เบลเยียม

เบลเยียมก่อน ค.ศ. ๑๘๓๐ ได้รวมอยู่ในประเทศฮอลันดา ฮอลันดาเป็นนาย ชนเบลเยียมดิ้นรนไม่พอใจให้ฮอลันดาเป็นนาย เพราะไม่ชอบศาสนานิกายเดียวกัน และกล่าวหาว่าชาวฮอลันดายกตนข่มท่าน บังคับให้ใช้ภาษาฮอลันดาภาษาเดียวเป็นภาษาราชการ และยกความถือเผ่าขึ้นเป็นเบื้องต้น ไม่ยอมให้ชนเบลเยียมบางเหล่าเกี่ยวข้องกับราชการ เป็นต้น ชนเบลเยียมมีจำนวนมากกว่า ถือตัวว่ามีความคิดความรู้ดีกว่า จึงคิดอยู่มิได้ขาดที่จะปลีกตนออกจากฮอลันดา ครั้นเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ ราษฎรในกรุงบรัสเซ็ล (เบลเยียม) ก็เริ่มก่อการกำเริบต่อรัฐบาลฮอลันดา ขึ้น ในเวลานั้นพลอาสาตายลงไป ๖๐๐ คน ซึ่งภายหลังได้สร้างอนุสรณ์ไว้เป็นที่ระลึกอยู่จนบัดนี้

การที่ชนเบลเยียมกระทำครั้งนั้น ก็เป็นการแสดงน้ำใจว่าจะถือเอาอิสรภาพแต่ลำพังชนเบลเยียมเอง ก็หาได้ทำให้สำเร็จไปได้ไม่ นายช่างผู้ช่วยสร้างอิสรภาพของเบลเยียมตามแบบที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้คือ ลอร์ดปาลเมอสตัน เสนาบดี (รัฐมนตรีในบัดนี้) กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษคนหนึ่ง ราชทูตฝรั่งเศสประจำลอนดอนเวลานั้นคนหนึ่ง ก่อนนั้นอังกฤษกับฝรั่งเศสได้มีเหตุวิวาทกันมา ทั้ง ๒ ประเทศเข็ดเขี้ยว ไม่ต้องการจะวิวาทกันอีก ในตอนนั้นพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปเป็นเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ชาวเบลเยียมได้เชิญราชโอรสของพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิป ให้ทรงรับตำแหน่งเจ้าแผ่นดินเบลเยียม แต่พระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปไม่โปรดให้ราชโอรสรับ ส่วนอังกฤษนั้นมิได้เข้าอุดหนุนฮอลันดา เพราะเสนาบดีอังกฤษเวลานั้นเผอิญเป็นผู้ชอบอิสรภาพ ถ้าอังกฤษเข้ากับฮอลันดา หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ฟิลลิปยอมให้ราชโอรสรับตำแหน่งเจ้าแผ่นดินเบลเยียม สงครามก็จะเกิด และอังกฤษกับฝรั่งเศสก็คงจะเข้าช่วยคนละฝ่าย การที่ปัดเป่าสงครามไปได้ในครั้งนั้น ก็เพราะเสนาบดีการต่างประเทศของอังกฤษกับราชทูตฝรั่งเศสในลอนดอนเจรจาเข้าใจกันดี และรัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่ายอำนวยตาม ความตกลงของเบลเยียมในตอนนั้น คือ เชิญเสด็จเจ้าชายในราชวงศ์เยอรมันองค์หนึ่ง ชื่อเจ้าชายลีโอโปลด์ พระญาติเกี่ยวดองของควีนวิคตอเรีย ให้ขึ้นครองราชสมบัติเบลเยียม ทรงพระนามพระเจ้าลีโอโปลด์ที่ ๑ พระเจ้าลีโอโปลด์ได้เจ้าหญิงอังกฤษเป็นพระชายาองค์แรก

แต่พระชายาสิ้นพระชนม์เสียหลายปีแล้ว ในตอนที่จะรับครองราชสมบัติเบลเยียมนี้ ได้ทรงตกลงว่าจะแต่งงานกับเจ้าหญิงฝรั่งเศส จึงดูเป็นการถ่วงน้ำหนักดี เบลเยียมเมื่อตั้งเป็นประเทศขึ้นได้ ก็เป็นประเทศเล็กนิดเดียว แต่พระเจ้าแผ่นดินเป็นคนกว้างขวาง เป็นญาติหรือเกี่ยวดองกับราชสำนักใหญ่ ๆ เบลเยียมจึงมีเสียงในการโลกเกินส่วนขนาดของประเทศเป็นอันมาก

เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว คือ ค.ศ. ๑๘๓๙ มหาประเทศได้ทำหนังสือสัญญา เรียกว่า สัญญาลอนดอน มีใจความว่า ประเทศเหล่านั้นจะไม่ทำร้ายเบลเยียม หรือถ้าประเทศใดทำ ประเทศอื่น ๆ ก็จะสู้รบขัดขวาง หนังสือสัญญาฉบับนั้น ต่อมาอีก ๗๕ ปี พระเจ้าแผ่นดินเยอรมันได้ตรัสเรียกว่า “เศษกระดาษ” และเยอรมันได้ยกทัพเข้าเหยียบย่ำเบลเยียม เพื่อเปิดทางเข้าตีฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๙๑๔) ก่อนที่เยอรมันจะเข้าเบลเยียมนั้น อังกฤษได้ให้คำขาดต่อเยอรมันว่า ถ้าเยอรมันละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียม ก็ผิดหนังสือสัญญา ค.ศ. ๑๘๓๙ อังกฤษจะรบเยอรมันตามหนังสือสัญญานั้น ที่กล่าวนี้คือมหาสงครามเมื่อ ๒๕ ปีมาแล้ว (ระหว่างที่เขึยนนี้ พ.ศ. ๒๔๘๒)

ในระหว่างที่กำลังครามกันอยู่ครั้งนั้น เบลเยียมได้เสียดินแดนไปแก่เยอรมันเกือบหมด แต่ในที่สุดเบลเยียมอยู่ฝ่ายชนะมหาสงคราม จึงได้ดินแดนคืนหมด

พ้นเวลามหาสงครามมาแล้ว เบลเยียมก็อยู่เย็นเป็นสุขมาหลายปี แต่เบลเยียมไม่ได้เปลี่ยนจากประเทศเล็ก ไปเป็นประเทศใหญ่ หากจะแข็งศึกสักเพียงไร ก็แข็งอยู่แต่ภายในขอบเขตแห่งประเทศเล็ก จึงต้องอาศัยเกาะกลุ่มกับประเทศใหญ่ ๆ ให้เป็นที่ไว้วางใจได้ ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ประเทศต่าง ๆ คือ เยอรมัน เบลเยียม ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ได้ทำหนังสือสัญญาเรียกว่า หนังสือสัญญาโลคาร์โน ซึ่งถ้าจะกล่าวเฉพาะเบลเยียมก็มีใจความว่า ประเทศอื่น ๆ พร้อมกัน รับประกันอิสรภาพของเบลเยียม ถ้าใครระราน ประเทศอื่น ๆ ก็จะเข้ารุมรบช่วยเบลเยียม แต่ถ้าประเทศอื่นที่ลงชื่อในสัญญานั้นถูกระราน เบลเยียมก็จะต้องเข้าช่วยรุมรบด้วย หนังสือสัญญาโลคาร์โนนี้ทำไว้ภายในวงการของสันนิบาตชาติ เพราะประเทศที่ลงนามเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติด้วยกันทั้งนั้น

ต่อมาเยอรมันออกจากสันนิบาตชาติ เพราะปฏิบัติผิดสัญญาแวร์ไซล์ ซึ่งเป็นหลักที่ตั้งของสันนิบาตชาติ เมื่อออกไปจากสันนิบาตชาติแล้ว หนังสือสัญญาซึ่งทำไว้ภายในวงการของสันนิบาตชาติก็เป็นอันพับไป ต่อมาอิตาลีทำผิดหนังสือสัญญาสันนิบาตชาติในเรื่องอบิสซีเนีย อิตาลีก็ออกจากสันนิบาตชาติอีก ดังนี้หนังสือสัญญาโลคาร์โนก็กะพร่องกะแพร่ง ประเทศที่ถือตนว่า ยังมีพันธะอยู่ตามหนังสือสัญญานั้น ก็เหลือแค่ ๓ ประเทศ คือ เบลเยียม อังกฤษ ฝรั่งเศส เท่านั้น

มาในตอนนี้เป็นที่เห็นกันได้แน่แล้วว่าเยอรมันกับอิตาลีเข้าเกาะกันเป็นฝ่ายหนึ่ง อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ช้าก็คงจะเกิดสงครามกันขึ้น พระเจ้าแผ่นดินเบลเยียมทรงพระราชดำริ พร้อมกับคณะเสนาบดีของพระองค์ว่า ถ้าเกิดสงครามขึ้น เบลเยียมในฐานที่มีสัญญาผูกพันธ์กับฝรั่งเศสอังกฤษ ก็จะต้องเข้าทำศึกด้วย เบลเยียมจะเป็นสนามรบ แต่จะไม่ได้อะไรเลย จะเป็นการช่วยผู้อื่นรบเท่านั้น อันที่จริงเบลเยียมได้อยู่ในตำแหน่ง ซึ่งประเทศอื่นๆ นับถือว่าเปนกลางมาช้านาน มาในตอนนี้ก็ควรจะกลับไปเป็นเช่นนั้นอีก ทรงพระราชดำริเช่นนี้ จึงทรงขอต่อประเทศเซ็นสัญญาด้วยกันว่า ให้ยอมปลดเบลเยียมออกจากพันธะที่จะต้องช่วยอังกฤษฝรั่งเศส ทำศึกตามหนังสือสัญญา เพื่อเบลเยียมจะได้วางตนเป็นกลางได้ถนัด รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสยอมปลดพันธะให้แก่เบลเยียม ว่าไม่ต้องช่วยทำศึก แต่อังกฤษฝรั่งเศสจะนับถือพันธะต่อไปว่า ถ้าเบลเยียมถูกรุกราน ฝรั่งเศสและอังกฤษจะต้องช่วยทำศึก

รัฐบาลเยอรมันก็รับรองต่อเบลเยียมเช่นเดียวกัน ได้ให้ราชทูตเยอรมันในเบลเยียมทำบันทึก ยื่นให้แก่เสนาบดีการต่างประเทศเบลเยียม เมื่อ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นใจความว่า เยอรมันจะนับถืออาณาเขตของเบลเยียมไม่มีเวลาเปลี่ยน เว้นแต่เบลเยียมจะเข้าช่วยประเทศอื่นรบเยอรมัน อนึ่ง ถ้าประเทศอื่น ๆ เข้าระรานความเป็นกลางของเบลเยียม เยอรมันก็จะเข้าช่วยต่อสู้ฉันเดียวกับที่อังกฤษฝรั่งเศสให้สัญญาฉะนั้น อนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคมที่แล้วมานี้ เยอรมันก็ได้ให้สัญญาแก่เบลเยียมอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะนับถือความเป็นกลางของเบลเยียม

แต่ในวันนี้ (๑๔ พ.ย. ๒๔๘๒) ถ้าฟังตามข่าวก็ดูเบลเยียมมีความวิตกว่าจะถูกบุกรุก ได้เตรียมการต่อต้านทุกทาง จนถึงต้องกำหนดจะขึ้นภาษีสำหรับใช้จ่ายในการคราวนี้ ข่าวันนี้ว่า เบลเยียมวางทหารตามแนวรักษาท้องที่ตลอดแล้ว

แต่ฝ่ายเยอรมันก็ยังกล่าวยืนยันอยู่ ว่ามิได้คิดที่จะละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียมและฮอลันดา การที่จะระดมทหารไปอยู่ตามเขตแดนนั้น เยอรมันว่าเป็นการซ้อมรบเท่านั้นเอง.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ