อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน

คำว่า “อินฟฺลวนซา” เป็นภาษาอิตาเลียน ซึ่งแปลว่า อินฟฺลวนซ์เท่านั้นเอง ในสมัยโบราณ อินฟฺลวนซ์หมายความว่า ดาวคือพระเคราะห์เป็นต้น บันดาลความเป็นไปให้เกิดแก่คนในทางอันเป็นทุกข์ ถ้าจะพูดก็คือว่า น้อมไปในทางโหราศาสตร์ และโรคภัยทั้งหลายย่อมมาจากการกระทำของดวงดาวทั้งนั้น ดังนี้คำว่า อินฟฺลวนซา ในความหมายโบราณจึงเคลื่อนไป แปลว่าโรคระบาด หรือความร้อนอย่างอื่นๆ ซึ่งเป็นอินฟฺลวนซ์มาจากดาว และในที่สุดกลายเป็นชื่อโรคชนิดหนึ่ง

ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน และตามที่เราเข้าใจกันในสยาม อินฟฺลวนซ์แปลว่า เป็นหวัดในหัว และบัดนี้น่าประหลาดใจ ที่ความหมายเดิมในเรื่องโรคชนิดนี้ จะเวียนกลับมาอีกแล้ว เพราะว่านักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเกิดเห็นทางขึ้นว่า ดาวหรือสิ่งอื่นที่อยู่นอกโลกอาจทำให้เกิดโรคระบาดอินฟฺลวนซาขึ้นในโลกได้ หนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อ “บริติช เมดิกัล เยอร์นัล” นำเสนอรายงานของแพทย์ผู้มีเกียรติผู้หนึ่ง ชื่อเซอร์วิลเลียมเฮเมอร์ กล่าวว่า อากาศภายนอกโลก อาจเป็นผู้ส่งโรคอินฟฺลวนซาเป็นฝอยเข้ามาสู่โลกนี้ ทำให้เกิดระบาดไปได้ ถ้าเป็นจริงเช่นนี้ ที่เกิดแห่งโรคจะย้อนกลับไปเป็นดาวก็ได้กระมัง

ปราบโรคเรื้อน

สมาคมบันเทาโรคเรื้อนในจักรพรรดิราชย์ผู้เป็นประธานอังกฤษ ได้ประชุมกันในตอนกลางเดือนก่อน และเซอร์เอดอาดเคทได้กล่าวในคำพูดตอนหนึ่งว่า “ถ้าโรคเรื้อนมีมากในยุโรปในเวลานี้ เหมือนที่เคยมีมากในร้อยปีที่ ๑๕ แห่งคริสต์ศักราช คนก็คงจะส่งเงินเข้าเรี่ยไรกันมาก”

ในเวลานี้ในประเทศอังกฤษเอง โรคเรื้อนไม่มี อนุสรณ์แห่งโรคนั้น ที่ยังมีอยู่ในประเทศอังกฤษ ก็คือช่องโหว่ตามกาแพงโบสถ์โบราณ ซึ่งทำไว้สำหรับให้คนเป็นโรคเรื้อนได้เข้าไปร่วมในการสวดมนต์และฟังเทศน์ แต่ให้อาศัยช่องเหล่านั้นให้เห็นและได้ยินอยู่นอกโบสถ์ แต่ประเทศอื่น ๆ ในจักรพรรดิราชยเกี่ยวกันนั้น มีคนเป็นโรคเรื้อนกว่าสองล้านคน และในประเทศเยอเชียประเทศเดียวก็มีถึงสองแสนคน แต่มีโอกาสจะได้รับรักษาเพียงหนึ่งในสี่สิบเท่านั้น ในสมัยนี้การที่จะรามือราเท้าในเรื่องนี้ เพราะเข้าใจว่าโรคเรื้อนเป็นโรครักษาไม่รู้จักหายนั้น ไม่เป็นข้อแก้เสียแล้ว เพราะปรากฏว่า ยาอย่างใหม่รักษาโรคที่ยังพึ่งเป็นให้หายได้ เพราะฉะนี้ โรคซึ่งกลัวเกรงกันมามากมายในพงศาวดารนั้น มาถึงเวลาปัจจุบัน ถ้ามีเงินและมีคนพอแล้วโรคก็อาจหมดไปได้ สมาคมอังกฤษที่กล่าวนี้ ได้ตั้งมา ๑๒ ปี และได้ทราบในเวลานี้ว่า จำนวนคนเป็นโรคเรื้อนมีมากกว่าที่เข้าใจเดิม ๖ หรือ ๗ เท่า ข้อสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือว่า คนโดยมากที่ไม่ได้เป็น หรือมีวิสาสะกับคนเป็นโรคเรื้อน ก็ไม่รู้แน่ในใจว่าโรคนั้นเป็นของพึงสยดสยองเพียงไร แม้จะได้อ่านหรือได้ฟังคำบอกเล่า ก็หารู้สึกซึมซาบลงไปในใจไม่

ในสยาม การรักษาโรคเรื้อนได้มีแพทย์ฝรั่งเชลยศักดิ์ พยายามทำมานานแล้ว และรัฐบาลก็ทำเอง และอุดหนุนแพทย์เชลยศักดิ์ ด้วยวิธีให้ยาหรือขายราคาถูกเป็นต้น ยารักษาโรคเรื้อนเป็นของที่ทำได้ในกรุงเทพ ฯ เราเข้าใจว่าหากจะมียาอื่นที่ต้องใช้ประกอบกันไป ยานั้นก็เป็นพื้นที่ต้องใช้มาก

ที่เราเขียนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลควรทำอะไร ทุ่มเทลงไปอีกมากนักในเรื่องนี้ เพราะเราย่อมทราบว่า ปัญหาสำคัญ ๆ ในเรื่องสังสรรค์ยังมีอีกมาก สิ่งที่จับใจเราในคำที่ประธานแห่ง สมาคมบันเทาโรคเรื้อนในประเทศอังกฤษ กล่าวก็คือว่า ประธานได้ยินความลำบากและอันตรายแว่ว ๆ แล้ว ก็พารู้ซึมซาบเข้าไปในใจไม่ เมื่อได้ยินไว้บ้างแล้ว ก็ยังนึกว่าไม่เป็นไรอยู่นั่นเอง ความข้อนี้ไม่ใช่แต่เรื่องโรคเรื้อนดอก ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้ารู้สึกซึมซาบถึงทางร้ายที่จะมีมา ก็คงจะรีบกระตือรือร้น ป้องกันแก้ไข ดีกว่าที่จะรู้สึกเพียงอุ่ย ๆ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ