- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
ผสมผสาน (๔)
ภาษาหนังสือของเราเวลานี้ชักจะผันผวนเอามากๆ ภาษาพูดของคนธรรมดาก็ดูเหมือนไม่แปลกไปจากแต่ก่อนนัก ภาษาพูดของคนชั้นที่เขียนหนังสือกระเดียดจะโน้มไปตามภาษาหนังสือบ้าง แต่ถึงกระนั้นภาษาที่เขียนที่ลงในกระดาษกับภาษาที่พูดออกจากปากก็ยังห่างกันอยู่
ถ้าจะยกตัวอย่างข้อนี้ให้เห็นก็พอจะชี้ได้ว่า นักเขียนที่เขียนว่า “อัตตวินิบาทกรรม” เวลาพูดก็มักจะพูดว่า “ฆ่าตัวตาย” ถึงแม้นักเขียนที่ชอบโวหารเยื้องกรายว่า “ทำอัตตวินิบาตกรรมโดยทำการกลืนยาพิษ” ถ้าพูดเวลาคุยกันตามธรรมดาก็มักจะว่า “กินยาตาย” เอาสั้น ๆ
ผู้เขียนนึกถึงความผันผวนในภาษา เพราะได้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า งานศพของบุคคลไม่มียศบรรดาศักดิ์คนหนึ่งจะมีทำบุญ คือสวดมนต์เวลานั้น เทศน์เวลานั้น สดับปกรณ์เวลานั้น ครั้นอ่านแล้วก็นึกฉงน เพราะการทอดผ้าให้พระชักนั้น แต่ก่อนคนธรรมดาเคยใช้กันว่าบังสุกุล ต่อเมื่อผู้ตายเป็นเจ้าตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมา จึงใช้ว่าสดับปกรณ์
ผู้เขียนเกิดสงสัยจึงถามพวกหนังสือพิมพ์ว่าเหตุไรจึงใช้ศัพท์อย่างนี้ เขาว่าเดี๋ยวนี้ใช้สดับปกรณ์ทั่วๆ ไปทั้งนั้น ผู้เขียนไม่เคยสังเกตดังที่เขาชี้แจง แต่เมื่อได้ยินว่าใช้เช่นนั้นทั่วไปไม่ว่าใคร ก็เป็นอันแล้วกันไป จะต่อว่าหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้
คำว่า บังสุกุล และ คำว่า สดับปกรณ์ ถ้าจะแปลตามศัพท์ที่ผิดกันที่ว่า บังสุกุล แปลว่า ผ้าเกลือกฝุ่น เพราะครั้งพุทธกาลพระภิกษุเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้วไปเย็บติดต่อเป็นจีวร คือ ผ้าที่ห่อกันเป็นต้น คำที่แปลว่า ผ้าเกลือกฝุ่นจึงเป็นคำที่ใช้กันมาในพวกที่ถือพุทธศาสนา ตลอดถึงสยามจนเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ในปัจจุบัน ถ้าคำว่าสดับปกรณ์เป็นคำใช้ได้ทั่วไปแล้ว ก็เข้าใจว่าศัพท์บังสุกุล คงจะเป็นอันเลิก
ส่วนคำว่า สดับปกรณ์นั้น ถ้าจะแปลตามศัพท์ให้เข้าใจทันทีก็แปลว่า “รายร้อย” ชรอยจะเป็นด้วยพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระศพเจ้านายผู้ใหญ่จะเป็นธรรมเนียมที่นิมนต์พระภิกษุมาบังสุกุลคราวละร้อยรูปดอกกระมัง คำไทยว่า “รายร้อย” นี้ใช้ในราชการมาเสมอ บางทีใช้ว่า “สดับปกรณ์รายร้อย” ซึ่งเป็นคำวรรคคำแปลพร้อมกันไปในตัว ข้าราชการรุ่นเก่าบางคนอาจไม่เคยนึกว่า คำว่า รายร้อยที่ใช้ในราชการก็คือ คำแปลศัพท์สดับปกรณ์นั่นเอง
การที่จะใช้ศัพท์ให้เหมือนกันหมดทุกชั้นคนในสมัยประชาธิปัตย์นั้นก็ไม่เป็นข้อน่าตำหนิ เป็นต้นจะใช้ว่า พระเจ้าแผ่นดินเดินอย่างเดียวกับนายเขียวนายแดงเดิน ก็ไม่น่าติเตียนนัก แต่ถ้าจะใช้ว่านายเขียวนายแดงทรงพระราชดำเนิน ผู้เขียนก็ไม่เห็นชอบในทางภาษา เพราะถ้าจะใช้คำ ๆ เดียวให้เหมือนกันหมดแล้วก็ควรจะใช้คำสั้นว่าเดิน ไม่ควรใช้ว่าทรงพระราชดำเนิน หรือแม้ทรงพระดำเนิน ให้เสียเวลาพูด แลเปลืองหมึกกระดาษด้วย
ถ้าจะเขียนว่า ดยุ็ก ออฟ วินด์เซอร์ นั่งกินน้ำชาอยู่ในโรงแรมก็ตามที แต่จะใช้ว่า นายกัง แซ่หลิมประทับเสวยเสียโปอยู่ริมถนนนั้น เป็นคำยาวออกไปเปล่า ๆ
ความหมายของผู้เขียนว่า ถ้าจะใช้คำ ๆ เดียวให้ เหมือนกันหมดแล้ว ก็ใช้คำสั้นดีกว่าคำยาว ใช้คำสามัญแก่เจ้า ดีกว่าใช้คำเจ้าแก่คนสามัญ
ผู้เขียนได้สมุดมาใหม่ว่าด้วยเรื่องรีปับลิกต่าง ๆ ใน อเมริกาใต้ พลิกอ่านในตอนที่ว่าด้วยเผ่าพันธุ์ของพลเมือง ได้ความตรงกับที่เคยรู้อยู่แล้ว แต่ในหนังสือนกล่าวละเอียดออกไปอีก
เมื่อฝรั่งแรกไปถึงทวีปอเมริกาได้พบแขกแดงเป็นคนพื้นที่ อยู่ต่อมาคนขาวกับคนแดงก็ปนกันมากเข้าจนบัดนี้ ถ้าพูดทั่ว ๆ ไป ก็มีชนที่เรียกว่าอินเดียน (หรือแขกแดง) พวกหนึ่ง ชนพวกที่เรียกว่า เม็สติโซ คือ ครึ่งชาติพวกหนึ่ง ชนพวกที่เรียกว่า ดรีโอลโล คือ คนผิวขาวพวกหนึ่ง
การแบ่งเป็น ๓ พวกเช่นนี้ เดิมก็แบ่งตามเผ่าพันธุ์ แต่ในเวลานี้เลือนไปหมด เป็นต้นในประเทศโบลิเวีย คนที่เป็นอินเดียนเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวไปสวมเสื้อผ้าอย่างฝรั่ง ก็เปลี่ยนไปเข้าพวกเม็สติโซพร้อมกับเสื้อผ้า เมื่อเป็นเม็สติโซแล้ว ถ้าได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ก็กลายเป็นคนผิวขาวเลย
แขกแดงคนเดียวกัน วันไหนเปลี่ยนไปสวมเสื้อผ้าอย่างฝรั่ง วันนั้นกลายเป็นครึ่งชาติ วันไหนได้เป็นเจ้าของที่ดินวันนั้นกลายเป็นฝรั่ง
แต่ถึงการเปลี่ยนผิวเนื้อจะเป็นได้ง่ายเช่นนั้นชาวประเทศโบลิเวีย ยังเป็นอินเดียนอยู่เป็นส่วนมาก เพราะในจำนวนพลเมืองทั้งประเทศ ยังมีอินเดียนแดงอยู่ถึง ๕๗ เปอร์เซ็นต์ ครึ่งชาติมีเพียง ๓๑ เปอร์เซ็นต์ คนผิวขาวมีไม่ถึง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ที่ว่าผิวขาวนี้รวมทั้งพวกที่ขาวจริง ๆ และขาวเพราะสวมเสื้อผ้าฝรั่ง มีกรรมสิทธิที่ดินด้วย.