- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
ทายถูกและผิด
ที่สนามชนวัวแห่งหนึ่งในปักษ์ใต้ วันหนึ่งนานปีมาแล้ว เขานัดชนวัวเป็นการใหญ่ ป่าวร้องไปไกลในท้องที่แถบนั้น มีเจ้าของพาวัวดี ๆ มาชนกัน เดิมพันมาก และพนันนอกก็มาก พวกเราไปจากกรุงเทพฯ หลายคนพักอยู่ในตำบลนั้น ก็ได้รับเชิญไปดู เมื่อไปถึงเห็นสนามชนวัวเป็นลานใหญ่ ผู้คนเกลื่อนกลาด วัวที่ยังไม่ถึงเวลาชนก็แยกกันอยู่ห่าง ๆ เพราะไม่ให้มันชนกันเร็วเกินไป เราเห็นวัวที่เขาเตรียมมาให้ชนกันแต่ละตัว ล้วนแต่ล่ำสัน เป็นสัตว์งามทุกตัว แต่เมื่อเราทราบว่า วัวตัวไหนเขาเปรียบคู่กัน เราดูรูปร่างพ่วงพีของมัน ก็นึกว่าตัวไหนเห็นจะชนะ ต่างว่าเห็นอ้ายตัวด่างมีท่วงทีดีกว่าอ้ายตัวดำเป็นต้น พวกที่ไปดูนั้นมีเป็นอันมาก ซึ่งเมื่อนึกว่าตัวไหนจะชนะพนันเอาตัวนั้น เขาว่าถ้ารวมสินพนันทั้งหมดก็เป็นเงินมาก แต่เราไม่ได้เป็นนักเลงพนัน เมื่อนึกว่าอ้ายด่างจะชนะแล้วก็เท่านั้นเอง เราไม่รู้จักเจ้าของอ้ายด่างหรือเจ้าของอ้ายดำ หรือรู้จักกับใครที่พนันข้างโน้นหรือข้างนี้ เราจึงไม่มีได้หรือเสียในเรื่องการชนวัวคู่นั้น ถ้าเรานึกว่าอ้ายด่างจะชนะ ก็หาได้เป็นด้วยเข้ากับมัน หรือเจ้าของ หรือพวกที่พนันข้างมันไม่ อ้ายตัวไหนจะชนะก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรแก่เราเลย เป็นแต่เพียงเรานึกว่าอ้ายด่างจะชนะ เพราะรูปร่างมันกำยำกว่าอ้ายดำ แม้เขาสองข้างของอ้ายดำจะมีลักษณะได้เปรียบ เราก็นึกว่าเมื่อชนกันไปนาน ๆ อ้ายด่างก็คงจะชนะด้วยกำลังกายของมัน
เมื่อเขาปล่อยวัว ๒ ตัวเข้าสนามจนมันได้ชนกันไปสักครู่หนึ่งแล้ว เราเห็นอ้ายด่างมีท่าทางได้เปรียบ เราก็ชักจะดีใจว่าทายถูก แต่ไม่ได้ดีใจว่าถ้ามันชนะเราจะได้อะไรด้วย เมื่อชนกันต่อไปนาน ต่างว่าอ้ายดำกลับเป็นต่อ เพราะมันใช้เขาของมันเป็นประโยชน์ เราก็นึกว่าเราทายผิดเสียแล้ว แต่ถ้าอ้ายดำเลยชนะ เราจะเสียอะไรด้วยก็หามิได้ เพราะเมื่อมาถึงเพียงนี้ แม้เราได้ทราบแล้ว ว่าใครเป็นเจ้าของวัวทั้ง ๒ ตัวมาจากตำบลไหน เราก็ทราบแต่ชื่อคน และชื่อตำบล จะรู้จักตัวคนหรือทราบว่าตำบลนั้นอยู่ที่ไหนก็เปล่าทั้งสิ้น การที่อ้ายด่างชนะอ้ายดำ หรืออ้ายดำชนะอ้ายด่างในวันนั้น มันก็ชนะกันเอง มันจะได้แพ้ชนะกันเพราะเรานึกว่าจะชนะหรือแพ้ก็หามิได้ อย่าว่าแต่เราผู้มิได้พนัน แม้พวกที่มีส่วนในเดิมพันหรือพนันนอก ก็ไม่ทำให้วัวมันแพ้ชนะกันได้ ความเห็นของเราว่าอ้ายด่างจะชนะไม่ได้ช่วยให้มันชนะ และความเห็นของเราว่าอ้ายดำจะแพ้ ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้มันแพ้ หรือถ้าในที่สุดมันกลับชนะ ความเห็นผิดของเรา ก็หาได้ช่วยให้มันชนะไม่
แต่ความเห็นผิดหรือถูกของเราที่ว่าตัวโน้นหรือตัวนี้จะชนะนั้น เมื่อผู้เห็นไม่ตรงกับเราได้ยิน บางคนก็อาจทุ่มเถียงและโกรธ แต่ความโกรธก็ไม่ทำให้วัวแพ้และชนะได้
ถ้าเราอยู่บนต้นไม้เห็นเสือกับควายสู้กันอยู่ในป่า แม้เรามิใช่พวกของเสือหรือของควาย และสัตว์ทั้ง ๒ ตัวนั้น ถ้ามันได้โอกาส มันก็คงทำร้ายเราเหมือนกันก็จริง แต่ในขณะที่นั่งดูอยู่บนต้นไม้นั้น เราเห็นจะอยากให้ควายขวิดเสือตาย ไม่ใช่เป็นเพราะเรามีใจรักควายมากกว่าเสือ ที่จริงเป็นด้วยเรารักตัวเราเอง เรานึกว่าเสือเป็นสัตว์ซึ่งโจนหรือขึ้นต้นไม้ได้ ถ้ามันชนะควาย มันอาจกวนเราบนต้นไม้ทีหลัง ส่วนควายนั้น เมื่อมันทำลายชีวิตเสือได้แล้ว มันก็ขึ้นมารบกวนเราบนต้นไม้ไม่ได้
ดังนี้ การที่เราเอาใจเข้ากับสัตว์ตัวหนึ่งในคู่เสือกับควายนั้น ก็เพราะเราเห็นแก่ตัวเราเอง แต่มันชนะหรือแพ้ เพราะเราเข้ากับมันก็หามิได้
ย้อนกลับไปยังเรื่องชนวัวในมณฑลปัตตานีวันนั้น ตามที่เราสมมติว่า เราทายในเบื้องต้น ว่าอ้ายด่างจะชนะ แต่ในที่สุดอ้ายดำกลับเป็นตัวชนะนั้น การชนวัววันนี้ไม่ได้ชนคู่เดียว วัวบางคู่เราทายถูก บางคู่เราทายผิด เมื่อนำมานึกในเวลานี้ ก็เตือนให้รู้สำนึกว่า ปัญญาคนอาจทายผิดและทายถูกได้ทุกอย่าง ตลอดถึงการสงครามด้วย.