น้ำท่วมทุ่ง

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปีนี้สังเกตว่าระดับสูงเท่า ๆ กับปีกลาย แต่ในท้องที่ซึ่งน้ำท่วมมาท่วมอยู่แล้ว แต่ทางที่จะไหลลดลงไปไม่มีนั้น ท้องที่เช่นนี้ยังได้น้ำฝนซึ่งตกมาก ๆ และติด ๆ กันทุกคืนมาเพิ่มเข้าด้วย ท้องที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีทางน้ำไหลไปนี้แหละจะเป็นเรื่องเดือดร้อนของชาวกรุงไปอีกนาน ระดับน้ำแม่น้ำลดไปแล้ว ระดับความทุกข์ในท้องที่ก็จะยังไม่ลด หญ้าเน่าแล้วเลยน้ำเน่า ยุงชุม และก่อกำเนิดแห่งความเสื่อมสาธารณสุขต่าง ๆ เจ้าของท้องที่ซึ่งน้ำขังอยู่จนแห้งไปเองนั้น ใครจะโทษว่ากระไรก็โทษไม่ได้ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนี้ การพยายามทำทางให้น้ำไหลไปเสียได้ จึงเป็นของสำคัญนัก เทศบาลย่อมทราบข้อนี้อยู่แล้ว และคงจะพากเพียรเต็มความสามารถ เพราะถ้าไม่ทำก็จะรู้สึกในใจตนเอง ว่าทอดทิ้งภาระซึ่งรับมอบไว้ และจะถูกบ่นและถูกตำหนิรอบด้าน

เวลาที่น้ำท่วมกรุงเช่นนี้ ดูเหมาะที่เขียนน้ำท่วมทุ่งซึ่งผักบุ้งย่อมจะโหรงเหรงเป็นธรรมดา ถ้าพูดถึงน้ำท่วมทุ่งในคราวสงคราม เวลานี้ประเทศฮอลันดา ก็เปิดน้ำทะเลเข้าไปท่วมทุ่งนาและบ้านเมืองอยู่บ้างแล้ว และกำหนดว่า ถ้าสงครามท่วมเข้าไป ก็จะเปิดน้ำให้ท่วมในส่วนใหญ่แห่งประเทศ เหลือไว้แต่ที่ดินสูงหน่อยในแถบฝั่งทะเลเหนือ คงจะตั้งต่อสู้ข้าศึก

ถ้าจะเปรียบสงครามกับน้ำท่วม ก็มีคำกล่าวของ ซร. มุสโซลินีว่า เวลาสงครามอาวุธท่วมอยู่ในตอนหนึ่งแห่งยุโรป ยังไม่ท่วมไปทั่วทวีป แต่สงครามเศรษฐกิจได้มีผลท่วมทั่วไปแล้ว

เมื่อวานนี้มีข่าวว่า เรือค้าขายขนาดใหญ่ของฮอลันดาถูกทุ่นระเบิดจมลงไป มีคนตายกว่า ๑๐๐ คน และเช้าวันนี้ก็มีข่าวเพิ่มมาว่า เรือสวีเด็นลำ ๑ อังกฤษลำ ๑ อิตาลีลำ ๑ ได้ถูกทุ่นระเบิดจมลงไปอีก ๓ ลำในวันเดียวกัน นอกจากนั้มยังมีเรืออื่นที่ถูกทุ่นระเบิดทำให้บุบสลาย แต่เอาตัวรอดไปได้ ทุ่นระเบิดที่เที่ยวเพ่นพ่านอยู่ตามทางทะเลที่เรือค้าขายเดินนี้ รัฐบาลอังกฤษออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เป็นทุ่นระเบิดเยอรมันเที่ยวโปรยไว้โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของใคร ไม่ว่าจะเป็นกลางหรือเป็นปัจจามิตร แต่ข่าวฝ่ายเยอรมันปฏิเสธว่า หาใช่ทุ่นระเบิดของเยอรมันไม่ การเป็นฉะนี้ ทุ่นระเบิดจะเป็นของใครไปโปรยไว้ก็ตาม แต่ผลแห่งสงครามเศรษฐกิจย่อมท่วมไปถึงประเทศทั้งหลาย ตามคำที่ ซร. มุสโซลินีกล่าว และเมื่อวานนี้ได้ถึงอิตาลีอย่างโจ๋งด้วย เพราะเป็นคราวแรกที่เรืออิตาเลียนจมลงไปในสงครามคราวนี้

ข้อที่ ซร. มุสโซลินีกล่าวว่า สงครามเศรษฐกิจท่วมทั่วไปนั้น ในประเทศเรานี้เองก็ท่วมแล้วหลายทาง เราก็รู้อยู่ทั่วกัน ว่าผลแห่งสงครามย่อมจะมีมาถึงเรา เช่นของแพงขึ้นเป็นต้น แต่พวกเราส่วนมากรู้โดยไม่รู้สึก เป็นต้นว่า หนังสือพิมพ์ที่ท่านถืออ่านอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านก็รู้แล้วว่าจำนวนหน้าน้อยลงไป และกระดาษก็เลวลงไป แต่ท่านก็ไม่รู้จะรู้สึกว่าผิดกันนัก เพราะท่านอ่านหนังสือหาได้อ่านชนิดและปริมาณแห่งกระดาษไม่ แต่ก่อนท่านซื้อไม้ขีดไฟกลักละ ๑ สตางค์ เดี๋ยวนี้ท่านซื้อ ๒ กลัก ๓ สตางค์ ราคาขึ้นไปกลักละครึ่งสตางค์ ท่านก็รู้ว่าราคาขึ้น แต่ไม่ค่อยรู้สึก สิ่งของอื่น ๆ ซึ่งท่านต้องใช้อยู่ทุกวันก็เป็นเช่นนี้โดยมาก บางอย่างท่านเคยใช้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใช้ ท่านก็รู้ว่าขาดไป แต่ยังไม่รู้จะรู้สึกความขาดนัก

พวกเจ้าของหนังสือพิมพ์เป็นพวกที่รู้สึกมากกว่าท่านที่เป็นแต่เพียงผู้อ่าน ปัญหาประจำวันของพวกนั้น คือ ราคากระดาษซึ่งขึ้นไปแล้วกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และยังจะขึ้นไปอีกเท่าไรก็ไม่ทราบ หมึกก็ขึ้นราคาไปอีกมากมาย เครื่องใช้อื่นๆ ในการพิมพ์และทำรูปภาพ และโสหุ้ยทั้งหลายก็ขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องซึ่งต้องหมกมุ่นหารือกันแทบไม่เว้นวัน จึงเป็นอันว่า ทั้งรู้และรู้สึกผลแห่งสงครามในยุโรปเป็นอันมาก

ได้มีผู้ถามหลายครั้งแล้วว่า ถ้ากระดาษซึ่งเป็นสินค้ามาจากต่างประเทศราคาขึ้นไปสูงนัก ก็เหตุไฉนไม่หันไปใช้กระดาษไทย ซึ่งเข้าใจว่าราคายังคงที่อยู่เล่า ผู้ถามบางคนถึงแก่ถามว่า จะใช้กระดาษข่อย และกระดาษกระสาแทนไม่ได้หรือ ผู้ถามปัญหาหลังนี้ ถามโดยน้ำใจบริสุทธิ์ แต่ไม่เคยทราบการกระทำกระดาษด้วยมือตามวิธีเก่าของเราเลย ไม่ทราบว่าทำได้ทีละแผ่นเล็ก และวันหนึ่งก็ไม่ได้กี่แผ่นนัก เมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว มีหนังสือพิมพ์สัปดาห์ในกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งเรียกว่า “ชิหฺวาไทย” พิมพ์ด้วยกระดาษฟางเพื่อจะขายถูก พิมพ์ได้งามเพราะกระดาษดูดหมึก แต่ต้องเลือกกระดาษฟางอย่างละเอียด ถ้าใช้กระดาษฟางอย่างหยาบคงจะพิมพ์ไม่ได้ หนังสือพิมพ์ “ชิหฺวาไทย” จะพิมพ์คราวละเท่าไร ผู้เขียนไม่ทราบ แต่คงจะเป็นด้วยพิมพ์น้อยฉบับ หรือเป็นด้วยกระดาษฟางในสมัยนั้นมีเข้ามาจากเมืองจีนมาก จึงมีกระดาษพอพิมพ์หนังสือได้

ส่วนคำถามที่ว่า ถ้ากระดาษมาจากต่างประเทศราคาแพงนัก ทำไมจึงไม่ใช้กระดาษไทยนั้น กระดาษไทยหมายความว่ากระดาษทำที่โรงงานกาญจนบุรี ผู้ถามไม่ทราบว่า เครื่องจักรที่โรงงานนั้น แม้จะทำให้เต็มที่ตลอดปี ก็ไม่ได้กระดาษใกล้เคียงกับที่ใช้ในประเทศนี้ เพราะขนาดแห่งเครื่องจักรและโรงงานหาได้เตรียมไว้สำหรับทำกระดาษใช้ทั่วประเทศไม่ ส่วนราคานั้นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อวันพุธที่แล้วมานี้ มีผู้กล่าวที่สโมสรโรตารีว่า ข้าวสารเป็นสินค้าสำคัญของประเทศนี้ ราษฎรทำนาได้ข้าวเปลือกแล้ว เมื่อสีเป็นข้าวสารเป็นสินค้าที่ต้องบรรจุกระสอบ จึงจะส่งไปขายได้ กระสอบนั้นประเทศนี้ต้องซื้อเป็นสินค้ามาจากอินเดียปีละมากมาย จึงเป็นเครื่องน่าคำนึงว่าเราทำนาข้าวเปลือกได้เอง สีเป็นข้าวสารได้เองในประเทศนี้ แต่ครั้นถึงตอนที่จะส่งขายเป็นสินค้าก็ต้องเอาจมูกของคนอื่นมาหายใจ เพราะถ้าไม่ได้กระสอบมาจากต่างประเทศเราก็ส่งสินค้าไปขายไม่ได้ กระสอบป่านที่ใส่ข้าวนั้น ทำด้วยปอชนิดหนึ่ง ซึ่งไทยเราเรียกว่า ปอกระเจา ปลูกในประเทศนี้ได้ จึงเป็นอันว่า เราอาจปลูกปอให้มากขึ้นก็ได้ แต่เราทอเป็นกระสอบไม่ได้ หรือถ้าจะทอด้วยมือได้ ก็ไม่ใกล้เคียงกับจำนวนที่ต้องใช้นั้นเลย จึงเป็นปัญหาน่าคำนึง ว่าเราจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับทอกระสอบป่านขึ้นเอง เพื่อให้ราคากระสอบต่ำลง และเพื่อไม่ให้ต้องเอาจมูกคนอื่นมาหายใจไม่ได้หรือ

ที่มีผู้กล่าวขึ้นในสโมสรโรตารีเมื่อวันพุธเช่นนี้ ข้อที่ว่าน่าคำนึงนั้น ก็ได้เคยมีผู้คำนึงกันมาแล้วในกาลก่อน และเดี๋ยวนี้ก็คงจะมีผู้คำนึงอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน แต่จะคิดให้ลุล่วงไปได้ยาก ปอกระเจาเป็นต้นไม้ขึ้นในพื้นดินของเราจริง แต่ต้นมันผอมเตี้ย ถ้าจะใช้เข้าจริงก็จะต้องตั้งทำไร่กันสุดลูกหูลูกตา และบำรุงพันธุ์กันอยู่นานมันจึงจะอาจสูงใหญ่ เท่าที่เคยเห็นในอินเดียปอกระเจาที่โน่นกับที่นี่ ถ้าจะเทียบขนาดของเขาก็คือม้าเทศ ของเราคือม้าแกลบ กว่าจะบำรุงพันธุ์ให้ใหญ่ขึ้นและทำไร่สุดลูกหูลูกตาได้ ก็จะกินเวลาหลายปี ในระหว่างอย่าเพิ่งไปตั้งโรงงานเข้า มิฉะนั้นจะไม่มีปอพอป้อนเครื่องจักรวันละ ๘-๙ ชั่วโมง ตลอดปี

ผู้เขียนได้เคยเห็นโรงงานทอกระสอบป่านแห่งหนึ่งในอินเดีย เจ้ากรมอุตสาหกรรมของรัฐเป็นผู้พาไปดู มีผู้จัดการและรองผู้จัดการคอยรับรอง และพาชี้แจงให้ฟังตลอดตั้งแต่โรงเก็บเปลือกปอเป็นลำดับไป ถึงเมื่อเปลือกปอไปเข้าเครื่องพรมน้ำและหีบให้นุ่ม และเข้าเครื่องหวีและตีเป็นเชือกเส้นเล็กม้วนไว้เป็นม้วน ๆ ม้วนหนึ่งยาวถึง ๑๓,๖๐๐ หลา แต่หนัก ๘ ปอนด์เท่านั้น เชือกเอามาทอเป็นผืนยาวและตัดเป็นท่อนๆ ถ้าเอาเครื่องเย็บเป็นกระสอบ เย็บแล้วมัดเป็นมัดโตๆ เก็บเข้าโรงงานเหล่านี้เครื่องจักรทำแทบทั้งนั้น กว่าปอจะไปเข้าเครื่องทอได้ก็ต้องผ่านเครื่องจักรอื่น ๆ ประมาณ ๑๐ อย่าง เมื่อทอเป็นผืนแล้วยังต้องผ่านเครื่องจักรอีก ๕ อย่าง คนงานนอกจากที่ควบคุมเครื่องจักร ก็มีแต่ที่คอยป้อนปอเข้าเครื่องเท่านั้น

โรงงานที่ไปดูนี้มีเครื่องทอ ๙๓๖ เครื่อง ใช้คนงาน ๗,๐๐๐ คน ทอกระสอบได้วันละ ๘๕ ตัน แต่นอกจากกระสอบยังมีสินค้าเป็นเศษเป็นเลยอีกบ้าง เช่น ทอเสื่อปอและทำเกือกพื้นปอเป็นต้น

ได้ถามผู้จัดการว่า โรงงานนี้ลงทุนประมาณเท่าไร เขาว่าจำไม่ได้แน่ แต่ถ้าคำนวณตามเครื่องจักรที่มีก็ราว ๑,๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ได้ถามเขาว่าทำไมต้องตั้งโรงงานใหญ่โตที่ต้องลงทุนมากถึงเพียงนั้น จะทำให้เล็กลงไม่ได้หรือ เขาตอบว่าโรงทอกระสอบเล็กที่สุดราคาหนึ่งล้านปอนด์ ใหญ่ที่สุดที่มีในเวลานั้นสองล้านปอนด์ ถ้าสร้างโรงงานเล็กกว่าหนึ่งล้านปอนด์ก็ไม่ได้กำไร

ข้างบนเล่าตามที่เคยรู้มานานแล้ว เดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างไม่ทราบ แต่การตั้งโรงงานทอกระสอบนั้น ถ้าจะคิดให้เป็นพักเป็นผลจริง ๆ ก็เป็นการใหญ่มาก.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ