ผสมผสาน

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จสังฆราช ปุสฺสเทว (นามเดิมสา) สิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับหน้าที่ในตำแหน่งพระสังฆราชแทน แต่ไม่ได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จกรมพระปรมานุชิต และสมเด็จกรมพระยาปวเรศ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระสังฆราชในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ก็ไม่ได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชเหมือนกัน เจ้านายที่มีตำแหน่งหัวหน้าสงฆ์ที่เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช เพิ่งมีเมื่อกรมหลวงชินวร จะเป็นด้วยกรมหลวงชินวรไม่ได้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินดอกกระมัง

กรมวชิรญาณทรงรับกรมครั้งแรกเป็นกรมหมื่นก่อน ได้ทรงเลื่อนเป็นกรมหลวงภายหลัง การเลื่อนกรมนั้นได้มีงานที่วัดบวรนิเวศหลายวัน บ่ายวันหนึ่งพระสงฆ์เจ้าอาวาส และพระสงฆ์อื่นๆ ในคณะธรรมยุติกนิกายได้ไปประชุมกันที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ถวายพระพรกรมหลวงวชิรญาณวโรรสในการเลื่อนกรม พระพิมลธรรม (นามเดิม ยัง ภายหลังเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์) เป็นผู้อ่านฉันท์ภาษาบาลี ถวายพระพร เป็นทำนองสรภัญญะ ฉันท์นั้น พระศาสโศภณ (อ่อน) เป็นผู้แต่ง เมื่อแต่งแล้วนำไปเสนอให้แก้ไข และลองซ้อมกันดู พระพิมลธรรมอ่านแล้วก็ว่า “ราวกับคุดทะราดเหยียบกรวด”

คำว่า “คุดทะราดเหยียบกรวด” เป็นคำชม แปลว่าแต่งฉันเต้นตามจังหวะคำสั้นคำยาว ประหนึ่งคนที่เท้าเป็นคุดทะราดเดินเหยียบกรวดเล็บก็รีบยกเท้าก้าวต่อไป เทียบกับจังหวะแห่งคณะฉันท์ ไม่หมายความว่า เต้นกะหย่องกะแหย่งไม่สม่ำเสมอไปตามบุญตามกรรม

ผู้เขียนไม่ได้ยินใครใช้คำ คุดทะราดเหยียบกรวด ในการพูดถึงฉันท์มานานแล้ว ชรอยจะเป็นด้วยในสมัยนี้ฉันท์เป็นของตกต่ำในวิชาหนังสือดอกกระมัง

คำว่า “คุดทะราดเหยียบกรวด” เป็นคำเรียกชื่อเพลงดนตรีอีกอย่างหนึ่ง

พูดถึงพระราชาคณะผู้ใหญ่ นึกไปถึงที่เคยได้ยินเล่ากันถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ซึ่งมีเรื่องที่เล่ากันมาหลายเรื่อง มักว่ากันว่าท่านไม่สู้เต็มเต็ง แต่ความปฏิบัติของท่านเป็นที่นับถือของคนทั่วไป แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประทานอภัย ท่านจะทำอะไรแปลกๆ ก็ไม่กริ้ว

วันหนึ่งเสด็จออกอยู่ที่พลับพลาสูง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เดินไปทางนั้น เห็นผู้คนอยู่หน้าพลับพลามาก ท่านก็เดินอ้อมไปเสียให้ไกล พระจอมเกล้า ฯ ประทับอยู่บนที่สูง ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสแก่ตำรวจว่า “ขรัวโตไปโน่น ไปนิมนต์เข้ามานี่”

ตำรวจออกวิ่งไปตามทางที่ทรงชี้ ครั้นตามไปทันก็เรียนท่านว่า มีพระราชโองการให้นิมนต์ไปที่พลับพลาสูง

ท่านถามว่า “พ่อเป็นอะไรจ๊ะ”

ตำรวจเรียนท่านว่า “เป็นตำรวจขอรับ”

ท่านว่า “ฉันไม่ไปจ้ะ” แล้วท่านก็ออกเดินต่อไป

ตำรวจกลับไปทูลว่านิมนต์ท่านไม่มา ตรัสถามว่า “ท่านว่ากระไรล่ะ”

ตำรวจกราบบังคับคมทูลว่า “ท่านถามว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นอะไร ข้าพระพุทธเจ้าบอกท่านว่าเป็นตำรวจ”

พระจอมเกล้าฯ ทรงพระสรวลรับสั่งเรียกว่า “สังฆมนตรีอยู่ไหน ไปนิมนต์ขรัวโตมานี่”

สังฆการีวิ่งตามไปทันเรียนว่า โปรดให้นิมนต์ท่าน ถามว่าเป็นอะไร เรียนท่านว่าเป็นสังฆการี ท่านก็หันหลัง เดินเข้าไปเฝ้า

ในรัชกาลที่ ๔ มีพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์หนึ่ง อยู่ในกำแพงพระบรมมหาราชวัง เป็นท้องพระโรงสำหรับรับแขกเมือง และเสด็จออกตามปกติด้วย พระที่นั่งองค์นั้น สร้างคล้ายพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ที่กรุงแวร์ไซล์ ในตอนหนึ่งพระจอมเกล้า ฯ เสด็จออกทรงธรรมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเสมอ ๆ โปรดให้นิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่เปลี่ยนกันเข้าไปถวายเทศน์ วันหนึ่งเป็นเวรสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านขึ้นธรรมาสน์ตั้งนโม และบอกศักราชตามธรรมเนียมแล้วก็ถวายเทศน์ว่า “ธรรมใด ๆ มหาบพิตรก็ทรงทราบอยู่ตลอดแล้ว เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร” ตั้งแต่นั้นมาดูเหมือนท่านไม่ต้องเข้าไปถวายเทศน์อีก

ญาติผู้ใหญ่ของผู้เขียนคนหนึ่ง ซึ่งบ้านอยู่ไม่ไกลวัดระฆัง เป็นคนคุ้นเคยกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านไปมาเยี่ยมเยือนบ้านนั้นบ่อยๆ และเมื่อถึงคราวมีงานก็นิมนต์ท่านไปสวดมนต์ฉันเช้าอยู่เสมอ ๆ ที่บ้านนั้นเล่ากันว่า ท่านเดินตามทางมักเก็บเอาตำแย และต้นไม้อื่น ๆ ใกล้ทางไปด้วย เวลาฉันท่านเอาตำแยใส่ลงไปในอาหารที่ฉันไม่ว่าหวานหรือคาว เพื่อให้สิ้นความอร่อย เพราะท่านถืออาหารเป็นของกินกันตาย ไม่ต้องการจะเพลินในรสของมัน

สมเด็จพระพุฒาจารย์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า ปาปะมุตถ์ คือ ท่านทำอะไรทำได้ในพระราชวัง เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงถือ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว) วัดราชาธิวาส ท่านองค์นี้ท่านอยู่มาจนชรามาก เมื่อเข้าไปสวดมนต์เย็นในวัง ท่านนั่งพับเพียบ เมื่อยก็นั่งขัดสมาธิหรือชันเข่าตามใจท่าน เมื่อสวดมนต์จบแล้ว หัวหน้ายังไม่ทันจะถวายพระพรลา ท่านต้องการจะกลับก็หยิบตาลปัตรและย่ามขึ้นถือนั่งชันเข่าตั้งท่าจะลุกจากอาสน์สงฆ์เสีย แต่เมื่อมหาดเล็กยังกำลังนำถ้วยน้ำชาไปประเคนต่อพระสงฆ์ตามธรรมเนียมเมื่อสวดมนต์จบ ท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะ นั่งสูงเกือบจะตรงกับหน้าพระเก้าอี้ที่ประทับ ถ้าเป็นพระสงฆ์องค์อื่น ๆ ทำเช่นนั้นคงจะเกิดความ แต่ท่านไมเป็นไร เพราะเรียกกันว่า ปาปะมุตถ์ในราชการ ต่อมาในตอนหลังต้องมีสังฆการี คอยไปช่วยท่านเวลาลุกและลงจากอาสนสงฆ์ แลต่อมาอีกหน่อย ท่านก็ไม่ต้องเข้าไปสวดมนต์ในพิธีราชการ

พระราชาคณะผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งถึงมรณภาพเสียก่อนได้เป็นสมเด็จ คือ พระศาสนโสภณ (อ่อน) ท่านผู้นั้นมีชาติเป็นจีน และมาจากเมืองจีนแต่เด็ก ได้บวชและเล่าเรียนเป็นศิษย์ตัวโปรดของสมเด็จพระสังฆราช (สา) และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ต่อจากสมเด็จพระสังฆราชองค์นั้น เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงชราแล้ว ต้องมีพระหนุ่ม ๆ อยู่เวรคอยปฏิบัติท่าน แต่ถ้าวันใดพระศาสนโศภณไป พระเวรก็เลี่ยงไปนอนได้ เพราะท่านคุยภาษาบาลีกับพระศาสนโศภณอยู่จนดึก พระเวรไม่ต้องเป็นกังวลกับท่านเลย ต่อมาในตอนหลัง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณทรงบอกหนังสือแก่ภิกษุสามเณรที่เรียนถึงประโยค ๙ ทรงไว้ใจให้บอกแทนพระองค์ได้แก่พระศาสนโสภณ (อ่อน) อีกรูปเดียวเท่านั้น

ต่อมาภายหลังโปรดให้พระราชาคณะองค์อื่นบอกหนังสือประโยค ๙ ได้อีกรูปหนึ่ง เมื่อทรงมีภาระอื่นมากขึ้น และพระโรคก็เบียดเบียนอยู่ร่ำไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ