สนุกในน้ำ

บ้านเมืองของเราเป็นท้องที่ต่ำ ไม่สู้พ้นระดับน้ำทะเลขึ้นมากี่มากน้อย มากไปด้วยแม่น้ำ ลำคลอง ในสมัยที่พลเมืองไม่มากเท่าเดี๋ยวนี้ บ้านเมืองก็ตั้งอยู่ริมลำน้ำโดยมาก ทางบกไม่ค่อยใช้ จึงไม่ต้องมีถนนมากนัก

ท้องที่เป็นฉะนี้ การประชุมกันสนุกรื่นเริงของพลเมืองในสมัยก่อนๆ จึงมักเป็นการชุมนุมเรือบนหลังน้ำ ในฤดูน้ำมากย่อมเป็นฤดูสนุกของราษฎร และอันที่จริงถ้าพูดตามท้องที่บ้านนอกที่อยู่บนฝั่งน้ำ ความสนุกบนหลังน้ำเช่นว่านี้ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ชาวกรุงไม่ค่อยมีโอกาสที่จะประชุมกันสนุกในเรือเหมือนดังแต่ก่อน

ไทยเราเป็นชาตินักกลอน รับความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนเป็นมรดกมาแต่บรรพบุรุษ ในสมัยนี้ชนที่เป็นจำพวกหัวหน้าในทางสังสรรค์หาเจ้าบทเจ้ากลอนทำยายาก เพราะมีสนุกกันไปในทางอื่น เพราะฉะนั้นถ้าฟังเผิน ๆ คำที่กล่าวว่า ไทยเป็นชาตินักกลอนนึกดูราวกับไม่มีข้ออ้างที่จะนำมาเป็นพยานประกอบได้จัดเจนนัก

แต่เราจะต้องคำนึงว่า คนไทยหาได้สิ้นเชิงลงไปแต่เฉพาะจำพวกหัวหน้าในทางสังสรรค์ หรือแม้ชาวกรุงเท่านั้นไม่ ไทยชาวกรุงมีเท่าไรแน่ก็คงจะรู้ได้เมื่อพิมพ์สำมะโนครัวที่นับครั้งหลัง ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงว่ามีไม่ถึง ๑ ล้านคน ไทยอีกกว่า ๑๐ ล้านคนอยู่นอกกรุงทั้งนั้น

อาจมีคำกล่าวว่าการศึกษาวิชาหนังสือในประเทศของเรายังไม่ไปไกลกี่มากน้อย ไทยจะมีนักกลอนมากอย่างไรได้ แต่ถ้านึกดูประเดี๋ยวเดียวก็จะเห็นได้ว่า นักกลอนหาจำเป็นจะต้องใช้หนังสือไม่ ที่แท้นักกลอนของเราที่ไม่รู้หนังสือมีไม่รู้ว่าเท่าไรต่อเท่าไร แม้บางคนจะอ่านตะกุกตะกักและเขียนหนังสือ ๖ ตัวเต็มหม้อแกง ก็หาใช่หนังสือในการแต่งกลอนไม่ พวกเล่นเพลงตามบ้านนอกโดยมากแต่งกลอนโต้ตอบกันออกมาสด ๆ โดยไม่ต้องใช้หนังสือทั้งนั้น ถ้าจะมัวเขียนหนังสืออยู่ก็โต้ตอบไม่ทันท่วงที สู้เขาไม่ได้เพราะความแพ้ชนะหรือได้เปรียบเสียเปรียบในการเล่นเพลง ย่อมสำคัญอยู่ที่โต้ตอบได้เดี๋ยวนั้น ไม่ให้ฝ่ายปฏิปักษ์ว่าต่อไปได้ ถ้าปล่อยให้เขาว่าไปมาก ๆ เสียแล้ว เราก็แก้เขาไม่ตก

ผู้เขียนเคยเที่ยววิสาสะกับพวกเล่นเพลงตามบ้านนอกทุกฤดูน้ำหลายปี ไม่ได้ประจำอยู่ตำบลเดียว ได้เที่ยวไปหลายตำบล แลบางทีก็ค้างอยู่ในท้องที่อันเป็นแหล่งเล่นเพลง แลเมื่อเข้าใจว่าจดแลจำลักษณะการเล่นเพลงชนิดต่าง ๆ มาได้ครบถ้วนตามท้องที่ซึ่งเคยไปแล้ว ก็ได้เขียนลงไว้เป็นปาฐกถากว่า ๑๕ ปีมาแล้ว

การเที่ยวพบปะซักไซ้พวกเล่นเพลงบ้านนอก และทั้งฟังเชาเล่นกันนับครั้งไม่ถ้วนนั้น ทำให้ผู้เขียนทราบแน่ว่าพวกเล่นเพลงโดยมากไม่รู้หนังสือ หรือแม้พวกที่รู้หนังสือบ้างก็ไม่ได้อาศัยหนังสือ เพราะเพลงที่ว่าโต้ตอบกันนั้น ถึงแม้จะท่องจำกลอนเก่าไว้บ้าง ก็มีกลอนสดเป็นอันมาก ผู้เขียนก็เป็นนักกลอนอยู่เองในตัว จึงสามารถจะหยั่งรู้ได้ว่า กลอนสดที่ว่ากันนั้น บางแห่งถ้าไม่สดก็เป็นเช่นนั้นไม่ได้

ที่กล่าวข้างบนนี้ เพื่อจะแสดงเป็นพยานข้อที่ว่า ไทยเป็นชาตินักกลอน หากบทกลอนจะจำเริญบางสมัยและทรุดโทรมบางสมัย ก็หาเปลี่ยนข้อที่ว่า เมื่อพูดทั่วไปไทยก็มีนิสัยเป็นนักกลอนนี้ไม่

เมื่อย้อนพูดต่อไปถึงการสนุกในน้ำ คือเมื่อเรือมาชุมนุมกันเป็นสโมสรสันนิบาตในทุ่งน้ำท่วมหรือตามลำน้ำเป็นต้น ก็เป็นธรรมดาที่จะเล่นกลอนกัน การเล่นกลอนมหรสพอย่างเดียวในสโมสรเรือเช่นว่านี้ ถ้าพูดส่วนชาวกรุงรุ่นก่อน ๆ และพูดคนชั้นที่มีทรัพย์แลมีวาสนา การเล่นกลอนก็คือการเล่นสักรวา ถ้าพูดส่วนพลเมืองทั่ว ๆ ไป การเล่นกลอนก็คือเล่นเพลง ชนิดที่เรียกเพลงเรือ

สักรวา

การเล่นสักรวากันจริง ๆ ตามแบบเก่านั้น สักรวาครั้งหลังที่สุดที่ผู้เขียนเคยได้ยิน ก็คือที่เล่นในสวนซ้ายในบรมมหาราชวัง ในงานที่เรียกว่างานหมื่นวันในรัชกาลที่ ๕ นั้นมาอีกนาน สมเด็จพระบรมโอรส คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้ทรงนัดสักรวาที่วังสราญรมย์อีกครั้งหนึ่งในงานพระชนมพรรษา แต่สักรวาครั้งนั้นไม่สนุก เพราะน้อยวงนั้นอย่างหนึ่ง เพราะคนบอกไม่พร้อมเพรียงอีกอย่างหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปช่วยงาน แต่ไม่ได้ประทับฟังสักรวา แลเจ้าของงานในเวลานั้นก็เพิ่งจะทรงเริ่มเป็นกวี สักรวาจึงไม่สนุก เล่นกันไปไม่ทันดึกก็เลิก

ต่อนั้นมาอีกนาน มีสักรวาในงานครั้งหนึ่งที่วังบางขุนพรหม มีคนร้องเพียง ๒ วง จับตัวคนบอกเก่ง ๆ ไม่ได้มากคน หรือจะมีไม่มากคนในเวลานั้นก็ไม่ทราบ แต่สักรวาวันนั้นถ้าคนที่เคยรู้จักสักรวาสนุกมาแล้ว ก็ว่าไม่สนุกเลย

ภายใน ๑๐ ปีมานี้ ได้ยินว่ามีเล่นสักรวากันบ้างในที่ต่าง ๆ ผู้เขียนได้ฟังบ้างไม่ได้ฟังบ้าง แต่สังเกตว่าไม่สนุกเหมือนแต่ก่อน เพราะกลอนไม่สดจริง มักจะเขียนลงจนจบบทเสียก่อนจึงบอกให้ร้อง ถ้าใครแต่งแล้วเขียนลงได้ใน ๕ นาที เวลาว่างร้องน้อยหน่อยก็ค่อยยังชั่ว แต่ถ้าใครมัวแต่งอยู่ตั้ง ๑๕ นาที ๒๐ นาที ต้องนิ่งคอยกันนาน ๆ ก็จืดหมด

นอกจากที่นัดเล่นในงานหลวง เช่น สักรวาหมื่นวัน สักรวาที่สนุกที่สุด ก็เห็นจะสักรวาที่เคยเล่นกันในเรือตามลำน้ำ เพราะไม่ได้มีนัดแนะกันเป็นตุเป็นตะ สักแต่ว่าในฤดูเล่นสักรวา ถ้าใครมีคนร้องทั้งวงสักรวา แลผู้บอกซึ่งไว้ตัวไม่กลัวใครแล้ว ก็ลงเรือพายเตร่ไปตามลำน้ำ บางลำก็พายไปร้องไป บางลำก็จอดร้องอยู่ ณ ที่อันเหมาะ หรือถ้าไม่ร้องก็แสดงลักษณะให้เห็นได้ว่าเป็นเรือสักรวา เรืออื่น ๆ ผ่านมาก็แวะเข้าผสมโรง แล้วเลยกันอยู่จนดึกดื่น เรืออื่น ๆ ที่ออกเที่ยวตามลำน้ำก็แวะเข้าจอดฟังเป็นกลุ่ม เรือขายของก็เร่ขาย เรือลำไหนจอดอยู่นานไม่ได้ก็ไป ลำใหม่ก็มาจอดเป็นกลุ่มไปจนเลิก

ในกรุงเทพฯ เรือสักรวาเช่นที่ว่านี้ เจ้าของย่อมจะรู้จักกันทั้งนั้น เพราะต้องเป็นผู้มีทรัพย์แลวาสนา ต้องมีเรือใหญ่พอที่จะบรรทุกคนร้องไปทั้งวงได้ ยังเจ้าของวงและผู้ช่วยบอกกับฝีพายอีกเล่า ในลำเรือย่อมจะมีหมากพลูบุหรี่ แลน้ำร้อนน้ำเย็นไปเลี้ยงกัน ทั้งหมดนั้นถ้าคนไม่มีกำลังก็ทำไม่ได้ สักรวาที่ประชุมเล่นกันโดยไม่ต้องนัดแนะเช่นนี้ จำเป็นต้องเล่นกลอนสดแท้ๆ ถึงบทใครต้องขึ้นต้นร้องทันที ถ้าชักช้าอยู่แม้เพียง ๒-๓ นาที ก็ถูกวงอื่นแย่งร้องเสียก่อน ประเพณีมีอยู่แต่เพียงว่า ถ้าวงไหนถูกล้อหรือว่ากล่าวเจ็บแสบไซร้ เมื่อวงที่ร้องนั้นหยุดลงแล้ว วงอื่นๆ ต้องให้โอกาสให้วงที่ถูกว่านั้นร้องก่อน แต่ถ้าไม่รีบขึ้นต้นร้องก็ถูกแย่ง เพราะฉะนั้นผู้ถูกว่าจึงต้องขึ้นต้นเร็วที่สุด บางทีคำล้อหรือคำว่าเจ็บแสบนั้นออกมาในวรรคสุดท้ายแห่งสักรวา เพราะฉะนั้นวงที่จะว่าแก้จึงไม่มีเวลาตรึกตรองเลย ความสนุกแก่ผู้เล่นแลผู้ฟังอยู่ที่การโต้ตอบกันอย่างว่องไวนั้นเอง

การบอกสักรวาเช่นที่ว่านี้ พอแต่งได้วรรคเดียวก็บอกให้ร้องทันที อีก ๗ วรรคต้องแต่งให้ทันร้อง ถ้าไม่ทันก็อาย

เล่นเพลง

การเล่นเพลงตามบ้านนอกก็มีลักษณะคล้ายกับการเล่นสักรวานี้เอง แต่เรือเพลงไม่ต้องเป็นเรือของผู้มีทรัพย์และวาสนา ใครมีเรือมีคนร้องและมีเพื่อนบ้านที่จะช่วยพายเรือแลเป็นลูกคู่ ก็ออกเล่นเพลงได้ ฤดูเล่นเพลงคือฤดูน้ำซึ่งท่วมทั่วไป ลำน้ำเล็กๆ ก็กลายเป็นลำน้ำใหญ่ กระแสน้ำก็ไม่เชี่ยว แหล่งที่เหมาะแก่การเล่นเพลง มักจะเป็นที่ซึ่งน้ำหลายสายไหลไปรวมกัน ที่ประชุมเรือมักจะตามหน้าวัด แต่ที่อื่นๆ ก็ได้ พอใกล้ค่ำพวกคนเที่ยวก็ลงเรือพายเตร่ เรือเพลงก็ออกพายไปตามลำน้ำ เรือหญิงมักจะหาที่จอดที่เหมาะแล้วจอดคอยอยู่ เรือชายพายมาช้า ๆ ตามลำน้ำ ครั้นเห็นเรือหญิงซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรือเพลงจอดอยู่ริมฝั่ง เรือชายก็ลอยลำร้องเพลงเรียกว่า “เกริ่น” เหมือนนกเกริ่นหาคู่ เมื่อเรือชายร้องจบแล้ว ถ้าเรือหญิงร้องขึ้นก็เรียกว่าเกริ่นตอบ เรือชายก็เทียบเข้าไป แต่ถ้าเรือหญิงไม่เกริ่นตอบ ก็แปลว่าไม่อยากเล่นด้วย เพราะไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่รังเกียจ หรือเพราะเหตุอื่น ถ้าเรือชายเกริ่นขึ้นแล้ว เรือหญิงไม่เกริ่นตอบ เรือชายก็เลยผ่านไปเกริ่นที่อื่นต่อไป ส่วนเรือพวกเที่ยว พวกขายของ หรือพวกผสมโรงนั้น เมื่อเรือเพลงชายกับเรือเพลงหญิงจับคู่กันได้แล้ว ก็เทียบเข้าไปเกาะกันอยู่เป็นกลุ่ม บางทีกลุ่มใหญ่ออกไปทุกที เพราะที่จอดเหมาะจึงเลยมีเรือเพลงเล่นอยู่ใกล้ ๆ กันหลายคู่ เรือที่มาจับกลุ่มนั้น ผู้เขียนได้เคยเห็นหลายร้อยลำ เรือฟังอยู่ใกล้คู่ไหนก็ได้ยินคู่นั้น แต่เรือที่จอดอยู่ไกล ๆ นั้น เห็นได้ว่าไม่ได้ยินอะไรเลย เพราะบางลำก็เอาผ้าคลุมหัวนอนหลับ ถึงไม่ได้ยินก็ไม่ไปไหน เพราะตั้งใจจะมาเที่ยวอยู่จนดึกหรือตลอดคืน คืนหนึ่ง ผู้เขียนจอดเรืออยู่ที่ท่าศาลาวัด เรือสักรวาและเรือฟังจอดเกาะกันอยู่หน้าศาลามากมาย ครั้นดึกประมาณ ๒ นาฬิกากึ่ง ผู้เขียนขึ้นไปนอนพักบนศาลามุมที่ไกลท่าน้ำที่สุดเพื่อจะงีบได้บ้าง เวลานั้นเรือยังอยู่กว่า ๒๐๐ ลำ ตื่นขึ้นเช้าตรู่ เห็นเรือกำลังกลับกันดาษไปในลำน้ำ บางลำยังได้ยินร้องอยู่

นี่การสนุกสนานในน้ำของไทยแต่ก่อน ทั้งพวกที่มีวาสนาและราษฎรทั่วไป ความสนุกอยู่จนดึกดื่นเช่นว่านี้ สำคัญที่การเล่นกลอนและเพลง มิฉะนั้น สโมสรสันนิบาตในน้ำซึ่งไม่ได้มีการนัดแนะกัน ก็เห็นจะสนุกอยู่ไม่ได้นาน การสนุกในน้ำเวลากลางคืนเช่นนี้ ตามบ้านนอกแม้มีไม่มากดังแต่ก่อน ก็ยังมีบ้าง แต่ในกรุงเห็นจะไม่มีเลย เพราะสักรวาเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยได้ยินว่าใครเล่นเสียแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ