๐ กองพลเท่านั้น นอกจากนี้ คราวก่อนยังมีทหารอิตาลียนช่วยอีก ๕๘ กองพล และทหารอเมริกันอีก ๔๒ กองพลด้วย ส่วนในเครื่องรบนั้น ฝรั่งเศสมีน้อยกว่าเยอรมันมากมาย เยอรมันมีเครื่องบินมากกว่าฝรั่งเศสถึง ๖ เท่า เหตุที่มีกำลังไม่พอจะต่อต้านปัจจามิตรได้นี้ เป็นเหตุที่จอมพลเปแต็งแถลงว่าต้องยอมแพ้
นายพลเดอโกลกล่าวว่า จอมพลเปแต็งเป็นผู้ยอมแพ้ และเป็นต้นเหตุที่ต้องแพ้ จอมพลเปแต็งได้เคยเป็นแม่ทัพใหญ่ และภายหลังได้ว่าราชการกระทรวงทหารบก แต่ไม่ได้เคยคิดที่จะจัดกำลังทัพให้พอเพียงแก่การต่อสู้ศัตรูเลย
ในส่วนอังกฤษนั้น มร. เชอชิลแถลงตั้งแต่วันแรกหรือวันที่ ๒ ที่ได้ข่าวฝรั่งเศสยอมแพ้ว่า ภายใน ๒ วันที่เยอรมันยกเข้าหักโหม ก็เห็นได้เสียแล้วว่าต้องแพ้ เพราะเยอรมันตอกลิ่มแทรกแนวฝรั่งเศส ที่หัวต่อแนวมายิโนต์เดิมกับแนวใหม่เข้าไปได้ เมื่อแทรกได้แล้วก็ใช้รถแทงค์และรถเกราะแยกเป็นสาย ๆ วิ่งกวนหลังแนวฝรั่งเศสจนอลหม่านไปหมด ส่วนกองทหารบกของอังกฤษที่ลงไปช่วยนั้น มร. เชอชิลว่า ได้ส่งมากพอที่ฝรั่งเศสมาดหมายจะให้ช่วย
ถ้ากล่าวตามข่าวที่เราทราบ ในตอนที่ถอนหนีจากเมืองดันเกิกก็ได้ความว่า อังกฤษส่งทัพข้ามทะเลไป ๔ แสนเศษ เอาตัวรอดกลับไปได้ ๓ แสนเศษ
อนึ่ง มีข่าววิทยุราชการของอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนนี้ (๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๓) ว่า ตามข่าวที่อ้างนามหัวหน้ากระทรวงแถลงข่าวของฝรั่งเศสเป็นผู้กล่าวว่า อังกฤษได้สัญญาจะส่งกองทัพ ๒๖ กองพล ในเดือนแรก ๆ ที่เกิดสงครามนั้น รัฐบาลอังกฤษแถลงว่าไม่ตรงกับความจริง ที่แท้เสนาธิการอังกฤษได้แจ้งให้เสนาธิการฝรั่งเศสทราบ ตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดสงครามว่า ภายในปีแรก อังกฤษจะส่งทหารมากนักไม่ได้ ส่วนการรบบนฟ้านั้น อังกฤษว่าได้ช่วยฝรั่งเศสมากกว่าที่กำหนดแก่กันไว้เป็นอันมาก
หัวหน้าผู้แทนบริษัทรอยเตอร์ประจำอยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้ชี้แจงในตอนที่ไม่ต้องปกปิดแล้วว่า เหตุสำคัญที่ฝรั่งเศสต้องยอมแพ้คราวนี้ ก็เพราะแม่ทัพและเสนาธิการฝรั่งเศสกะโครงการสงครามไว้ผิด ได้ถือเอาการตั้งรับอยู่กับที่เป็นใหญ่ และว่าทหารราบย่อมสำคัญกว่าทหารเหล่าอื่น เพราะจะแพ้ชนะกันในที่สุดด้วยทหารราบ ส่วนเครื่องบินและรถแทงก์นั้น โครงการฝรั่งเศสไม่ได้เตรียมไว้มาก เพราะเห็นว่ารถแทงก์และเครื่องบินนี้ เป็นเครื่องประกอบการรบเท่านั้น หาใช่จะแพ้ชนะกันด้วยเครื่องรบ ๒ ชนิดนี้ไม่ เหตุฉะนี้กองทัพฝรั่งเศสจึงเตรียมเครื่องบินไว้น้อย และรถแทงก์ก็ไมได้เตรียมไว้มาก
ครั้นเกิดสงครามขึ้น และในตอนที่เยอรมันตีหักโหมเข้าไปในโปแลนด์นั้น จอมทัพฝรั่งเศสได้ส่งรถแทงก์เข้าไปที่หน้าแนวซีคฟรีดบุกรังปืนกลและเครื่องป้องกันต่าง ๆ เข้าไปได้ จนราวกับว่าจะตีบ้านเมืองสำคัญ ๆ ของเยอรมันที่อยู่นอกแนวซีคฟรีดนั้นได้ แต่ที่จอมทัพฝรั่งเศสทำครั้งนั้น มิได้คิดจะทำจริงจัง เป็นแต่เพียงยั่วจะให้เยอรมันถอนกองทัพมาเสียจากโปแลนด์บ้างเท่านั้น ครั้นเยอรมันส่งกองทัพมาตีโต้หน้าแนวซีคฟรีด ฝรั่งเศสก็ถอยกลับเข้าแนวมายิโนต์เสียหมด เข้าใจกันเวลานั้นว่าเป็นยุทธวิธีอย่างฉลาด เพราะเข้าไปสำรวจและทำลายเครื่องป้องกันของเยอรมันได้มาก แต่ฝรั่งเศสเองมิได้เสียหายกี่มากน้อย ครั้นเยอรมันรีบยกมาแก้ ฝรั่งเศสก็ถอยเข้าแนวเสีย เยอรมันโจมตีเข้าไปถึงตำแหน่งที่ฝรั่งเศสยึดเข้าไว้ได้ ก็ไม่พบข้าศึกที่นั่นเลย
ผู้แทนรอยเตอร์กล่าวว่า เยอรมันได้ความคิดจากวิธีรบของฝรั่งเศสครั้งนั้นว่า รถแทงก์ขนาดหนัก อาจบุกแนวของข้าศึกเข้าไปได้ แม้จะเสียหายมาก ถ้าไม่ต้องกลัวความเสียหาย ก็อาจบุกแนวทะลุเข้าไปรังควานด้านหลัง ทำให้ศัตรูปั่นป่วน แล้วเอาชัยได้ในที่สุด เขาว่าเยอรมันเห็นตัวอย่างรถแทงก์ฝรั่งเศสที่บุกแนวไม่ถาวรของเยอรมันเข้าไปได้จนถึงหน้าซีคฟรีดฉะนี้ จึงรีบสร้างรถแทงกอย่างเร่งร้อนอยู่หลายเดือน จนมีรถพอแล้ว จึงเริ่มที่ฝ่าแนวเบลเยียมเข้าไปได้โดยง่าย แล้วฝ่าแนวฝรั่งเศสที่หัวต่อแนวเก่ากับแนวใหม่ ซึ่งมักเรียกกันว่าตรงบานพับ มีผลดังที่เห็นได้ในบัดนี้ เขาว่าฝรั่งเศสเริ่มแพ้ในเมื่อถูกฝ่าแนวเข้าไปแล้วไม่รีบถอยแนวซ้ายในทันที ปล่อยให้ข้าศึกอ้อมหลังได้ถนัด จนกองทัพเบลเยียมวางอาวุธเปิดปีกให้เยอรมันอีกด้านหนึ่งก็ยิ่งไม่มีทางสู้
ผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ไตมส์” ประจำปารีสกลับไปลอนดอน เมื่อเสร็จในฝรั่งเศสกันไปแล้ว ชี้แจงว่า การแพ้สงครามนั้น ใช่แต่แม่ทัพนายกองจะเป็นผู้ทำให้แพ้เท่านั้น รัฐบุรุษพลเรือนก็เป็นผู้ทำให้แพ้ด้วยก่อนเกิดสงคราม ชมรมการเมืองฝรั่งได้แก่งแย่งก้าวร้าวกันมาก และพวกที่ไม่คิดจะทำสงครามก็มีไม่น้อย แต่สงครามคราวนี้ นักการเมืองฝรั่งเศสจะอยากรบหรือไม่อยากรบ สงครามก็ต้องเกิด ครั้นเกิดขึ้นแล้ว การตั้งยันกันอยู่หลังแนวทั้ง ๒ ฝ่ายก็ทำให้เกิดประมาท พวกทหารต้องไปประจำหน้าทัพอยู่หลายเดือน ไม่ต้องทำอะไรก็เบื่ออยากกลับบ้าน พลเรือนก็มีเวลาที่จะทุ่มเถียงโล้เล้กันมาก รัฐบาลก็ไม่กลมเกลียวกัน มีพวกที่เห็นอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้างร่วมอยู่ในคณะเดียวกัน และพวกที่ไม่ยอมร่วมกับรัฐบาลก็มีมาก รวมความว่าไม่มีใครจะทำให้สมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งประเทศได้
ครั้นเยอรมันเข้านอรเวย์ ม. คาลาเดียร์ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่เวลานั้น ก็เกิดตกใจขึ้นมา และเกิดโว๊กเว๊กกันในอีกพักหนึ่ง ม. เรโนด์เข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทน แต่ ม. คาลาเดียร์ ก็ยังว่าการกระทรวงป้องกันประเทศอยู่นั่นเอง ม. คาลาเดียเป็นคนมีพวกพ้อง ม. เรโนด์ไม่มี จึงเกือบจะตกแท่นเสียตั้งแต่แรก ผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ไตยส์” ได้มีนัดไว้ว่าจะไปพบกับ ม. เรโนด์ ในวันที่กำลังฉุกละหุกกันใหญ่ เข้าใจว่า ม. เรโนด์คงจะบอกเลิก แต่ ม. เรโนด์ ก็บอกว่าให้ไปหาตามที่นัดกันไว้ ครั้นไปถึงเขาก็ได้ฟังคำบอกกล่าวของ ม. เรโนด์ ซึ่งทำให้เขาประหลาดใจที่สุด ม. เรโนด์บอกว่าปรากฏในเรื่องนอรเวย์ ว่าจอมทัพทำผิดเลอะเทอะหมด ไม่เปลี่ยนตัวจอมทัพไม่ได้ แต่ ม. คาลาเดียร์เป็นหัวหน้ากระทรวงป้องกันประเทศอยู่ และจอมทัพเป็นผู้ซึ่ง ม. คาลาเดียร์วางใจเชื่อถือ เมื่อเปลี่ยนจอมทัพ ก็ต้องเปลี่ยน ม. คาลาเดียร์ด้วย และเมื่อเปลี่ยน ม. คาลาเดียร์ก็เกิดหมางใจกันขึ้นอีก เพราะ ม. คาลาเดียร์เป็นผู้มีพวกมาก มาตอนนี้ปรากฏว่ายุทธศาสตร์ของจอมทัพคนเก่าผิดเลอะเทอะหมด และผู้นั้นไม่มีทางที่จะแก้ไขอย่างไร จึงต้องเปลี่ยนตัวจอมทัพในตอนนั้น แต่จอมทัพคนใหม่จะมาทำอะไรก็ไม่ได้ นอกจากพยายามเยียวยาไปชั่ววัน ๆ ในตอนนี้ได้เชิญจอมพลเปแต็งเข้าไปในชุดรัฐบาล เพื่อจะจึนให้ค่อยแข็งขึ้น แต่การผิดแผกความเห็นกันก็มิได้ลดหย่อนลง ม. เรโนด์เป็นผู้คิดสู้ไปจนกว่าจะตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศสไม่ได้ แล้วก็จะย้ายรัฐบาลไปอยู่ในแอฟริกาเหนือเพื่อคิดต่อสู้ต่อไป แต่มาตอนนี้ ม. เรโนด์ได้รับความอุดหนุนในคณะรัฐบาลไม่พอเสียแล้ว จึงเปลี่ยนชุดรัฐบาลใหม่โดยความตั้งใจจะยอมแพ้ และได้เลือกตัวกันใหม่ ล้วนแต่พวกที่ไม่คิดสู้ทั้งนั้น ดังนี้เขาจึงกล่าวว่า แนวพลเรือนแพ้สงครามก่อน แนวทัพยังไม่ทันแพ้ ที่แท้เขาว่าทหารที่ต้องรบเหน็ดเหนื่อยจนแทบจะไม่มีเวลากินเวลานอน ได้รบแล้วรบอีกอยู่พวกเดียวตลอดเวลา กองทหารที่ยังไม่ได้รบ และดูเหมือนแทบจะยังไม่ได้ยิงปืนสักตูมเดียว ยังมีอีกมากมาย แต่ไม่ได้เตรียมความสะดวกไว้ให้ผลัดเปลี่ยนกันรบได้
อนึ่ง เขากล่าวว่า นายพลเดอโกลเป็นผู้ร่ำร้องมาหลายปี ว่าจัดกองทัพอย่างเก่าจะไม่มีประตูสู้ข้าศึกได้ ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ นายพลเดอโกลได้พิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง เสนอความเห็นว่า กองทัพฝรั่งเศสต้องจัดเป็นทัพรถอย่างใหญ่หลวง ให้วิ่งรบได้ทั้งกองใหญ่ ๆ และอาจยกรุดไปรุดมาได้ทั้ง ๕๐ ไมล์ในวันเดียว หนังสือของนายพลเดอโกลเล่มนั้น เสนอความเห็นที่จะจัดกองทัพ และวิธีที่จะรบเช่นเดียวกับที่เยอรมันใช้คราวนี้ แต่หากไม่มีใครเห็นชอบกับนายพลเดอโกลในเวลานั้น เพราะพวกนายทหารผู้ใหญ่พะวงไปแต่วิธีที่จะตั้งรบตามทำนองสงครามครั้งก่อน (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ผู้แทนหนังสือ “ไตยส์” กล่าวว่า หนังสือเล่มนั้นถ้าไม่มีพิมพ์ปีที่ลงพิมพ์เป็นพยานอยู่ ก็จะถูกหาว่าพูดภายหลัง
เราเก็บคำซึ่งคนโน้นว่าอย่างโน้น คนนี้ว่าอย่างนี้ มารวมกันลงไว้ในวันนี้ แต่เป็นคำที่กล่าวกันชั่วเวลานี้เท่านั้น ต่อไปภายหน้า (พงศาวดารคงจะพิจารณาแม่นย่า ว่าเหตุที่ฝรั่งเศสต้องยอมแพ้ครั้งนี้คืออะไรแน่ แต่คงจะใช้ข้อความที่กล่าวข้างบนนี้ เสมอกับคำให้การของผู้รู้เห็นในขณะนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๓) สำหรับให้พงศาวดารตัดสินต่อไป.