ภัยสามชนิด

ที่เรียกว่าภัยสามชนิดตามจ่าหน้าข้างบนนี้ คือ ภัยอดตายชนิดหนึ่ง ภัยโรคระบาดชนิดหนึ่ง ภัยฆ่าฟันกันตายชนิดหนึ่ง

เรากล่าวย่อ ๆ วันนี้ถึงภัยชนิดที่ ๑ และที่ ๒ ว่าอาจเป็นไปได้ในวันข้างหน้า และกล่าวถึงท่วงทีสงคราม หรือความขัดใจกันระหว่างประเทศ นัยหนึ่งภัยแห่งการฆ่าฟันกันตาย ซึ่งอาจเป็นไปได้เหมือนกัน

ถ้าภัยทั้งสามชนิดเกิดขึ้นด้วยกันไซร้ อนาคตก็จะมืดมนธ์อนธการเป็นที่น่าแสยงนัก ภัยชนิดที่ ๑ และที่ ๒ จะเป็นผลของภัยชนิดที่ ๓ แม้เมื่อภัยชนิดที่ ๓ จะหมดไปแล้วผลก็ยังอยู่ ใครจะกล่าวโทษใครว่าเป็นฝ่ายก่อเหตุก็ไม่บันเทาผลลงไปได้

ผู้อ่านส่วนมาก คงจะไม่เคยเห็นท้องที่ซึ่งกำลังเกิดทุพภิกขภัยหรือภัยอดตาย ในประเทศเรานี้มีบางตำบล ซึ่งเมื่อคนในท้องที่ทำนาไม่ได้ ก็ไม่มีข้าวจะกิน รัฐบาลต้องส่งข้าวไปแจกอยู่บ่อย ๆ แต่ราษฎรไม่มีข้าวพอกินเช่นที่กล่าวนี้ ไม่ใช่ทุพภิกขภัยจริงจังดังในประเทศอื่น ๆ ผู้ที่เคยผ่านไปในท้องที่ทุพภิกขภัยในประเทศอื่น เมื่อได้เห็นเข้าแล้ว ก็เกิดสลดใจยิ่งนัก และเกิดความยินดีในข้อที่ว่า ประเทศของเราหามีเช่นนั้นไม่ ประเทศที่มีทุพภิกขภัยเป็นโรคประจำ ก็คือจีน จนมีสมุดเล่มหนึ่งตั้งชื่อจีนว่า “ประเทศทุพภิกขภัย” อินเดียอีกประเทศหนึ่ง เป็นแหล่งซึ่งมีทุพภิกขภัยร่ำไป ผู้เขียนได้เห็นตำบลซึ่งเขาบอกว่า อดอาหารแทบทุกปีก็ว่าได้ ในยุโรป รัสเซียเป็นรวยทุพภิกขภัยกว่าประเทศอื่น ๆ

แต่ทุพภิกขภัยเช่นที่กล่าวนี้แผ่ไปในส่วนหนึ่งของประเทศ จำนวนคนในท้องที่เหล่านั้นเพียงแสน ๆ หรืออย่างมากก็ล้าน เคยมีการช่วยให้บันเทาลงได้บ้าง แต่ถ้าทุพภิกขภัยเป็นไปทั่วประเทศและหลายประเทศพร้อมกัน จำนวนคนนับตั้งแต่ ๑๐๐ ล้าน ๒๐๐ ล้านขึ้นไป ก็ไม่เห็นว่าบุคคลใดหรือคณะใดจะสามารถช่วยบันเทาทุกข์ได้

ส่วนโรคระบาดนั้น ผู้สอบดูพงศาวดาร ย่อมจะทราบได้ว่า โรคชนิดหนึ่งซึ่งเราเรียกว่ากาฬโรค และภาษาอังกฤษเรียกว่า กาฬมรณะ ได้กระจายจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล ใน ค.ศ. ๑๓๔๗ ไปแทบจะทั่วยุโรป คำนวณกันว่าคนตาย ๑ ใน ๔ ถึง ๓ ใน ๔ แห่งชาวประเทศนั้น ๆ ทั้งหมด ต่อมาอีกสองสามร้อยปี กาฬมรณะได้กวาดชาวลอนดอนไปเสียจนแทบนับไม่ถ้วน แล้วยังแผ่ออกไปทั่วประเทศอังกฤษอีกเล่า ลอนดอนครั้งนั้นถึงแก่หญ้าขึ้นเต็มถนนไปหมด

โรคระบาดสมัยนี้มีหลายชนิด ซึ่งถ้าเอาไว้อยู่ก็ป้องกันได้ ที่กลัวกันก็คือ เกิดมากและเกิดแผ่กว้างไปจนเอาไว้ไม่อยู่

ในประเทศเรา ถ้าอ่านหนังสือถอยหลังไปเพียงแผ่นดินพระนั่งเกล้า ฯ และพระจอมเกล้า ฯ ก็เคยมีโรคระบาดในกรุงเทพ ฯ จนไม่รู้จะทำอะไรแก่ศพ หรือแม้ในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าฯ ก่อนมีน้ำประปาเรานี้เอง ก็รู้สึกกันว่าโรคระบาดนั้น เมื่อเกิดในท้องที่ซึ่งมีพลเมืองไม่กี่แสนคน ก็ตระหนกอกสั่นกันเป็นที่สุด

ดังนี้ ถ้าโรคระบาดเกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งมีจำนวนคน ๑๐๐ ล้าน ๒๐๐ ล้านคนจะเป็นอย่างไรบ้าง โรคระบาดสมัยนี้อาจป้องกันได้ในเวลาแรกเกิด (ถ้ารู้ทัน) แต่ถ้ามันเกิดทั่วไปหมด เพราะคนทั่ว ๆ ไปอดอยากไม่มีกำลังต่อสู้โรค หรือเมื่อแพทย์และหยูกยาเครื่องป้องกันมีไม่พอก็ดี เมื่อนึกถึงไปเสียวแสยงนัก และถ้าเกิดขึ้นเช่นนั้น ดังที่คนบางจำพวกวิตกไซร้ ใครจะสามารถแก้ไขได้ก็ไม่มี และการโทษ กันว่าใครเป็นผู้ก่อ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ