- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
มูลเหตุแห่งสงคราม
คนรุ่นผู้ใหญ่ที่เคยสังเกตเมื่อมหาสงครามครั้งโน้น (มหาสงครามครั้งที่ ๑) อาจมีหลายคนที่เห็นอย่างเดียวกับผู้เขียนว่า อันใดเป็นมูลเหตุแห่งสงครามเมื่อ ๒๕ ปีมาแล้ว อันนั้นเป็นมูลเหตุแห่งสงครามคราวนี้ (สงครามโลกครั้งที่ ๒)
มูลเหตุแท้จริง ถ้าใช้คำอังกฤษก็รวมลงได้ใน ๓ คำ คือ Nationalism Imperialism Militarism การปลงพระชนม์รัชทายาทออสเตรียในครั้งกระโน้น หรือเรื่องดานซิกและชนวนโปแลนด์ในครั้งนี้ก็ดี เหล่านี้เป็นพลความทั้งนั้น
ใจความแห่งคำอังกฤษ ๓ คำนั้น จะกล่าวให้แจ่มแจ้งด้วยคำไทยสั้น ๆ ก็พ้นความสามารถของผู้เขียน แต่จะกล่าวโดยบรรยายว่า ความถือชาติอย่างรุนแรงประการ ๑ ความนิยมที่จะมีดินแดนให้กว้างใหญ่และกระจายออกไปประการ ๑ ความเร่งรัดจัดทัพประการ ๑
มูลเหตุ ๓ ประการนี้ ไม่จำเป็นจะได้เกิดมีแก่ประเทศทุกประเทศที่ทำสงครามในคราวโน้น แต่ได้มีประการนั้นบ้าง ประการนี้บ้าง ด้วยกันทั้งนั้น และบางประเทศก็มีพร้อมทั้ง ๓ ประการ
ความรักชาติย่อมเป็นของธรรมดาของมนุษย์ แต่การเบ่งชาติโดยทำนองที่ไปกระทบกระแทกกับชาติอื่นเข้านั้น มักจะเป็นเหตุให้เกิดเคืองแค้นไม่รู้หาย เพราะใคร ๆ ก็ย่อมจะ “จองหองชาติ” ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าความจองหองชาติของชนหมู่ ๑ ไปเหยียบย่ำความจองหองชาติของชนอีกหมู่ ๑ เข้า พืชแห่งความวิวาทก็เกิด แต่ที่จะงอกเป็นสงครามขึ้นหรือไม่นั้น ก็ต้องอาศัยมูลเหตุอย่างอื่นประกอบกัน
ส่วนความมีดินแดนกระจายกว้างใหญ่ไปในโลก หรือความใคร่จะมีนั้น ธรรมดาของมนุษย์ส่วนมาก เมื่อเห็นผู้อื่นมีก็อยากมีบ้าง ใครมีแล้ว ถ้าถึงโชคร้ายก็ถูกแย่งไป หรือเมื่อถึงโชคดีก็กลับแย่งคืนไปอีก การแย่งกันไปแย่งกันมาเช่นนี้ บางทีก็เป็นเรื่องที่ต้องฆ่าฟันกันตาย เว้นแต่จะสู้กันไม่ได้จริง ๆ จึงมักเป็นเวรแก่กันไม่มีที่สิ้นสุด ใครถูกแย่งผูกโกรธไม่รู้หาย ผู้ที่แย่งไปหรือผู้ช่วยทำให้ผู้อื่นเสียหาย ก็จะต้องระแวงความผูกโกรธอยู่มิได้ขาด ส่วนผู้ที่เป็นชิ้นปลามันซึ่งถูกเขาแย่งไปแย่งมากันนั้น บางทีก็ชอบนายโน้น บางทีก็ชอบนายนี้ แต่โดยมากชอบเป็นนายของตัวเอง เมื่อต้องตกไปเป็นบ่าว หรือนัยหนึ่งเป็นเมืองขึ้นของผู้อื่นก็มีใจแต่ที่จะคิดแก้เผ็ด และกู้อิสระภาพของตน เช่นชนเช็กและชนสโลวักกำลังก่อการจลาจล เอาใจออกห่างจากเยอรมันนาซีโดยอาการเปิดเผยตามข่าวที่มีมาในวันนี้ (๒๒ ก.ย. ๒๔๘๒) และเป็นเรื่องซึ่งใคร ๆ ก็คิดเห็นล่วงหน้าอยู่แล้ว
ส่วนการเบ่งทหารซึ่งต่างฝ่ายต่างก็จัดแข่งกันขึ้นนั้น ถ้าพูดตามที่เคยเห็นมา ถ้าทำเช่นนั้นทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ก็มักจะต้องรบกันในที่สุด การเบ่งทหารในเวลาก่อนเกิดมหาสงครามคราวก่อน ก็คล้ายกับการเบ่งเมื่อก่อนเกิดสงครามคราวนี้ แต่คราวนี้เบ่งด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย และประเทศที่เป็นกลางก็จำต้องเบ่งด้วย เมื่อได้เบ่งขึ้นไปถึงเช่นนี้แล้ว การที่จะพร้อมเพรียงกันกลับปลดอาวุธลงไป ก็ยากที่จะพร้อมเพรียงกันได้ เพราะถ้าฝ่าย ๓ หลงทำ แต่ฝ่าย ๑ ไม่ทำจริง ก็เสียเปรียบกันนัก ที่แท้การเริ่มปลดอาวุธของประเทศหนึ่ง อันได้ทำให้ประเทศนั้นหย่อนกำลังลงไปนั้น อาจเป็นเหตุประกอบเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามครั้งนี้ (สงครามโลกครั้งที่ ๒)
นักกีฬาที่รู้วิธีฝึกหัดกำลังย่อมทราบว่า การฝึกซ้อมนั้น เมื่อเริ่มต้นในฤดูต้นแล้ว กำลังก็ทวีขึ้นไปจนถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดแล้วก็เริ่มลดลงไป เพราะฉะนั้นการแข่งขันสำคัญที่สุด ต้องกำหนดวันให้พอดีกับเวลาที่กำลังของนักกีฬาอยู่เยี่ยม เช่น ในการแข่งขันเรือมหาวิทยาลัย การซ้อมกำลังผู้ตีกรรเชียง ย่อมจะกำหนดให้ถึงที่เยี่ยมในประมาณวันแข่ง ถ้าไม่ได้แข่งในวันนั้น กำลังก็จะถอยลง
การเตรียมกำลังทัพก็เช่นเดียวกัน ในมหาสงครามครั้งโน้น ฝ่ายหนึ่งเตรียมกำลังทัพทั้งทางบกทางเรือขึ้นไปถึงยอดเยี่ยม ถ้าสงครามไม่ได้เกิดในตอนนั้น กำลังทัพของฝ่ายได้เปรียบ เมื่อเทียบกับปฏิปักษ์ก็ลดลงไป เพราะฝ่ายปฏิปักษ์ซึ่งยังไม่ได้ตระเตรียมเต็มที่นั้น คงจะบำรุงกำลังของตนให้เท่าเทียมแลขึ้นหน้าไป ฝ่ายที่กำลังทัพถึงสุดยอดอยู่แล้ว ก็มีแต่น้ำหนักจะลดลง ไม่รักษากำลังให้ได้เปรียบอยู่ได้ ถ้าจะรบก็ต้องรีบรบเสียโดยเร็ว เหตุดังนี้ มหาสงครามครั้งก่อน จึงเกิดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่ออังกฤษยังแทบจะไม่มีทัพบกเลยก็ว่าได้ และเมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว ฝ่ายที่เตรียมตัวไว้พร้อมก็ได้เปรียบไปช้านาน อีกฝ่ายหนึ่งจวนจะแพ้ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง แต่มีทรัพย์มากและมีพวกมาก จึงเบ่งกำลังทหารต่อไปอีกได้ ฝ่ายที่ได้เปรียบในชั้นต้นเบ่งอีกไม่ได้ ก็แพ้ในที่สุด
ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) ก็กว่า ๒๐ ปี มูลเหตุที่เกิดสงครามใหญ่ครั้งโน้น กลับมีมาครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ คือความเบ่งชาติออกไปจนเกิดขุ่นแค้นแก่ชาติอื่นเข้าประการ ๑ ความเบ่งอาณาจักรออกไปในท้องที่ใกล้และไกลประการ ๑ ความเบ่งทหาร นัยหนึ่งแข่งกันเตรียมอาวุธประการ ๑ ประการที่ ๓ นี้ ใครจะทำได้ ก็ต่อเมื่อลดหย่อนการงานชนิดอื่น ๆ อันนำมาซึ่งความผาสุกสวัสดีของประชาชน เช่นให้แรงงานคนทำเครื่องอาวุธ ซึ่งไม่ช่วยให้ใครมีความสุข แทนที่จะทำเนย เพื่อให้ได้อิ่มหมีพีมันด้วยกันเป็นตัวอย่าง.