ยิบฺรอลตาร์

ยิบฺรอลตาร์ เป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งในยุทธศาสตร์ทัพเรือ เป็นป้อมตั้งอยู่บนภูเขาปลายแหลมที่ทะเลช่องแคบ ซึ่งฝั่งหนึ่งเป็นทวีปยุโรป อีกฝั่งหนึ่งเป็นทวีปแอฟริกา ในสมัยโบราณฝั่งแอฟริกา ฝั่งโน้นเป็นท้องที่เดียวกันกับสเปญ ปิดทะเลกลางไว้ให้เป็นอ่าวไม่มีทางออก ภายหลังมีร่องน้ำซึ่งเลยเป็นช่องแคบ เรียกว่า ซ่องยิบฺรอลตาร์อยู่จนเดี๋ยวนี้ ในสมัยก่อนปัจจุบันไป ๒๐๐-๓๐๐ ปี ชนชาวแอฟริกาที่เรียกว่า “แขกมัวร์” (หรืออาหรับ) ได้ยกกันเป็นกำลังทัพข้ามที่ช่องแคบนี้ เข้าไปกำหราบฝรั่งในสเปญ ประเทศสเปญส่วนมากจึงเป็นอาณาจักรของเจ้าแผ่นดินที่เป็นแขกมัวร์หลายองค์ แขกมัวร์ได้พาวิทยาศาสตร์หลายอย่างมาเพาะลงในสเปญจนแพร่หลายไปถึงประเทศฝรั่งอื่นๆ จึงนับได้ว่าช่องแคบและท้องที่รอบภูเขายิบฺรอลตาร์นั้น เป็นทางผ่านแห่งวิชา ซึ่งแขกมัวร์พาไปสู่ยุโรปหลายประการ คือยิบฺรอลตารนี้เป็นคำแขกอาหรับ ซึ่งใช้เรียกภูเขาลูกนั้น คือ เบเบ็ลอัลตาริก (ภูเขาของตาริกซึ่งเป็นแม่ทัพมัวร์) แต่ฝรั่งเรียกแปร่งไปเป็นยิบฺรอลตาร์

อังกฤษได้ยิบฺรอลตาร์ใน ค.ศ. ๑๗๐๔ และเมื่อตั้งมั่นลงได้แล้ว สเปญบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง ได้เพียรจะแย่งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างท้องที่รอบภูเขากับพื้นดินสเปญนั้น มีที่ดินเป็นคอคอด ซึ่งถือกันว่า เป็นที่กลางไม่อยู่ในความรักษาด้วยอาวุธของในเวลานี้

ป้อมบนภูเขาเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ ซึ่งกล่าวกันว่า ยิงข้ามร่องน้ำในช่องแคบได้ เพราะฉะนั้นในเวลาสงคราม จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า เรือรบห้วงน้ำของศัตรูไม่อาจผ่านเข้าออกได้ แต่เมื่อครั้งมหาสงคราม (ครั้งที่ ๑) ในตอนที่เยอรมันใช้เรือใต้น้ำทำลายเรือค้าขายของอังกฤษอย่างแข็งขันนั้น เรือใต้น้ำของเยอรมันลำหนึ่ง (ยู. ๒๑) ได้แล่นตามหลังเรือค้าขายอังกฤษผ่านช่องแคบเข้าไปได้ โดยที่อังกฤษไม่ทันรู้ ครั้นผ่านเข้าไปได้ลำหนึ่งแล้ว ก็ตามกันเข้าไปอีก และเมื่อเข้าไปอยู่ในทะเลกลางได้ ก็ทำลายเรืออังกฤษอย่างสนุกสนาน เพราะอังกฤษประมาทไม่ได้เตรียมป้องกันในทะเลนั้น เรืออังกฤษที่ถูกทำลายในคราวมหาสงคราม (ครั้งที่ ๑) ได้จมในทะเลกลางมากกว่าในทะเลอื่น

เมื่อสิ้นมหาสงครามแล้ว อังกฤษได้ละเลยยิบฺรอลตาร์มิได้คอยระวังดัดแปลงให้แข็งแรงยิ่งขึ้นตามเวลา ครั้นเงาสงครามมีมาใหม่ ก็เกิดหนักใจกันขึ้น ยิ่งเมื่อเกิดสงครามในสเปญเมื่อ ๒-๓ ปีนี้ ก็ยิ่งเป็นห่วงยิบฺรอลตาร์กันยิ่งนัก ยิ่งเมื่อนายพลฟรังโกตั้งปืนใหญ่ขึ้นที่หลังภูเขายิบฺรอลตาร์ ก็ยิ่งแตกตื่นกันขึ้น ในหนังสือพิมพ์อังกฤษเป็นต้น เพราะในเวลานั้น อิตาลีและเยอรมันช่วยนายพลฟรังโกรบจนมีชัย พวกอังกฤษจึงเกรงว่า ถ้าอังกฤษวิวาทกับเยอรมันและอิตาลีขึ้น เยอรมันและอิตาลีก็จะจูงนายพลฟรังโกเข้าสงคราม และจะใช้ดินแดนของสเปญในการล้อม และตียิบฺรอลตาร์ทางบก

แต่ปรากฏภายหลังว่า ปืนใหญ่ซึ่งนายพลฟรังโกจัดตั้งขึ้นหลังยิบฺรอลตาร์นั้น มีความมุ่งหมายไปคนละทาง หาใช่คิดจะข่มปืนใหญ่บนภูเขายิบฺรอลตาร์ ด้วยปืนใหญ่ซึ่งตั้งในที่ต่ำไม่ ตามความจริงนายพลฟรังโกทำศึกในสเปญ โดยกำลังกองทัพซึ่งขนข้ามทะเลไปจากมอรอคโคภาคที่เป็นของสเปญ การลำเลียงกองทัพและเพิ่มเติมในตอนต้น ๆ ต้องขนข้ามทะเลทั้งนั้น แต่นายพลฟรังโกหาได้มีอำนาจเป็นใหญ่ในทะเลพอที่จะข่มปรปักษ์ได้ไม่ การเป็นฉะนี้ก็ย่อมเป็นที่หนักใจนายพลฟรังโกนัก

เหตุที่นายพลฟรังโกข้ามทะเลไปทำศึกโดยที่มิได้มีอำนาจเป็นเจ้าทะเลเสียก่อนนั้น เป็นด้วยความเข้าใจผิด นายพลฟรังโกเข้าใจว่า กองทัพเรือแห่งสเปญจะเข้าด้วยทั้งหมด หรือเข้าด้วยเป็นส่วนมาก ที่แท้ได้นัดแนะกับพวกนายทหารเรือได้แล้ว แต่ครั้นเกิดเหตุขึ้น พวกพลทหารเรือก็คิดขบถต่อนาย จับนายทหารฆ่าเสียก่อน โดยวิธีจับตัวมัดทิ้งทะเลทั้งเป็นๆ เรือรบจึงคงอยู่กับปรปักษ์ของนายพลฟรังโก คือรัฐบาลมาดริดตามเดิม ปรปักษ์จึงรังควานการลำเลียงทางทะเลของนายพลฟรังโกได้มากๆ ครั้งหนึ่งเรือประจัญบานฝ่ายปรปักษ์ได้แล่นช้า ๆ ผ่านอ่าวซึ่งนายพลฟรังโกใช้เป็นท่าขนลำเลียง ยิงปืนทางแคมเรือซ้ายหมดทุกกระบอกแล้ว ก็กลับลำแล่นยิงปืนแคมขวาอีก การยิงอ่าววันนั้น ถูกฬาตาย ๒ ตัวเท่านั้น แต่น่ากลัวว่า ถ้าซ้ำอีกในวันหน้า ๆ และทำจริงจังก็จะเกิดความเสียหายมาก เพราะฝ่ายนายพลฟรังโกไม่มีปืนที่จะยิงโต้ตอบได้

การเป็นดังนี้ นายพลฟรังโกจึงตั้งปืนใหญ่ริมฝั่งใกล้อ่าวนั้น แต่เผอิญใกล้ยิบฺรอลตาร์เข้าด้วย ปืนใหญ่ชุดแรกที่นำไปตั้งก็เป็นปืนขนาด ๖ นิ้วเท่านั้นเอง แต่ภายหลังได้ตั้งปืน ๑๒ นิ้วอีก ๔ กระบอก ปืน ๔ กระบอกนั้นเมื่อสิ้นความวิตกเรื่องเรือรบฝ่ายปรปักษ์แล้ว ก็ถอนไปใช้ที่อื่น

ในเรื่องที่อังกฤษเกิดเป็นห่วงขึ้นว่า ยิบฺรอลตาร์หมดความแข็งแรงไปนั้น เป็นด้วยไม่ได้ซ่อมแซมหรือดัดแปลงมาช้านาน เมื่อจวนจะเกิดกับอิตาลีขึ้น ในคราวอบิสซีเนียนั้น ยิบฺรอลตาร์มีปืนยิงเครื่องบินเพียง ๔ กระบอกเท่านั้นเอง และปืนขนาดใหญ่ ๆ ก็เป็นแบบเก่า ซึ่งพ้นสมัยไปเสียหมดแล้ว มิหนำซ้ำปืนขนาดเล็กซึ่งจะขนย้ายได้นั้น ยังได้ย้ายไปเตรียมไว้ป้องกันที่อื่นอีกเล่า ตั้งแต่นั้นต่อมาอังกฤษรู้สึกความอ่อนในการป้องกันยิบฺรอลตาร์ จึงรีบร้อนอย่างใหญ่ ได้นำปืนใหญ่เยี่ยมแบบใหม่ ๆ ไปตั้งไว้ พอเพียงกับที่เห็นว่าจะป้องกันได้ ปืนยิงเครื่องบินและปืนขนาดเล็กก็ตั้งระดะไปหมด ถ้ายิบฺรอลตาร์ถูกล้อมตี ก็จะต้องล้อมจากสเปญ แต่ถ้าถูกล้อมเช่นที่ว่านี้ไซร้ ท้องที่รอบ ๆ ก็จะเดือดร้อนก่อน เขาว่าป้อมบนภูเขาพอจะรักษาตัวได้ หรือรักษาได้นาน เสบียงอาหารก็สะสมไว้มากและเครื่องอาวุธก็เหมือนกัน.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ