คดีในศาล

วันนี้เราจะเล่าถึงคดีเรื่องหนึ่งในศาลอังกฤษ เป็นคดีการเมืองใหญ่หลวง ที่เกี่ยวแก่หนังสือพิมพ์ใหญ่ชั้นเยี่ยมเหมือนกัน คดีเรื่องนี้นอกจากที่อ่านเพลินแล้ว ยังส่อให้เห็นทางการเมืองหลังฉากในยุโรปด้วย และเป็นเรื่องที่ปรากฏออกมาในศาล

คดีรายได้เสร็จกันไปในตอนกลางเดือนพฤศจิกายนที่แล้วมานี้ (พฤศจิกายน ๒๔๘๒) โจทก์คือเจ้าหญิงสตาเฟนีโฮเฮนโลเฮ (มักเรียกกันว่า สเต็ฟฟี) จำเลยคือเจ้าของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ (อังกฤษ)

ตามเรื่องที่ปรากฏในศาลคราวนี้ มีความย่นย่อลงว่า จอมเกลียดผิว คือ แฮร์ ฮิตเลอร์กับขุนนางอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ ได้ใช้สตรียิวชาวกรุงเวียนนา คือ เจ้าหญิงสเต็ฟฟี่ เป็นคนสื่อกลางให้ติดต่อกันเพื่อประโยชน์การเมือง ปรากฏในศาลตามถ้อยคำที่ฝ่ายโจทก์แถลงว่า ภายใน ๕ ปี เจ้าของเดลิเมล์ได้จ่ายให้แก่เจ้าหญิงประมาณ ๓๕,๐๐๐ ปอนด์ ในตำแหน่งที่เรียกกันลับ ๆ ว่า ผู้แทนแผนกการเมืองในต่างประเทศ คดีที่เจ้าหญิงฟ้องครั้งนี้ เป็นการฟ้องเรียกเอาบำนาญปีละ ๕,๐๐๐ ปอนด์ตลอดชีวิต ซึ่งอ้างว่าเจ้าของเดลิเมล์ได้สัญญาไว้

ตามรูปคดีปรากฏว่า ครั้นใกล้จะเกิดสงครามคราวนี้เข้ามา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) เจ้าของเดลิเมล์ก็เปลี่ยนหลักของหนังสือพิมพ์ใหม่ว่า ประศาสโนบายราชการต่างประเทศ ควรมอบไว้ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ทำผู้เดียว หนังสือพิมพ์ควรจะถอนตัวออกเสียจากความเกี่ยวข้องทั้งหลาย ตำแหน่งที่เจ้าหญิงสเต็ฟฟี่เคยกินเงินเดือนอยู่จึงเป็นอันต้องเลิก และเจ้าหญิงก็ไม่ได้รับค่าจ้างจากหนังสือพิมพ์อีก

อนึ่ง เมื่อประมาณ ๖-๗ ปีมาแล้ว หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ได้กล่าวหาเจ้าหญิงสเต็ฟฟี่เป็นสไปย์นาซีอยู่ในเมืองฝรั่งเศส เจ้าหญิงไม่ได้ฟ้องหมิ่นประมาทในครั้งนั้น แต่มาแถลงในศาลในคดีครั้งนี้ว่า เจ้าของเดลิเมล์ห้ามไม่ให้ฟ้อง สัญญาว่าช่วยแก้ไขรักษาชื่อเสียงในหนังสือพิมพ์ที่เป็นชุดของเดลิเมล์ เจ้าหญิงว่าหนังสือพิมพ์หาได้ช่วยแก้ไขเช่นที่ว่านั้นไม่ จึงกล่าวหาว่าเป็นการกระทำผิดสัญญาอีกชั้นหนึ่ง

หัวหน้าทนายฝ่ายจำเลย ได้กล่าวประจานโจทก์ว่า ลักจดหมายลับของจำเลยไปหลายฉบับ และทั้งถ่ายรูปหนังสือไปด้วย ทนายว่าโจทก์ไม่มีความชอบธรรมที่จะนำจดหมายลับเข้าไปเป็นพยานในศาล แต่การลักจดหมายลับหรือถ่ายรูปหนังสือนั้นเป็นวิธีธรรมดาของผู้รับจ้างทำงานชนิดนั้น เมื่อทนายจำเลยยกขึ้นเป็นประจานโจทก์ โจทก์ไม่แสดงอาการว่าเดือดร้อนเลย

ทนายโจทก์แถลงต่อศาลเล่าความถอยหลังไปถึง ๑๒ ปี ว่าในครั้งแรกที่โจทก์กับจำเลยได้พบกันนั้น โจทก์ได้แจ้งแก่จำเลยว่า กำลังคิดการจะช่วยจัดให้ราชวงศ์เยอรมันและราชวงศ์ออสเตรียได้คืนครองราชสมบัติตามเดิม โจทก์ให้การเป็นพยานตนเองว่า เมื่อแรกรู้จักกับจำเลยนั้น จำเลยได้กล่าวแก่โจทก์ว่า หนังสือพิมพ์ของจำเลยไม่ค่อยจะมีข่าวอะไร โจทก์จะแนะนำให้แก้ไขอย่างไรได้บ้าง โจทก์จึงแนะต่อจำเลยว่า ให้หนังสือพิมพ์ของจำเลยดำเนินการไปในทางที่จะโอนให้สถาปนาตำแหน่งพระราชาประเทศฮังการีขึ้น

เรื่องตำแหน่งพระราชาประเทศฮังการีนี้ หนังสือพิมพ์ของจำเลยได้พยายามจะโอนขึ้นจริง แต่เจ้าหญิงสเต็ฟฟี่เพิ่งจะมาแสดงว่า เป็นเจ้าความคิดเดิมในบัดนี้ อนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ได้แต่งหนังสือลงพิมพ์เป็นสมุดออกมาเล่มหนึ่ง เล่าเรื่องที่ได้พยายามจะให้กลับตั้งตำแหน่งพระราชาประเทศฮังการีขึ้นใหม่ ในสมุดนั้นกล่าวว่า มีผู้คิดจะนำชื่อขุนนางอังกฤษผู้เป็นเจ้าของเดลิเมล์ ไปให้ราษฎรในประเทศฮังการีโหวต ตั้งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของประเทศนั้น แต่เจ้าของเดลิเมล์หายอมไม่ ใจความที่แสดงในสมุดเช่นนั้น เจ้าหญิงสเต็ฟฟี่ให้การว่า ที่เจ้าของเดลิเมล์ว่า ไม่ได้ต้องการจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินฮังการีเป็นความจริง แต่เจ้าของเดลิเมล์ได้บอกแก่เจ้าหญิงว่า ให้พยายามจัดให้บุตรชายของตนได้เป็น แต่เจ้าหญิงไม่เห็นด้วยจึงนิ่งเสีย

ทนายโจทก์แถลงในศาลว่า ในปีต่อมาจำเลยได้ส่งคนไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์เก่าแห่งประเทศเยอรมัน และมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินออสเตรียองค์เก่า ผู้เป็นชนนีของเจ้าชาย ซึ่งจะได้เป็นพระราชาออสเตรีย ถ้าตั้งตำแหน่งขึ้น ทนายโจทก์กล่าวว่า จำเลยกล่าวว่า จำเลยได้สัญญาจะถวายเงินแก่พระมเหสีออสเตรียปีละ ๒๐,๐๐๐ ปอนด์เป็นเวลา ๕ ปี แต่จะถวายเพื่ออะไรหาปรากฏไม่ ถวายแถลงต่อไปว่า ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ โจทก์ได้จัดให้จำเลยได้พบกับจอมเยอรมันในเบอรลิน จอมเยอรมันได้ไปกินข้าวกับโจทก์ที่โฮเต็ล ไม่ยอมดื่มอะไรนอกจากน้ำเย็น และพูดชี้แจงยืดยาวต่อโจทก์เป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งโจทก์หาเข้าใจไม่ ในระหว่างนั้น มีผู้ทำขวดปักดอกไม้ใบใหญ่ตกแตกดัง ก้องไปในห้อง พวกองครักษ์ของจอมเยอรมันที่คอยอยู่ข้างนอกก็ชักปืนตรูกันเข้าไป จอมเยอรมันก็เลยกลับจากโฮเต็ล

ทนายโจทก์แถลงว่า ในต้นปี ค.ศ. ๑๙๓๘ จำเลยได้ให้โจทก์ไปทาบทามทางการเมืองกับจอมเยอรมันอีก แต่ไม่มีผล ต่อนั้นมาโจทก์ก็ถูกตัดออกจากตำแหน่ง จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลย ตามที่อ้างว่าเป็นสัญญา

ใจความตามที่กล่าวมาข้างบนนี้ เป็นแต่เพียงคำของโจทก์ ไม่ใช่คำซึ่งศาลถือเป็นหลักฐานในการตัดสินคดี ในส่วนตัวโจทก์นั้นที่เรียกว่าเป็นเจ้าหญิง ก็เป็นปัญหานักหนา เพราะหญิงผู้นี้ไม่ได้มีกำเนิดเป็นเจ้า ได้แต่งงานกับเจ้าในราชวงศ์ในฮังการี ซึ่งตามประเพณีไม่รับรองผู้ไม่ใช่เจ้าที่แต่งงานกับเจ้า ถ้าขืนแต่งก็ไม่ยกย่องว่าเป็นเจ้า อีกประการหนึ่งหญิงผู้นี้ ได้หย่ากับสามีเจ้าเสียช้านานแล้ว

ส่วนคดีนั้น ศาลได้ตัดสินลุล่วงไปโดยเร็ว ผู้พิพากษาว่า คำพยานของโจทก์เป็นคำเมฆ ๆ หมอก ๆ ไม่น่าเชื่อว่าจริง และที่เรียกเงินปีละ ๕,๐๐๐ ปอนด์ ตลอดชีวิตนั้นก็หาได้มีสัญญาไม่ เพราะฉะนั้นจึงพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์เสีย ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนาย ซึ่งคงจะเป็นเงินมาก.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ