- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
เราได้กล่าวในตอนก่อนว่า ประชาธิปัตย์ที่แท้จริงตามแบบอันเป็นเค้ามาแต่โบราณนั้น เป็นวิธีที่พลเมืองจำนวนมากประชุมกัน บัญชาการงานจริง ๆ แต่ถึงกระนั้นประชาธิปัตย์ปัจจุบันยังมีทาง ๆ หนึ่งที่เป็นประชาธิปัตย์แท้กว่าประชาธิปัตย์ในสมัยโน้น ในเอเธ็นส์โบราณ ผู้จะเข้าประชุมออกเสียงโหวตการเมืองได้ ก็มีแต่ชายฉกรรจ์ที่เป็นชาวกรุงแท้ ๆ แลชาวกรุงนั้นต้องเป็นลูกของพ่อแม่ซึ่งเป็นชาวกรุงทั้งสองฝ่าย ถ้าพ่อเป็นชาวกรุงต่างว่าลพบุรี แม่เป็นชาวกรุงต่างว่านครสวรรค์ ลูกก็ไม่เป็นชาวกรุงลพบุรีหรือกรุงนครสวรรค์ ความเป็นชาวกรุงเป็นเกียรติแห่งกำเนิด เพราะฉะนั้นในลพบุรีอาจมีชาวต่างประเทศมาแต่อยุธยาหรือนครสวรรค์ ซึ่งอยู่มาในลพบุรีหลายชั่วคนแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นชาวกรุงอยู่นั่นเอง คนพวกนั้นจะเป็นชาวกรุงของลพบุรีไม่ได้เลย เว้นแต่ที่ประชุมที่ท้องพรหมาศจะยอมให้เป็น แต่ที่ยอมให้เป็นนั้น ถ้าพูดตามที่เคยเป็นมาในเอเธ็นส์ก็ยอมน้อยนัก ส่วนหญิงนั้นเล่า ถึงจะเป็นชาวกรุงบริบูรณ์โดยกำเนิดก็ตาม แต่ไปเข้าที่ประชุมที่ท้องพรหมาศไม่ได้ คือไม่มีโหวต พวกไม่มีโหวตนั้น นอกจากหญิงและชาวต่างประเทศ ยังมีทาสอีกเป็นอันมาก (ผู้อ่านต้องไม่ลืมว่า เราสมมติว่าลพบุรีใช้ประชาธิปัตย์แบบเอเธ็นส์แลมีทาสอย่างนั้น)
ในข้อที่คนมีโหวตมากคนแลน้อยคนนี้ ประชาธิปัตย์เดี๋ยวนี้เป็นประชาธิปัตย์ผิดกับแบบโบราณ เพราะเดี๋ยวนี้หญิงก็มีโหวต ทาสก็เลิกแล้ว แลชาวต่างประเทศนั้นเปลี่ยนชาติได้ง่ายกว่าแต่ก่อน นอกจากข้อนี้แล้ว เราในปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปัตย์ ตามความเห็นของชาวกรุงเอเธ็นส์โบราณ
เปลโตเกลียดประชาธิปัตย์แบบกรีก ติเตียนว่าทำอะไรให้ดีไม่ได้ มีแต่ยุ่งเหยิงเลอะเทอะแลมีทุจริตมาก ยกข้อที่ประชาชนอยู่ใต้อิทธิของลมปากของนักราชการ ผู้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นขึ้นชี้ให้เห็น ถ้าเปลโตคืนชีวิตมาเห็นประชาธิปัตย์สมัยนี้ คือประชาธิปัตย์แบบเลือกตั้งผู้แทน ก็ไม่แน่ว่าแกจะติเตียนเช่นเดียวกับที่แกติเตียนประชาธิปัตย์ในสมัยของแก แต่ถ้าแกแลดูประชาธิปัตย์ของอังกฤษ แกคงจะชมบางอย่าง (เราย้ายไปยกอังกฤษเป็นตัวอย่าง เพราะเขาใช้ประชาธิปัตย์มานานจนลงที่มากแล้ว)
เปลโตคงจะเห็นว่า ข้อต้นซึ่งประชาชนชาวอังกฤษต้องการให้รัฐบาลทำนั้น คือให้ปกครองจริง ๆ เห็นว่ารัฐบาลเลวหน่อยแต่แข็งแรงนั้น มีภาษีกว่ารัฐบาลที่ตั้งใจดีแต่อ่อนแอ บางทีเปลโตจะชมน้ำใจของประชาชนอังกฤษที่ว่า ถึงอย่างไร ๆ รัฐบาลของพระเจ้าแผ่นดิน ก็จะต้องปฏิบัติราชการโดยไม่รามือราเท้า เปลโตอาจว่าวิธีการเช่นนั้นไม่ใช่ประชาธิปัตย์ตามความเข้าใจของแก แต่แกคงจะชมว่า ในระหว่างมหาสงครามนั้น ประชาชนอังกฤษยอมมอบอิสรภาพของตนให้รัฐบาลหมด เพราะจะเอาชนะให้ได้ การทำเช่นนั้นชาวประชาธิปัตย์เอเธ็นส์คงจะไม่ยอมทำเลย
เปลโตคงจะสรรเสริญวิธีที่ยกเอาความแข็งแรงของรัฐบาลขึ้นหน้า เอาอิสรภาพของบุคคล แลการคิดผลัดเปลี่ยนทางการบ้านเมืองไว้เป็นที่สอง แกคงจะว่าวิธีนี้เองที่กันไม่ให้เกิดเรโวลูชั่นในประเทศอังกฤษ ถ้าอังกฤษจะยอมคิดผลัดเปลี่ยนทางการเมือง แลยึดอิสรภาพของบุคคลออกไป ก็ต่อเมื่อแน่ใจว่า จะทำให้ปราศจากอันตรายเท่านั้น ถ้าเกิดมีปัญหาเรื่องความสงบราบคาบไซร้ ถ้าชนส่วนหนึ่งเรียกร้องจะเอาอิสรภาพให้มากขึ้น ชนส่วนมากก็เข้าข้างรัฐบาลเสมอ เพราะถึงจะอย่างไร ๆ ก็เอาความสงบราบคาบเป็นเบื้องต้นไว้ก่อน ในบางประเทศในยุโรป ประชาชนรักอิสรภาพของพลเมือง มากกว่ารักรัฐบาลแข็งแรง เพราะรัฐบาลแข็งแรง อาจเลี่ยงยุติธรรมในกรณีบางอย่างก็ได้ ประชาชนอังกฤษสันนิษฐานไว้ก่อนว่า รัฐบาลย่อมจะยุติธรรม ถ้าพลาดยุติธรรมไปบ้างก็ให้อภัย
ฉะนี้เปลโตคงจะกล่าวว่า ข้อประสงค์เบื้องต้นของอังกฤษก็คือมีรัฐบาลปกครองดี ต่อนั้นไปอีกไกลจึงจะถึงความประสงค์ที่จะปกครองตนเอง หรือต้องการยุติธรรมทุกสิ่งทุกประการ เปลโตอาจชี้ให้เห็นวิธีเลือกผู้แทนของอังกฤษว่า เฉพาะวันเลือกกันนั้น อังกฤษเป็นประชาธิปัตย์จริงจังยิ่งกว่ากรีกโบราณ เพราะใคร ๆ ก็โหวตได้ไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง แลเป็นชาวกรุงโดยกำเนิดหรือไม่
แต่การเลือกนั้นเลือกอะไรแน่ ถ้าจะพูดเผิน ๆ ก็ว่าเลือกผู้ปกครอง เพราะเลือกปาลิเม็นต์ แต่รัฐบาลของพระเจ้าแผ่นดินก็จะออกจากพวกที่รับเลือกเข้าปาลิเม็นต์นั่นเอง แต่ปาสีเมนต์อังกฤษเป็นผู้ปกครองจริง ๆ เหมือนชนชาวลพบุรีที่สมมติว่าประชุมกันที่ท้องพรหมาศนั้นหรือไม่ สำนักงานของอังกฤษมีกระทรวงใหญ่ ๆ มีพวกข้าราชการพลเรือน แลมีตุลาการแลผู้เชี่ยวชาญอื่นเป็นอันมาก ล้วนเป็นเอ็กซะเปิตทั้งนั้น ผู้แทนของราษฎรสามารถจะควบคุมบังคับเอ็กซะเปิตได้หรือ หรือเอ็กซะเปิตบังคับผู้แทนราษฎรแน่ ผู้ทำการปกครองจริง ๆ ในประเทศอังกฤษคือพวกเอ็กซะเปิต ซึ่งประชาชนมิได้เป็นผู้เลือก พวกที่ราษฎรเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนจะทำได้อย่างมากก็เพียงแต่ความใส่ใจแลดูการงานที่เอ็กซะเปิตทำเท่านั้น งานที่เอ็กซะเปิตทำนั้น ผู้แทนราษฎรในประเทศอังกฤษไม่มีความรู้แลความชำนาญพอที่จะทำเองได้
อนึ่ง ในประเทศอังกฤษมีสิ่งที่เรียกว่า “ปาตี” หรือซึ่งเราในสำนักหนังสือพิมพ์นี้เรียกว่า “ชมรม-การเมือง” อันแยกกันเป็นเหล่า ๆ ตามความเห็นของบุคคลที่รวมกันเข้าเป็นชมรมนั้น ๆ การเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรนั้น ตามมติว่าใครจะเลือกใครก็ได้ตามใจ แต่ถ้าจะพูดตามความจริง ผู้เลือก ๆ ได้ตามใจ จริงหรือไม่ นายอึ่งที่ลพบุรีอาจอยากเลือกนายอ่ำ แต่ถ้าไม่มีชื่อนายอ่ำในบรรดาชื่อผู้สมัครรับเลือก นายอึ่งก็เลือกนายอ่ำไม่ได้ นายอ่ำอาจไม่สมัครเอง แต่ถ้าพูดตามวิธีที่มีชมรมการเมืองอย่างอังกฤษไซร์ นายอ่ำอาจสมัคร แต่ถ้าชมรมการเมืองของนายอึ่งไม่เห็นควรเสนอชื่อนายอ่ำ นายอ่ำไม่มีชื่อเป็นผู้สมัคร นายอึ่งจะให้คะแนนแก่นายอ่ำก็ไม่ได้ ผู้ให้คะแนนเลือกย่อมใช้มือของตนเองในการให้คะแนน แต่คะแนนนั้นผู้อื่นหยิบใส่ให้ในมือ
เปลโตอาจยกข้อสำคัญขึ้นกล่าวว่า เอาเป็นอันตกลงว่า ประชาชนอังกฤษส่วนมากไม่ชอบมีหน้าที่จริง ๆ ในการปกครอง ชอบให้คนอื่นในพวกกันเองเป็นผู้ทำมากกว่า และรักความรามคาบปกติจากภยันตราย ยิ่งกว่ารักอิสรภาพส่วนบุคคล หรือการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างอื่น แต่ถ้าจะไม่เป็นเช่นนี้จะกลับให้ตรงกันข้าม ประชาชนอังกฤษจะทำได้ดีกว่าเดี๋ยวนี้หรือ ความเห็นที่เอ็กซะเปิตเสนอนั้น ประชาชนจะแก้ให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลนำเอาปัญหาสำคัญ ๆ ออกถามราษฎร ราษฎรจะเข้าใจเหตุแลผลอันสุขม แล้วตอบให้เข้าสู่เข้าทางเป็นรสเป็นเรื่องได้หรือไม่ เปลโตได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ตอบไม่ได้ ประชาชนย่อมจะอยากมีรัฐบาลดี แต่รัฐบาลดีนั้นไม่ใช่รัฐบาล “ปอปูลาร์” ซึ่งเป็นศัพท์ที่มีความหมายได้สองทาง ทาง ๑ หมายความว่า รัฐบาลอันเป็นที่ชอบใจของราษฎร ทาง ๒ หมายความว่าราษฎรเองเป็นรัฐบาล
ถ้ารัฐบาลเป็นทางที่ ๑ ก็คือรัฐบาลอ่อนแอ เพราะไม่กล้าทำอะไรที่กลัวราษฎรจะไม่ชอบ แม้ว่าการที่ทำนั้นจะดีแก่ราษฎร ถ้ากลัวราษฎรจะไม่ชอบก็ไม่กล้าทำ ถ้ารัฐบาลเป็นทางที่ ๒ ก็คือรัฐบาลมีสายตาสั้น เพราะราษฎรที่เป็นรัฐบาลเองนั้น จะแลดูกิจการของรัฐให้เห็นพ้นจมูกไปไม่ได้ดอก ราษฎรทั่วไปกับเอ็กซะเปิตนั้นเปรียบเหมือนทารกกับพี่เลี้ยง ถ้าทารกไม่มอบให้พี่เลี้ยงจัดอาหารให้กินเป็นมื้อตามเวลา ไม่ช้าทารกก็จะเป็นตานขโมย
ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งที่เปลโตคงจะแลดูก็คือว่า จะพิจารณาลู่ทางแห่งโปลิติกซ์กันจริง ๆ ก็คงจะเห็นเหมือนกันหมด ว่าข้อมุ่งหมายของคนโดยมากก็อยู่ที่กระเป๋าของตน พวกมั่งมีต้องการให้รัฐบาลปกป้องทรัพย์สิน ซึ่งตนได้ส่ำสมไว้ พวกจีนต้องการให้รัฐบาลเก็บภาษีและจัดการทางสังสรรค์ ให้ทรัพย์สินของพวกมั่งมีกระจายออกไป การเป็นดังนี้ ถ้าราษฎรบังคับการปกครองเองจริงๆ พวกมั่งมีก็พยายามจะใช้เครื่องจักรรัฐบาล เพื่อประโยชน์การส่ำสมทรัพย์ของตน ถ้าพวกมั่งมีจะจัดการอนุเคราะห์ทางสังสรรค์เป็นต้น ก็เพื่อจะปัดเป่าไม่ให้ความยากจนทำให้เกิดเหตุอันไม่พึงปรารถนา ฝ่ายพวกคนจนนั้นเล่า ก็คงจะพยายามใช้เครื่องจักรรัฐบาล สำหรับบีบคั้นคนมั่งมีเอาทรัพย์มาจ่ายแจก ก็จะเกิดเป็น “ศึกระหว่างชั้น” ระหว่างคนชาติเดียวกัน แต่เป็นเหมือนหนึ่งสองชาติ ซึ่งในที่สุดจะทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลสลายไป
สรุปความในตอนนี้ว่า ถ้าสันนิษฐานตามที่เปลโต เขียนไว้ (๑) ถ้าราษฎรบังคับการปกครองเอง จะมีผลทำให้เสียงานของเอ็กซะเปิต และจะให้โอกาสแก่นักราชการผู้ไม่มีความรับผิดชอบให้ปั่นหัวประชาชนได้ (๒) ถ้าราษฎรบังคับการปกครองเอง จะเป็นเหตุให้เกิดศึกระหว่างชั้น ซึ่งไม่พึงปรารถนาเลย
ข้อที่เปลโตกล่าวสองข้อข้างบนนี้ (โดยสันนิษฐานตามหนังสือของแก) จะถูกต้องหรือไม่ถูกเราก็ไม่รู้แน่ รู้แต่ว่าพวกฟาซิสต์ ใช้สองข้อนี้เป็นเครื่องอ้างว่า ประชาธิปัตย์เป็นของพาเข้ารก และหนังสือของเปลโตได้รับความยกย่องมากในยุโรป หลายประเทศในสมัยนี้ คือ ในประเทศเยอรมันและอิตาลีเป็นต้น เราเองไม่เชื่อว่า ประชาธิปัตย์เป็นของเลวทราม เราเชื่อว่า ถ้าใช้ดีก็ดี ถ้าใช้ไม่ดีก็เป็นอันตรายได้มาก ๆ.