- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
ปมด้อย
มีคำในภาษาอังกฤษว่า “Inferiority Complex” ซึ่งจะใช้คำไทยคำไหนเป็นคำแปลก็ไม่เห็นมี ตำนานของคำนี้มีเดิมมาแต่อาจารย์ฟรอยด์ (Freud) ต้นตำราของวิชา Psychoanalysis ซึ่งแยกน้ำใจมนุษย์เป็นส่วนที่เจ้าตัวรู้สึก และไม่รู้สึก และพิเคราะห์ว่า สองส่วนนั้นคาบเกี่ยวกันอย่างไร สืบเนื่องมาจนถึงศิษย์ของอาจารย์ฟรอยด์ ชื่ออาจารย์อาดเลอร์ (A. Adler) ซึ่งภายหลังแยกคลองความเห็นออกไปจากครู และเป็นต้นตำราเรื่องจิต หรืออนุสัยแห่งจิตที่เรียกชื่อตามศัพท์อังกฤษ ดังเขียนไว้ในบันทัดต้นแห่งวรรคนี้
คำอังกฤษต้องคำที่ข้างในบันทัดแรก แห่งวรรคต้นนี้ คำว่า คอมเปล็กซ์ (Complex) แปลตามที่มาว่า ถักหรือทอปมด้อยเข้าด้วยกัน แต่เมื่อใช้ในส่วนจิตก็ชักจะเข้าใจยาก ถ้าจะพูดกันง่าย ๆ ว่า “ปม” ในน้ำใจของคน ก็ดูเหมือนพอจะเข้าใจกันได้ดอกกระมัง
คนบางคนอาจมีปมบ้าและปมกลัวเป็นต้น คนเช่นนั้นตามธรรมดาก็มีความคิดและความรู้สึกอย่างคนปรกติ แต่มีอันใดไปกระทบปมนั้นเข้า ก็เกิดความบ้าความกลัวขึ้นมาก บางทีเป็นสิ่งที่เรียกอนุสัย คือหมกอยู่ในน้ำจิตตัวเองไม่รู้สึกเพราะปมฝังอยู่ลึก แต่ถ้ามีอะไรไปกระทบปมเข้าแล้ว ก็แสดงอาการออกมาให้ผู้อื่นเห็นได้ว่า ปมนั้นมีอยู่
ในปัจจุบันผู้ที่เห็นปมของคนอื่นได้แม่นมั่นทันที อาจมีเป็นอันมาก เพราะได้ศึกษาเห็นจริงตามตำราของอาจารย์ฟรอยด์และอาจารย์อาดเล่อร์
อาจารย์ฟรอยด์เกิดใน ค.ศ. ๑๘๕๖ เวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) อายุราว ๘๒ ปี กำเนิดเป็นชาวออสเตรีย เป็นดอกเตอร์วิชาแพทย์แลวิชากฎหมาย เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในออสเตรีย และเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือกันไปทั่วโลก เพราะเป็นต้นตำราแห่งวิชาอย่างใหม่
แต่อาจารย์ฟรอยด์ก็มีเชื้อเป็นยิว เพราะฉะนั้น ถึงจะได้เป็นผู้ทำให้เกิดชื่อเสียงแก่ประเทศออสเตรีย และเป็นเครื่องจำเริญความรู้แก่นักปราชญทั่วโลกมาหลายสิบปีก็ตาม แต่มาในบัดนี้กลายเป็นผู้ซึ่งออสเตรียไม่ปรารถนา เพราะออสเตรียรวมเข้าเป็นกผีกหนึ่งของเยอรมันเสียแล้ว ดังนี้ อาจารย์ฟรอยด์ในตอนชราจึงต้องหลีกจากออสเตรียไปอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ พวกนักปราชญ์และคนทั้งหลายในประเทศนั้นต้อนรับด้วยความเคารพ และปีติเป็นที่สุดที่ประเทศของเขาได้เป็นที่อาศัยของนักปราชญ์ใหญ่ในวิทยาศาสตร์ ซึ่งในประเทศอังกฤษถือว่าเป็นสากลไม่มีชาติ ข่าวโทรเลขที่มีมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กว่าอาจารย์ฟรอยด์จะเดินทางไปถึงประเทศอังกฤษ ก็เหน็ดเหนื่อยเพราะความชรา แพทย์ประจำตัวต้องบังคับให้พักผ่อนร่างกายอยู่นิ่ง ๆ ผู้จะไปแสดงความเคารพยังเข้าไม่ถึงตัว บุตรีต้องออกรับหน้าและกล่าวแก่ผู้ไปเยี่ยมว่า อาจารย์ฟรอยด์ไม่มีอะไรที่น่าวิตก ที่ยังรับแขกไม่ได้ ก็เพราะพักเท่านั้น
ผู้เขียนได้อ่านในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเป็นหนังสืออะไรก็จำไม่ได้ เพราะอ่านหลายฉบับนัก จำได้แต่ใจความที่จะนำมาเล่าย่อ ๆ ว่า เหตุที่อาจารย์ฟรอยด์เป็นผู้ไม่พึงปรารถนาในออสเตรีย ซึ่งเป็นแดนเยอรมันในเวลานี้ มิใช่เป็นด้วยเชื้อยิวอย่างเดียว เป็นเพราะข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือว่าอาจารย์ฟรอยด์เป็นผู้เห็น “ปม” ของคนได้ชัดเจนนัก ผู้เป็นใหญ่ในชมรมนาซีจะแสดงอาการออกมาประการใด จะเป็นวหํภาพ คือแสดงความอวดอ้างพรรคพวกของตนว่าเป็นใหญ่ก็ดี หรือแสดงความเคียดแค้นอันไม่เห็นสมเหตุสมผลก็ดี อาจารย์ฟรอยด์อาจชี้ปมในน้ำใจ ซึ่งผู้แสดงก็ไม่รู้ว่ามีในตน หรือถ้าเป็นปมชนิดที่ผู้นั้นรู้ตัวว่ามีก็ไม่ต้องการให้ใครทราบ การชี้ปมเช่นนั้น นึกดูน้ำใจของผู้มีปม ก็ดูน่าเห็นอกอยู่ เพราะเป็นการนำความในใจซึ่งหมกซ่อนอยู่ลึกออกมาประจาน
ส่วนผู้เห็นปมนั้น มักจะมีน้ำใจไปในทางที่ให้อภัย เพราะเห็นว่า เมื่อใครทำอะไรเพราะมีปมบันดาล ก็ย่อมเป็นเรื่องที่เว้นไม่ได้ เพราะปมเป็นของเกิดอยู่ในสันดานซึ่งยากที่จะดัดแปลง
ปมชนิดหนึ่งซึ่งอาจารยอาดเลอร์เป็นต้นตำรา ก็คือ Interiority Complex นัยหนึ่งความมีน้ำใจระแวงตนว่าด้อย น้ำใจชนิดนี้บางทีก็รู้สึก แต่บางทีก็เป็นอนุสัย คือหมกซ่อนอยู่ลึก แม้ตนเองก็ไม่รู้สึก ปมชนิดนี้จะเรียกในที่นี้ว่า “ปมด้อย” เพื่อจะใช้คำสั้น ๆ เพียง ๒ คำ
“ปมด้อย” นี้อุปมาเป็นต้นว่า นักเรียนจะเข้าสอบไล่ แต่นึกในใจตัวว่า ถึงเข้าสอบไล่ก็คงตก ครั้นไปเข้าสอบไล่ก็มักจะตกจริง ๆ เพราะปมด้อยทำให้ใจฝ่อ นักกีฬาจะเข้าเล่นแข่งขันกับคนที่มีฝีมือดีกว่า ถ้าไม่มีปมด้อย ถึงจะแพ้ก็คงได้สู้เต็มเหนี่ยวพักหนึ่ง
ผู้เกิดในสกุลต่ำบางคนมีฐานะดีขึ้น จนถึงได้เข้าสมาคมเสมอเข่าเสมอไหล่กับคนในสกุลสูง แต่ในใจตนเองอยู่เสมอว่า เกิดในสกุลต่ำ มีกังวลกลัวคนอื่นจะรู้ หรือกลัวตัวเองจะทำอะไรให้เขาเห็นได้ว่าไม่ใช่ผู้ดี จึงทำท่าทางปึ่งหรือแสดงวาจาอาการยกย่องตัวเองอยู่ร่ำไป นั่นเป็นเพราะมีปมด้วยอยู่ในน้ำใจ จะเว้นความระแวงว่าคนอื่นจะเห็นปมด้อยนั้นไม่ได้ แต่วาจาอาการที่แสดงกลับทำให้ผู้อื่นเห็นปมด้อยของตน
ผู้ระแวงตนว่ามีความรู้น้อย และเกรงผู้อื่นจะรู้ มักแสดงความต่อต้านคำตำหนิของผู้อื่นว่า ตนไม่มีความรู้ แม้ไม่มีใครเคยกล่าวตำหนิเลย ก็ไม่เว้นการแสดงต่อต้าน เพราะอดระแวงไปไม่ได้ คนทุกคนไม่ได้เป็นเช่นที่ว่า แต่บางคนเป็นเช่นนั้น บางทีเป็นโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ก็เพราะปมด้อยของตน
ในสมัยก่อนในสยามนี้ มีผู้อยู่ในฐานะสูงผู้หนึ่ง ซึ่งเมื่อไปในสมาคมคนมาก ๆ ก็มักทำหน้าบึ้ง ไม่ค่อยทักทายใคร คนโดยมากกล่าวว่า เป็นเพราะถือตัวว่ามีบรรดาศักดิ์สูง ไม่มีอัธยาศัยเราะรายกับผู้อื่น แต่อันที่จริงเหตุที่ผู้นั้นทำท่าปึ่งก็มิได้แกล้งทำ และมิได้ปากเปราะเราะรายก็เพราะ “ปมด้อย” ที่รู้ตัวว่าไม่ใช่คนช่างพูด ครั้นจะทักทายคนอื่นก็นึกไม่ค่อยทัน และเกรงจะพูดไม่เหมาะกับกาลเทศะและบุคลต หน้าแม้มิได้คิดจะบึ้งก็เป็นไปเอง เพราะปมด้อยซึ่งมีหมกซ่อนอยู่ข้างใน
ที่กล่าวมานี้เป็นคำชี้แจงตามทางที่อาจารย์อาดเล่อร์เป็นต้นตำรา และซึ่งเราเรียกง่าย ๆ ว่า “ปมด้อย” ในที่นี้
มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อพระเจ้านโปเลียนยังทรงอำนาจราชศักดิ์ใหญ่ และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัสเซีย พระราชาทั้ง ๒ พระองค์ได้ร่วมสันนิบาตในงานแห่งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์ทรงยืนอยู่ด้วยกัน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงชักผ้าซับพระพักตรออกใช้ แล้วปล่อยให้ตกลงกับพื้นไม่ก้มลงทรงเก็บ เพราะจะใคร่ดูว่า พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสซึ่งเคยเป็นแต่เพียงจ่านายสิบจะก้มลงเก็บผ้าถวายคืนแก่เจ้าของหรือไม่ นโปเลียนทำไม่เห็นผ้าตก แต่ทรงรู้ทีว่า อเล็กซานเดอร์จะคอยให้เก็บผ้าให้ นโปเลียนจึงชักผ้าซับพระพักตร์ออกใช้บ้าง อีก ๒-๓ อึดใจ ผ้าซับพระพักตร์ของนโปเลียนก็ตกจากพระหัตถ์ลงไปเคียงกันอยู่กับผ้าของอเล็กซานเดอร์ที่พื้น
นโปเลียนทรงก้มลงเก็บผ้า แต่เก็บของพระองค์เองผืนเดียว
เรื่องที่เล่านี้แสดงให้เห็น “ปมด้อย” ของพระราชาองค์ไหนบ้างหรือไม่
ในพุทธกาลที่เจ้าลัทธิพวกหนึ่งเรียกว่า “เดียรถีย์นิครณฐ์” (มีคัณฐหรือนิครฺคฺรันถ)
นิครณฐ์แปลตามสำนวน ซึ่งไม่ใช่ภาษาสนามว่าไม่มีปม แต่เราพุทธศาสนิกชนเรียกพวกเดียรถีย์นิครณฐ์ว่า มิจฉาทิฐิก์
การแสดงตนของพวกเดียรถีย์ว่า ไม่มีปมนั้น ถ้าพูดตามตำราเวลานี้อาจเป็นเพราะมีปมก็ได้ มิฉะนั้นจะแสดงซ้ำซากอยู่ร่ำไปทำไม
เรื่อง “ปม” ในน้ำใจของคนนี้ ถ้านึกถึงศัพท์ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า เช่น กามราคานุสัย (อนุสัยคือกามราค) ภวราคานุสัย (อนุสัยคือความกำหนัดในภพ) วิจิกิจฉานุสัย (อนุสัยคือความลังเล) มานานุสัย (อนุสัยคือมานะ) อวิชชานุสัย (อนุสัยคือความไม่รู้) เป็นต้น ก็ทำให้เห็นว่า ความรู้เรื่องน้ำใจคนที่เด่นออกมาหรือที่หมกอยู่ภายในจนตัวเองไม่รู้ก็ดี เป็นของมีมาช้านานในพุทธศาสนา แต่ในสมัยนี้กันให้เห็น “ปม” และผลของมันแพร่หลายขึ้น และบางทีบอกวิธีที่จะทำให้ผลร้าย ของปมนั้นบรรเทาลงไปด้วย
กล่าวเฉพาะ “ปมด้อย” ถ้าท่านและข้าพเจ้ามีปมนั้น แต่รู้สำนึกหรือระแวงอยู่ว่ามี ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ เพราะความรู้หรือความระแวงนั้น จะเป็นเหตุให้เราระวังไม่ทำอะไรที่เปิดช่องให้คนอื่นเย้ยหยันหรือหัวเราะอยู่แต่ในใจ ทั้งนี้ก็เพราะ ปมด้อยมักชักใบให้เรือเสีย และอาจทิ้งรอยไว้ในอนาคตด้วย.