อพยบ

หนังสือที่เขียนในหน้า ๕ นี้ ผู้เขียนไม่ได้เขียนเอง บอกให้เสมียนเขียน เขาจะสกดตัวอย่างไรไม่สู้จะได้สนใจนัก เพราะเดินตามคติแห่งกลอน ๒ วรรคว่า “เขาสกดตัวไฉนตามใจเขา แม้เข้าใจได้ก็ไม่ขัด” ผู้อ่านคงจะเคยสังเกตแล้วว่า ตัวสกดในหน้า ๕ นี้ไม่สู้จะลงรอยแม่นยำนัก

แต่วันหนึ่งเสมียนป่วย ผู้เขียนจึงต้องเขียนหน้า ๕ ในวันนั้นด้วยมือตนเอง เผอิญเป็นเรื่องจอม บงการสั่งบังคับให้ราษฎรอพยบครอบครัวย้ายภูมิลำเนาไปจากแหล่งซึ่งอยู่มาตั้งแต่ปู่ทวด จำนวนคนที่ถูกบังคับอพยบเช่นนี้มีมากมาย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจฟังอยู่เรื่องหนึ่ง

ต่อมาอีกวันหนึ่งหรือสองวัน ได้ย้อนกล่าวไปถึงเรื่องบังคับอพยบนี้อีก แต่คราวนี้บอกให้เสมียนเขียนตามคำบอก ตัวสกดบางคำจึงผิดที่กับผู้เขียนเขียนเองในวันก่อน ครั้นถึงเวลาตรวจปรู๊ฟ ผู้ตรวจจึงเขียนโน๊ตมาถามว่า จะใช้อพยบหรืออพยพแน่

ผู้เขียนเคย บ สกดพยางค์หลัง มาตั้งแต่ครั้งที่เป็นนักเรียน และใช้เรื่อยมาจนบัดนี้ ในปัจจุบันได้สังเกตเห็นใช้ตัว พ สกดกันโดยมาก แต่ไม่เคยสอบสวนว่าเหตุไรจึงเปลี่ยนไปเช่นนี้ ครั้นผู้ตรวจปรู๊ฟถามขึ้นมาวันนั้น ก็ลองพลิกสอบดูว่าเหตุใดจึงใช้ พ สกดกันในสมัยนี้ ได้ความว่าที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ก็เพราะคำๆนี้มาจากศัพทสํสกฤตว่า อวยว เมอเปลยน ว เป็น พ ก็เป็นอพยพ

ผู้เขียนไม่รู้ภาษาสํสกฤต แต่เมื่อเปิดดิกชันนะรีดู ก็ได้คำแปลเป็นอังกฤษว่า

(๑) A limb (of the body) (๒) A part portion (in general) (๓) A member or a component part of a logical argument or syllogism (๔) The body (๕) A component constituent ingredient (in general) as of a compound etc. (b) A means.

ดิกชันนะรีสํสกฤตเล่มใหญ่ที่สุดที่ผู้เขียนมีอยู่ในตู้ เป็นสมุดน้ำหนัก ๒.๖ กิโล มีคำแปลศัพท์ อวยว ๖ อย่างดังข้างบนนี้ ไม่มีความว่าย้ายครอบครัวเปลี่ยนภูมิลำเนาไปตั้งอยู่ที่อื่นเช่นที่ไทยเราใช้คำว่าอพยบในภาษาไทย ดังนี้ ข้อที่อ้างว่า อพยบมาจากอวยว คำสํสกฤตนั้นผู้เขียนจึงเป็นอันสอบไม่พบ

ส่วนคำ อวยว ตามภาษาบาลีนั้น ได้เปิดดูความหมายในบรรดาหนังสือที่มี ก็ได้ความคล้าย ๆ กับในภาษาสํสกฤต และจะถามผู้เรียนภาษาบาลีถึงความหมายของศัพท์ในภาษานั้น ก็คงจะได้รับตอบเช่นที่ค้นพบในหนังสือนั้นเอง

ในภาษาไทย เราใช้คำว่า อวยวะ อย่างเดียวกับความหมายในภาษาบาลี เช่น อวัยวะแห่งร่างกายเป็นต้น ไม่มีความหมายว่าย้ายครอบครัวเลย เหตุไฉนอพยบจะมาจากศัพท์ที่แปลว่าส่วนแห่งร่างกาย จึงเป็นข้อที่เข้าใจยาก

คำที่ไทยใช้ว่า อพยบ แปลว่ายกครอบครับย้ายแหล่งไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ใหม่นี้ จะเป็นศัพท์ซึ่งมีที่มาจากไหน เราโดยมากก็ไม่ได้พยายามที่จะรู้ และบางคนไม่เห็นประโยชน์ที่จะพยายามเห็นเสียว่า เมื่อไทยเราใช้เช่นนี้กันมาช้านานแล้วก็ใช้ต่อไป ถ้ารู้ที่มาแห่งศัพท์ด้วยก็ดี แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ถือเสียว่าเมื่อใช้ตามความหมายในภาษาไทยแล้วก็เป็นคำไทย

ผู้เขียนเองก็ได้เคยเป็นโรคอพยบ คือว่า เมื่อแรกได้ดิกชันนะรสถกฤตมาใหม่ ๆ หลายสิบปีแล้ว และทั้งเรียนอ่านหนังสือสํสกฤตได้พอตะกุกตะกัก ก็พยายามอพยบเอาคำไทยไปเป็นสํสกฤต คำไหนไม่รู้ที่มาก็เหมาว่าเป็นคำสํสกฤตร่ำไป ต่อมาเมื่อได้ดิกชันนะรีเขมรมา ๒ - ๓ เล่ม แลลองอ่านภาษาเขมรดูอีก ทั้งพบปะกับผู้รู้ภาษานั้น ๒-๓ คน ก็ชักจะอพยบคำไทยไปเป็นคำเขมรอีก เมื่อสืบถามเรื่องภาษาจีนได้ความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ชวนให้คิดอพยบคำไทยไปเป็นคำจีน ภายหลังเมื่อได้หนังสือเรื่องภาษาไทยที่อยู่นอกประเทศนี้มาดู ก็ชักจะทำให้อพยบคำไทยจากภาษาสํสกฤต ภาษาเขมร และภาษาจีน กลับมาเป็นภาษาไทยหมด ในที่สุดเลยมีความคิดอย่างเชื่อยชาว่า คำไหนที่ไทยเราใช้กันมาช้านานจนคุ้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นคำไทยเสียก็แล้วกัน

ถ้าจะพูดถึงตัวสกดเฉพาะในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไซร้ ตัวสกดเป็นของสำคัญน้อยที่สุด

ข้อสำคัญที่เป็นเบื้องต้นหรือสำคัญที่ ๑ ก็คือใจความที่เขียนว่ากระไร ถ้าใจความเหลวเสียแล้ว ถึงตัวสกดจะประเสริฐปานใด ก็ไม่ทำให้หนังสือดีขึ้นได้

ข้อสำคัญที่ ๒ คือสำนวนโวหารที่เขียน ถ้าเขียนให้ใจความที่จะนำมากล่าวนั้นแจ่มแจ้งแก่ผู้อ่านแล้ว ก็ควรจะนับว่าสมหวังของผู้เขียน เพราะว่าถ้อยคำสำนวนเปรียบเหมือนยานพาหนะที่จะพาใจความจากความคิดในหัวของผู้เขียนไปสู่ความเข้าใจในหัวของผู้อ่าน ถ้ายานพาหนะเป็นเรือรั่วหรือม้าขาหักไซร้ ใจความที่นำมาเขียนก็ไม่ไปสู่ความเข้าใจของผู้อ่านได้สะดวก

ข้อสำคัญที่ ๓ คือตัวสกด แต่ความสำคัญของตัวสกดนี้มีอยู่แค่เช่นที่จะนำตัวอย่างมาแสดงให้เห็นว่า ถ้าจะเขียนหมายความว่า ยิ่งกว่า ก็จงเขียนว่า ไกร อย่าเขียนว่า ใกร ซึ่งแปลว่า นับ ถ้าจะเขียนหมายความถึงหนังสือเป็น เล่ม ก็จงเขียนว่า สมุด อย่าไปเขียนว่า สมุท เพราะจะกลายเป็นทะเลไป คำว่า สุข สุก ทุกข์ ทุก พูด ภูต ชิต ชิด ล่า หล้า เหล่านี้ไม่ต้องชี้แจง แต่ยังมีคำเช่น บพิตร ซึ่ง ไทยใช้แปลว่าเครื่องยินดี มักเป็นคำเรียกพระเจ้าแผ่นดิน และผู้มียศใหญ่ และ บพิธ ซึ่งไทยใช้แปลว่า สร้าง เช่นชื่อวัดราชบพิธ แปลว่าวัดซึ่งพระราชทรงสร้างเป็นต้น คำที่ภาษาไทยออกเสียงเหมือนกันเช่นนี้ จำจะต้องผันแปรตัวสกดไปให้ผิดกัน มิฉะนั้นยานพาหนะที่เปรียบเมื่อตะกี้นี้ก็จะจะเรือรั่วหรือม้าขาหัก ไม่พาใจความในหัวของผู้เขียนไปสู่ความเข้าใจในหัวของผู้อ่านได้สะดวก

ดังนี้เราจึงถือว่า ในหนังสือนี้ตัวสกดสำคัญเพียงเป็นที่ ๓ สำคัญที่ ๑ คือข้อความที่นำมาเขียน สำคัญที่ ๒ คือสำนวนโวหารที่เรียบเรียง แม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องประกอบกัน ตัวสกดก็ต้องเป็นโหล่ในความสำคัญ

คติที่ว่า ตัวสกดอยู่หลังที่สุดในความสำคัญนี้ เป็นคติของผู้เขียนหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง จะใช้ทั่วไปไม่ได้ ถ้าเด็กนักเรียนถือตามคตินี้ก็เห็นจะสอบไล่ตก

ในทางราชการเคยมีบัญญัติว่า หนังสือราชการต้องใช้ตัวสกดตามปทานุกรม แต่จะปฏิบัติเช่นนั้นทั้งสิ้นก็ไม่ได้ ด้วยตัวอย่างทำผิดบัญญัติไปอย่างน้อยครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนทราบ คือกวีคนหนึ่งได้รับคำสั่งให้แต่งบทกลอนบทหนึ่งใช้ในราชการ กวีผู้นั้นนำความขึ้นเสนอว่า คำบางคำตัวใช้ตัวสกดตามใจกวี ถ้าสกดตามปทานุกรมจะเสียกลอน เพราะครุลหุไม่ถูกที่ บทกลอนบทนั้นได้ตีพิมพ์ใช้ในราชการ แต่มีตัวสกดที่ผิดกับปทานุกรมบางคำ เพราะยอมให้ใช้ตามใจกวีผู้แต่ง

การบังคับกวีเรื่องสกดบังคับไม่ได้ กวีอาจเขียนอพยพเพื่อเอาลหุ ๔ พยางค์ก็เป็นได้ แต่การออกนอกคอกของกวีนั้น คนอื่น ๆ ควรให้อภัย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ